วันที่ 25 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงพระนครเหนือ นัดฟังคำพิพากษาในคดี “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-ม.215-ม.216” ของ ‘ชาติ’ ชาติชาย ไพรลิน (จำเลยที่ 1) และ ‘บอมเบย์’ เจษฎาภรณ์ โพธิ์เพชร (จำเลยที่ 2) สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า กรณีจากการร่วมอยู่ในกิจกรรมสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564
ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้จัดกิจกรรมเดินทางมายังพรรคภูมิใจไทยเพื่อยื่นหนังสือให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ขอให้เห็นความทุกข์ยากของประชาชน และมีการเรียกร้องให้ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทยออกมารับหนังสือดังกล่าว แต่ปรากฏว่าไม่มีการตอบรับใดๆ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเริ่มติดสติกเกอร์และใช้ถุงสีแดงปาใส่บริเวณด้านหน้าพรรค
หลังจากนั้นในวันที่ 13 มิ.ย. 2565 ณัฏฐา อุ่นจิตต์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ยื่นฟ้องคดีทั้งสองคน ด้วย 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไป แต่ไม่เลิก, มาตรา 385 กีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันขีดเขียนพ่นสี หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ ที่กำแพง อาคาร หรือที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
คดีนี้ทั้งคู่ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลได้สืบพยานโจทก์และจำเลยไปตั้งแต่วันที่ 3, 10, 24 ก.พ. และ 9 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
วันนี้ (25 ก.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 เวลาประมาณ 09.45 น. จำเลยทั้งสองคนเดินทางมาฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาสรุปได้ดังนี้
พิเคราะห์พยานโจทก์และจำเลย มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือไม่ โจทก์มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า จำเลยทั้งสองร่วมทำกิจกรรมรวมกลุ่ม แต่ไม่มีพยานโจทก์ยืนยันว่าจำเลยทั้งสองปราศรัย ร่วมกันนำการชุมนุม หรือเป็นแกนนำ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดชุมนุม เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ในประเด็นการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามมาตรา 215 วินิจฉัยว่า โจทก์มีพยานสองคนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางเขน เบิกความว่า วันเกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 1 ปาถุงบรรจุสี และจำเลยที่ 2 นำสติกเกอร์ไปติด เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้เลิกแล้ว จำเลยทั้งสองไม่เลิก
เห็นว่าตามมาตรา 215 ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาให้เกิดความวุ่นวาย เมื่อพยานโจทก์เบิกความว่า ไม่มีผู้บาดเจ็บ เมื่อทำกิจกรรมเสร็จก็แยกย้ายกัน จำเลยทั้งสองไม่ได้มีเจตนาในการประทุษร้าย จึงไม่มีความผิดร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ตามมาตรา 215 และมาตรา 216
ในประเด็นกีดขวางทางสาธารณะ ตามมาตรา 385 ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่อยู่บนทางเท้า บางส่วนอยู่บนช่องจราจร 1 ช่อง และรถยนต์ยังสามารถสัญจรได้ 1 ช่อง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกการจราจร จึงไม่มีความผิดในฐานกีดขวางทางสาธารณะฯ
ในประเด็นตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ภาพที่ปรากฏในพยานเอกสารเป็นภาพตนเองชี้ไปที่สี แต่เห็นว่าภาพมีลักษณะการเหวี่ยงแขนเพื่อปาสิ่งของ ส่วนจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลที่ติดสติกเกอร์จริง จำเลยทั้งสองจึงมีความผิด ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท
ส่วนในประเด็นสุดท้าย การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม จึงไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยทั้งสองในการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
สรุปแล้ว ศาลพิพากษาปรับจำเลยคนละ 2,000 บาท ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนในข้อหาอื่นศาลยกฟ้องทั้งหมด
หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสองคนได้ลงไปจ่ายค่าปรับให้กับศาลด้วยตนเองทันที
ผู้พิพากษาที่อ่านคำพิพากษาในคดีนี้ คือ ดิษฐการ พงษ์เสนีย์
นอกจากในคดีนี้แล้ว ยังมีคดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทยที่ 4 สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, จิตริน พลาก้านตง, ทรงพล สนธิรักษ์ และปนัดดา ศิริมาศกูล ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาในทำนองเดียวกัน แต่ในข้อหาตามมาตรา 215 นั้น ถูกฟ้องในวรรคสาม เรื่องการเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการด้วย ซึ่งมีโทษสูงกว่าในวรรคแรก ทำให้ทั้งสี่คนถูกฟ้องคดีที่ศาลอาญา และมีนัดเริ่มสืบพยานโจทก์ในวันที่ 29 ส.ค. 2566 นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง