ยกฟ้อง! คดี “ยุยงปลุกปั่น – เป็นอั้งยี่” ของ “มั่นคง” ถูกกล่าวหาปิดใบปลิว-เป็นสมาชิก “สหพันธรัฐไท” ระบุพยานหลักฐานรับฟังไมไ่ด้ว่าเป็นผู้ก่อเหตุ

วันที่ 30 พ.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดี “ยุยงปลุกปั่น – เป็นอั้งยี่” ของ “มั่นคง” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 24 ปี กรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมเกี่ยวกับองค์กร “สหพันธรัฐไท” และนำแผ่นใบปลิว “สหพันธรัฐไท” มาปิดไว้ที่เสาไฟฟ้าภายในซอยแห่งหนึ่ง ย่านนนทบุรี เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2562

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 มั่นคงถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นายเข้าจับกุม ขณะกำลังทำงานในฐานะนักศึกษาฝึกงานที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีที่ 39/2563 ลงวันที่ 28 ม.ค. 2563 จากนั้นมั่นคงจึงถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองนนทบุรี 

ที่ สภ.เมืองนนทบุรี เมื่อทนายความเดินทางไปถึงและได้พบกับมั่นคง พ.ต.ท.บำเพ็ญ ไวยรจนา รองผู้กำกับการ (สอบสวน) พนักงานสอบสวน ได้บรรยายพฤติการณ์และแจ้ง 2 ข้อหาต่อมั่นคง ได้แก่ 

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 “ร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชน ด้วยหนังสือหรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน” มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 
  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 “เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย” มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 140,000 บาท 

ในชั้นสอบสวน มั่นคงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ประกันตัวโดยใช้เงินสดจำนวน 80,000 บาท วางเป็นหลักประกัน 

ต่อมาในวันที่ 19 เม.ย. 2564 กนก โภคสมบัติ พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี สั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดนนทบุรี พร้อมกับระบุพฤติการณ์คดีตามคำฟ้อง ดังนี้ 

  1. จำเลยกับพวกได้เป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ มีชื่อว่า “องค์การสหพันธรัฐไท” ซึ่งมีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปเป็นระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย
  2. จําเลยกับพวกที่เป็นสมาชิกองค์การสหพันธรัฐไท ได้ร่วมกันกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยการเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไป ด้วยการปิดเอกสารแผ่นใบปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปร่วมกันใส่เสื้อดําเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาล อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ทั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปสู่ระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐในชื่อสหพันธรัฐไท อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

วันนี้ (30 พ.ย. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 7 มั่นคงเดินทางมาศาลตามนัด ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธ มีประเด็นต้องพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้พบเห็นแผ่นใบปลิว “สหพันธรัฐไท” ติดอยู่บนเสาไฟฟ้า แต่ไม่เห็นว่าผู้ใดเป็นคนติด ภาพจากกล้องวงจรปิดปรากฏผู้ก่อเหตุ 2 คนขี่รถจักรยานยนต์มาติดแผ่นใบปลิว แต่ไม่เห็นหน้าคนร้าย ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ติดแผ่นใบปลิว

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จากการตรวจสอบกล้องวงจรปิดของเซเว่น อีเลฟเว่นแล้ว พบบุคคล 2 คน คือ มั่นคงและหญิงสาวอีกหนึ่งราย เข้าไปซื้อของที่ร้าน คาดว่าเป็นฟิวเจอร์บอร์ดที่ใช้ติดแผ่นใบปลิว แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจำเลยซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ก่อเหตุ ประกอบกับจำเลยเบิกความว่าเข้าเซเว่น อีเลฟเว่นไปซื้อของกินทั่วไป จึงยังไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยคือผู้ก่อเหตุ

พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความว่า ในทางการสืบสวน ภายหลังจากเกิดเหตุในคดีนี้ ไม่พบว่าจำเลยมีพฤติกรรมในทำนองเดียวกัน ตำรวจสันติบาลไม่พบว่าจำเลยมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือเกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท รวมถึงจำเลยให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นจับกุม พิพากษายกฟ้อง

ส่วนแผ่นใบปลิว เห็นว่ามีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์และเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงให้ริบแผ่นใบปลิวของกลางจำนวน 4 แผ่น

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนที่มีคำพิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ วันชัย แก้วพรหม

คดีของมั่นคง นับเป็นหนึ่งในชุดคดีสหพันธรัฐไทที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2561-62 ที่ตกค้างและทราบว่ายังไม่สิ้นสุดเพียงคดีเดียว โดยเท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูล มีคดีเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไม่น้อยกว่า 11 คดี ผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 22 คน โดยมีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา และมีคดีที่ศาลลงโทษจำคุกในข้อหาอั้งยี่ 

ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำในคดีเกี่ยวกับสหพันธรัฐไท เพื่อรับโทษในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว 2 ราย ได้แก่ กฤษณะ และวรรณา ที่ถูกศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 3 ปี โดยทั้งสองถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. 2565 หรือครบหนึ่งปีในวันนี้พอดี

X