เปิดสถิติยื่นประกันตัว 19 ผู้ต้องขังคดีการเมืองระลอกใหม่ ก.พ.-ก.ย. 66 แม้มี 2 ผู้ต้องขังอดอาหารประท้วงอีกครั้ง แต่ยังไม่มีใครได้รับสิทธิการประกันตัวเลย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2566 จนถึงวันที่ 4 ก.ย. 2566 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำในคดีแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี พุ่งขึ้นเป็นอย่างน้อย 19 คน 

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2566 จะมีคดีมาตรา 112 ที่นัดฟังคำพิพากษาอีกจำนวน 7 คดี โดยหนึ่งในคดีที่น่าจับตา คือ คดีจากการปราศรัยในการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ของอานนท์ นำภา ซึ่งนับเป็นคดีมาตรา 112 ของอานนท์คดีแรกที่ศาลจะมีคำพิพากษา ในวันที่ 26 ก.ย. 2566 

จากสถานการณ์คดีมาตรา 112 รวมถึงคดีเกี่ยวกับระเบิดและเหตุการณ์ชุมนุมที่ดินแดง หลังศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา มีแนวโน้มว่าจำเลยจะไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุดเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิจารณาการปล่อยชั่วคราว โดยมีข้อน่าสังเกตว่า ในคำสั่งไม่ให้ประกันของทุกคดีดังกล่าว ศาลมักจะอ้างเหตุผลว่า ‘มีเหตุอันควรที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาต’ ทำให้น่ากังวลว่า จำนวนผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำจะเพิ่มขึ้นอีกในเดือนกันยายนนี้

อ่านรายงานผู้ต้องขังคดีการเมือง ภายหลังสถานการณ์อดอาหาร >>> สิงหาฯ ถูกขังอีก 10 คน ผู้ต้องขังการเมืองพุ่ง 29 คน ขณะศาลยังไม่ให้ประกันสักคดี ‘วารุณี-เวหา’ อดอาหารประท้วง ทวงสิทธิประกันตัว 

ผู้ต้องขังคดีการเมืองรายใหม่ตั้งแต่ ก.พ. 2566 ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับระเบิด – วางเพลิง รวม 8 ราย มี 2 ราย ไม่ได้ประกันนานกว่า 200 วันแล้ว อีก 3 ราย ถูกขังระหว่างพิจารณาคดี

ภายหลังการประท้วงอดอาหาร และอดนอนของนักกิจกรรม อาทิ “ตะวัน – แบม”, เก็ท โมกหลวงริมน้ำ และสิทธิโชค (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 เมื่อช่วงมกราคม – กุมภาพันธ์ 2566 ได้ปรากฏว่ามีผู้ต้องขังส่วนหนึ่งที่ถูกขังข้ามปี 2565  ได้รับการประกันตัวประมาณ 12 ราย 

แต่ภายหลังการประท้วงดังกล่าว พบว่ามีคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกและไม่ให้ประกันตัวจำนวน 3 ราย คือ “ถิรนัย – ชัยพร” ทั้งสองถูกศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 ให้จำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี ในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง ก่อนการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 โดยศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมารวม 6 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสองผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวนานที่สุดในรอบปี 2566 เป็นระยะเวลานานทะลุ 200 วันแล้ว 

นอกจากนี้ ในวันที่ 15 มี.ค. 2566 พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้อง “มาร์ค ชนะดล” หนุ่มวัย 24 ปี ในข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี ระบุว่า “คดีมีอัตราโทษสูง เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยแล้วจะหลบหนี” และศาลยังคงไม่อนุญาตให้ประกันเรื่อยมากว่า 10 ครั้ง โดยที่คดียังไม่เริ่มต้นการสืบพยาน ซึ่งหมายความว่าเขาอาจจะยังคงถูกคุมขังต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ผลของคำสั่งไม่ให้ประกันเรื่อยมา ทำให้มารค์เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังที่ยื่นประกันตัวมากที่สุดกว่า 10 ครั้งในรอบปีนี้

อ่านเรื่องราวของมาร์คผ่านคำพูดของแม่ >>> “แม่อยากกอดเขา”: การต่อสู้ของแม่ “มาร์ค ชนะดล” เมื่อลูกชายต้องถูกคุมขัง

ในเดือนกรกฏาคม 2566 ศาลอาญายังได้มีคำพิพากษาในคดีของ “ประวิตร” ชายหนุ่มวัย 21 ปี ซึ่งถูกฟ้องว่า ร่วมกันวางเพลิงป้อมตำรวจจราจร บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลัง #ม็อบ10สิงหา เมื่อปี 2564 โดยพิพากษาจำคุก 12 ปี 8 เดือน ก่อนลดเหลือ 6 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา แม้จะมีการยื่นขอประกันประวิตรไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ศาลอุทธรณ์ยังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกัน โดยระบุเช่นเดียวกับคดีอื่นว่า เป็นข้อหาอัตราโทษสูง เกรงจะหลบหนี

สำหรับ “ประวิตร” ประกอบอาชีพเป็นพนักงานขนสินค้าของโรงงานน้ำมันแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ อาศัยอยู่กับแม่ ภรรยา และลูกอีก 2 คน วัย 3 ปี และ 4 เดือน ก่อนถูกคุมขังประวิตรทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวเพียงคนเดียว การที่ประวิตรถูกคุมขังในคดีนี้ส่งผลกระทบให้ครอบครัวได้รับความลำบากมากขึ้น 

และล่าสุดในคดีของ “คเชนท์ – ขจรศักดิ์”  2 สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊สวัย 21 และ 20 ปี ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุก 10 ปี 6 เดือน และ 11 ปี 6 เดือน ตามลำดับ ในข้อหาหลัก คือ ร่วมกันมี / ใช้วัตถุระเบิดในครอบครองฯ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64 และถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ทำให้ทั้งสองเป็นผู้ต้องขังคดีระเบิดที่ต้องโทษจำคุกมากที่สุดในระลอกปี 2566 นี้ 

ในปีนี้คดีเกี่ยวกับระเบิดและการวางเพลิงเผาทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องมาจากการชุมนุมเริ่มเข้าสู่ชั้นพิจารณาคดีและมีคำพิพากษามากขึ้น ซึ่งนอกจากศาลชั้นต้นจะมีแนวโน้มลงโทษจำคุก พ่วงมาด้วยคำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวโดยศาลอุทธรณ์แล้ว คดีที่ถูกยื่นฟ้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลก็มีแนวโน้มที่จำเลยจะไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาเช่นเดียวกับมาร์ค โดยในเดือนสิงหาคม “ธีรภัทร – ปฐวีกานต์” ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว หลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาในข้อหาร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิด และร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน จากการปาวัตถุคล้ายระเบิดใส่รถสายตรวจ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส คืนวันที่ 31 ต.ค. 2564

.

ผู้ต้องขังคดี 112 จำนวน 7 ราย เป็นกรณีไม่ได้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ 5 ราย จน “วารุณี” – “เวหา” อดอาหารประท้วงร่างกายเข้าสู่วิกฤต ด้าน ‘เก็ท’ ถอนทนาย – ปฏิเสธกระบวนการศาล เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัว

จากการเก็บข้อมูลการยื่นประกันผู้ต้องขังคดีทางการเมืองซึ่งอยู่ในระหว่างการต่อสู้คดี 7 ราย ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร, วารุณี, วัฒน์, โสภณ และอุดม ในจำนวนนี้ นอกจากวุฒิที่ไม่ได้ประกันยาวนานตั้งแต่อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล และอุดมที่ไม่ได้ประกันระหว่างฎีกา ที่เหลืออีก 5 ราย เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้น คือศาลอาญา ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่าจะให้ประกันระหว่างอุทธรณ์หรือไม่ โดยมีข้อน่าสังเกตว่าในจำนวนทั้ง 5 ราย นี้ไม่มีรายใดที่ได้รับสิทธิประกันตัวจากศาลอุทธรณ์เลย แม้ว่าคดีจะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด 

ขณะที่คดีมาตรา 112 ในช่วงระยะเดียวกันนี้ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกในศาลอื่นๆ พบว่าศาลยังให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ทั้งคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หรือคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่

จากกรณีดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ต้องขังอย่าง ‘วารุณี’ ชาวพิษณุโลกวัย 30 ปี ตัดสินใจประท้วงโดยการอดอาหารตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 หลังถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ในคดีโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 แม้จะได้ยื่นประกันไปถึง 5 ครั้ง 

จนถึงปัจจุบันทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันวารุณีเป็นจำนวน 7 ครั้งแล้ว โดยเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลอาญา 5 ครั้ง ทุกครั้งศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง และอีก 2 ครั้ง เป็นการยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลฎีกา ทั้งหมดศาลไม่อนุญาตให้ประกัน โดยอ้างเหตุเกรงว่าจะหลบหนี

การอดอาหารของวารุณียกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในวันที่ 24 ส.ค. 2566 เธอตัดสินใจจำกัดการดื่มน้ำ และไม่ขอรับสารอาหารใดๆ (Dry – fasting) พร้อมทั้งไม่รับประทานยารักษาอาการไบโพลาร์ของตัวเอง

และล่าสุดจากแถลงการณ์การเข้าเยี่ยมของทนายความ ประจำวันที่ 5 ก.ย. 2566 พบว่า ปัจจุบันเธอถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์แล้ว โดยอาการของวารุณีทรงตัว น้ำหนักยังอยู่ที่ 33 กิโลกรัม และค่าความเป็นกรดของเลือดยังมีปัญหาอยู่ พบคีโตนในปัสสาวะ ซึ่งแสดงว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ แพทย์ไม่ได้บอกว่าค่าคีโตนอยู่ที่เท่าไหร่ แต่บอกว่าอยู่ในระดับที่ผิดปกติ ส่วนความดันปกติ อาการหอบเหนื่อยดีขึ้น แต่ยังรู้สึกปวดท้องตลอดเวลา กระหายน้ำมาก มีอาการน้ำลายเหนียวบ่อยขึ้น มีอาการวิงเวียนศีรษะ และยังไม่ได้ขับถ่าย 

ในคดีที่วารุณีถูกขังอยู่นี้ แม้เธอจะรับสารภาพ แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เธอสามารถอุทธรณ์ในส่วนของโทษจำคุกให้ศาลรอลงอาญาได้ โดยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไปแล้ว การได้รับการประกันตัวจึงยังเป็นสิทธิสำคัญในระหว่างรอคอยให้ศาลสูงขึ้นไปทบทวนคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

กรณีของ  ‘เวหา’ ก็ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ หลังศาลอาญาตัดสินจำคุก 3 ปี 18 เดือน เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ในคดีจากการใช้บัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver.เกรี้ยวกราด” โพสต์ข้อความเกี่ยวกับคุกวังทวีวัฒนา และศาลอุทธรณ์ยังไม่อนุญาตให้ประกันหลังยื่นประกันมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งเมื่อเวหาได้ยินเรื่องการประท้วงอดอาหารของวารุณี เขาได้ตัดสินใจประท้วงอดอาหารเคียงข้างวารุณี ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566 

และสำหรับข้อเรียกร้อง 3 ข้อของเวหาในการประท้วงอดอาหารครั้งนี้ ได้แก่  

1. เรียกร้อง ‘สส.’ เข้ามารับข้อเสนอ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” จากผู้ต้องขังในเรือนจำ  

2. เรียกร้อง ‘คณะรัฐมนตรีชุดใหม่’ ออกมาแถลงความคืบหน้าและความเป็นไปได้ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง

3. เรียกร้อง ‘ศาล’ ให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดียังไม่สิ้นสุดเด็ดขาด และปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีสิ้นสุดเด็ดขาดแล้ว

สำหรับสถานการณ์การอดอาหารปัจจุบันของเวหา เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ทนายความที่เข้าเยี่ยมได้เปิดเผยว่า เขาดูเหนื่อยมาก มีอาการตาลอย ไม่โฟกัสในระหว่างพูดคุย ขณะพูดคุยกับทนายเวหาก็ฟุบลงไปกับโต๊ะ ไม่รู้สึกอยากอาหารเหมือนชินกับความหิวไปแล้ว แต่ปวดท้องตลอดเวลา ปัจจุบันยังกินเฉพาะของเหลว เช่น น้ำข้าวต้มผสมน้ำตาล และนม แต่ไม่กินน้ำผลไม้เพราะกินแล้วปวดท้อง อาการที่สร้างความทรมาน คือ อาการเพลียและอ่อนล้ามาก

ในกรณีของผู้ต้องขังอื่นๆ อย่าง ‘ทีปกร’ หมอนวดอิสระ วัย 38 ปี ซึ่งเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 เขาถูกพิพากษาจำคุก 3 ปี ในคดีโพสต์เฟซบุ๊กและแชร์คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษีของสถาบันกษัตริย์ และศาลอุทธรณ์ รวมถึงศาลฎีกา ยังมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน หลังยื่นประกันและอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันมาแล้วรวม 3 ครั้ง 

ในคดีที่มีพฤติการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ของ ‘วัฒน์’ พ่อค้าออนไลน์ ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ให้จำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน จากกรณีโพสต์วิจารณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 และชื่นชมรัชกาลที่ 9 ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยอ้างว่ามีพฤติการณ์หลบหนี 

และในวันที่ 24 ส.ค. 66 ศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 อีกคดี โดย ‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ วัย 24 ปี ถูกลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ในคดีที่ถูกฟ้องจากคำปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ในการยื่นประกันหลังศาลมีคำพิพากษา 1 ครั้ง ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ก่อนมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ อ้างเหตุกลัวหลบหนีเช่นเคย

สถานการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ศาลอาญาธนบุรีได้เบิกตัวเก็ทมาในนัดสืบพยานโจทก์ คดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในกิจกรรม #ฟื้นฝอยหาตะเข็บ #ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน เนื่องในวันจักรี ที่วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 แต่เก็ทได้แถลงต่อศาลว่า เขาขอถอนทนายความในคดีนี้ และปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม เพื่อเรียกร้องใน 2 ข้อ ได้แก่

1) ขอให้คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน
2) ให้ยุติการดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งหมด

ปัจจุบัน ‘เก็ท โสภณ’ ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาเป็นเวลา 15 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ศาลอาญา (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษา นี่เป็นการถูกคุมขังครั้งที่ 3 ของเก็ทในคดีดังกล่าว ทั้งยังเป็นคดีที่เก็ทเคยอดอาหาร – ฝืนตื่นประท้วง เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวมาก่อนอีกด้วย

ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รายเดียวที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี คือ ‘วุฒิ’ (นามสมมติ) ประชาชนวัย 51 ปี หลังเขาถูกอัยการยื่นฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 ศาลอาญามีนบุรีก็ไม่เคยอนุญาตให้ประกัน แม้คดียังไม่ได้มีการสืบพยานให้จำเลยได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ จนถึงปัจจุบันทนายยื่นประกันวุฒิไปแล้ว 3 ครั้ง ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลอุทธรณ์อีก 2 ครั้ง รวมเป็นทั้งหมด 5 ครั้ง ทำให้วุฒิเป็นผู้ต้องขังคดี 112 ที่ถูกขังนานที่สุดในรอบปี 2566 รวมเวลากว่า 160 วันแล้ว 

กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในคดีมาตรา 112 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาในคดีของ “อุดม” คนงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจังหวัดปราจีนบุรีวัย 35 ปี ซึ่งมีเหตุจากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวมจำนวน 7 ข้อความ โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่าผิดใน 2 ข้อความ ลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 4 ปี 

ภายหลังอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันอุดมในชั้นฎีกาต่อทันที แต่ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลฏีกาพิจารณา ทำให้อุดมต้องถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ก่อนที่ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เท่าที่ติดตามได้ ถือได้ว่าอุดมเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 คนเดียว ที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส 

คดีนี้ของอุดมนับเป็น 1 ใน 8 คดีมาตรา 112 ที่จังหวัดนราธิวาส (เท่าที่ทราบข้อมูล) ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.สุไหงโก-ลก โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดไม่ได้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ภาคใต้ แต่ต้องเดินทางไปจากจังหวัดต่างๆ เพื่อต่อสู้คดี คดีของอุดมยังเป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์ 

ย้อนอ่านข่าวคำพิพากษาของอุดม >>> ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุก 4 ปี คดี ม.112 “อุดม” หนุ่มโรงงานจากปราจีนบุรี ก่อนศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว

.

ผู้ต้องขังคดีการเมือง 5 ราย ตัดสินใจยุติการสู้คดีในชั้นศาล หลังไม่เคยได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี

ทั้งนี้ ในปี 2566 มีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ตัดสินใจยุติการสู้คดีในชั้นศาลอีก จำนวน 5 ราย ได้แก่ “คทาธร – คงเพชร”, “ทัตพงศ์”, “วัฒน์” และ “สุวิทย์” ทั้งหมดตัดสินใจยุติการยื่นคำร้องขอประกันตัว สืบเนื่องมาจากการที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพวกเขา ทำให้ทั้งหมดกลายเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาด และบางรายได้พ้นโทษออกไปแล้ว

ในกรณีของคทาธรและคงเพชร นักกิจกรรมจากกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็น 2 ผู้ต้องขังคดีการเมืองข้ามปีมาตั้งแต่ปี 2565 ทั้งสองเพิ่งได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษ โดยคทาธรต้องถูกจำคุกนาน 1 ปี 3 เดือน 15 วัน ส่วนคงเพชร ต้องโทษจำคุก 10 เดือน 10 วัน ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) ในคดีที่ถูกฟ้องว่ามีระเบิดปิงปองไว้ในความครอบครอง หลังถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นระหว่างเดินทางไปร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 ที่แยกราชประสงค์ 

ทั้งสองคนตัดสินใจไม่สู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์และฎีกา โดยขอรับโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เนื่องมาจากทั้งสองคนมีการยื่นประกันในชั้นสอบสวนและระหว่างพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2565 จนถึงวันที่ 6 ก.พ. 2566 ถึง 16 ครั้ง แต่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันคงเพชรและคทาธรเรื่อยมา โดยแทบทั้งหมดระบุเหตุผลว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ ก่อนที่ต่อมาในวันที่ 9 ก.พ. 2566 ศาลอาญาได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยอนุญาตให้ประกันคงเพชร หลังมารดาเป็นผู้ยื่นประกัน แต่สำหรับ ‘คทาธร’ แล้วเขาไม่ได้รับสิทธิประกันตัวใดๆ จากศาลเลย 

ทำให้ในนัดสืบพยานเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ทั้งคงเพชรและคทาธรตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพและศาลมีคำพิพากษาในวันเดียวกัน ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วคงเพชรเหลือโทษจำคุกอีกเพียง 4 วัน เขาจึงเข้าเรือนจำอีกครั้งเพื่อรับโทษจนครบและให้คดีสิ้นสุดไปโดยไม่อุทธรณ์ แต่ในส่วนของคทาธรแม้จะยังเหลือโทษอีกเพียง 4 เดือนกว่า ศาลอุทธรณ์ก็ยังคงไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ หลังทนายยื่นประกันในวันที่ศาลมีคำพิพากษา คทาธรจึงไม่ต้องการยื่นประกันและยื่นอุทธรณ์อีก ยินยอมถูกขังจนครบกำหนดโทษและได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในที่สุดเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566

ส่วนแน็ก — ทัตพงศ์ ในคดีที่แน็กถูกจับกุมเนื่องจากเดินทางผ่านด่านตรวจเช็กประวัติ ก่อนเข้าเส้นทางรักษาความปลอดภัยของการประชุม APEC เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 เขาถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ในช่วงการชุมนุมของทะลุแก๊ส บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564

แน็กถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนและยื่นประกันตัวกว่า 10 ครั้ง ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากถูกฝากขังจนครบ 7 ผัด ตามที่กฎหมายอนุญาตให้ขังได้ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 แต่อีกไม่ถึง 1 เดือน ต่อมา เมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาในวันที่ 1 มี.ค. 2566 ศาลอาญาก็ไม่ให้ประกันระหว่างพิจารณา ทำให้แน็กในวัย 25 ปี ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้งหลังได้รับอิสรภาพเพียงไม่กี่วัน เป็นเหตุให้ในนัดตรวจพยานหลักฐาน แน็กกลับคำให้การเป็นรับสารภาพและไม่ติดใจสืบพยาน รวมทั้งเมื่อศาลมีคำพิพากษาในวันที่ 31 พ.ค. 2566 ลงโทษจำคุก 3 ปี เขาก็ไม่ต้องการให้ทนายยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากอยากให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว

ทั้งนี้ แน็กเปิดเผยก่อนวันพิพากษาว่าตัวเขาเข้าคุกมาสองรอบแล้ว “รับโทษให้มันจบๆ ไปดีกว่า”

“ผมเข้ามา 2 รอบแล้ว ถ้าได้ออกไปแล้วต้องเข้ามาใหม่เป็นรอบที่ 3 ผมไม่ไหวแน่ ” เขาทิ้งท้ายกับทนายที่เข้าไปเยี่ยมไว้แค่นี้

ภาพแน็ก ทัตพงศ์ออกจากเรือนจำหลังถูกขังจนหมดผัด

อีกรายคือ “สุวิทย์” ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง กรณี #ม็อบ10สิงหา2564 โดยเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 1 ปี 2 เดือน และในการยื่นประกันระหว่างฎีกาครั้งแรก ศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้ต่อมาสุวิทย์ปรึกษาครอบครัวแล้วตัดสินใจไม่ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อไปอีก และรับโทษจำคุกให้ครบตามกำหนด 

ล่าสุดคือกรณีของ “วัฒน์” พ่อค้าออนไลน์วัย 29 ปี ซึ่งถูกศาลอาญาพิพากษาในคดีมาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน หลังศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันในระหว่างอุทธรณ์ วัฒน์ได้ปรึกษากับทนายว่า ตัวเขาไม่ต้องการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา และอยากรับโทษให้จบๆ ไป อย่างไรก็ตาม คดีของวัฒน์ก็ยังไม่ถึงที่สุดเนื่องจากอัยการยังคงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ไว้อยู่  

ข้อน่าสังเกตในกรณีของผู้ต้องขังที่ตัดสินใจยุติการสู้คดี โดยให้คดีถึงที่สุด ส่วนมากก็เพราะพวกเขาไม่เคยได้รับการประกันตัวจากศาล หลายคนเคยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำทั้งๆ ที่ยังไม่มีโอกาสได้สู้คดีในชั้นศาล หรือแม้แต่เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว ก็ยังคงไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวมาสู้คดีต่อในระหว่างอุทธรณ์

สถานการณ์ช่นนี้ ทำให้ความหวังในการใช้ชีวิตข้างนอกของพวกเขาริบรี่ เพียงเพราะคำสั่งประกันเดิมๆ ของศาลที่ว่า ‘ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม’ การตัดสินใจยอมรับคำตัดสินโทษจึงเป็นเพียงความหวังสุดท้ายที่พวกเขาจะได้กลับมามีอิสรภาพในชีวิตอีกครั้ง 

.

ผู้ต้องขังคดีการเมืองข้ามปี 2565 หวนกลับเข้าเรือนจำอย่างต่อเนื่อง

ผู้ต้องขังข้ามปีอย่าง 4 พลเมืองดินแดง ประกอบไปด้วย วัชรพล, จตุพล, พลพล และณัฐพล จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เพื่อขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือม็อบ #ราษฎรเดินไล่ตู่ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 และถูกกล่าวหาว่าร่วมเผารถตำรวจ

ซึ่งในคดีดังกล่าวศาลได้เคยอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องขังทั้ง 4 ราย ในระหว่างพิจารณาคดี โดยเป็นกลุ่มที่มีการยื่นขอประกันตัวมากที่สุดในระลอกปี 2565 กว่า 18 ครั้ง และทั้งหมดได้ถูกคุมขังมานานกว่า 240 วัน จนกระทั่งได้รับการประกันตัว เมื่อ 16 ก.พ. 2566 

ภาพ 4 พลฯ ออกจากเรือนจำหลังได้ประกันในระหว่างพิจารณา และถูกคุมขังนานกว่า 240 วัน เมื่อ 16. ก.พ.2566

ภายหลังที่คดีมีการสืบพยาน และศาลมีคำพิพากษาในวันที่ 30 ส.ค. 2566 ให้จำคุก วัชรพล, จตุพล และณัฐพล คนละ 3 ปี และจำคุกพลพล 1 ปี 4 เดือน ทำให้ทั้งสี่ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง และมีแนวโน้มว่าต้องรับโทษจนครบกำหนดโทษอีกด้วย ภายหลังศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์

ทั้ง ‘เวหา’ และ ‘เก็ท โสภณ’ ก็เป็นอีก 2 ผู้ต้องขังที่เคยไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดีในคดีเดียวกันกับคดีที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุกนี้ด้วย ทำให้จนถึงต้นเดือนกันยายน 2566 นี้ มีผู้ต้องขังที่ต้องหวนกลับเข้าเรือนจำเป็นจำนวน 6 รายแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่า จำเลยอย่างน้อย 14 ราย ในทุกคดีข้างต้นนี้ ที่ศาลชั้นต้น (ทั้งหมดเป็นศาลอาญา) มีคำพิพากษาให้จำคุกทั้งในคดีมาตรา 112 หรือคดีครอบครองระเบิด ในช่วงตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2566 จนถึงวันที่ 4 ก.ย. 2566 และส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องขอประกัน ศาลอุทธรณ์ไม่เคยให้สิทธิประกันตัวให้กับจำเลยทั้ง 14 รายข้างต้นเลย

และแม้แต่เมื่อวารุณีและเวหาอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันของตนเองและผู้ต้องขังคดีทางการเมือง การยื่นประกันวารุณีหลังจากนั้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็ยังคงไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราววารุณีเช่นเคย นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งไม่ให้ประกันเพิ่มในกรณีของเก็ท, อุดม รวมถึงวัชรพลกับเพื่อนอีก 3 คน ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลด้วยว่า ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ (มี.ค.-ส.ค. 2566) ศาลอุทธรณ์ก็เคยมีคำสั่งให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ในคดีเกี่ยวกับระเบิดและวางเพลิงหลายคดี กล่าวคือ ในเดือนมีนาคม 2566 ให้ประกันศักดิ์ดาและกรรภิรมย์ ในคดีวางเพลิงเผารถยก ของ สตช. บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุกคนละ 2 ปี, ให้ประกันพิชัยและนฤเบศร์ ในคดีปาระเบิดใส่รถสายตรวจ สน.ลุมพินี ที่แยกราชประสงค์ หลังศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน รวมทั้งให้ประกันอานนท์ในคดีพกปืนเข้าร่วม #ม็อบ12กันยา64 ของกลุ่มทะลุแก๊ส หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี 2 เดือน

หรือในเดือนมิถุนายน 2566 ศาลอุทธรณ์ก็ได้ให้ประกันพรพจน์ แจ้งกระจ่าง, “บุ๊ค” ธนายุทธ และปฏิมา ในคดีปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าหน้าราบ 1 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุกคนละ 1 ปี    

จึงยังเป็นเรื่องที่ยังคงต้องตั้งคำถามซ้ำๆ ถึงหลักการและมาตรฐานให้การสิทธิประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี ต่อศาลยุติธรรมในทุกชั้น 

.

อ่านบทความเรื่องสิทธิประกันตัว >>> สั่งไม่ขังได้ ทำไมไม่สั่ง ? : ความ 2 มาตรฐานในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวหลังศาลชั้นต้นพิพากษา |

.

ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ย.2566

ชื่อผู้ต้องขังสถานะจำนวนครั้งที่ประกันรวมหมายเหตุ
ถิรนัย-ชัยพรขังระหว่างอุทธรณ์-ศาลอาญา 4 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง) 
-อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลฎีกา 2 ครั้ง
6 ครั้งถูกคุมขังยาวนานที่สุดใน 2566
ชนะดลขังระหว่างพิจารณาคดี-ศาลอาญา 7 ครั้ง
-อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลอุทธรณ์ 3 ครั้ง
10 ครั้งยื่นประกันตัวมากที่สุดในรอบปี 2566
วุฒิขังระหว่างพิจารณาคดี-ศาลอาญามีนบุรี 3 ครั้ง
-อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลอุทธรณ์ 2 ครั้ง
5 ครั้งเป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 เพียงคนเดียวในระหว่างพิจารณาคดี
ทีปกรขังระหว่างอุทธรณ์-ศาลอาญา 2 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง) 
-อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลฎีกา 1 ครั้ง
3 ครั้งป่วยเป็นไข้หวัด
ประวิตรขังระหว่างอุทธรณ์ -ศาลอาญา 2 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง)2 ครั้งป่วยเป็นไข้หวัด
วัฒน์ขังระหว่างอุทธรณ์ -ศาลอาญา 1 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง)1 ครั้งตัดสินใจยุติการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
วารุณีขังระหว่างอุทธรณ์-ศาลอาญา 5 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง) 
-อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลฎีกา 2 ครั้ง
7 ครั้งอดอาหาร – น้ำ
เวหาขังระหว่างอุทธรณ์-ศาลอาญา 2 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง)2 ครั้งอดอาหาร
เก็ท โสภณขังระหว่างอุทธรณ์-ศาลอาญา 1 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง)1 ครั้งถอนทนาย – ปฏิเสธกระบวนกา่รยุติธรรม
อุดมขังระหว่างฎีกา-ศาลจังหวัดนราธิวาส 1 ครั้ง (ส่งให้ศาลฎีกาสั่ง)1 ครั้งถูกคุมขังอยู่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส
ธีรภัทร – ปฐวีกานต์ขังระหว่างพิจารณาคดี-ศาลอาญา 1 ครั้ง1 ครั้งผู้ต้องขังคดีครอบครองระเบิดที่ยังไม่มีคำพิพากษา
คเชนทร์ – ขจรศักดิ์ขังระหว่างอุทธรณ์-ศาลอาญา 1 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง)1 ครั้งมีผลคำพิพากษาจำคุกนานที่สุดกว่า 10 ปี
วัชรพล, จตุพล,พลพล, ณัฐพลขังระหว่างอุทธรณ์-ศาลอาญา 1 ครั้ง (ศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง)1 ครั้งหวนกลับเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่ 2
X