พิพากษาจำคุก “อติรุจ” 1 ปี 8 เดือน ข้อหา ‘ม.112 – ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน’ เหตุตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จ ก่อนศาลให้ประกันตัว

วันที่ 12 ธ.ค.​ 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาในคดี ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 ของ “อติรุจ” (สงวนนามสกุล) โปรแกรมเมอร์วัย 26 ปี จากกรณีถูกกล่าวหาว่าตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 ขณะเคลื่อนออกจากศูนย์การประชุมสิริกิติ์ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 15 ต.ค. 2565

คดีนี้มีเหตุสืบเนื่องมาจากวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.00 น. รัชกาลที่ 10 และราชินีได้เสด็จเปิดอาคารใหม่ของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังจากเสร็จสิ้นพิธี ได้เสด็จกลับเวลาประมาณ 18.00 น. ในขณะที่รถขบวนเสด็จผ่าน มีประชาชนคนหนึ่งตะโกนขึ้นว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” 

เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่อยู่บริเวณนั้นได้เข้าควบคุมตัวโดยการอุ้มอติรุจไปยังห้องภายในศูนย์ประชุมฯ ก่อนส่งตัวต่อไปยัง สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 

หลังจากนั้น ในวันที่ 6 ธ.ค. 2565 อติรุจได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมที่ สน.ลุมพินี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า ต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือข้อหาตามมาตรา 138 วรรคสอง โดยระบุว่าอติรุจต่อสู้หรือขัดขวางไม่ให้ทำการจับกุมตัว โดยใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่โดยใช้เท้าถีบตำรวจที่ทำการจับกุมตัวจนได้รับบาดเจ็บ

ถัดมาหนึ่งเดือน (6 ม.ค. 2566) วรวัตร สีหะ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยก่อนการสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยได้เปลี่ยนคำให้การ เป็นรับสารภาพเฉพาะข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แต่ยืนยันปฏิเสธและต่อสู้คดีข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ซึ่งมายืนประกบตัวจำเลยไม่ได้แต่งกายด้วยเครื่องแบบ และไม่สามารถสังเกตเห็นบัตรประจำตัวได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่เคยตอบคำถามหรือพูดคุยกับจำเลย จึงไม่สามารถรู้ได้ว่าผู้ที่มาควบคุมตัวอยู่นั้นเป็นใคร 

ศาลได้นัดสืบพยานทั้งสิ้น 3 นัด โดยสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24 – 25 ต.ค. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 31 ต.ค. 2566 ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 12 ธ.ค. 2566 

อ่านบันทึกการต่อสู้คดี >> บันทึกการต่อสู้คดี ‘ม.112-ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน’ ของ “อติรุจ” เหตุจากตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จ

วันนี้ (12 ธ.ค. 2566) เวลาประมาณ 08.30 น. อติรุจ และครอบครัว พร้อมด้วยทนายความเดินทางมาศาล โดยอติรุจได้ผูกโบว์ขาวที่ข้อมือมาด้วย นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีเจ้าหน้าที่จาก iLaw และประชาชนทั่วไปที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย

เวลาประมาณ 09.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 403 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาราว 10   นาที โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า

จากการสืบพยานโจทก์ พยานจำเลย และพิเคราะห์พยานหลักฐาน รับฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยเดินทางมายังศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยขณะเดินทางขากลับ จำเลยได้ตะโกนใส่ขบวนเสด็จและถูกกลุ่มชายเข้าจับกุม มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ประการแรก ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 นั้นเห็นว่าการที่จำเลยตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” เป็นคำที่มิสมควร เป็นการใส่ความว่าการเสด็จเป็นการสร้างปัญหาและภาระให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน  เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามคำฟ้อง

ประเด็นต้องวินิจฉัยต่อมา ข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง  พยานโจทก์นำสืบว่า เมื่อรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่าน เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาปิดปากจำเลยและตะโกนขึ้นว่ามีคนเป็นลม หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่อีกประมาณ 5 นาย เข้ามาจับกุมแต่จำเลยไม่ยินยอม มีการต่อสู้ขัดขวางจนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ จากนั้นเจ้าหน้าที่นำตัวจำเลยไปที่ศูนย์ปฏิบัติการร่วม 

จำเลยนำสืบว่ากลุ่มคนที่้เข้ามาไม่อาจทราบได้ว่าเป็นใคร แต่พยานโจทก์ทั้งหมดเบิดความสอดคล้องกัน การนำสืบของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ โดยในขณะเกิดเหตุมีขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนผ่าน มีเจ้าพนักงานถวายรักษาความปลอดภัยจึงเชื่อว่าจำเลยทราบว่าผู้ที่จับกุมเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง

พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อกล่าวหา ในข้อหามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ส่วนในข้อหาขัดขวางเจ้าพนักงานโดยการใช้กำลังประทุษร้ายฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 2 เดือน

ทั้งนี้ อติรุจให้การรับสารภาพในข้อหามาตรา 112 จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 1 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

หลังศาลอ่านคำพิพากษา อติรุจถูกใส่กุญแจที่ข้อมือและนำตัวลงไปรอที่ใต้ถุนศาลทันที ก่อนทนายความจะยื่นคำร้องขอประกันตัว 

หลังจากนั้นเมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอติรุจในชั้นอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์รวมจำนวน 300,000 บาท โดยต้องวางเพิ่มจากหลักประกันในศาลชั้นต้นจำนวน 100,000 บาท และมีเงื่อนไขการประกันตัวเช่นเดิม คือห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้ หลักประกันได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

.

อ่านบทสัมภาษณ์อติรุจ

คดี ‘112’ จากขบวนเสด็จฯ เมื่อถ้อยคำจำกัดเพียงการสรรเสริญ ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ จึงถูกดำเนินคดี

ฐานข้อมูลคดีนี้ คดี 112 “อติรุจ” ยืนตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จ ตร.อ้างเป็นภัยคุกคาม ร.10-ราชินี

X