จำคุก “ไอซ์ รักชนก” สส.ก้าวไกล 6 ปี ข้อหา ‘ม.112 – พ.ร.บ.คอมฯ’ ศาลเชื่อทวีต-รีทวีตข้อความวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตามฟ้อง ก่อนให้ประกันตัว

วันที่ 13 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ของ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก สส. เขตบางบอน-หนองแขม พรรคก้าวไกล และนักกิจกรรมทางการเมือง กรณีถูกกล่าวหาว่าทวีตข้อความวิจารณ์รัฐบาลว่า ผูกขาดการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไว้กับสถาบันกษัตริย์ และกรณีรีทวิตภาพถ่ายในการชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบันกษัตริย์

คดีนี้มี มณีรัตน์ เลาวเลิศ ประชาชนทั่วไปเป็นผู้กล่าวหา ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 รักชนกเดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์คดีว่า ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ชื่อ “ไอซ์” หรือ @nanaicez ได้โพสต์/เผยแพร่ข้อความและรูปภาพ จํานวน 2 โพสต์ ดังนี้ 

  1. โพสต์ที่ 1 กล่าวคือ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 00.44 น. “ไอซ์”  ได้โพสต์ข้อความว่า “พูดตรงๆนะ ที่พวกเราต้องมาเจอวิกฤตวัคซีนแบบทุกวันนี้ เริ่มต้นก็เพราะรัฐบาลผูกขาดวัคซีนเพื่อหาซีนให้เจ้า สร้างวาทะกรรมของขวัญจากพ่อต่างๆ เล่นการเมืองบนวิกฤตชีวิตของประชาชน ผลสุดท้ายคนที่ซวยที่สุดคือประชาชน #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดํา” ประกอบรูปภาพป้ายที่มีมือยื่นถือป้ายเทียบเคียงซุ้มเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ปรากฏข้อความ “ทรราช (คํานาม) TYRANT ; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อํานาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง”
  2. โพสต์ที่ 2 กล่าวคือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 19.58 น. “ไอซ์” รีทวีตข้อความจากบัญชีทวิตเตอร์หนึ่ง มีเนื้อความสื่อถึงความไม่พอใจต่อกษัตริย์ โดยบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวนั้นได้โค้ดข้อความของผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์อีกรายหนึ่ง ใช้ชื่อ “นิรนาม” ซึ่งทวิตข้อความตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. 2563 เป็นภาพถ่ายที่มีข้อความสื่อถึงกษัตริย์

รักชนกได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ต่อมาได้มีการสืบพยานโจทก์ไปเมื่อวันที่ 23 – 24 มี.ค. 2566 ขณะที่นัดสืบพยานจำเลยไปเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้ >>> คดี 112 “ไอซ์-รักชนก” ทวิต-รีทวิตข้อความวิจารณ์รัฐบาลและกษัตริย์

.

วันนี้ (13 ธ.ค. 2566) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 808 รักชนกเดินทางมาฟังคำพิพากษา พร้อม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล, ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะ สส. จากพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากสถานทูตอังกฤษ ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมสังเกตการณ์

เวลา 09.30 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและเรียกให้รักชนกเข้าไปนั่งในคอกพยาน ก่อนอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ มีรายละเอียดดังนี้

คดีนี้ โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  มาตรา 14 

ศาลวิเคราะห์พยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า ภาพและข้อความตามฟ้องเป็นการใส่ร้ายจากบุคคลที่เห็นต่างทางการเมือง หากตนโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้องย่อมต้องถูกดำเนินคดีอย่างแน่นอน เพราะมีบุคคลที่จ้องจะเล่นงานอยู่ ตนจึงไม่มีทางโพสต์ภาพและข้อความตามฟ้อง 

พยานโจทก์ มณีรัตน์ เลาวเลิศ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ตนเห็นว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความ โดยบัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวมีภาพและชื่อของจำเลย เมื่อพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานโจทก์ปากมณีรัตน์ เห็นว่าไม่รู้จักหรือมีสาเหตุบาดหมางกับจำเลยมาก่อน ไม่พบว่าทำงานทางการเมือง การที่มณีรัตน์นำภาพและข้อความมาแจ้งความกล่าวหาให้ดำเนินคดีกับจำเลยนับว่าเป็นการทำหน้าที่ของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงเชื่อว่ามณีรัตน์เบิกความตามสิ่งที่พบเห็น ข้ออ้างของจำเลยในส่วนนี้จึงไม่น่าเชื่อถือ

ในข้อต่อสู้ของจำเลย มีพยานจำเลยปาก ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เบิกความว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ตรวจสอบ URL และ IP Address ของโพสต์ทั้งสองว่า เป็นบัญชีของจำเลย และไม่ได้ให้จำเลยส่งมอบโทรศัพท์เพื่อตรวจสอบนั้น เห็นว่าพนักงานสอบสวนเปิดให้จำเลยแก้ข้อกล่าวหาอันเป็นประโยชน์และรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่ทำได้ เพื่อพิสูจน์ทั้งความบริสุทธิ์และความผิดของจำเลย

แต่พยานโจทก์ปาก ร.ต.อ.หญิง ณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ ผู้สอบปากคำจำเลย เบิกความว่า จำเลยให้การปฏิเสธแต่ไม่ได้ให้การโดยละเอียด พนักงานสอบสวนสอบถามถึงการกระทำโดยละเอียดว่าจำเลยเป็นผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์และเผยแพร่ข้อความดังกล่าวหรือไม่ จำเลยให้การว่า “ขอไม่ให้การ” และเมื่อพนักงานสอบสวนถามถึงโทรศัพท์ของจำเลย จำเลยให้การว่า “ไม่ได้เอามา” 

เห็นว่า จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หากมีการตัดต่อภาพเพื่อใส่ร้าย จำเลยย่อมต้องแจ้งต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบสวนต่อไป รวมทั้งมิได้ขวนขวายที่จะขอส่งมอบโทรศัพท์ของตนให้พนักงานสอบสวนทำการตรวจสอบข้อมูล ทั้งที่เป็นการไม่ยากที่จะกลับไปเอาหรือส่งมอบให้ภายหลังในระยะเวลาอันสมควร การกระทำของจำเลยจึงผิดวิสัย

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พนักงานสอบสวนรวบรวม URL ของโพสต์ทั้งหมดและพิจารณาแล้วว่าพยานหลักฐานเพียงพอ และได้แจ้งข้อความและบัญชีทวิตเตอร์ทั้งหมดให้กับจำเลยแล้ว แม้จะไม่ได้พิมพ์ URL มาก็เชื่อได้ว่ามีข้อความดังกล่าวอยู่จริง 

ไม่มีเหตุใดให้เชื่อว่าพนักงานสอบสวนและผู้กล่าวหาจะร่วมกันจัดแต่ง URL ขึ้นมาเองเพื่อเอาผิดจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่ได้ให้การทักท้วงหรือปฏิเสธความมีอยู่หรือความถูกต้องของ URL ในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นเวลากระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันเป็นระยะเวลาที่เชื่อว่าจำเลยไม่อาจคิดหาหนทางบิดเบือนข้อเท็จจริงได้เช่นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณา ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างจากที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนประมาณ 1 ปี 6 เดือน ข้อต่อสู้ของจำเลยในชั้นพิจารณาจึงมีน้ำหนักน้อย

จำเลยเคยแถลงต่อศาลว่า ไม่ใช่เจ้าของบัญชี แต่ภายหลังจากสืบพยานปากพนักงานสอบสวน จำเลยเบิกความรับว่า บัญชีทั้ง 3 เป็นของตน ไม่สอดคล้องกับแนวทางการต่อสู้ เป็นพิรุธ ประกอบกับพฤติกรรมของจำเลยซึ่งไม่นำพาหรือขวนขวายที่จะให้การหรือแสดงหลักฐานใดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนในชั้นสอบสวน อันเป็นการผิดวิสัยของบุคคลทั่วไปในฐานะปวงชนชาวไทยซึ่งต้องเคารพและไม่ละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ เชื่อว่าจำเลยโพสต์หรือรีทวีตภาพและข้อความดังกล่าวตามฟ้อง ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการกล่าวร้ายและอาฆาตมาดร้ายต่อพระชนม์ชีพของรัชกาลที่ 10 และราชวงศ์จักรี ซึ่งย่อมหมายถึงพระราชินีด้วย จำเลยจึงมีความผิดต่างกรรมต่างวาระ

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด คือ มาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นภาวรรณ ขุนอักษร ผู้พิพากษา ได้กล่าวกับจำเลยว่า เรื่องการสั่งประกันตัวไม่ใช่อำนาจของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน แต่จากการปรึกษากับผู้บริหาร หากจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีก็ไม่น่าจะมีปัญหาต่อการประกันตัว 

ต่อมาในเวลาประมาณ 15.46 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันรักชนกในระหว่างอุทธรณ์ วงเงินประกันจำนวน 500,000 บาท โดยใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของ ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตีราคาประกัน 200,000 บาท และเงินสดจำนวน 300,000 บาท โดยมีเงื่อนไขการประกันตัวเช่นเดียวกับเงื่อนไขประกันในระหว่างพิจารณาคดี คือ ห้ามกระทำการหรือร่วมกิจกรรมลักษณะเดียวกันกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา หรือมีพฤติการณ์ใดๆ ในลักษณะที่ถูกกล่าวหา

X