ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน “ยกฟ้อง” ม.112 คดีติดป้าย “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID-19”

30 ม.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำปางนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของนักศึกษาและประชาชนรวม 5 คน จากเหตุการแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 

คดีนี้จำเลยทั้ง 5 คน ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เฉพาะ พินิจ ทองคำ จำเลยที่ 1 ยังถูกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากข้อกล่าวหาว่าโพสต์รูปภาพป้ายผ้าดังกล่าวลงในเพจเฟซบุ๊ก “พิราบขาวเพื่อมวลชน”

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ฯ เนื่องจากเป็นการสื่อให้เห็นการวิพากษ์วิจารณ์งบประมาณแผ่นดิน ไม่ได้ระบุตัวบุคคลใดโดยเฉพาะ

.

กว่า 3 ปีในการต่อสู้คดี แม้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง – แต่อัยการโจทก์อุทธรณ์ต่อ

สำหรับคดีนี้มี ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองลำปาง เป็นผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คนในคดีนี้ ได้แก่ พินิจ ทองคำ อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นจำเลยที่ 1, “หวาน” (นามสมมติ) อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นจำเลยที่ 2, ภัทรกันย์ แข่งขัน อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นจำเลยที่ 3, วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นจำเลยที่ 4  และ ยุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง เป็นจำเลยที่ 5  

หลังการสืบพยานต่อสู้คดี 8 นัด ในช่วงปี 2565 ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 โดยสรุปเห็นว่าจำเลยทั้งห้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำแผ่นป้าย และนำป้ายไปแขวนจริง แต่เห็นว่าข้อความที่ระบุบนแผ่นป้าย ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีโดยเฉพาะ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงใด และยังไม่เข้าข่ายมาตรา 112

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ นั้น ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่าบุคคลที่ถือแผ่นป้ายผ้าเดินขึ้นไปบนสะพานที่เกิดเหตุ เป็นจําเลยที่ 1 จริง เฉพาะจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับ 5,000 บาท และให้ยึดป้ายผ้าของกลางในคดีดังกล่าว 

แต่ยกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้โพสต์เผยแพร่ภาพป้ายดังกล่าว

ฝ่ายอัยการโจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา และฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นโต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ หลังศาลชั้นพิพากษาไปครบ 1 ปี พอดี จึงได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อมา

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ชี้ไม่มีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ไม่ระบุตัวบุคคลใด

เวลา 9.00 น. จำเลยทั้ง 5 พร้อมด้วยเพื่อนที่มาให้กำลังใจรวมประมาณ 10 คน ได้เข้าไปนั่งรอในห้องพิจารณาที่ 4 เพื่อรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า “พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น” 

บรรยากาศที่ศาลในวันนี้ มีตำรวจและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจากหลายหน่วยงาน ไม่ต่ำกว่า 6-7 นาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. เข้ามาติดตามคดีด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ได้เข้าฟังการพิจารณาด้วย

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยสรุประบุว่าข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติรับฟังได้ว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันนำแผ่นป้ายมีข้อความว่า “งบสถาบันพระมหากษัตริย์>วัคซีนCOVID-19” ติดแขวนที่สะพานรัษฎาภิเษก จังหวัดลำปาง และมีคนร้ายนำแผ่นป้ายผ้าดังกล่าวไปลงประกาศในบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “พิราบขาวเพื่อมวลชน” 

โจทก์มีนางจันทร์สม เสียงดี อดีตนักบริหารการศึกษา 10 ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาระดับสูง และอดีตประธานชมรมคนรักในหลวง จังหวัดลำปาง เบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนว่า ข้อความตามป้ายดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่พาดพิงถึงสถาบัน เป็นการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้คนเสื่อมความนับถือและศรัทธา และ ผศ.ภานุวัฒน์ ชัยชนะ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เบิกความเป็นพยานว่า ข้อความดังกล่าวเมื่อคนอ่านแล้วย่อมทำให้คนอ่านน่าจะเกิดการเกลียดชังกษัตริย์มากขึ้นและอาจจะมองไปในทางไม่ดี

ส่วนจำเลยทั้ง 5 มีจำเลยที่ 1 และ 2 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานในทำนองเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการสื่อถึงรัฐบาลเพื่อให้มีการเพิ่มงบประมาณในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ไม่เกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และมี รศ.สาวตรี สุขศรี เบิกความเป็นพยานว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 5 ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ในการเสนองบประมาณดังกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาเท่านั้น และสถาบันพระมหากษัตริย์มีองค์ประกอบกว้างขวาง ครอบคลุมตำแหน่งและหน่วยงานจำนวนมาก ประชาชนย่อมต้องรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ ถึงขั้นเกลียดการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายในการกำหนดและจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในภาพรวม หาได้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมหรือการกระทำใด ๆ ขององค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

เห็นว่ามาตรา 112 มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองพระเกียรติยศชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยเฉพาะ การที่จะลงโทษจำเลยทั้งฐานความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และโดยประการที่น่าจะเสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากข้อความในแผ่นป้ายผ้าดังกล่าว

ข้อความว่า “งบสถาบันพระมหากษัตริย์>วัคซีนCOVID19” เมื่อตีความตามตัวอักษรย่อมมีความหมายว่า งบประมาณแผ่นดินของสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่างบประมาณที่จัดสรรสำหรับการจัดหาวัคซีนไวรัสโคโรนา หรือ COVID19 ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการของพระมหากษัตริย์ อันประกอบด้วยบุคคลากรหลายฝ่ายที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องในฐานะต่าง ๆ 

แม้ข้อความดังกล่าวจะมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้หมายถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ และเป็นการสื่อให้เห็นว่า เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิรัฐบาลเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่ไม่เป็นธรรม แทนที่จะนำเอามาดูแลสุขภาพของประชาชนให้มาก 

ข้อความดังกล่าวจึงไม่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงเจาะจงว่า หมายถึงพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง 5 กระทำความผิดฐานนี้

เมื่อข้อความดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาตามฟ้อง 

ส่วนความผิดฐานร่วมกันโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรย แผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในความผิดฐานดังกล่าว แต่อุทธรณ์ของโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรค 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่รับวินิจฉัยให้ 

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงนามโดย หม่อมหลวงนารีธรรม ศรีธวัช, รัชนี ไชยแก้วเมรุ์ และ กาญจนา สิงห์ไฝแก้ว 

หลังจากฟังคำพิพากษา จำเลยทั้ง 5 พร้อมเพื่อนที่มาให้กำลังใจ ออกไปพูดคุยกันบริเวณด้านหน้าอาคารศาล พร้อมถ่ายรูปร่วมกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาถ่ายรูปกลุ่มจำเลยด้วยเช่นกัน

.

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยานและต่อสู้คดีนี้

คดีติดป้ายผ้า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID-19” สืบสู้เป็นข้อความทั่วไป สื่อถึงการบริหารงานรัฐบาล ไม่เข้า ม.112

X