ยกฟ้อง! ประชาชน 19 คน ไม่ผิด 3 ข้อหา เหตุชุมนุมขับไล่ประยุทธ์ที่ท่าน้ำนนท์ ชี้เป็นเสรีภาพตาม รธน. ที่จะแสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ

วันที่ 14 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดี “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ม.215 – ม.216” ของประชาชน 19 คน เหตุชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และได้มีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันเพื่อขับไล่ในจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะที่บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี ที่มีประชาชนมารวมตัวกันแสดงออกทางการเมือง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเปลี่ยนกำหนดการลงพื้นที่

ในวันดังกล่าวมีประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดี 2 ราย จากบริเวณท่าน้ำนนทบุรี และท่าน้ำปากเกร็ด และภายหลัง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ยังได้ออกหมายเรียกประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมในวันดังกล่าวรวมทั้งหมด 21 คน (เป็นเยาวชน 1 ราย จากกลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย) ผู้ถูกออกหมายเรียกได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาช่วงวันที่ 8, 12 และ 15 ต.ค. จนชุดสุดท้ายในวันที่ 19 ต.ค. 2564

ต่อมาในวันที่ 5 พ.ย. 2564 อุทัยวรรณ ศรีสกุล พนักงานอัยการ ได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงนนทบุรีกับจำเลยทั้ง 20 คน ใน 3 ข้อหา ดังนี้

  1. ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนนทบุรี ที่ 2415/2564 เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 62) ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ข้อ 4 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวมกันมากกว่า 25 คน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่โรค ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  2. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคแรก
  3. ไม่ยอมเลิกการมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216

จำเลยทั้ง 20 คนในคดีรวมถึง “เจมส์” เจษฎา ศรีปลั่ง, “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง, “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, “แฟรงค์” ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, “มานี” เงินตา คำแสน และ “บอมเบย์” เจษฎาพร โพธิ์เพชร 

คดีนี้มีการสืบพยานไปในวันที่ 14 – 15 ก.ย., 19 – 20 ต.ค., 9 – 10, 16 – 17 พ.ย. 2566 อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 11 ขอกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีและแยกฟ้องจำเลยคนดังกล่าวเป็นอีกคดี 

วันนี้ (14 ธ.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 เวลา 9.00 – 10.30 น. จำเลยทั้ง 19 คนทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษา ต่อมาเวลา 10.57 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีรายละเอียดแบ่งได้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 10 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีอาจมอบอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นผู้ใช้อำนาจออกข้อกำหนดตาม มาตรา 9 แทนได้ แต่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มอบอำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงเพียงประกาศกำหนดเขตพื้นที่ซึ่งห้ามการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจออกข้อกำหนดลักษณะการชุมนุมแพร่โรคเพิ่มเติม ประกอบกับโจทก์ไม่ได้นำสืบว่าการชุมนุมดังกล่าวมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรคอย่างไร และไม่มีหลักฐานการแพร่โรคที่เกิดขึ้นภายหลังจากการชุมนุม

ฟังไม่ได้ว่าการชุมนุมดังกล่าวเสี่ยงต่อการแพร่โรค จำเลยทั้ง 19 คนจึงไม่มีความผิดในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษายกฟ้อง

พยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเข้าไปตรวจพื้นที่เบิกความว่า ผู้ชุมนุมมีการใช้เครื่องขยายเสียงในลักษณะปลุกระดม พยายามเข้าใกล้นายกรัฐมนตรีโดยใช้กำลัง มีการใช้น้ำสาดไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในขณะที่พยานจำเลยเบิกความว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เห็นว่า บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่จะแสดงความไม่พอใจการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ประกอบกับพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้ง 19 คนสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง จำเลยทั้ง 19 คนจึงไม่มีความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 พิพากษายกฟ้อง

เห็นว่า การที่จำเลยทั้ง 19 คนจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ได้ จะต้องกระทำความผิดตาม มาตรา 215 สำเร็จเสียก่อน ประกอบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุได้ประกาศให้เลิกแล้วจำเลยทั้ง 19 คนไม่เลิก ภายหลังที่เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จำเลยทั้ง 19 คนจึงไม่มีความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 พิพากษายกฟ้อง

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้แก่ กรพล สุรินทร์ศักดิ์

X