ตำรวจจับ ‘หญิงโรงงานเย็บผ้า’ จากเชียงใหม่ ดำเนินคดีม.116-อั้งยี่ กรณีใส่เสื้อสหพันธรัฐไทอีก

28 มิ.ย. 62 ที่กองบังคับการปราบปราม หญิงช่างเย็บผ้าในโรงงานวัย 50 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมตัวมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นและข้อหาเป็นอั้งยี่ จากกรณีการใส่เสื้อดำที่มีสัญลักษณ์ธงของกลุ่มสหพันธรัฐไทไปบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 โดยนับเป็นผู้ต้องหารายที่ 18 แล้วเท่าที่ทราบว่ามีการกล่าวหาดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีสหพันธรัฐไท

เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (27 มิ.ย. 62) เวลาประมาณ 7.30 น. นาง “อัมพร” (นามสมมติ) อายุ 50 ปี ประกอบอาชีพเป็นช่างเย็บผ้าในโรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกอง 4 ของกองบังคับการปราบปราม จำนวน 2 นาย นำหมายจับของศาลอาญาลงวันที่ 16 ม.ค. 2562 เข้าไปแสดงและทำการจับกุมบริเวณใกล้บ้านของเธอ ระหว่างกำลังจะขับรถสามล้อไปส่งลูกสาว เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวเธอขึ้นรถยนต์เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยมีลูกสาวของเธอในวัย 26 ปี ติดตามมาด้วย และได้นำตัวเธอไปคุมขังที่กองบังคับการปราบปรามในช่วงคืนที่ผ่านมา

ก่อนที่ในช่วงสายวันนี้ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามได้แจ้งข้อกล่าวหานางอัมพรในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 หรือข้อหาอั้งยี่ โดยแจ้งถึงพฤติการณ์การสวมใส่เสื้อสีดำ ที่มีลายธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว-แดง อันเป็นสัญลักษณ์ของธงของสหพันธรัฐไท ติดอยู่บริเวณอกข้างซ้าย ไปอยู่ที่บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 อันเป็นการแสดงว่าตนเองเป็นสมาชิกหรือแนวร่วมของกลุ่มองค์กรสหพันธรัฐไท

นางอัมพรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย

หลังจากการแจ้งข้อกล่าวหา พ.ต.ท.หญิงบุญทิวา ลิ้มศิริลักษณ์ พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม ได้นำตัวนางอัมพรไปขออำนาจศาลอาญาในการฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน โดยระบุเรื่องการสอบสวนที่ยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบปากคำพยานอีก 1 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา นอกจากนั้นพนักงานสอบสวนยังขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยระบุว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เกรงว่าผู้ต้องหาอาจจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

หลังจากศาลอาญาอนุญาตให้ฝากขังแล้ว ญาติของนางอัมพรได้ยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว เป็นเงินจำนวน 2 แสนบาท โดยเป็นการเช่าหลักทรัพย์จำนวน 6 หมื่นบาท จนเวลาประมาณ 16.30 น. ศาลอาญาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนางอัมพรในระหว่างการสอบสวนได้

ก่อนหน้านี้ นางอัมพรระบุว่าได้เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 5 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7-11 ธันวาคม 2561 โดยเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามมาตรา 44 เจ้าหน้าที่ได้มีการยึดโทรศัพท์มือถือของเธอไว้ และยังมีการนำกำลังทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเธอ โดยไม่ได้มีหมายค้น แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้พบสิ่งใดผิดกฎหมาย ต่อมาเธอยังถูกนำตัวไปสอบสวนที่สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนได้รับการปล่อยตัว โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด กระทั่งผ่านมากว่าครึ่งปี จึงได้มีการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้น

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ที่เริ่มปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการติดตามจับกุมกรณีเสื้อสหพันธรัฐไท จนถึงปัจจุบัน (มิถุนายน 2562) มีผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ในรูปแบบต่างๆ แล้วอย่างน้อย 18 ราย โดยแยกเป็นคดีจำนวนอย่างน้อย 9 คดี โดยการจับกุมดำเนินคดีในช่วงหลังทั้งหมด เกิดขึ้นจากกรณีการใส่เสื้อดำที่มีสัญลักษณ์ของสหพันธรัฐไท ไปอยู่ในบริเวณต่างๆ ในช่วงวันที่ 5 ธันวาคม 2561

 

X