จับตา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ม.112 แขวนป้าย  “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” หลังอัยการยื่นอุทธรณ์ แม้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง

ในวันที่ 30 ม.ค. 2567 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำปางนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของนักศึกษาและประชาชนรวม 5 คน ที่ถูกฟ้องด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ เหตุจากการแขวนป้ายผ้าที่มีข้อความ “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” บริเวณสะพานรัษฎาภิเศก เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 

.

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ม.112 เห็นว่าข้อความไม่เข้าข่าย แต่ปรับข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาด เฉพาะจำเลยที่ 1

สำหรับคดีนี้มี ร.ต.อ.วิเชียร ดอนชาไพร รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองลำปาง เป็นผู้ถูกกล่าวหาต่อนักศึกษาและประชาชน 5 คน ได้แก่ พินิจ ทองคำ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นจำเลยที่ 1, “หวาน” (นามสมมติ) นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นจำเลยที่ 2, ภัทรกันย์ แข่งขัน นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เป็นจำเลยที่ 3, วรรณพร หุตะโกวิท บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นจำเลยที่ 4  และ ยุพดี กูลกิจตานนท์ แม่ค้าในจังหวัดลำปาง เป็นจำเลยที่ 5  

พินิจ เป็นจำเลยรายเดียวที่ถูกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เพิ่ม จากพฤติการณ์ว่าเป็นผู้โพสต์ภาพป้ายผ้าดังกล่าวเผยแพร่ลงในเพจ “พิราบขาวเพื่อมวลชน”

คดีนี้หลังการสืบพยานต่อสู้คดี 8 นัด ในช่วงปี 2565 ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 โดยสรุปเห็นว่าจำเลยทั้งห้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำแผ่นป้าย และนำป้ายไปแขวนจริง แต่เห็นว่าข้อความที่ระบุบนแผ่นป้าย ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีโดยเฉพาะ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงใด และยังไม่ใช่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี 

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ นั้น ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้ว่าบุคคลที่ถือแผ่นป้ายผ้าเดินขึ้นไปบนสะพานที่เกิดเหตุ เป็นจําเลยที่ 1 จริง เฉพาะจำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานโฆษณาด้วยการปิด ทิ้ง หรือโปรยแผ่นประกาศหรือใบปลิวในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 10 วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับ 5,000 บาท และให้ยึดป้ายผ้าของกลางในคดีดังกล่าว 

แต่ยกฟ้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้โพสต์เผยแพร่ภาพป้ายดังกล่าว

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยานและต่อสู้คดีนี้ คดีติดป้ายผ้า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID-19” สืบสู้เป็นข้อความทั่วไป สื่อถึงการบริหารงานรัฐบาล ไม่เข้า ม.112

.

.

อัยการภาค 5 อุทธรณ์ อ้างว่ากลุ่มจำเลย “บังอาจ” กระทำสิ่งที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย

ต่อมา ธวัช ไพฑูรย์เจริญลาภ อัยการอาวุโส สำนักงานคดีศาลสูงภาค 5 ได้เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ โดยสรุปได้อ้างว่าพยานโจทก์ปากต่าง ๆ ต่างก็มีความเห็นและตีความไปทำนองเดียวกันว่าการติดป้ายข้อความดังกล่าว มีเจตนาให้ผู้คนพบเห็นจำนวนมาก มีความรู้สึกไม่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาบันฯ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่หมายเฉพาะถึงรัชกาลที่ 10 เพียงอย่างเดียว ยังอาจจะหมายถึงท่านอื่นด้วย และไม่ได้หมายถึงเฉพาะพระมหากษัตริย์กับพระราชินี ยังหมายถึงราชนิกูลอื่น

การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เปรียบเทียบ ประชดประชัน ทำให้พระมหากษัตริย์และพระราชินีเสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ซึ่งสถาบันกษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะและเทิดทูนของประชาชนชาวไทย ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ อีกทั้งความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยก็ให้ความเคารพสักการะและเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล การที่จะกล่าวกิริยาใดอันเป็นการจาบจ้าง ล่วงเกิน เปรียบเทียบ เปรียบเปรย หรือเสียดสี ให้เป็นที่ระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาท หามีบุคคลใดกล้าบังอาจทำไม่ 

พฤติการณ์ของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำที่บังอาจ กล้ากระทำการอันไม่บังควรอย่างยิ่ง จึงเข้าลักษณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ

อัยการยังอ้างคำเบิกความของตำรวจฝ่ายสืบสวนที่ติดตามดูพฤติการณ์ของ “บุคคลเป้าหมาย” คือจำเลยที่ 1 ว่าเป็นบุคคลที่เป็นแกนนำของกลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน จึงเชื่อได้ว่าบัญชีเฟซบุ๊กของเพจกลุ่มดังกล่าว มีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแล จึงขอให้ศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย

.

ฝ่ายจำเลยโต้การตีความ ม.112 ไม่เกี่ยวกับ ม.6 ในรธน. ทั้งคุ้มครองเฉพาะตัวบุคคล ไม่ใช่ “สถาบัน” และป้ายเป็นการตั้งคำถามต่อการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชน

ขณะที่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นโต้แย้งอุทธรณ์ของโจทก์ โดยได้อธิบายถึงหลักการตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้ “องค์พระมหากษัตริย์” อยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะและผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ ซึ่งมุ่งหมายกล่าวถึงและคุ้มครอง “ตัวบุคคล” ที่ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ซึ่งเป็น “ประมุขของรัฐ” หาได้กล่าวถึงหรือคุ้มครองไปถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งหมายถึง โครงสร้าง หรือองค์กรที่ประกอบด้วยบุคคลหลายคน ซึ่งครอบคลุมไปถึงตำแหน่งอื่นอย่างพระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์อื่น ๆ อย่างหม่อมเจ้า หม่อมหลวง ฯลฯ ด้วยไม่ เนื่องจากตำแหน่งเหล่านี้ ไม่ใช่ประมุขของรัฐที่จำเป็นต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษในทางกฎหมายยิ่งกว่าบุคคลทั่วไป

ทั้งหลักการของมาตรา 6 ได้รับอิทธิพลมาจากหลัก “The King can do no wrong” ซึ่งไม่ได้มุ่งหมายคุ้มครองไปถึงกรณีที่กษัตริย์ทรงกระทำการด้วยตัวพระองค์เอง โดยไม่มีการรับสนองพระบรมราชโองการจากผู้อื่น เพราะการกระทำใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำในทางการเมือง หรือการกระทำที่อาจส่งผลทางกฎหมาย ผู้กระทำนั้นล้วนสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนได้ และโดยนัยของมาตรา 6 เองก็หาได้กำหนดห้ามบุคคลวิพากษ์วิจารณ์ด้วยไม่ หากแต่ห้ามเฉพาะ “การกล่าวโทษหรือฟ้องร้อง” พระองค์เท่านั้น เนื่องจากกษัตริย์ไม่ได้ทรงทำอะไรด้วยพระองค์เอง 

นอกจากนี้ มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายที่กำหนดฐานะและอำนาจของพระมหากษัตริย์ รวมทั้งองค์กรอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดฐานความผิดหรือบทลงโทษทางอาญา จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวพันหรือจะนำไปเชื่อมโยงกับความผิดใด ๆ ที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาได้ เช่นนี้ มาตรา 6 จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้และการตีความมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ทั้งตามมาตรา 112 บัญญัติขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองเกียรติยศชื่อเสียงของ “บุคคล” ที่ดำรงตำแหน่งที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงเพียง 4 ตำแหน่งเท่านั้น คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หาได้บัญญัติคุ้มครองตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ รวมทั้งมิได้มีความหมายรวมไปถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งไม่ใช่ “บุคคล” ที่ดำรงตำแหน่งใดได้

คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ที่อยู่ในประโยคคำว่า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีน COVID19”  จึงไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล หรือองค์พระมหากษัตริย์และองค์พระราชินีแต่อย่างใด แต่หมายถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการของพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ รวมถึงบุคคลเกี่ยวข้องในฐานะเจ้าหน้าที่ขององค์กรหรือหน่วยงาน 

และคำว่า “งบ” ก็หมายความถึง “งบประมาณของแผ่นดิน” คำว่า “งบสถาบันกษัตริย์” ก็หมายถึง “งบประมาณของแผ่นดินที่จัดสรรให้กับองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการของพระมหากษัตริย์ในฐานะตำแหน่งประมุขของประเทศตามรัฐธรรมนูญ”  และการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเป็นหน้าที่ของรัฐสภาและการใช้จ่ายงบประมาณเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเป็นผู้นำไปใช้ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย 

การวิพากษ์วิจารณ์หรือการตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน หรือการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน จึงเป็นสิทธิของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่สามารถกระทำได้ มิได้เข้าข่ายตามมาตรา 112 แต่อย่างใด 

คำแก้อุทธรณ์ของฝ่ายจำเลย ยังได้อธิบายถึงความหมายของการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย ตามหลักกฎหมายอาญา ซึ่งย่อมไม่ได้กินความหรือหมายรวมไปถึงการนิ่งเฉย การไม่แสดงความเคารพ การวิพากษ์วิจารณ์ การประชดประชัน รวมทั้งการกล่าวถึงหรือกระทำใด ๆ ต่อบุคคล ต่อสิ่งแทนตน สัญลักษณ์ รูปถ่าย หรือต่อสิ่งอื่นใด เนื่องจากการแสดงอาการเหล่านี้มิได้ทำให้ผู้อื่นที่ได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นการกระทำหรือข้อความรู้สึก ดูหมิ่น ดูถูก หรือเกลียดชังบุคคลที่ถูกกระทำ การตีความและบังคับใช้มาตรา 112 จึงต้องเป็นไปโดยเคร่งครัด ห้าม “ขยายความ” ไปจนเกินทั้งถ้อยคำ และเจตนารมณ์แห่งกฎหมาย รวมทั้งหยิบยก “จารีตประเพณี” ที่ไม่มีความแน่นอนชัดเจนมาตีความกฎหมายอาญาด้วย

ในส่วนของข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้น ฝ่ายจำเลยยืนยันว่าจากพยานหลักฐานของโจทก์ ล้วนไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 2-5 เกี่ยวข้องในการนำป้ายผ้าขึ้นไปติดที่สะพาน ประกอบกับโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าการติดป้ายดังกล่าวมีการขออนุญาตหรือไม่  และเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างไร และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก มีแต่เพียงข้อสันนิษฐานของพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจฝ่ายสืบสวนปากเดียวเท่านั้น จึงขอให้ศาลยกอุทธรณ์ของโจทก์

.

X