อัยการสั่งฟ้อง ม.112 “อติรุจ” กล่าวหาตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จ ร.10 – ราชินี ชี้เป็นการสร้างความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อทั้งสองพระองค์ 

เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของ “อติรุจ” (สงวนนามสกุล) โปรแกรมเมอร์ วัย 25 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน กรณีถูกกล่าวหาว่าตะโกนวิจารณ์ว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จขากลับของรัชกาลที่ 10 และราชินี ขณะเคลื่อนผ่านออกจากศูนย์การประชุมสิริกิติ์ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 15 ต.ค. 2565

ในคดีนี้ อติรุจถูกกล่าวหาว่าตะโกนว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” ใส่ขบวนเสด็จ หลังเกิดเหตุเพียงชั่วครู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจในบริเวณนั้นประมาณ 10 นาย ได้เข้าจับกุมเขาทันทีโดยไม่มีหมายจับ ผู้เห็นเหตุการณ์ได้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รีบวิ่งเข้ามาอุ้มจับอติรุจและพาตัวออกไปให้ห่างจากขบวนเสด็จ พร้อมกับใช้มือปิดปากไม่ให้อติรุจส่งเสียง แล้วจึงบังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นพร้อมกับใส่กุญแจมือทันที

ต่อมาอติรุจถูกพาตัวไป สน.ลุมพินี เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความอยู่ร่วมด้วยในระหว่างการจัดทำบันทึกจับกุมและตรวจปัสสาวะ วันถัดมา (16 ต.ค. 2565) เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ยังได้นำหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี ลงวันที่ 16 ต.ค. 2565 ไปขอตรวจค้นบ้านพักของอติรุจ ที่ จ.ปทุมธานี อีกด้วย ทว่าไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด

จากนั้นเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังอติรุจต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง หลังศาลดำเนินการไต่สวนคำร้องจนแล้วเสร็จ ศาลอนุญาตให้ฝากขังเป็นเวลา 12 วัน แต่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยวงเงิน 200,000 บาท จากความช่วยเหลือของกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต

อัยการบรรยายฟ้องตะโกน “ไปไหนก็เป็นภาระ” ทำให้เข้าใจผิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อ ร.10-ราชินี ผิดตาม ม.112 

สำหรับคดีนี้ วรวัตร สีหะ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 เป็นผู้ฟ้องคดี 

โดยสรุปกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2565 เวลาประมาณ 18.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีได้เสด็จพระราชดําเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปทรงเปิดอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ขณะที่ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของทั้งสองพระองค์เสด็จกลับออกไป มีประชาชนต่างพร้อมใจนั่งเฝ้ารับเสด็จตรงบริเวณเส้นทางเข้าและเส้นทางออกอาคารศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และต่างพากันเปล่งเสียงว่า “ทรงพระเจริญ” จําเลยซึ่งยืนอยู่บริเวณที่รถยนต์พระที่นั่งเคลื่อนขบวนผ่านได้ตะโกนเสียงดังหันหน้าไปทางขบวนเสด็จว่า “ไปไหนก็เป็นภาระ” 

อัยการบรรยายฟ้องว่าประโยคข้างต้นที่จำเลยกล่าวนั้นเป็นถ้อยคํากล่าวที่มิบังควร จาบจ้วง มุ่งหมายใส่ความให้ประชาชนที่เฝ้ารับเสด็จและบุคคลทั่วไปเห็นว่าการเสด็จพระราชดําเนินนั้นเป็นการสร้างปัญหา สร้างภาระให้ประชาชน เสด็จไปที่ใดทําให้ประชาชนเดือดร้อน เอาแต่ประโยชน์ส่วนพระองค์ ไม่คํานึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน ก่อให้เกิดความเกลียดชังและเป็นภัยคุกคามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี 

ทําให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาทดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี อันเป็นการฝ่าฝืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

นอกจากนี้ อัยการยังได้บรรยายฟ้องอีกว่า หลังจากที่จำเลยได้ตะโกนประโยคดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยในบริเวณนั้นประมาณ 5 นาย ได้เข้าจับกุมจำเลยทันที เพื่อให้จําเลยหยุดการกระทําดังกล่าว แต่จําเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้เท้าถีบเจ้าพนักงานตํารวจผู้จับกุมถูกบริเวณแขนของ ร.ต.อ.อรรถพร คนไหวพริบ อย่างแรง ทำให้ได้รับบาดเจ็บเกิดบาดแผลถลอกบริเวณแขนซ้าย และทำให้ ร.ต.อ.ชิณกรณ์ ภูพันนา ได้รับบาดเจ็บฟกช้ําบริเวณกลางหลังช่วงเอว

พนักงานอัยการจึงได้สั่งฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหาแก่อติรุจ ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหา “ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138  

ในส่วนการขอปล่อยตัวชั่วคราว อัยการได้ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล

ภายหลังศาลรับฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอติรุจ โดยใช้หลักทรัพย์เดิมในชั้นสอบสวน จำนวน 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 13 ก.พ. 2566  

อติรุจเผย ระหว่างถูกคุมตัวอยู่ สน.ถูก ตร.พาไป รพ.จิตเวช ถูกมัดมือ-เท้าติดเก้าอี้ ก่อนถูกเค้นถามด้วยชุดคำถามประหลาด ซ้ำถูกเจาะเลือดโดยไม่ยินยอม

อติรุจเปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังถูกจับกุมเขาเองก็ได้รับบาดเจ็บเช่นกัน โดยพบว่ามีรอยถลอก 3 จุด ที่ข้อเท้าซ้าย ข้อศอกซ้าย และข้อศอกขวา ส่วนนิ้วกลางขวาพบว่าเล็บฉีกขาด 

อติรุจบอกอีกว่า ขณะถูกจับกุมเขาไม่ทราบเลยว่าเหล่าบุคคลที่เข้าถึงตัวเขานั้นเป็นใครบ้าง เพราะทุกคนแต่งกายด้วยชุดธรรมดา ไม่ใช่ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร ไม่มีบัตรประจำตัว และไม่มีการแสดงตัวหรือแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

อติรุจเผยว่า ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ลุมพินี และยังไม่ได้พบกับทนายความ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวเขาไปตรวจเช็คสุขภาพจิตที่โรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ โดยไม่รอให้ทนายความหรือผู้ไว้วางใจมาถึงและเข้าร่วมกระบวนการดังกล่าวด้วย

เมื่อถึงโรงพยาบาลจิตเวช อติรุจถูกมัดมือและเท้าติดกับเก้าอี้และถูกเจ้าหน้าที่พยาบาลถามคำถามคัดกรองผู้ป่วยทางจิตเบื้องต้น แม้อติรุจจะพยายามทัดทานแล้วว่าไม่ได้มีอาการป่วยทางจิตเวชหรือจะสร้างอันตรายกับใครได้ และไม่จำเป็นต้องมัดเขาไว้กับเก้าอี้ แต่ก็ไม่เป็นผล หลังพยายามอธิบายเหมือนว่าพยาบาลจะยิ่งรัดเชือกให้แน่นยิ่งกว่าเดิมเสียอีก

พยาบาลถามคำถามคัดกรองเบื้องต้นไปเรื่อยๆ แต่อติรุจรู้สึกว่าคำถามช่วงหลังนั้นจะดูไม่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองผู้มีอาการป่วยทางจิต เนื่องจากมีการใช้คำถามที่เกี่ยวข้องกับการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายคำถาม เช่น “รู้สึกอย่างไรบ้างกับสถาบันฯ” “เคยไปม็อบมาก่อนหรือเปล่า” เป็นต้น 

นอกจากนี้พยาบาลยังได้ทำการเจาะเลือดไปโดยที่อติรุจไม่ให้ความยินยอมอีกด้วย

ข่าวขณะถูกจับกุม: ตร.อุ้มจับ ก่อนแจ้ง ม.112 ‘อติรุจ’ กล่าวหายืนตะโกน ‘ไปไหนก็เป็นภาระ’ ใส่ขบวนเสด็จ ก่อนศาลให้ประกันด้วยวงเงิน 2 แสน

X