พิพากษาจำคุก 9 เดือน “รุ้ง – ไมค์ – ครูใหญ่” เหตุชุมนุม #ตีหม้อไล่เผด็จการ ในข้อหา ม.215-ม.385-เครื่องขยายเสียง ส่วนอีกสี่ข้อหายกฟ้อง ก่อนศาลให้ประกันตัว

15 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภานุพงศ์ จาดนอก และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ที่ถูกฟ้องรวม 7 ข้อกล่าวหา เหตุสืบเนื่องมาจากการชุมนุม “รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องไปจนถึงหน้า สน.ปทุมวัน เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมทางการเมือง

ศาลพิพากษาว่าทั้งสามคนมีความผิด 3 ข้อหา ได้แก่ ใช้กำลังประทุษร้ายฯ โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามมาตรา 215, กีดขวางทางสาธารณะฯ ตามมาตรา 385 และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ  รวมลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 700 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์มีเหตุให้ลดโทษ 1 ใน 4 คงจำคุกคนละ 9 เดือน ปรับคนละ 525 บาท ไม่รอลงอาญา และยกฟ้อง 4 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ทำร้ายเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาด

สืบเนื่องจากการชุมนุม #ม็อบ10กุมภา64 #ตีหม้อไล่เผด็จการ เป็นการชุมนุมครั้งที่ 2 ของปี 2564 ที่กลุ่มราษฎรนัดชุมนุม โดยมีข้อเรียกร้องหลัก คือยกเลิก 112 และปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี 112 กรณีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 4 คน ที่ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวในขณะนั้น  โดยระหว่างการชุมนุม ตำรวจมีการควบคุมตัวประชาชนไปยัง สน.ปทุมวัน  ด้วย จึงมีการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ทำให้เกิดเหตุผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

เกี่ยวกับคดีนี้ “ครูใหญ่” ได้เดินทางเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกที่ สน.ปทุมวัน ต่อมาในวันที่ 31 มี.ค. 2564 ตำรวจได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหา “รุ้ง”ขณะที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เช่นเดียวกับ “ไมค์”

วันที่ 4 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 มีคำสั่งฟ้องคดีของจำเลยทั้งสามคนต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ทั้งสิ้น 7 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ใช้กำลังประทุษร้ายฯ โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้สั่งการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 295, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ฯ ตามมาตรา 358, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะฯ ตามมาตรา 385, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 

ทั้งนี้ อัยการบรรยายฟ้องระบุไว้ด้วยว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้สั่งการ มีเจตนาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังวางแนวป้องกันสถานที่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ 7 ราย ได้รับบาดเจ็บ และนอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังได้ร่วมกันพ่นสีและกรองทรายที่เครื่องยนต์ใส่รถยนต์ที่จอดอยู่บริเวณ สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการที่ใช้ในการสืบสวนคดีอาญาและใช้จับกุมผู้กระทำความผิด ทำให้เกิดความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหาย 155,586.50 บาท

ทั้งสามคนได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลนัดสืบพยานทั้งสิ้น 6 นัด โดยสืบพยานโจทก์ในวันที่ 13-14 ก.ค., 7-8 ก.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 14-15 ก.ย. 2566 ก่อนมีการนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ 

วันนี้ (15 พ.ย. 2566) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 705 รุ้ง ไมค์ และครูใหญ่ เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับทนายความ และประชาชนผู้เดินทางมาให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก โดยก่อนที่จะเข้าห้องพิจารณา เจ้าหน้าที่ศาลและและตำรวจศาลได้ขอให้ผู้ที่จะเข้าห้องพิจารณาคดีทุกคนปิดโทรศัพท์มือถือและขอตรวจกระเป๋า พร้อมแจ้งว่าเป็นมาตรการพิเศษสำหรับบัลลังก์นี้โดยเฉพาะ 

จากนั้น เมื่อทุกคนได้เข้าไปห้องพิจารณาคดีแล้ว ศาลจึงออกนั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษา สรุปใจความสำคัญได้ 6 ประเด็น ดังนี้ 

ประเด็นที่ 1 จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันจัดการชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์มีการเบิกความสอดคล้องกันว่าพบเห็นจำเลยมาที่ชุมนุม แต่ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าจำเลยทั้งสามเป็นคนโพสต์เชิญชวน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการตรวจสอบแล้ว และไม่ได้ปรากฏว่าใครเป็นแอดมินเพจที่โพสต์ประชาสัมพันธ์ ข้อเท็จจริงไม่เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 3 เป็นผู้โพสต์เชิญชวน จึงไม่มีความผิดในฐานนี้

ประเด็นที่ 2 จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันตั้งเวทีหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากต่าง ๆ ที่เบิกความสอดคล้องตรงกันว่าพบเห็นจำเลยทั้ง 3 ขึ้นปราศรัย แต่ไม่มีการเบิกความว่าเห็นจำเลยทั้ง 3 วางวัสดุใด ๆ เพื่อตั้งเวทีปราศรัย จึงเป็นไปได้ว่าจำเลยทั้ง 3 ไม่มีส่วนรู้เห็น 

อีกทั้งในขณะที่มีการเคลื่อนขบวนไปยัง สน.ปทุมวัน และมีการพ่นสีลงถนนข้อความว่า ‘ราษฎรพ่อทุกสถาบัน’ แต่จากการตรวจสอบแล้วไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทั้ง 3 เป็นผู้กระทำ ดังนั้นจึงไม่มีความผิดฐาน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 

ประเด็นที่ 3 การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ฝ่ายโจทก์เบิกความว่า จำเลยทั้ง 3 ขึ้นปราศรัยโดยใช้เครื่องขยายเสียง และจำเลยทั้ง 3 รับว่าไม่ได้ขออนุญาต และเบิกความว่าได้ขึ้นปราศรัยจริง รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าทั้งสามคนมีความผิดฐานร่วมกันโฆษณาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ประเด็นที่ 4 จำเลยทั้ง 3 ได้ร่วมกันปล่อยหรือทอดทิ้งหรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใดให้กลุ่มผู้ชุมนุมกีดขวางทางสาธารณะหรือไม่นั้น เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณสกายวอล์ค เบิกความว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการเคลื่อนขบวนไปยัง สน.ปทุมวัน และพบว่ามีการตั้งแผงเหล็ก ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไป โดยจะไปกีดกันเส้นทางที่เจ้าหน้าที่จะเคลื่อนไป 

เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานโจทก์ ปรากฏว่าเป็นภาพถ่ายของคนจำนวนมากที่อยู่หน้าห้าง MBK และหอศิลป์ฯ โดยมีคนตั้งแผงเหล็ก ซึ่งจำเลยทั้ง 3 ไม่ได้นำสืบให้เป็นอื่น เห็นได้ชัดว่า การเคลื่อนขบวนเป็นการกีดขวางทางสาธารณะ เป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยในการจราจร ตามมาตรา 385

ประเด็นที่ 5 จำเลยทั้ง 3 ร่วมกันกับพวกทำร้ายเจ้าหน้าที่ฯ และข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ฯ หรือไม่นั้น ได้ความจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ปฏิบัติหน้าที่ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจที่ผู้ถูกจับกุมไม่ได้รับการปล่อยตัว มีการตั้งแผงเหล็ก มีการเขวี้ยงปาขวดน้ำ ประทัดยักษ์ เขวี้ยงปาสิ่งของจนทำให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้รับบาดเจ็บ เห็นว่า แม้โจทก์จะมีเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บมาเบิกความ แต่เหตุที่เกิดอยู่ด้านหลัง สน.ปทุมวัน 

แต่จากการนำสืบพบว่า จำเลยทั้ง 3 อยู่ด้านหน้าตลอด และที่ทำลายทรัพย์สิน พยานตำรวจได้เบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้พ่นสี กรองทราย รถตำรวจได้รับความเสียหาย แม้จะปรากฏว่าเหตุการณ์ทำร้ายเจ้าหน้าที่และทำลายทรัพย์สิน พอจะเป็นไปได้ว่ามาจากกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าใครเป็นคนร้าย  อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังไม่ได้มีการประกาศให้ไปทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือทำลายทรัพย์สิน จำเลยทั้ง 3 จึงไม่มีความผิดตามฐานทำร้ายเจ้าหน้าที่ฯ และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ฯ

ประเด็นที่ 6 ข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ ตามมาตรา 215 เห็นว่า ทางนำสืบโจทก์และจำเลยได้ความว่าจำเลยมาร่วมชุมนุมจริง แต่เนื่องจากมีคนถูกจับ จึงมีการนำมวลชนเคลื่อนขบวนไปยัง สน.ปทุมวัน เห็นได้ว่า เมื่อเคลื่อนขบวนไป เจตนาได้เปลี่ยนไปจากเดิม โดยขณะเคลื่อนขบวน กลุ่มผู้ชุมนุมมีการขว้างปาขวดน้ำ ประทัด ของแข็ง เข้าไปข้างใน สน.ปทุมวัน เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม อันเป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จำเลยทั้ง 3 จึงมีความผิดตามมาตรา 215 วรรค 3 ในฐานะหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ

พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสาม, มาตรา 385 และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ 

ลงโทษจำคุกในข้อหาตามมาตรา 215 คนละ 1 ปี ฐานกีดขวางทางสาธารณะ ลงโทษปรับคนละ 500 บาท และฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 200 บาท

รวมโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 700 บาท จำเลยทั้งสามให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุก 9 เดือน ปรับ 525 บาท และยกฟ้อง 4 ข้อหา ได้แก่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ทำร้ายเจ้าพนักงานฯ, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาด

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทนายได้ยื่นขอประกันตัวทั้งสามคน ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ประกันตัวจำเลยทั้งสามคน โดยวางหลักทรัพย์คนละ 25,000 บาท รวม 3 คน เป็นหลักทรัพย์ 75,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

ทั้งนี้ นอกจากในคดีนี้ เหตุจากการชุมนุม “รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ยังมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในวันเดียวกันอีก 8 คน ในเฉพาะข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ซึ่งถูกแยกฟ้องไปอีกคดีหนึ่ง

เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2566 ศาลแขวงปทุมวันได้พิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ กับจำเลยที่ 1-7 คนละ 200 บาท รวมปรับ 1,400 บาท ส่วนจำเลยที่ 8 โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ

X