จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ย. 2566) มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อย่างน้อย 29 ราย แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี 19 ราย และเป็นผู้ต้องขังในคดีที่สิ้นสุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) 10 ราย
ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มอีก 10 ราย พอแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะข้อกล่าวหา ได้แก่ คดีมาตรา 112 จำนวน 2 คน และคดีจากการถูกกล่าวหาจากการชุมนุม เผารถตำรวจ ครอบครองวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) และปาระเบิด (ระเบิดปิงปอง) จำนวน 8 คน
ในเดือนที่ผ่านมา ศาลไม่มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาอยู่เลยแม้แต่คนเดียว ทำให้มีผู้ต้องขังการเมืองในคดี ม.112 จำนวน 2 คน ตัดสินใจแสดงออกด้วย ‘การอดอาหาร’ เพื่อประท้วงต่อศาลและยืนยันตามข้อเรียกร้องของตนเอง ได้แก่ ‘วารุณี’ และ ‘เวหา’
ระหว่างสู้คดี: ถูกขังเพิ่ม 10 คน หลังศาลชั้นต้นพิพากษา-ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน ขณะผู้ต้องขังรายเดิมไร้วี่แววได้ประกัน
ตลอดเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังระหว่างสู้คดีเพิ่มขึ้นมากถึง 10 ราย ทำให้ปัจจุบันมีผู้ต้องขังทางการเมืองระหว่างสู้คดีจำนวน 19 รายแล้ว
แบ่งตามชั้นที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี
- ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี (ศาลยังไม่มีคำพิพากษา) จำนวน 4 คน ได้แก่ ชนะดล, วุฒิ, ธีรภัทร และปฐวีกานต์
- ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา (ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว) จำนวน 14 คน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, เวหา, ทีปกร, วารุณี, ประวิตร, วัฒน์, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, โสภณ, พลพล, จตุพล, วัชรพล และณัฐพล
- ถูกคุมขังระหว่างฎีกาคำพิพากษา (ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้ว) จำนวน 1 คน ได้แก่ อดุม
แบ่งตามข้อกล่าวหาที่ถูกคุมขัง
- ม.112 จำนวน 7 คน ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร, วารุณี, วัฒน์, โสภณ และอุดม
- คดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองและปาระเบิด (ระเบิดปิงปอง) จำนวน 5 คน ได้แก่ ถิรนัย, ชัยพร, ชนะดล, ธีรภัทร และปฐวีกานต์
- คดีที่เกี่ยวข้องกับการเผาป้อมจราจรหรือรถตำรวจ จำนวน 7 คน ได้แก่ ประวิตร, ขจรศักดิ์, คเชนทร์, พลพล, จตุพล, วัชรพล และณัฐพล
ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีรายใหม่ จำนวน 10 ราย มีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
คดีมาตรา 112
- เก็ท โสภณ – นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ อายุ 23 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 ภายหลังศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน ในคดี ม.112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีที่ถูกฟ้องจาการปราศรัยพาดพิงพระราชินี ในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565
- อุดม – คนงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากจังหวัดปราจีนบุรีวัย 35 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส มาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2566 ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุก 4 ปี ในคดี ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊ก 2 ข้อความ และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว
คดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกระหว่างการชุมนุม
- คเชนทร์ และขจรศักดิ์ – 2 สมาชิกกลุ่มทะลุแก๊ส ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2566 ภายหลังถูกศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) พิพากษาจำคุกในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องเคอร์ฟิวของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ร่วมกันมี/ใช้วัตถุระเบิดในครอบครอง ซึ่งสามารถทำอันตรายต่อชีวิตและวัตถุได้ฯ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ30กันยา64 และถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในช่วงหลังเที่ยงคืน ล่วงเข้าสู่วันที่ 1 ต.ค. 2564
คเชนทร์ถูกลงโทษจำคุก 10 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท ส่วนขจรศักดิ์ ถูกลงโทษจำคุก 11 ปี 6 เดือน ปรับ 1,000 บาท
- ธีรภัทร และปฐวีกานต์ – ทั้ง 2 คนถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. 2566 ภายหลังอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล และศาลไม่ให้ประกันตัว ทั้งสองถูกฟ้องในข้อหา ร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิด และร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน จากการปาวัตถุที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายระเบิดใส่รถสายตรวจ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส คืนวันที่ 31 ต.ค. 2564 บริเวณดินแดง
- จตุพล พลพล วัชรพล และณัฐพล – ทั้ง 4 คนถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2566 ภายหลังศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) พิพากษาจำคุก กรณีถูกฟ้องร่วมเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา2565
โทษหลังลดหย่อนแล้ว วัชรพล, จตุพล และ ณัฐพล ต้องโทษจำคุกคนละ 3 ปี ส่วนพลพลถูกยกฟ้องเรื่องการร่วมวางเพลิงเผาทรัพย์ แต่ต้องโทษจำคุกในข้อหาอื่น จำคุก 1 ปี 4 เดือน
คดีสิ้นสุด: จำนวนคงที่ ‘10 คน’
ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ไม่มีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองถูกคุมขังเพิ่มเติมเนื่องจากคดีสิ้นสุด ทำให้ผู้ต้องขังการเมืองในคดีที่สิ้นสุดแล้วจึงมีจำนวนคงที่ เป็นจำนวน 10 คนเช่นเดิม
โดยผู้ต้องขังการเมืองที่คดีสิ้นสุดแล้วรายล่าสุด คือ ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง อายุ 48 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 2566 ภายหลังศาลฎีกาพิพากษายืนโทษจำคุก 1 ปี ในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์ข้อความเล่าประสบการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ เมื่อปี 2560
อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปีนี้ในเดือนพฤศจิกายน มีผู้ต้องขังเด็ดขาด 1 ราย มีกำหนดได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษแล้ว นั่นคือ ‘ศุภากร’ ปัจจุบันอายุ 24 ปี ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรีมาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564 ในคดีข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์ภาพตัดต่อเกี่ยวกับพระมหาษัตริย์ จำนวน 9 ข้อความ ในช่วงปี 2563
โดยศุภากรมีกำหนดถูกปล่อยตัวในวันที่ 5 พ.ย. 2566 นี้
Case Highlight : เรื่องน่าจับตาประจำเดือน
2 ราย อดอาหารประท้วง
- วารุณี – ผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีในคดี ม.112 (ชั้นอุทธรณ์) ตัดสินใจอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 โดยดื่มเพียงนมถั่วเหลืองและน้ำเท่านั้น จากนั้นได้ยกระดับเป็นการอดอาหารและน้ำ ในวันที่ 24 ส.ค. เป็นต้นมา โดยจะดื่มน้ำเฉพาะเวลารับประสาทยานอนหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้วในช่วงเย็นเท่านั้น
การแสดงออกดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อประท้วงต่อศาลที่มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเธอระหว่างสู้คดีเรื่อยมา ทำให้เธอถูกคุมขังมาเป็นเวลานานกว่า 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 โดยคดีของวารุณีนั้นยังสามารถอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาได้เป็นลำดับต่อไป
- เวหา – ผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีในคดี ม.112 (ชั้นอุทธรณ์) ตัดสินใจอดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2566 เพื่อเคียงข้างการอดอาหารประท้วงของวารุณี และได้เสนอข้อเรียกร้องส่วนตัว 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่
1. เรียกร้องให้ ‘สส.’ เข้ามารับข้อเสนอ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” จากผู้ต้องขังในเรือนจำ
2. เรียกร้องให้ ‘คณะรัฐมนตรีชุดใหม่’ ออกมาแถลงความคืบหน้าและความเป็นไปได้ของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง
3. เรียกร้อง ‘ศาล’ ให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดียังไม่สิ้นสุดเด็ดขาด และปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่คดีสิ้นสุดเด็ดขาดแล้ว
หากมีความคืบหน้าแม้เพียงข้อเดียว เวหาจะพิจารณายุติการอดอาหารประท้วงครั้งนี้ การอดอาหารประท้วงของเวหา เขาปฏิเสธการกินอาหารทุกอย่าง แต่ยังดื่มน้ำ นม น้ำผลไม้ น้ำหวาน และสารอาหารเหลวอื่นๆ
อ่านรายชื่อผู้ต้องขังคดีการเมืองและพฤติการณ์คดีเพิ่มเติมได้ที่: รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง 2566