พิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ “โตโต้ ปิยรัฐ” หัวหน้า WeVo 3 หมื่น จำเลยอื่นปรับ 1 หมื่น #ม็อบย่างกุ้ง ชี้กิจกรรมเสี่ยงแพร่โรค

วันที่ 12 มี.ค. 2567 เวลา 09.30 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และสมาชิกกลุ่ม WeVo หรือ We Volunteer รวม 11 คน กรณีจัดกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง บริเวณสนามหลวง เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 โดยพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดมีความผิดตามฟ้อง จำเลย 1 คนซึ่งให้การรับสารภาพ ปรับ 5,000 บาท ก่อนลดกึ่งหนึ่ง ในส่วนจำเลยอีก 10 คนซึ่งให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี ปิยรัฐซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม ปรับ 30,000 บาท และจำเลยคนอื่น ๆ ปรับคนละ 10,000 บาท

จำเลยทั้ง 11 คนในคดีนี้ ได้แก่ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ (จำเลยที่ 1), นูรทีร (สงวนนามสกุล) (จำเลยที่ 2), ทนง ชำนาญจันทร์ (จำเลยที่ 3), อัรฟาน ดอเลาะ (จำเลยที่ 4), กีรติ ผลมะตาด (จำเลยที่ 5), สุชาติ จั่นแก้ว (จำเลยที่ 6), ธัช ภานุศิริ (จำเลยที่ 7), ทองนพเก้า (สงวนนามสกุล) (จำเลยที่ 8), ศุราสิริ ชัยลีย์ (จำเลยที่ 9), ณัฐพงศ์ คำจันทร์ (จำเลยที่ 10) และ ณัฐพงษ์ มะลิซ้อน (จำเลยที่ 11)

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563 กลุ่มผู้ชุมนุม WeVo ได้นัดหมายทำจัดกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง เพื่อจัดจำหน่ายกุ้งเผาของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หลังตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าล้อมกลุ่มประชาชนที่กำลังเข้าร่วมซื้อขายกุ้งเผาที่สนามหลวง โดยมีการจับกุมประชาชนได้ทั้งหมด 12 ราย 

ต่อมา กลุ่ม WeVo จึงนำกุ้งส่วนที่เหลือไปขายที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แต่ถูกชุดควบคุมฝูงชนเข้าล้อมพื้นที่และเข้าจับกุมประชาชนในบริเวณนั้นไปอีก 4 คน  รวมผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 16 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ถึง 2 คน 

ทั้งหมดถูกควบคุมตัวขึ้นรถไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จ.ปทุมธานี ก่อนจะนำตัวไปขออำนาจศาลแขวงดุสิตฝากขังและได้รับประกันตัวออกมา

หลังจากนั้น ในส่วนของคดีผู้ใหญ่ ได้มีการฟ้องคดีแยกเป็นสองคดีที่ศาลแขวงดุสิต ตามสถานที่ถูกจับกุม โดยแยกเป็นคดีนี้ซึ่งจำเลยถูกจับกุมจากสนามหลวง 11 คน และคดีของผู้ถูกจับกุมจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา 3 คน ซึ่งเมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 ศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้วว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามฟ้อง ปรับคนละ 10,000 บาท 

ส่วนคดีนี้ มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 21-22, 28-30 มิ.ย., 8 ก.ย., 5-6 ต.ค. และ 2, 21 พ.ย. 2566 โดยในการสืบพยาน จำเลยที่ 2 ตัดสินใจถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ในขณะที่จำเลยที่ 1, 3-11 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและมีข้อต่อสู้หลักว่า การทำกิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิและเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ, สถานที่จัดกิจกรรมเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค และเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าล้อมพื้นที่และจับกุมปิยรัฐซึ่งเป็นผู้อำนวยการ พร้อมสมาชิกกลุ่มไปก่อนที่จะได้มีโอกาสจัดมาตรการป้องกันโรคในพื้นที่

วันนี้ (12 มี.ค. 2567) เวลา 10.09 น. หลังจากพิจารณาคดีอื่นเสร็จสิ้น ผู้พิพากษาได้เรียกให้จำเลยทั้ง 11 คนเข้ามาในห้องพิจารณาคดี โดยให้จำเลยทุกคนยืนขึ้นและแจ้งชื่อตามลำดับ ก่อนอ่านคำฟ้องและคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้

พิเคราะห์แล้ว ฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งติดต่อกันได้ง่าย เป็นอันตราย ในขณะนั้นยังไม่มีวัคซีน ไม่มียาป้องกันโรค การตรวจหาโรคทำได้เฉพาะวิธี RT-PCR ยังไม่มีการตรวจโดยใช้ ATK และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกจำนวนมาก กระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน 

รัฐบาลต้องควบคุมโรคไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้าง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 

ต่อมาผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมชุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค หรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาส ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน หรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่เชื้อโรค ณ ที่ใด ๆ ทั่วราชอาณาจักร 

มาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด ได้แก่ 1. สวมหน้ากากอนามัย 2. เว้นระยะห่างทางสังคม 3. ตรวจวัดอุณหภูมิ และ 4. ล้างมือและใช้เจลแอลกอฮอล์

เห็นว่า จำเลยที่ 2 รับสารภาพตามฟ้อง สามารถพิพากษาลงโทษได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการสืบพยาน จำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 – 11 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่

โจทก์มีพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ตรวจพบบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1  ประกาศทำกิจกรรมขายกุ้งและเคาท์ดาวน์ในวันที่ 31 ธ.ค. 2563  แต่ไม่ได้ระบุสถานที่ทำกิจกรรม 

ต่อมาเวลา 9.30 น. ได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มคนประมาณ 10 – 20 คน เข้าไปในพื้นที่ท้องสนามหลวง เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบในที่เกิดเหตุในเวลา 10.00 น. พบรถยนต์กระบะประมาณ 7 คัน และพบกลุ่มบุคคล 40 – 50 คน ทั้งในและนอกสนามหลวง โดยแต่งกายคล้ายการ์ดในที่ชุมนุม ไม่พบเห็นการจัดมาตรการป้องกันโรค ทราบว่าเป็นผู้ชุมนุมกลุ่ม We Volunteer  มีการขับรถกระบะบรรทุกเครื่องขยายเสียงเข้ามาในพื้นที่ จำเลยที่ 1 ประกาศว่า จะขายกุ้งและเคาท์ดาวน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนประมาณ 114 นาย ตั้งแถวเพื่อเข้าควบคุมฝูงชน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า การชุมนุมไม่สามารถทำได้ จำเลยที่ 1 ตอบกลับว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ขายกุ้งจะปิดประตูรั้วไม่ให้ตำรวจเข้าและให้ผู้ชุมนุมล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต่อมาผู้ชุมนุมปิดประตูรั้วและตั้งแถวต่อกันเป็นแผง

เจ้าหน้าที่ตำรวจเจรจากับจำเลยที่ 1 ซึ่งในขณะนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ขอให้ยุติการชุมนุมและจะจัดหาสถานที่ทำกิจกรรมให้ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแถวล้อมรอบพื้นที่ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยุติการชุมนุมและประกาศให้คนมารวมตัวกันที่บริเวณเครื่องขยายเสียง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 1 กับพวกรวมประมาณ 5 คน

ในขณะนั้นมีบุคคลอื่นพยายามยื้อแย่ง ขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ปล่อยยางรถตำรวจ ยื้อแย่งกุญแจรถยนต์ รถตำรวจบางคันไม่สามารถออกจากพื้นที่สนามหลวงได้ ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุลมุน นำไปสู่การจับกุมผู้ชุมนุม 12 คน โดย 11 คนเป็นจำเลยในคดีนี้

เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนกระชับพื้นที่ในท้องสนามหลวง ไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้า ต่อมามีผู้ชุมนุมประมาณ 100 คน มายืนผลักดัน เขย่า และกระโดดถีบรั้ว

พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความว่า ไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโรค ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยบ้างไม่สวมบ้าง มีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เสี่ยงต่อการแพร่โรค และในวันเกิดเหตุ ไม่มีบุคคลมาแสดงตัวว่าเป็นใคร และจะมาจัดกิจกรรมหรือทำอะไรในพื้นที่

พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สุขาภิบาลชำนาญการเบิกความว่า รัฐบาลมีมาตรการป้องกันโรค การทำกิจกรรมจะต้องเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร, มีจุดคัดกรอง และผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องลงทะเบียนในไทยชนะ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 40 คนรวมตัวกัน ไม่มีการเว้นระยะห่าง ไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโรค เสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยผู้ชุมนุมยืนใกล้ชิดกันเกิน 5 นาที แม้สนามหลวงจะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง แต่ตามหลักพื้นที่จะต้องพิจารณาจากพื้นที่ 4 ตารางเมตรต่อ 1 คน มิฉะนั้นจะถือว่าแออัด

เมื่อพิจารณาพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจประกอบกับพยานโจทก์อื่น ๆ โดยเฉพาะบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงตามคลิปวิดีโอ, พยานเอกสาร และรายงานการสืบสวนซึ่งมีภาพถ่ายกิจกรรมและบุคคลที่ทำกิจกรรม เห็นได้ชัดว่า จำเลยทั้ง 11 คนเข้าร่วมกิจกรรม ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก อยู่ในลักษณะแออัดในหลายวาระโอกาสและสถานที่ ไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ พยานโจทก์ไม่มีพิรุธให้ระแวงสงสัย เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามจริง

สมกับคำเบิกความที่จำเลยตอบคำถามค้านว่า คลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นการบันทึกโดยประชาชน จำเลยที่ 1 เบิกความตอบว่า ข้าฯ และทีมงานพยายามจัดมาตรการป้องกันโรค แต่จากการตรวจสอบภาพและวิดีโอ ไม่พบว่ามีจุดคัดกรองตั้งแต่บริเวณศาลฎีกาถึงหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้พยานโจทก์น่าเชื่อถือ เพียงพอรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 11 คนไม่ได้จัดมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 – 11 ต่อสู้ว่า เห็นว่าเป็นสิทธิประชาชนมาชุมนุม เข้าใจว่ามาตรการป้องกันโรคที่กลุ่ม We Volunteer จัดเพียงพอ หลักจากนั้นไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้ง 11 คนติดเชื้อ ไม่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มหรือคลัสเตอร์

เห็นว่า จำเลยทั้ง 11 คนร่วมกันทำกิจกรรมโดยใช้เครื่องขยายเสียง ไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโรค ไม่มีจุดคัดกรอง ไม่มีการลงทะเบียนในไทยชนะ ไม่อาจถือว่า กิจกรรมมีความปลอดภัย ไม่เสี่ยงต่อโรค ส่วนที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 – 11 เบิกความว่า ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโดยสวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ ไม่ติดเชื้อจากกิจกรรม และไม่ปรากฏว่ามีการแพร่เป็นกลุ่มจากกิจกรรม ไม่สามารถอ้างปฏิเสธความรับผิดได้ ไม่สามารถหักล้างพยานโจทก์ได้

ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 – 11 ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการกระทำผิดตามฟ้อง

จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าเป็นผู้อำนวยการกลุ่ม We Volunteer เพียงคนเดียว สอดคล้องกับพยานโจทก์และคำปราศรัย ประกอบกับจำเลยที่ 1 ตอบโจทก์ถามค้านว่า ทราบว่าจะใช้สนามหลวงต้องขออนุญาตก่อน แต่ไม่ได้ขอต่อกรุงเทพมหานคร  เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการกลุ่ม We Volunteer มีสิทธิและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นแบบอย่างแก่สมาชิกกลุ่ม เมื่อจำเลยที่ 1 ละเลย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง กรณีมีพฤติการณ์พิเศษ เห็นสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยที่ 1 หนักกว่า

จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ สำนึกผิดต่อการกระทำ ประกอบกับมีอายุเพียง 22 ปี ไม่เคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน ขอกลับตนเป็นพลเมืองดี มีเหตุบรรเทาโทษ

พิพากษาว่า จำเลยทั้ง 11 คน มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9(2), มาตรา 18 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำเลยที่ 1 ลงโทษปรับ 30,000 บาท จำเลยที่ 2 ลงโทษปรับ 5,000 บาท ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงลงโทษปรับ 2,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 – 11 ลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท

ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีอื่น เนื่องจากศาลลงโทษปรับ ไม่สามารถนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ได้แก่ สิรพัชร์ สินมา 

รวมค่าปรับของจำเลยทั้งหมด 122,500 บาท

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2566 จำเลยและทนายความจำเลยได้มีการยื่นคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา สิรพัชร์ สินมา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนและนั่งพิจารณาคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 12 โดยอ้างเหตุว่า มีสภาพร้ายแรงซึ่งอาจทำให้การพิจารณาหรือพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป แต่ผู้พิพากษาสิรพัชร์ยกคำร้องดังกล่าวด้วยตนเอง

จำเลยและทนายความจำเลยเห็นว่า ผู้พิพากษาสิรพัชร์ไม่มีอำนาจสั่งคำร้องคัดค้านผู้พิพากษาด้วยตนเอง เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีศาลแขวง มีผู้พิพากษาคนเดียว ศาลที่มีอำนาจชี้ขาดคำร้องคัดค้านผู้พิพากษา คือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิต หรือศาลซึ่งมีอำนาจสูงกว่าผู้พิพากษาสิรพัชร์ การสั่งคำร้องดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 13 วรรคสาม เป็นการสั่งคำร้องโดยตนเองไม่มีอำนาจ  ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 จำเลยและทนายความจำเลยจึงยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งศาลที่ผิดระเบียบผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม และต่อมาเจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาระบุว่า ผู้พิพากษาสิรพัชร์สั่งให้ยกคำร้องดังกล่าวด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (12 มี.ค. 2567) ก่อนอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาสิรพัชร์ได้แจ้งคู่ความให้ทราบว่า ผู้พิพากษาได้ยื่นหนังสือขอถอนตัวออกจากสำนวนคดี แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งไม่อนุญาต โดยอ้างว่าไม่มีเหตุให้ถอนตัว 

X