คดีสองผู้ร่วมม็อบ #12กันยา64 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก “อานนท์” 4 ปี 2 เดือน กรณีมีอาวุธปืน ส่วน “ยิม” ลงโทษปรับเรื่องชุมนุมมั่วสุม

วันที่ 23 มี.ค. 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “อานนท์” (สงวนนามสกุล) อายุ 29 ปี และ “ยิม”
(นามสมมติ) อายุ 18 ปี กรณีเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ12กันยา64 ของกลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง  เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2564 

ในคดีนี้ อานนท์และยิม ถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตชด. 3 นาย จากบริเวณแยกตัดใหม่ ถนนวิภาวดีฝั่งขาเข้า ซึ่งอานนท์ถูกตรวจค้นตัวพบปืนพกสั้นรุ่น Revolver ขนาด .38 มม. จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืน 11 นัด พร้อมกับหนังสะติ๊กและลูกแก้ว ทั้งหมดได้ถูกตรวจยึดไว้เป็นของกลาง และยึดโทรศัพท์ของทั้งสองไว้เป็นวัตถุพยาน โดยอานนท์ได้เปิดเผยข้อมูลกับทนายความว่า ตนเองถูกชุดจับกุมเตะและกระทืบที่เท้าราว 2 ครั้ง แต่ไม่ได้ปรากฏบาดแผล ในขณะที่ยิมไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด  

และภายหลัง ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยอานนท์ ศาลให้วางเงินประกันเป็นจำนวน 60,000 บาท หากผิดสัญญาประกันให้ปรับ 300,000 บาท พร้อมติดกำไล EM ในส่วนของยิม ให้วางเงินประกันจำนวน 35,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนใดๆ เพิ่มเติม

ในวันที่ 3 ธ.ค. 2564  เอกนวินต์ ปานดำ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 จากสำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องต่ออานนท์ ในฐานะจำเลยที่ 1 และยิม ในฐานะจำเลยที่ 2   โดยทั้งสองถูกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138 และ 140 

กล่าวหาว่าทั้งสองกับพวกที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมที่บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิต โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในขณะนั้นเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและการชุมนุม มีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และจำเลยที่ 2 กับพวก ได้ขัดขืน ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาควบคุมดูแลสถานการณ์ ซึ่งอัยการบรรยายฟ้องว่ายิมกับพวกได้ทำการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ด้วยประทัดและลูกแก้ว มีเจตนาทำร้ายถึงอันตรายสาหัส

ขณะที่จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องในฐานความผิดว่า มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้มีใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จากกรณีพกพาอาวุธปืนและกระสุนปืนเข้าร่วมชุมนุมโดยไม่มีเหตุจำเป็น และไม่ได้รับในอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

ในคดีนี้ ศาลอาญาได้นัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2566 โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบพยานจำนวน 7 ปาก แต่ทนายจำเลยไม่ติดใจสืบบางส่วน จึงเหลือการสืบพยานโจทก์เพียงแค่ 3 ปาก โดยฝั่งจำเลยประสงค์นำพยานจำเลยเข้าสืบ 2 ปาก 

ศาลได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุปใจความสำคัญระบุว่า พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 1 เคยต้องคดีอาวุธปืนมาก่อน และมีพฤติการณ์ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย จำเลยกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดิม จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2 พยานจำเลยนำสืบได้ข้อเท็จจริงว่าเข้าร่วมชุมนุมและมั่วสุมกับพวกจริง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215  ให้จำคุก 1 เดือน 10 วัน ปรับ 3,000 บาท แต่ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 2 มีอายุเพียง 18 ปี และให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงมีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษเหลือโทษปรับ 3,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้องทั้งหมด

ภายหลังคำพิพากษา อานนท์ต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที โดยทนายได้ยื่นคำร้องขอประกัน ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาออกคำสั่ง จึงต่อรอฟังผลคำสั่งประกันตัวของอานนท์ ต่อไปอีก 2 – 3 วัน
ทั้งนี้ในช่วงที่เกิดเหตุดังกล่าว ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 มีการชุมนุมและแสดงออกเพื่อขับไล่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ทะลุแก๊ส” บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงตั้งแต่ช่วงเย็นของเกือบทุกวัน โดยมีเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่และผู้ถูกจับกุมรายวันในช่วงดังกล่าว

X