ช่วงเย็นของวันที่ 15 ต.ค. 2565 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ปรากฏเหตุการณ์ชายคนหนึ่งถูกจับกุมและรวบตัวเข้าไปในบริเวณหอประชุมฯ จากกรณีตะโกนคำว่า ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ ในระหว่างมีขบวนเสด็จฯ ของรัชกาลที่ 10 และราชินี เคลื่อนผ่าน หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทราบชื่อภายหลังว่าคน ๆ นั้นคือ “อติรุจ” โปรแกรมเมอร์วัย 25 ปี ที่ก่อนหน้านั้นแม้จะเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองบ้าง แต่นั่นเป็นครั้งแรกที่เขาแสดงออกทางความคิดเห็นผ่านคำพูด
วันนั้นประโยคเพียงประโยคเดียว กลับกลายให้เขาถูกล้อมตัวลากดึงจากเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ หนำซ้ำยังถูกแจ้งข้อหาก่อนฟ้องเป็นจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
ราวหนึ่งปีผ่านไปพอดี ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ย่านรังสิต ใกล้เคียงกับที่ที่เขาอยู่ เรานัดพูดคุยกับอติรุจ ถึงเรื่องราวในคดีหลังจากที่เขาตัดสินใจรับสารภาพ ในข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และให้การปฏิเสธข้อหาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 หลังสืบพยานไประหว่างวันที่ 24-25 ต.ค. และ 31 ต.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดนัดฟังพิพากษาวันที่ 12 ธ.ค. นี้
วันนั้น-ท่ามกลางบทสนทนาว่าด้วยชีวิตและความสนใจทางการเมือง ผ่านอาชีพโปรแกรมเมอร์ งานสายเทคนิค ที่ต้องคอยอัปเดตข่าวสารในและนอกประเทศ อติรุจมักย้อนเปรียบเทียบประวัติศาสตร์การเมืองไทย ใน 100 ปีหลัง ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะก้าวไปหนทางข้างอย่างไร ยิ่งกับการรัฐประหารรอบหลัง ๆ ที่ส่งผลให้ประเทศยังมีปัญหาด้านกฎหมายจำกัดเสรีภาพการแสดงออก อันล้วนสร้างภาระให้คนรุ่นหลังอย่างเขาไม่น้อยเลยทีเดียว
กรณีอุ้มหายวันเฉลิม จุดเริ่มข้อเรียกร้องทางการเมือง
อติรุจเล่าถึงชีวิตแต่หนหลังว่า เป็นคนกรุงเทพฯ แต่เติบโตที่ปทุมธานี เรียนมัธยมที่โรงเรียนหอวัง ด้วยพื้นฐานความสนใจชอบคอมพิวเตอร์หรือการเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็ก ๆ อยู่แล้ว ช่วง ม.ปลาย อติรุจมีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ OEG เลือกเน้นศึกษาที่การเขียนโปรแกรม อยู่ที่มลรัฐนอร์ทดาโคตา สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 1 ปี
อติรุจเล่าว่าที่นั่นเป็นเมืองเงียบ ๆ คล้าย ๆ ย่านรังสิตที่เคยอยู่ ตอนนั้นได้ใช้ชีวิตอิสระด้วยตัวเองส่วนหนึ่ง อาจจะไม่หวือหวา แต่อาจเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ได้เริ่มทำอะไรด้วยตนเอง ก่อนกลับมาเรียน ม.6 และสอบเข้าเรียนต่อที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2559
เมื่อพูดคุยเรื่องการเมือง อติรุจเล่าว่าปกติจะติดตามอยู่ตลอด ช่วงจบ ม.3 จะขึ้น ม.4 ก็มีรัฐประหาร ปี 2557 กระทั่งช่วงเข้าปี 1 ของมหาวิทยาลัย เป็นช่วงการสวรรรคตของรัชกาลที่ 9 บรรยากาศกิจกรรมจึงค่อนไปทางเงีบบเหงา ทั้งทางการเมืองทั้งกิจกรรมบันเทิงต่างถูกเลื่อนหรือยกเลิกออกไปแทบทั้งสิ้น
กล่าวได้ว่าสถานการณ์การเมืองที่ประชาชนส่วนใหญ่ต่างเลือกได้ทางเดียว คือยอมตามสิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากให้เป็นไป ดูจะเป็น ‘ภาระ’ ที่พลเมืองอย่างอติรุจคิดตั้งคำถามเสมอว่าทำไมเกิดสิ่งเหล่านี้ได้
กระทั่งเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 ที่ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากคำสั่งให้รายงานตัวของ คสช. ถูกชายสวมชุดสีดำ บังคับพาตัวขึ้นรถยนต์ก่อนหายตัวไป บริเวณที่พักอาศัยในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ทำให้อติรุจค่อนข้างสะเทือนใจ
“คนอื่นอาจมองว่าเป็นเหตุการณ์คนไกลตัว แต่ผมรู้สึกว่าวันเฉลิมเขาก็เป็นคนธรรมดา ที่มีความคิดแตกต่างจากรัฐและอาจเป็นใครก็ได้ที่เจอเรื่องนี้ หนำซ้ำทางการไทยยังไม่มีความจริงใจในการติดตามหาบุคคลสูญหาย สุดท้ายแม้มีการเรียกร้อง เรื่องก็เงียบหายไป”
นับจากช่วงนั้น เริ่มมีสถานการณ์ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองที่เริ่มจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก ให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ขยายวงกว้างออกไปเป็นม็อบในหลาย ๆ พื้นที่ ช่วงเวลานั้นอติรุจเพิ่งเรียนจบพอดี จึงติดตามข่าวการชุมนุมและออกไปร่วมอยู่ในบรรยากาศต่อสู้เหล่านั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุมนุมแบบเวทีปราศรัยหรือแบบคาร์ม็อบ ทุกครั้งเขาเลือกจะเดินทางไปคนเดียว
“แต่ละม็อบมีวาระของการต่อสู้ เราก็มีเจตนารมณ์อยากไปตามเรื่องวันเฉลิม มีความรู้สึกร่วมด้วย เวลามีชุมนุมที่ไหนพูดถึงเรื่องนี้”
หรือแม้แต่ตอนที่ เบนจา อะปัญ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 อติรุจก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ออกไปเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ก่อนจะกล่าวถึงรุ่นน้องที่ SIIT ผู้นั้นอย่างชื่นชมว่า “เบนจาเก่ง ชัดเจนกับตัวเองว่าออกมาต่อสู้เรื่องอะไร และพูดความคิดออกมาได้เข้าถึงผู้คน และยังต่อสู้อยู่ แม้จะถูกฟ้องไปหลายคดี”
กับตัวเองนอกจากต่อต้านเรื่องการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายแล้ว อติรุจสนใจข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ “ผมว่าเป็นเรื่องเบสิค ถ้าเราเทียบสถาบันกษัตริย์ไทยกับต่างประเทศ ประเทศไทยใช้รัฐธรรมนูญมาจากอังกฤษที่มีสถาบันกษัตริย์เหมือนกัน คดี ม.112 ที่ผมโดน ก็เพราะไปตะโกนใส่ขบวนเสร็จว่าเป็นภาระ”
อติรุจเปรียบเทียบจากข่าวที่ติดตามว่า ถ้ามีเรื่องที่คล้ายกันเกิดขึ้นในอังกฤษ ที่ปัจจุบันเป็นกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 หากมีคนตะโกนใส่กษัตริย์ฯ ก็อาจไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะเป็น Freedom of speech ที่น่าสงสัยว่าถ้าบอกว่าระบอบการปกครองไทยเป็นระบอบเดียวกับอังกฤษ ทำไมการบังคับใช้จึงต่างกันขนาดนั้น ที่อังกฤษถ้ามีการตะโกนใส่กษัตริย์หรือสมาชิกราชวงศ์ อาจจะมีโทษปรับ มีคำสั่งห้ามเข้าใกล้พื้นที่ที่มีราชพิธี แต่ประเทศไทยมีโทษทางอาญาจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ไทยเลยไม่เป็นสากล จึงควรปฏิรูปเรื่องนี้
‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ มาจากโซเชียลมีเดีย ช่วงเหตุกราดยิงหนองบัวลำภู
15 ต.ค. 2565 งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติย้อนกลับไปจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หลังจากศูนย์ประชุมปิดปรับปรุงอยู่หลายปี อติรุจเดินทางไปเลือกซื้อหนังสือคนเดียวตามปกติ จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันเสาร์ เขาใช้เวลาช่วงบ่ายไปกับการเลือกหาหนังสือเรียนภาษา ความรู้ทั่วไป และหนังสือยอดนิยมอย่าง “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ”
กระทั่งช่วงเย็น เวลาประมาณ 17.00 น. ระหว่างจะกลับบ้าน เมื่อเดินจะออกประตูใหญ่ด้านหน้าที่ติดถนน จึงสังเกตเห็นว่ามีกลุ่มคนที่รอรับเสด็จบริเวณประตูดังกล่าว แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นก็ยังพบว่ามีคนเดินผ่านไปผ่านมาได้ปกติ ก่อนจะไปถึงทางออก มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรายหนึ่งเข้ามาสอบถามว่าอติรุจจะรอรับเสด็จด้วยหรือไม่ ก่อนจะตอบไปว่าไม่นั่ง และจะขอยืนดู
จากนั้นไม่กี่นาทีจึงมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรายอื่น ๆ เข้ามายืนล้อมอติรุจไว้ โดยที่เจ้าตัวพยายามสอบถามว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นใครแต่ก็ไร้ซึ่งคำตอบกลับมา เวลาผ่านไปราว 10 นาที เมื่อรถขบวนเสด็จผ่านบริเวณดังกล่าว ในระยะห่างราว 10 เมตร อติรุจได้ยินเสียงผู้คนราว 20-30 คน เปล่งตะโกนคำว่า ‘ทรงพระเจริญ’ ตนจึงตะโกนไปว่า ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ โดยเป็นการตะโกนเพียงครั้งเดียว
อติรุจย้อนเล่าว่าช่วงนั้นเพิ่งเกิดเหตุการณ์กราดยิง ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.หนองบังลำภู (6 ต.ค. 2565) ถ้อยความดังกล่าวมาจากโซเชียลมีเดีย ที่มีเหตุการณ์ความสูญเสียแล้ว การไปพบผู้สูญเสียของบุคคล ดูจะไปสร้างภาระให้กับผู้อื่น ๆ มากกว่าความช่วยเหลือ เช่นมีการต้องเตรียมสถานที่ มีการเตรียมตั้งแถวรอรับ “ถ้าจะให้ความช่วยเหลือก็ช่วยเหลือไป ถ้าจะไปหาไม่ควรให้มีการทำพิธี ไม่ใช่แสดงน้ำใจ โดยเรียกออกมารับน้ำใจ”
หลังถูกควบคุมตัว อติรุจถูกพาตัวเข้าไปห้อง ๆ หนึ่งในศูนย์ประชุมฯ เขาถูกใส่กุญแจมือ จับมือไพล่หลัง กดลงกับพื้น เวลาผ่านไปราว 20 นาที มีคนแต่งตัวใส่ชุดเหมือนเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์ประชุมฯ เข้ามาคุยด้วย อติรุจพยายามสอบถามว่าเป็นใคร แต่ก็ไม่ได้คำตอบกลับมา กระทั่งมีตำรวจจาก สน.ลุมพินี เดินทางมา และคุมตัวไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ
เมื่อถึง สน.ลุมพินี โดยที่ไม่มีทนายความและผู้ไว้วางใจ เนื่องจากขณะนั้นตำรวจไม่ได้ให้ข้อมูลว่าจะพาตัวอติรุจไปที่ไหน ก่อนจัดทำบันทึกจับกุม กระทั่งเวลาผ่านไปราว 4 ชั่วโมง ผู้กำกับการ สน.ลุมพินี เพิ่งมายืนยันว่า อติรุจถูกควบคุมอยู่ภายใน สน.ลุมพินี จริง
ทนายความเดินทางติดตามไปโดยทันที หลังพบผู้ถูกจับกุม เห็นว่าอติรุจได้รับบาดเจ็บจากการเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกว่า 10 นาย โดยพบว่ามีรอยถลอก 3 จุด ที่ข้อเท้าซ้าย ข้อศอกซ้าย และข้อศอกขวา ส่วนนิ้วกลางขวาพบว่าเล็บฉีกขาด โดยบาดแผลเหล่านั้นมาจากการขัดขืนและดิ้นให้หลุดจากการจับกุม
กระทั่งคืนนั้นมีการแจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน อติรุจให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยังถูกคุมตัวใน สน.ลุมพินี ต่อไปในระหว่างรอการฝากขัง ในวันจันทร์ที่ 17 ต.ค. 2565
อติรุจย้อนเล่าอีกว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ลุมพินี ก่อนจะได้เจอทนายความและผู้คนที่ติดตามเรื่องถูกจับกุมมาที่ สน. ตำรวจควบคุมตัวเขาไปที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่ง มีการจับมัดแขนมัดขานั่งเก้าอี้ เหมือนผู้ป่วยจิตเวช อติรุจพยายามถามว่าทำไมทำแบบนี้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ตอบ มีคนจากโรงพยาบาลมาพยายามสอบถามว่า เขาสื่อสารได้ไหม และพยายามสอบถามเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ฯ
“ผมบอกไปว่าเรื่องนี้เป็นคดีการเมือง ผมปกติ ไม่ได้คลุ้มคลั่งอะไร จะจับมัดแขนมัดขาทำไม” จากนั้นมีการตรวจเลือดโดยใช้เข็มเจาะ โดยที่อติรุจไม่ได้ยินยอม เขากล่าวเพิ่มเติมว่าทางโรงพยาบาลพยายามจะให้เขาแอดมิทให้ได้ แต่ด้วยการพยายามปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงพากลับไปสถานีตำรวจ ก่อนที่วันอาทิตย์ที่ 16 ต.ค. 2565 ตำรวจขอหมายค้นจากศาลจังหวัดธัญบุรีให้ไปค้นบ้านของอติรุจ แต่ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด
ผ่านไป 2 คืนที่ สน.ลุมพินี จนเช้าวันที่ 17 ต.ค. อติรุจถูกคุมตัวขึ้นรถไปศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อพาตัวไปฝากขัง เป็นระยะเวลา 12 วัน ทนายความยื่นคำร้องขอคัดค้านฝากขัง ก่อนศาลสั่งให้มีการไต่สวนการฝากขังในช่วงบ่ายวันดังกล่าว
ก่อนที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนที่อ้างเหตุผลว่า ผู้ต้องหาน่าจะได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา มีความจำเป็นจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ ก่อนทนายยื่นประกันตัวอติรุจ ด้วยวงเงิน 200,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ กระทั่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว กำหนดเงื่อนไขไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต
อติรุจสะท้อนถึงเหตุการณ์ว่า “พอเป็นคดีการเมือง เขาอาจจะตัดสินไม่สั่งรับฟ้องไม่ได้ หรืออย่างในชั้นฝากขัง ถ้าตามสำนวนคดีนี้ ผมมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีหน้าที่การงาน ต้องรับผิดชอบ ซึ่งศาลตัดสินใจไม่รับฝากขังก็ได้ แต่ก็ยังรับฝากขังอยู่ จึงคิดว่าพอเป็น ‘112’ ไม่รับฝากขังไม่ได้ ผมคิดว่าคดีนี้ผู้พิพากษาไม่อาจมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจ อาจรวมไปถึงการออกคำพิพากษาเลยด้วยซ้ำ”
“ที่บ้านคงจะตกใจเป็นปกติ แต่พวกเขาทราบดีว่าผมเคยออกไปชุมนุม แต่ไม่คิดว่าจะโดนคดี ที่ผมไม่ได้ติดต่อที่บ้านในระหว่างถูกจับกุม เพราะคิดว่าน่าจะจัดการเองได้ และที่บ้านก็คงเข้าใจ เพราะไม่ได้เห็นด้วยกับสถานการณ์การเมืองขณะนั้นอยู่แล้ว”
อัยการตีความ ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ ส่อเข้าใจกษัตริย์ เสด็จไปที่ใดทําให้ประชาชนเดือดร้อน
ผ่านพ้นไปหลายเดือน นับจากวันถูกจับกุมและได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน อติรุจกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทำงานโปรแกรมเมอร์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง
เมื่อถามถึงที่ทำงาน อติรุจกล่าวว่า ทางนั้นก็ไม่ได้ว่าอะไรเข้าใจว่าเป็นคดีการเมือง ถ้าต้องไปศาลไปจัดการเรื่องคดีความก็ใช้วันลาปกติไป ไม่ได้กระทบต่องานนัก จนถึงต้นเดือนมกราคม 2566 พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยสรุปกล่าวหาว่า ประโยคที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นถ้อยคํากล่าวที่มิบังควร จาบจ้วง มุ่งหมายใส่ความให้ประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จและบุคคลทั่วไปเห็นว่าการเสด็จพระราชดําเนินนั้นเป็นการสร้างปัญหา สร้างภาระให้ประชาชน เสด็จไปที่ใดทําให้ประชาชนเดือดร้อน เอาแต่ประโยชน์ส่วนพระองค์ ไม่คํานึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี
ภายหลังรับฟ้อง ศาลอนุญาตให้ประกันตัวอติรุจ โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวน
รอศาลพิจารณา ถ้าไปตะโกนสรรเสริญได้ ทำไมไปตะโกนเป็นคำอื่นไม่ได้
ก่อนชั้นสืบพยานในวันที่ 24 ต.ค. 2566 อติรุจแสดงทัศนะว่า สถานการณ์ของผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นั้นอยู่ในช่วงยากลำบาก รู้สึกศาลจะหนักข้อกับคดีการเมืองมากขึ้น ทั้งพิพากษาลงโทษจำคุก และการไม่รอลงอาญา เมื่อได้พูดคุยกับทนายความต่างรับว่าเป็นคดีที่สู้ยาก และสุดท้ายอาจจะจบที่ตัดสินว่าผิด ถ้าเอาอิสรภาพไปแลก อาจจะไม่คุ้ม ทางเลือกรับสารภาพอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่เลือกได้
“กับการตะโกนใส่ขบวนเสด็จ ที่ไม่ได้มีการตระเตรียมอะไร ผมปฏิเสธไม่ใช่ว่าไม่ได้ทำ เพียงแต่สิ่งที่ทำนั้นมันไม่ได้ผิด”
กับองค์ประกอบมาตรา 112 ที่ว่าด้วยการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อติรุจเห็นว่า ถ้อยคำที่ว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ทำให้ผู้ได้ยินรู้สึกว่าไปที่ไหนก็เป็นภาระ ซึ่งถามว่าจริงไหม คือเวลาที่ไปไหนมีการปิดถนนไหม มีคนทั่วไปละแวกนั้นมีปัญหาการเดินทางหรือไม่ ถ้าถามกลับไปตรงนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาไหม เป็นภาระไหม การวิจารณ์ในข้อเท็จจริง แล้วถ้าบอกว่าเป็นการดูหมิ่น มันก็เป็นเรื่องของการตีความ เพราะจากองค์ประกอบมาตรา 112 ตัดคำว่าอาฆาตมาดร้าย หรือประทุษร้ายได้เลย เพราะความแตกต่างมันชัดเจน
“เราไม่ได้ตะโกนขู่ว่าจะทำร้าย แล้วหากจะมีการแก้ไขมาตรานี้ในอนาคต หมิ่นประมาท กับอาฆาตมาดร้าย มันไม่ควรอยู่ในก้อนเดียวกัน
“สิ่งที่ผมพูดไปถ้าศาลตีความได้ว่าหมิ่นฯ ก็ยังเป็นการวิจารณ์ในข้อเท็จจริงอยู่ดี คือวันนั้นผมโดนล้อม จากใครไม่รู้ ผมมีคำถามง่าย ๆ ถ้ามีคนไปตะโกนสรรเสริญได้ ทำไมถึงมีคนไปตะโกนเป็นคำอื่นไม่ได้ เพียงคำพูดที่เขาไม่อยากได้ยิน แค่นี้ก็กลายเป็นคำต้องห้ามไปแล้ว”
กับสิ่งที่อยากบอกเล่า อติรุจพูดถึงคนที่อยู่ในครอบครัว ที่เผชิญมาตรา 112 ด้วยว่า แม้ที่บ้านไม่เห็นด้วยกับสถานการณ์การเมือง แต่ก็บอกว่ามีคนออกไปนำได้ ไม่ควรเป็นเรา แต่คิดว่าถ้าทุกคนทุกครอบครัวมองอย่างนี้ สุดท้ายมันก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน
“ผมก็มีความคิดว่า แล้วใครละจะเป็นคนนั้น มองในมุมกลับกันถ้าเป็นใครที่ไม่ใช่คนรู้จักเราแล้ว จะเป็นใครละ ที่บ้านก็จะเตือน ๆ อ้อม ๆ ว่า ไม่อยากให้คนในครอบครัวโดนเรื่องนี้อยู่ดี ซึ่งผมก็เห็นว่าถ้าไม่เห็นด้วยพูดกันตรง ๆ ได้ ก็อยากให้เข้าใจว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหว แต่ละคนตัดสินใจออกมากแล้ว ถ้าออกมาแสดงความเป็นห่วงด้วยความจริงใจจะดีกว่า ในระดับครอบครัวอยากให้พูดว่าถ้าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็คุยกันได้ตามปกติ”
เมื่อให้มองไปถึงคดีตะโกน ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ ต่อขบวนเสด็จฯ แล้วโดนตั้งข้อหา 112 ในอีก 10-20 ปี อติรุจ มองว่าการเคลื่อนไหวของเขาเป็นคดีเล็ก ไม่ได้เป็นการชุมนุมอะไร “ผมคิดว่าคนอาจจะไม่จดจำหรอก แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวละกัน การเรียกร้องทางการเมืองก็ต้องใช้เวลา แต่รู้สึกว่าประเทศไทยใช้เวลานานเกินไป นี่ก็จะ 100 ปีแล้วนับจาก 2475”
อติรุจกล่าวถึงคดีตัวเองอีกว่า “อยากให้มองว่าเป็นคดี ที่ถ้าตัดสินออกมาอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากมายเท่าไหร่ แต่วันหนึ่งถ้าเราได้รัฐบาลที่มองเห็นโครงสร้างกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญเราจะชนกับกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพได้มากขึ้น”