ยกฟ้อง 4 ประชาชน ร่วมชุมนุม #11สิงหาไล่ล่าทรราช ศาลชี้ ใช้สิทธิชุมนุมวิจารณ์ รบ. ตาม รธน. ไม่ใช่การมั่วสุม-ไม่เสี่ยงแพร่โรค

21 ธ.ค. 2566 เวลา 13.30 น. ศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาคดีของประชาชน 4 คน ได้แก่ เมษา เถื่อนมา, อภิชาต ศิริมา, ณัฐพล (สงวนนามสกุล) และ ชัยพัทธ์ ศักดิ์ศรีเจริญยิ่ง ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 215 วรรคสอง และ 216 เหตุจากการเข้าร่วมชุมนุม #11สิงหาไล่ล่าทรราช ของกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

ศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อหา เห็นว่าการชุมนุมเป็นการเรียกร้องการทำงานของรัฐบาล จำเลยทั้งสี่คนไม่มีอาวุธ การปราศรัยไม่ได้ปลุกปั่น การสาดสีและเผาหุ่นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยร่วมกันมั่วสุม จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 215 และ 216 ในข้อหาทำร้ายเจ้าพนักงานฯ พยานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ใครเป็นผู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ส่วนในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เห็นว่า พยานหลักฐานไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดชุมนุม การชุมนุมยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่โรค

.

เกี่ยวกับคดีนี้ ในการชุมนุม #11สิงหาไล่ล่าทรราช เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 หลังจากที่ทั้งสี่คนถูกจับกุมบริเวณถนนราขวิถี และถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เพื่อแจ้ง 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ กระทำการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเจ้าพนักงานได้สั่งให้ผู้มั่วสุมเลิกไป แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ มาตรา 216, และร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายหรือจิตใจฯ ตามมาตรา 296 ประกอบกับมาตรา 289 (2)

ถัดมาประมาณสองเดือน เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ทั้งสี่คนใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันต่อสู้และขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปฯ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และ 140 และผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธฯ ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

ในวันเดียวกัน พนักงานอัยการ สำนักอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3) ได้มียื่นฟ้อง ทั้งสี่คนต่อศาลอาญาทั้งสิ้น 6 ข้อหา ได้แก่ มาตรา 138, มาตรา 140, มาตรา 215 วรรคสอง, มาตรา 216, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  หลังจากอัยการยื่นฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสี่คน พร้อมให้วางหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 140,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ จากเดิมที่ในชั้นสอบสวนเคยใช้ตำแหน่งของ สส. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในการประกันตัว

ในคดีนี้จำเลยทั้งสี่คนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสิ้น 9 นัด ระหว่างวันที่ 22-25, 29 พ.ย. 2565 และ 1-3, 7-8 พ.ย. 2566 ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

วันนี้ (21 ธ.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดี 806 เมษา, อภิชาติ, ณัฐพล และ ชัยพัทธ์ ทยอยเดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาพร้อมกับทนายความ จนเมื่อเวลา 13.20 น. ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาราว 10 นาที โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า

ประเด็นแรก: มาตรา 215 วรรคสอง และ มาตรา 216 ข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก แต่ไม่เลิก 

เห็นว่า การชุมนุมเป็นการเรียกร้องและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อีกทั้งไม่พบว่าจำเลยทั้งสี่คนมีอาวุธ การปราศรัยในที่ชุมนุมไม่ได้ปลุกเร้าผู้ชุมนุม รถยังสัญจรไปมาได้ตามปกติ การสาดสีและเผาหุ่นฟางนั้นเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 215 และเมื่อจำเลยไม่มีความผิดในมาตรา 215 แล้วจึงไม่มีความผิดในมาตรา 216

ประเด็นที่สอง: มาตรา 138 ประกอบมาตรา 140 ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธและโดยกระทำตั้งแต่สามคนขึ้นไป 

พยานโจทก์เบิกความว่า มีผู้ชุมนุมบางรายใช้ความรุนแรงและทำร้ายเจ้าหน้าที่ โดยบางคนอาจอำพรางใบหน้า และบางคนก็ไม่ได้อำพรางใบหน้า ตำรวจผู้จับกุมจำไม่ได้ว่าจับกุมจำเลยที่ใด และเบิกความเปลี่ยนไปมาว่าจำเลยไม่ได้ทำสิ่งใด แต่จับกุมเพราะว่าจำเลยอยู่ในเหตุการณ์ เห็นว่าพยานโจทก์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าใครเป็นผู้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งโจทก์ต้องพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ประเด็นที่สาม: ฝ่าฝืนข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ตามพยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการ ผู้จัดชุมนุม หรือผู้โพสต์เชิญชวนไปชุมนุม จำเลยจึงไม่มีความผิดในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ​ และในที่เกิดเหตุเป็นสถานที่โล่งแจ้ง เป็นการชุมนุมที่ไม่ใช้ระยะเวลานาน จึงไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อีกทั้งเป็นการรวมตัวเพื่อเรียกร้องเรื่องการจัดการกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ของรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

พิพากษายกฟ้อง 

.

สำหรับการชุมนุม #ม็อบ11สิงหา64 หรือ กิจกรรม “ไล่ล่าทรราช” ที่จัดโดยกลุ่ม “ทะลุฟ้า” บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนไปยังบ้านพักของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อเรียกร้องให้ลาออก กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการปราศรัยโจมตีรัฐบาล ต่อด้วยกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เผาศาลพระภูมิและหุ่นจำลองของ “ชนาธิป เหมือนพะวงศ์” รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ที่มักมีคำสั่งไม่ให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมือง

หลังกลุ่มทะลุฟ้าประกาศตั้งขบวนไม่ถึง 10 นาที เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนได้เข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และกวาดจับผู้ชุมนุม จนต่อมาเวลา 15.55 น. กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมหลังเริ่มกิจกรรมได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง 

หลังการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผูุ้ชุมนุมบางส่วนได้มุ่งหน้าไปยังถนนวิภาวดี แต่เจ้าหน้าที่ได้ใช้คอนเทนเนอร์ปิดกั้นถนนวิภาวดีช่วงบริเวณแยกดินแดง และมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนบนทางด่วนดินแดง เจ้าหน้าที่ยังคงใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตายิงลงมาใส่ผู้ชุมนุมด้านล่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ชุมนุมถอยร่นกลับไป จนกระทั่งเวลา 19.30 น. เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ผู้ถูกจับหลายรายมีบาดแผลจากการถูกทำร้าย ทั้งแผลจากการถูกกระบองของเจ้าหน้าที่ตี หรือบางรายถูกกระสุนยาง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมในวันที่ 11 ส.ค. 2564 ทั้งสิ้น 21 ราย ซึ่งถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ 17 ราย (แบ่งเป็นผู้ใหญ่ 15 ราย และเยาวชน 2 ราย) โดยปัจจุบันบางคดียังคงอยู่ในชั้นสอบสวน และบางคดีศาลเริ่มทยอยมีคำพิพากษาออกมาบ้างแล้ว โดยเป็นที่น่าสังเกตว่าในคดีของ วรวรรณ แซ่อั้ง หรือ “ป้าเป้า” และประชาชนรวม 8 ราย ที่ถูกฟ้องในข้อหาเดียวกันกับคดีที่มีคำพิพากษาในวันนี้นั้น เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ศาลอาญามีคำพิพากษาว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี 

ต่อมาอีก 2 คน ได้แก่ “ศักดิ์ดา” (สงวนนามสกุล) และ “กรรภิรมย์” (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมภายหลังการชุมนุมราว 1 เดือน เนื่องจากถูกกล่าวหาในข้อหาหลักว่าร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ฯ เผารถบรรทุกพ่วงลากจูงรถยกจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกคนละ 2 ปี ต่อมาวันที่ 20 มี.ค. 2566 ศาลอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งในระหว่างนั้นทั้งสองคนถูกขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น 6 วัน

อีก 1 คนเป็นเยาวชนที่ถูกจับกุมหลังเกิดเหตุกว่า 1 เดือน โดยถูกกล่าวหาว่าทุบกระจกป้อมจราจรแยกมเหสักข์ เขตบางรัก หลังจากการชุมนุม #ม็อบ11สิงหา โดยคดีนี้ยังอยู่ในชั้นสอบสวน

และสุดท้าย “ป่าน – กตัญญู หมื่นคำเรือง” ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์เชิญชวนไปชุมนุมใน #ม็อบ11สิงหา64 และ #ม็อบ13สิงหา64 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมอรภูมิ ในข้อหาตาม ป.อาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยวันเดียวกันศาลอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์โดยวางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงินรวม 100,000 บาท

X