“มาร์ค ชนะดล” วัย 25 ปี เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังทางการเมืองจากกรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 โดยภายหลังจากถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา เขาได้เดินทางมารายงานตัวตามนัดหมายทุกนัดตั้งแต่ปี 2564-2565 จนเวลาล่วงเลยมาถึงวันที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดี เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง (ระเบิดปิงปอง) ศาลอาญาไม่อนุญาตให้เขาประกันตัวเนื่องจากมองว่า “คดีมีอัตราโทษสูง เชื่อว่าหากปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนี”
จนถึงตอนนี้เป็นเวลา 5 เดือนแล้วที่มีการยื่นขอประกันตัวมาร์คกว่า 6 ครั้ง และยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว 3 ครั้ง แต่ศาลยังคงยกคำร้องด้วยเหตุผลคล้ายกันทุกครั้งคือ “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง” โดยที่เขายังยืนยันการต่อสู้คดีของตนเองต่อไป
ตลอดช่วงเวลาที่ถูกคุมขัง มาร์คเป็นผู้ต้องขังคนหนึ่งที่มักเล่าถึงแม่ของตัวเองทุกครั้งที่ทนายความเข้าเยี่ยม เนื่องในวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแม่แห่งชาติของทุกปี ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนพูดคุยกับ “แม่หนึ่ง” แม่ของมาร์ค ถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวและการใข้ชีวิตหลังจากที่ลูกชายต้องถูกคุมขังในเรือนจำ
.

ชีวิตวัยเด็กของ “มาร์ค ชนะดล”
“มาร์ค อยู่กับแม่มาตลอด ตั้งแต่ 4 ขวบ ต้องนั่งมอเตอร์ไซต์ไปขายแกงกับแม่ เมื่อก่อนเราขายกับข้าว มาร์คต้องลุกขึ้นไปขายกับข้าวกับแม่ตั้งแต่ตี 5 พอตี 5 เป๊ะต้องลุกแล้ว ตอนนั้นยังไม่มีน้อง มีแค่เขาคนเดียว เขาต้องช่วยงานแม่มาตลอด”
นอกจากขายกับข้าวแล้ว แม่ของมาร์คยังรับจ้างทำงานในโรงงานผลิตเทียนแห่งหนึ่งมากว่า 15 ปี โดยรับเงินเป็นเงินรายวัน ในช่วงเช้ามืดแม่จะพามาร์คไปขายข้าวแกงที่ตลาด และเมื่อถึงเวลาประมาณ 8 โมงเช้า แม่ของมาร์คต้องเดินทางไปทำงานที่โรงงาน โดยมาร์คจะต้องอยู่กับยายที่บ้าน
หลายปีให้หลัง เมื่อยายทำกับข้าวไม่ไหวและมาร์คเริ่มโตพอที่จะทำงานรับจ้างได้ แม่จึงไม่ได้ลุกไปขายกับข้าวอีก
.

“ข้อเข่าเสื่อม” อาการป่วยเรื้อรังของแม่จากการทำงานโรงงานกว่า 15 ปี
ด้วยการใช้ชีวิตทำงานในโรงงานมากว่า 15 ปี ทำให้ปัจจุบันแม่มีกระดูกข้อเข่าด้านขวาผิดรูปและเดินได้ไม่ถนัดนัก อาการดังกล่าวเกิดจากโรคกระดูกข้อเข่าเสื่อม โดยหมอแนะนำว่าให้แม่เข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มาร์คถูกสั่งฟ้องในคดีที่เข้าร่วมชุมนุมและไม่ได้ประกันตัวพอดี
“แม่พามาร์คไปรายงานตัวที่อัยการกับตำรวจตลอดทุกเดือนและคิดว่ามันจะจบแล้ว แม่ไม่เข้าใจว่าทำไมมาร์คถึงไม่ได้ประกันตัว วันที่มาร์คถูกขัง (วันที่ถูกสั่งฟ้อง) แม่ไม่ได้ไปกับมาร์คด้วยเพราะต้องทำงาน แม่ถามแล้วว่าจะให้แม่ลางานมั้ย แม่จะได้ไปด้วย แต่มาร์คบอกว่าไม่ต้องหรอก กว่าแม่จะรู้ว่ามาร์คอยู่ในเรือนจำ ก็ตอนเย็นมากแล้ว แม่นั่งร้องไห้มาตั้งแต่ในโรงงานเลย”
ช่วงเวลาที่ทนายความเข้าเยี่ยม มาร์คจะเล่าให้ฟังเสมอว่าเขาอยากให้แม่ได้เข้ารับการผ่าตัดรักษาตัว แต่แม่ไม่ยอมไป เนื่องจากต้องการจะรอให้เขาออกมาจากเรือนจำก่อน
“มาร์คอยากให้แม่ผ่าตัด แต่แม่ผ่าไม่ได้หรอก แม่บอกมาร์คว่าแม่ยังไหว เพราะถ้าผ่าแล้วใครจะทำงาน เราต้องทำงานเลี้ยงคน 4 คนในบ้าน มีตัวเราเอง พ่อ น้องชายมาร์ค และต้องส่งเงินให้มาร์คในเรือนจำด้วย”
.

แบกรับหน้าที่เลี้ยงดูครอบครัวเพียงคนเดียวเพราะสามีก็ป่วยเช่นกัน
หลังจากที่มาร์คต้องเข้าเรือนจำ แม่บอกว่าชีวิตลำบากขึ้นมาก เนื่องจากมาร์คเคยเป็นคนสำคัญที่ช่วยแบ่งเบาการหาค่าใช้จ่ายภายในบ้าน
“มาร์คเรียนจบ ปวช. สาขาช่างไฟ หลังจากนั้นเขาก็ยังไม่ได้เรียนต่อ หยุดไปประมาณปีนึง เขาทำงานรับจ้างทั่วไป เก็บของขาย และเป็นช่างไฟตามที่ต่างๆ มาตลอด งานล่าสุดที่มาร์คทำ คือเป็นช่างไฟในอู่ซ่อมรถเกี่ยวข้าว
“มาร์คไม่เคยทิ้งแม่เลย เขาช่วยดูแลเรามาตลอด เขาเพิ่งมาเรียน กศน. ต่อจนจบวุฒิ ม.6 ไม่นานมานี้เอง วันที่เขาเข้าเรือนจำ เพื่อนก็เป็นคนไปรับวุฒิ ม.6 มาให้”
สาเหตุที่แม่ต้องทำงานอย่างหนักในช่วงนี้เนื่องมาจากพ่อของมาร์คมาเจ็บป่วยในช่วงเวลาเดียวกับที่ลูกต้องเข้าเรือนจำ โดยอาการป่วยของพ่อเพิ่งจะดีขึ้นหลังจากต้องพักจากการทำงานหลายเดือน
“พอมาร์คเข้าเรือนจำ พ่อก็ป่วยเป็นโรคกระดูกทับเส้นประสาท จริงๆ เขาปวดหลังมาตลอด เพราะทำอาชีพรับจ้างก่อสร้าง พอตอนหลังเขาปวดหลังจนทำงานอะไรไม่ได้ แม่คิดว่าพ่อจะเดินไม่ได้แล้ว เขานอนก็ไม่ได้ นั่งก็ไม่ได้ เจ็บไปหมด เพิ่งจะดีขึ้นนี่เอง แต่งานก่อสร้างก็ไม่ได้เป็นงานที่มีตลอด ถ้าไม่มีใครจ้าง เขาก็ต้องอยู่บ้าน แม่เลยเป็นคนที่ทำงานเป็นหลัก”
แม่เล่าถึงชีวิตช่วงที่พ่อยังแข็งแรงว่า ที่บ้านเคยทำนาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีมาตั้งแต่สมัยปู่ แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำอีกแล้ว เนื่องจากที่นาถูกเจ้าของขายไปเพื่อสร้างโรงงาน พื้นที่บริเวณบ้านของมาร์คของกลายเป็นโรงงานไปหมด
“เมื่อก่อนพ่อมาร์คเคยทำนาเป็นอาชีพหลักที่เลี้ยงครอบครัว เป็นนาเช่า เป็นนาที่อยู่หลังบ้านเราเลย ประมาณ 30 ไร่ แต่แบ่งกันทำกับพี่ชายเขา เราต้องเช่าที่ทำนา ที่นาตรงนั้นเคยเป็นของปู่ แต่เขาขายไปหมดแล้ว แต่เราก็ยังขอเช่าที่เพื่อทำนา บางปีก็ได้เงิน แต่หลังๆ มาไม่ค่อยได้อะไรเลย เพราะค่ายาและค่าปุ๋ยแพงมาก สุดท้ายเจ้าของที่ก็ขายที่ทั้งหมดให้โรงงาน เราเลยไม่ได้ทำนาต่อ”
“ยังส่งรูปให้มาร์คดูอยู่เลย ว่าหลังบ้านกลายเป็นโรงงานไปหมดแล้ว”
นอกจากแม่จะทำงานโรงงานในช่วงเวลา 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นแล้ว เกือบทุกๆ วันมักมีโอทีให้ทำต่อไปถึงเวลาประมาณ 1 ทุ่มครึ่ง แม่บอกว่าทำงาน 10 ชั่วโมง ได้รับค่าแรง 370 บาท และถ้าทำโอทีเพิ่ม ก็จะได้เงินอีกชั่วโมงละ 62 บาท หากวันไหนไม่มีโอทีหรือไม่ได้ทำ ก็จะขาดรายได้ไปร้อยกว่าบาท
“บางวันถ้าโรงงานมีงานเร่งที่ต้องทำ แม่ก็อยู่ถึงตี 2 เพราะเขาต้องรีบเอาของไปส่งตอนตี 5 ทำโอทีเราก็ได้เงินเพิ่ม เมื่อเช้านี้เองก็เพิ่งเสร็จตอนตี 2 วันนี้โรงงานก็เลยให้กลับบ้าน 5 โมงเย็น เพราะเมื่อวานทำงานถึงตี 2″
“ถ้าแม่ทำงานที่โรงงานเสร็จโดยไม่มีโอที แม่ก็จะไปล้างจานที่ร้านหมูกระทะต่อ ช่วงหนึ่งทุ่มถึงสี่ทุ่ม ได้เงินเพิ่มอีก 160 บาท วันไหนร้านหมูกระทะคนเยอะ เราก็อาจจะไปช่วยทำอย่างอื่นนอกจากล้างจานด้วย เจ้าของก็จะให้เงินมาเพิ่มบ้าง”
.

ไม่อยากให้แม่เป็นหนี้เพิ่มอีกแล้ว ไม่ต้องส่งเงินมาเพราะมาร์คอยู่ได้
เมื่อถามถึงสมาชิกในครอบครัวอีกคนหนึ่งคือน้องชายของมาร์ค แม่เล่าว่าตอนนี้เขาอายุประมาณ 20-21 ปี และเพิ่งเริ่มทำงาน
“ตอนแรกมีกำหนดจะบวชปีนี้แหละ แต่พอพี่เป็นอย่างนั้น น้องเขาก็เลยไม่บวชแล้ว อยากรอให้พี่ออกมาก่อน ตั้งแต่ตอนเด็ก น้องมาร์คบอกแม่ว่า หนูไม่เรียนแล้ว หนูเรียนแค่ ม.3 ก็พอ หนูสงสารแม่ เพราะแม่ยังต้องหาเงินส่งให้มาร์คเรียนหนังสือ”
“ช่วงที่มาร์คเรียน ปวช. แม่ก็ต้องกู้เงินของโรงงานนี่แหละ เป็นหนี้ ให้เขาได้เรียนหนังสือ”
ด้วยเหตุนี้เมื่อมาร์คต้องถูกคุมขังในเรือนจำ เขาจึงกำชับแม่ตลอดด้วยความห่วงใย ว่าอย่ากู้เงินเพื่อจะนำไปให้เขา โดยย้ำเสมอว่าเขาอยู่ได้ถึงแม้จะไม่มีเงินเลย เพราะไม่อยากให้เป็นหนี้ แต่แม่ก็อดไม่ได้ที่จะทำ เนื่องจากแม่ได้เงินเป็นรายวัน ทำให้ไม่สามารถรวบรวมเงินเป็นก้อนได้ทัน
“แม่รักของแม่ ลูกเราเนอะ เราคงไม่ได้ไปเยี่ยมที่เรือนจำเลย เพราะแม่หยุดงานโรงงานไม่ได้ เวลาที่น้องเขาจะจองเยี่ยมทางไลน์ แม่ก็ไม่ค่อยได้อยู่คุย แต่แม่จะส่งเงินให้มาร์คบ้าง 2 อาทิตย์ครั้ง ถ้าไม่มีก็อาจจะได้แค่พันนึง ถ้ามีเงินหน่อยก็สองพัน สามพัน ถ้าถึงช่วงที่ต้องส่งแล้วแต่ยังไม่มี แม่ก็ต้องไปหายืมเขามาบ้าง เพราะเงินมันไม่พอ”
.

“แม่รักหนูนะ แม่ไม่ทิ้งหนูแน่นอน”
เมื่อการพูดคุยดำเนินมาถึงเรื่องคดีความ ก็ได้ยินเสียงสะอื้นจากแม่ ทำให้บทสนทนาขาดหายไปเป็นช่วงๆ
“แม่จำได้ว่าตอนที่โดนจับ มาร์คโดนตำรวจซ้อมด้วย กลับบ้านมาหน้าดูไม่ได้เลย… ลูกแม่ แม่รักทุกคน อะไรนิดอะไรหน่อยแม่ก็ร้องไห้แล้ว ไม่รู้สิ มันรักมาก ยิ่งตอนที่ได้ไปเจอที่ศาล (ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อเดือน พ.ค. 66) แม่เห็นมาร์คถูกใส่กุญแจที่ข้อเท้า แม่ก็ร้อง แต่มาร์คก็บอกแม่ว่าอย่าร้องไห้ ”
“แม่เคยโกรธมาร์คอยู่เหมือนกัน…ช่วงแรกตอนมีคดี แม่เคยบอกว่าอย่าไปยุ่งเลย ถ้ามาร์คไม่อยู่แล้วแม่จะอยู่ยังไง แต่ตอนนี้ไม่โกรธแล้ว แม่เป็นห่วงมากกว่า”
“ทุกวันที่แม่กลับบ้านมาสี่ทุ่ม ยังร้องไห้อยู่ทุกวัน ก่อนนอนแม่จะเข้าไปที่ห้องมาร์ค แล้วนั่งร้องไห้ คิดถึงเขา แม่ยังไม่เลิกร้องไห้เลยซักวัน เมื่อไหร่จะได้ออกก็ไม่รู้ แม่อยากกอดเขา”
เมื่อถามว่าแม่อยากจะฝากอะไรถึงมาร์คมั้ย แม่นิ่งคิดก่อนตอบ
“อยากให้หนูอดทน แม่รักหนูนะ แม่ไม่ทิ้งมาร์ค วันที่ 12 นี้ โรงงานหยุดและเรือนจำมีเปิดให้เยี่ยม แม่คิดว่าแม่คงจะได้ไปเยี่ยมมาร์ค มันอดไม่ได้ มันคิดถึง”
ทั้งนี้คดีของมาร์ค ชนะดล ศาลกำหนดนัดสืบพยานเอาไว้ในวันที่ 24-25 ต.ค. 2566
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
Missing Votes: “มาร์ค ชนะดล” ยังรอสิทธิในการประกันตัว และหวังปัญหาความเหลื่อมล้ำถูกแก้ไขหลังเลือกตั้ง
อัยการฟ้อง “ชนะดล” วัย 24 ปี คดีครอบครองระเบิด ร่วมชุมนุม #ม็อบ20สิงหา64 ก่อนศาลอาญาไม่ให้ประกัน อ้างโทษสูง – เกรงหลบหนี แม้ชนะดลไม่มีพฤติการณ์หลบหนี