“ผมเกิดที่กรุงเทพครับ เรียนหนังสือถึงชั้น มศ.5 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แล้วก็ไปเรียนมหาลัย เรียนรามฯ นั่นแหละครับ เรียนด้วยทำงานด้วย แต่ตอนนั้นไม่ไหวเพราะว่าคุณพ่อป่วย คุณแม่ก็ป่วย เลยไม่ได้เรียนต่อ ก็เรียนจบแค่ มศ.5 แล้วก็ไปทำงาน”
“ตอนนั้นไปทำงานหนังสือพิมพ์ตามที่เพื่อนแนะนำ เป็นคนพาดหัวข่าว ทำอยู่ได้ 6 ปีก็โดนเลย์ออฟ (Lay Off) ออกมาจากบริษัท เลยเริ่มทำธุรกิจตัวเอง ไปทำร้านอาหาร ไปขับรถ ไปรับจ้างออกแบบ ก็ทำไปเรื่อย”
“ผมย้ายไปอยู่ภูเก็ตปีที่มีสึนามิพอดี (2547) ย้ายไปก่อนสึนามิจะเข้าประมาณเดือนนึง ตอนอยู่ภูเก็ตก็ทำหลายอย่าง ทำงานร้านป้าย เป็นคนออกแบบ เป็นคนพิมพ์ป้ายโฆษณา ทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ไปขับรถให้กับผู้บริหาร แล้วก็ค้าขาย ก็ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีคดีถึงขึ้นมากรุงเทพฯ”
“ผมเคยมีครอบครัว แต่ก็หย่าร้างเลิกรากันไป ตอนนี้อยู่คนเดียวครับ”
“พงษ์” (นามสมมติ) เริ่มต้นถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน 60 ปี ให้ฟัง ตอนนี้เขาเดินทางผ่านกาลเวลามาไกลกว่าครึ่งชีวิตแล้ว แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าในอนาคต เขาจะถูกพรากเวลาที่เหลืออยู่ไปกี่ปี เมื่อเขาตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึง 6 กระทง จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 6 ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างวันที่ 11 ต.ค. ถึง 14 พ.ย. 2564 โดยเป็นโพสต์ข้อความประกอบภาพรัชกาลที่ 10 จำนวน 2 ข้อความ และเป็นโพสต์ข้อความเพียงอย่างเดียว 4 ข้อความ
คดีนี้เดิมมีกำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 9 – 10 พ.ค. 2566 ในวันแรกของการสืบพยาน พงษ์ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงให้งดการสืบพยาน และมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 มิ.ย. 2566 เวลา 9.30 น.
ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2565 พงษ์ถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมตามหมายจับจากคอนโดใน จ.ภูเก็ต ก่อนถูกนำตัวมาคุมขังไว้ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน
ต่อมาในวันที่ 21 ม.ค. 2565 ศาลอาญาได้อนุญาตให้ฝากขัง ‘พงษ์’ ตามคำขอของพนักงานสอบสวน ทั้งได้ยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้เหตุผลว่า ผู้ขอประกันมิได้มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นญาติกับผู้ต้องหา ทำให้เขาจะถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึง 3 วัน กว่าศาลจะอนุญาตให้ประกันตัว
“ผมโดนจับที่ภูเก็ต เป็นหมายจับมา ไม่มีหมายเรียกมาก่อน แล้วถูกนำตัวมากรุงเทพในวันนั้นเลย” พงษ์ลำดับเหตุการณ์ในวันนั้นให้ฟัง
“ตอนที่โดนจับผมก็ทำกิจวัตรประจำวันเป็นปกติ ตอนนั้นประมาณบ่ายโมง ชุดจัดกุมน่าจะไปประมาณสิบกว่าคนได้ ไปที่คอนโด ตอนนั้นเพิ่งเช่าคอนโดอยู่ที่ภูเก็ต เขาก็แสดงหมายจับ แล้วก็พูดตามวิธีการจับกุมนั่นแหละ”
“ผมก็อ่านหมายจับ ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร เห็นเขามีหลักฐานอะไรมาเต็มที่ ผมก็ไม่ได้ขัดขืน”
“ตอนนั้นไม่ได้ประกันตัว ก็เลยเข้าไปเรือนจำประมาณ 3 วัน เช้าวันที่ 24 ม.ค. 2565 ก็ได้ออกจากเรือนจำ” พงษ์เล่าให้ฟัง “จริงๆ เขาปล่อยตัวตั้งแต่คืนวันที่ 23 ม.ค. 2565 แต่มันดึกเกินไป ไม่มีรถกลับภูเก็ตเลย ผมเลยนอนค้างที่บ้านพักของเรือนจำคืนนึง รุ่งเช้าถึงได้หารถทัวร์ไปภูเก็ต”
เมื่อถูกถามถึงเส้นทางการออกมาแสดงออกทางการเมืองของเขา พงษ์เล่าให้ฟังว่า ในอดีตช่วงที่ยังอยู่ในกรุงเทพฯ เขาเคยเข้าร่วมการชุมนุมในยุค ‘เสื้อเหลือง – เสื้อแดง’ มาก่อน โดยในตอนนั้นเขาเป็นคนเสื้อเหลือง อย่างไรก็ตามเมื่อเขาย้ายไปอยู่ภูเก็ต ก็ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมใดๆ อีก
“ตอนอยู่ภูเก็ตก็ไม่ได้ไปร่วมอะไรกับเขา เพราะที่ภูเก็ตก็ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ผมก็เลยได้แต่โพสต์ลงในโซเชียลฯ”
ช่วงปี 2563 ที่เกิดการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ขึ้น พงษ์เล่าว่าตนเองก็เคลื่อนไหวอยู่ในโซเชียลมีเดีย “ผมก็รู้สึกว่าทำได้แค่นั้น ตอนนั้นยังทำงานอยู่ด้วย ผมก็เลยแค่โพสต์ในโซเชียลฯ แรกๆ ก็ไม่ได้โพสต์รุนแรง เพราะไม่คิดว่าม็อบจะโดนปราบปรามรุนแรงขนาดนั้น ต่อมาผมก็เลยโพสต์แรงขึ้น”
พงษ์เล่าต่อว่า จุดเริ่มต้นการออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาจากการติดตามปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ในประเทศตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ เพียงแต่ว่าในตอนนั้นไม่มีช่องทางให้ได้แสดงออกและแสดงความคิดเห็น
“ในตอนนั้นโซเชียลฯ ก็ยังไม่มี ในวงเพื่อนก็ไม่ยอมพูดกัน ผมก็เลยได้แต่เก็บข้อมูลอย่างเดียว”
“ตอนที่เริ่มมีโซเชียลมีเดีย เริ่มมีการโพสต์ เริ่มมีการพูดถึง เริ่มมีการขุดคุ้ย ผมก็เห็นความผิดปกติ เห็นความรุนแรง ก็มีคำถามอยู่ในใจตลอด เลยค้นคว้าด้วยตัวเอง” สำหรับพงษ์แล้ว โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางที่ทำให้เขาได้พูดในสิ่งที่ติดค้าง ตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัย และแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เขาคิดว่าไม่ถูกต้อง
การถูกดำเนินคดีสร้างผลกระทบต่อชีวิตของพงษ์ไปไม่น้อย ก่อนถูกตำรวจเข้าจับกุมเพียงไม่นาน เขาถูกเลิกจ้างจากการเป็นคนขับรถให้ผู้บริหาร และหลังจากโดนคดีเขาต้องย้ายจากภูเก็ตมาพักอาศัยอยู่ใกล้กรุงเทพฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“หลังโดนคดี ผมย้ายไปอยู่ที่กาญจนบุรีเพราะกลับภูเก็ตไม่ได้ ตอนนั้นภูเก็ตปิดเกาะช่วงโควิด ก็เลยหาที่อยู่ พอดีเพื่อนที่กาญจนบุรีเขาชวน ผมก็เลยไปอยู่ด้วย ก็อยู่กาญจนบุรีระยะหนึ่ง เพื่อนที่เป็นทนายความก็ชวนว่า งานเขาเยอะ ให้มาช่วยเขาหน่อย ผมก็เลยไปช่วยเขา”
“พอตกเป็นผู้ต้องหาคดี 112 ก็หางานยากหน่อย ต้องขอความช่วยเหลือจากคนรู้จัก ได้เพื่อนที่เป็นทนายความเสนองานให้ทำช่วงที่รอผลคดีจากศาล ก็เลยได้ทำอยู่ 7 – 8 เดือน”
พงษ์เล่าว่า การตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ไม่ได้ทำให้เขาเครียดหรือกดดันจนกระทบต่อสุขภาพจิตของตัวเองมากนัก เนื่องจากการปฏิบัติตามคำสอนในศาสนาช่วยประคับประคองจิตใจของเขาให้ยังคงสงบสุขและสบายใจ
“ผมเป็นคริสเตียน ผมเชื่อในพระเจ้า ผมก็อธิษฐาน พูดคุยกับพระเจ้า ผมก็ได้รับการปลอบโยนจากความเชื่อของผม ไม่ได้กดดัน ไม่ได้รู้สึกต้องตีโพยตีพาย หรือว่าต่อต้านสังคมมากขึ้น”
“ความเชื่อทางศาสนาทำให้ผมรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่นอกเหนือความคาดหมาย กฎหมายก็ระบุแล้วว่าต้องทำยังไงกับเคสของผม คนอื่นก็ทำไปตามหน้าที่ ส่วนผมก็ทำตามหน้าที่ของผม ผมก็ยังมีความสงบสุขอยู่ แม้ในขณะที่มันดูไม่น่าจะมีแล้ว” แม้วันพิพากษาจะใกล้เข้ามาเรื่อยๆ แต่พงษ์ยืนยันว่า เขาไม่ได้รู้สึกเป็นกังวล และไม่ได้คาดหวังว่าคำพิพากษาจะออกมาในแนวทางไหน เขาเพียงใช้ชีวิตตามปกติต่อไปเท่านั้น
“ผมรู้สึกว่ากฎหมายนี้ไม่ได้เอื้อให้เกิดความยุติธรรมได้อย่างที่คนในสังคมต้องการ มันเลยเกิดความขัดแย้งและการต่อสู้” พงษ์ตอบเมื่อถูกถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อกฎหมายมาตรา 112 “ถ้าจะถามผม ผมก็เห็นว่าเป็นกฎหมายที่มีปัญหาทั้งตัวบทและการบังคับใช้”
หลังจากการเลือกตั้งปี 2566 พรรคการเมืองฝ่ายค้านเดิมกลายเป็นเสียงข้างมากในสภาและมีแนวโน้มว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองดีขึ้นหรือไม่นั้น พงษ์ให้ความเห็นว่า เมื่อดูจากสภาพสังคมแล้ว เขาเห็นว่ายังคงต้องมีการต่อสู้ต่อไปอีกพักใหญ่ ไม่ว่าฝ่ายประชาธิปไตยจะตั้งรัฐบาลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากถ้าตั้งรัฐบาลสำเร็จ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังคงอยู่เป็นคลื่นใต้น้ำตลอดเวลา
“ต้องมีการต่อสู้อยู่ตลอด ไม่ว่าฝ่ายไหนจะคุมเกมหรือได้อำนาจ อีกฝ่ายก็จะต้องต่อต้าน หากฝ่ายอำนาจเก่าสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ ฝ่ายประชาชนก็ต้องลุกขึ้นต่อต้าน ถ้าฝ่ายประชาชนโดยพรรคก้าวไกลสามารถกุมอำนาจได้ ก็ต้องโดนฝ่ายอนุรักษ์นิยมลุกขึ้นต่อต้าน ก็จะอยู่ในสถานการณ์ต่อสู้ไปอีกพักใหญ่ๆ”
“ผมก็ดีใจที่พรรคก้าวไกลได้เสียงข้างมาก แล้วก็มีโอกาสที่จะได้ตั้งรัฐบาล ถึงแม้จะรู้ว่ามันไม่ง่าย แต่ว่าด้วยความเชื่อทางศาสนา ผมก็อธิษฐานเผื่อประเทศไทย” พงษ์เล่าถึงการปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนาที่เขาทำมาตลอด และเขาก็เห็นสัญญะทางการเมืองที่เป็นไปตามคำอธิษฐานของตน
“ผมไม่รู้สึกว่ามันยากเกินไปที่จะเกิดพรรคแบบก้าวไกล หรือยากเกินไปที่พรรคก้าวไกลจะได้ตั้งรัฐบาล แต่คิดว่าต่อไปจะมีการต่อสู้กันอีกเยอะ เป็นลักษณะการเติบโตของประชาธิปไตยที่ในทุกประเทศก็มี”
เมื่อถูกถามว่าในอนาคต หากไม่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดี 112 แล้ว คิดว่าชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร พงษ์ตอบอย่างเรียบง่ายว่า เขาก็คงใช้ชีวิตปกติอย่างที่ใช้ในทุกวันนี้
“ตอนนี้ผมทำอาชีพขับแท็กซี่อยู่ แล้วก็ยังคงโพสต์ความเห็นตัวเองลงโซเชียลมีเดียบ้าง ในส่วนของศาสนา ผมก็รับใช้พระเจ้า” พงษ์ระบุว่าทั้ง 3 อย่างในข้างต้นจะเป็นสิ่งที่เขาทำต่อไป เนื่องจากเป็นความครบถ้วนในชีวิตที่เขามี โดยไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่มเติม