ยื่นประกันตัว “อานนท์-วีรภาพ” คดี ม.112 อีกครั้ง ศาลอาญาให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ก่อนสั่งไม่ให้ประกันเช่นเดิม

14 ธ.ค. 2566 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว 2 ผู้ต้องขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อศาลอาญา ได้แก่ อานนท์ นำภา และ “อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน ทั้งสองคนถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 แต่ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องทั้งสองไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกครั้ง

.

ยื่นประกันตัวอานนท์ครั้งที่ 4 ยันอีกครั้งไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี หากเห็นเช่นนั้น ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงเป็นฐานรองรับการใช้ดุลยพินิจ

ในส่วนของอานนท์นั้น ถูกคุมขังจากคดีการปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 มาตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ก่อนศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ประกันตัวจากการยื่นมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง และยังเคยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไปแล้วอีก 1 ครั้ง ซึ่งศาลฎีกาสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ในการยื่นคำร้องขอประกันตัวครั้งที่ 4 นี้ จำเลยยืนยันอีกครั้งว่าจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด และไม่เคยกระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือจะหลบหนีแต่อย่างใด ทั้งศาลนี้และศาลอาญากรุงเทพใต้ยังเคยอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไปร่วมงานรับรางวัลควังจูเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และจำเลยก็เดินทางกลับมารายงานตัวต่อศาลตามนัด

“หากพบว่าจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนี ย่อมต้องมีข้อเท็จจริงเป็นฐานรองรับการใช้ดุลพินิจ เช่น จำเลยเป็นผู้มีอิทธิพล มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่มาศาล หรือผิดนัดไม่มาตามกำหนดนัด หรือมีพฤติการณ์ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานอย่างไร มีแนวโน้มจะไปก่ออันตรายประการอื่นอย่างไร เป็นต้น ซึ่งจำเลยหาได้มีพฤติการณ์ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่” คำร้องยืนยันต่อศาล

คำร้องขอประกันตัวอานนท์ ยังระบุว่าการคุมขังตัวจำเลยไว้เป็นการกระทำเกินสมควรแก่เหตุ และเกินความจำเป็นแก่กรณี และส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเป็นทนายความสิทธิมนุษยชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนรวมกว่า 39 คดี ในหลายศาล ทั้งนอกจากภาระหน้าที่ด้านคดีความ จำเลยยังมีบุตร 2 คน ที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูด้วย

.

ยื่นประกันตัววีรภาพครั้งที่ 3 ระบุภาระต้องดูแลบุตรวัย 1 ปีเศษ และการรักษาอาการซึมเศร้า

ในส่วนของวีรภาพนั้น ถูกคุมขังจากคดีเขียนข้อความเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ใต้ทางด่วนดินแดง  มาตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ประกันตัวจากการยื่นมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งยังเคยอุทธรณ์คำสั่งอีก 1 ครั้ง

การยื่นประกันตัวครั้งที่ 3 นี้ นอกจากยืนยันเรื่องจำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเช่นเดียวกับกรณีของอานนท์แล้ว ยังกล่าวถึงภาระหน้าที่ของจำเลยในการดูแลมารดา และบุตรวัย 1 ปีเศษ ซึ่งจำเลยกับภรรยาต้องแบ่งเบาการหารายได้ในการดำรงชีวิตประจำวัน การไม่ได้รับการประกันตัวส่งผลกระทบต่อครอบครัวของจำเลยเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนั้น วีรภาพยังป่วยเป็นโรคซึมเศร้า การถูกคุมขังทำให้ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็มีข้อจำกัดในหลายด้าน เช่น ความเชี่ยวชาญและยารักษาด้านอาการป่วยจิตเวช

นอกจากนั้น ทั้งสองคำร้องยังชี้ว่าเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 นี้ ศาลอาญาเคยอนุญาตให้ประกันตัวในคดีของรักชนก ศรีนอก ที่ถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี ในคดีข้อหาเดียวกัน ซึ่งมากกว่าโทษในทั้งสองคดีนี้ โดยไม่ส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันยังระบุว่าตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ข้อ 24 กำหนดว่ากรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องทั้งสองคดีให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทำให้ต้องรอฟังคำสั่งในอีก 2-3 วัน

.

(เพิ่มเติมข้อมูล)

ศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งสองคดี อ้างว่าเกรงจำเลยจะหลบหนี

วันที่ 18 ธ.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคนเช่นเดิม

กรณีของอานนท์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูงพฤติการณ์แห่งคดีร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว เหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง” 

กรณีของวีรภาพ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพฤติการณ์แห่งคดีและโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ประกอบกับศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ อันเนื่องจากเกรงว่าจำเลยจะหลบหนีมาแล้วหลายครั้ง และตามพฤติกรรมยังไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ็บป่วยนั้น กรมราชทัณฑ์ก็สามารถดูแลจัดการได้ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 55 จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

.

X