บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 – วางเพลิง ของ “มิกกี้บัง – คาริม – แม็ก” กลุ่มทะลุฟ้า กรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ-ป้อมจราจรใน #ม็อบ19กันยา64 จำเลยยืนยัน ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์

30 พ.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “มิกกี้บัง” – “คาริม” – “แม็ก” สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า หลังจากถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ร.10 – ราชินี บนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม และเผาป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร #ม็อบ19กันยา64

ในคดีนี้มีจำเลยทั้งสิ้น 3 คน โดย “มิกกี้บัง” (สงวนชื่อสกุลจริง) วัย 24 ปี และ “คาริม” จิตริน พลาก้านตง วัย 27 ปี ถูกกล่าวหาใน 4 ข้อหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ส่วน “แม็ก” สินบุรี แสนกล้า วัย 27 ปี ถูกกล่าวหาเฉพาะในเหตุการณ์เผาป้อมจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง รวม 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

.

การชุมนุมใน #ม็อบ19กันยา64 – ไทม์ไลน์คดี

ในวันที่ 19 ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 15 ปีการรัฐประหารโค่นล่มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีพลเอกสนธิ  บุญยรัตนกลิน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร โดยวันดังกล่าวมีการชุมนุมและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องรวม 28 ครั้ง ใน 22 จังหวัด ซึ่งการชุมนุมหลักในกรุงเทพมหานครคือ ขบวนคาร์ม็อบจากแยกอโศกไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงเย็น (อ่านเหตุการณ์ชุมนุมต่อที่นี่

หลังจากนั้นมวลชนอิสระมีการนัดหมายชุมนุมต่อในช่วงเย็น ทั้งบริเวณแยกดินแดงและแยกนางเลิ้ง มีรายงานว่าเกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ และมีรายงานว่าซุ้มเฉลิมพระเกียรติและป้อมควบคุมสัญญาณไฟจราจรแยกนางเลิ้งถูกเผา (อ่านเหตุการณ์ชุมนุมต่อที่นี่)

.

ในคดีนี้มีผู้กล่าวหา 4 คน ได้แก่ พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รองผู้กำกับสืบสวน สน.นางเลิ้ง, ชานนท์ นันทวงศ์ นายช่างศิลป์ สำนักโยธา กรุงเทพมหานคร, ร.ต.อ.อัครพล ไชยขันท์ รองสารวัตรจราจร สน.นางเลิ้ง และระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ประชาชนและสมาชิกกลุ่ม ศปปส.

ในวันที่ 8 ต.ค. 2564 “มิกกี้บัง” ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.นางเลิ้ง ตามหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวมิกกี้บังไว้ในระหว่างสอบสวน

ถัดมาเกือบ 1 ปี วันที่ 7 ก.ค. 2565 “แซม” พรชัย ยวนยี ถูกจับกุมตามหมายจับ ลงวันที่ 16 มี.ค. 2565 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ซึ่งหลังจากถูกจับ แซมไม่ได้รับการประกันตัวจึงส่งผลให้เขาต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ​ ตั้งแต่นั้น 

ต่อมาในวันที่ 8 ส.ค. 2565 “แม็ก” สินบุรี แสนกล้า ได้ไปมอบตัวหลังทราบว่ามีหมายจับ ลงวันที่ 16 มี.ค. 2565 ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเขาก็ไม่ได้รับการประกันตัว จึงทำให้เขาต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เช่นเดียวกันกับแซม

จากนั้นพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องพรชัยและสินบุรีต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 ระหว่างที่ทั้งสองคนยังถูกคุมขังในเรือนจำและไม่ได้รับสิทธิประกันตัวเรื่อยมา ถัดมาพนักงานอัยการก็ยื่นฟ้องมิกกี้บังต่อศาลอาญาเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ภายหลังศาลรับฟ้องก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้มิกกี้บังถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เช่นเดียวกันกับทั้งสองคน

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ศาลอาญามีคำสั่งให้ประกันตัวพรชัย, สินบุรี และมิกกี้บัง หลังจากทนายความยื่นขอประกันตัวไปเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 ด้วยวงเงินประกันคนละ 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข 5 ประการ ได้แก่ (1) ติด EM (2) ห้ามออกนอกเคหสถานหลังเวลา 20.00 น. ไปจนถึง 06.00 น. ของวันใหม่ (3) ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหา (4) ห้ามใช้ความรุนแรงต่อเจ้าพนักงานของรัฐและทรัพย์สินของทางราชการ และ (5) ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล 

การที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งสามคนในวันดังกล่าว ทำให้พวกเขาได้รับอิสรภาพหลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลานาน โดยพรชัยถูกคุมขังเป็นเวลา 139 วัน (หรือ 4 เดือนเศษ) และสินบุรีถูกคุมขังเป็นเวลา 107 วัน (หรือ 3 เดือนเศษ) โดยพรชัยและสินบุรีถูกคุมขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถูกฟ้อง ส่วนมิกกี้บังถูกคุมขังเป็นเวลา 50 วัน (หรือเกือบ 2 เดือน) หลังจากถูกฟ้อง

หลังจากทั้งสามคนถูกฟ้องและได้รับการประกันตัวแล้ว “คาริม” จิตริน พลาก้านตง ได้เดินทางไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 หลังทราบว่ามีหมายจับ ลงวันที่ 16 มี.ค. 2565 เช่นเดียวกับแซมและแม็ก ซึ่งคาริมถูกแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน กรณีของคาริมนั้นถูกพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลไปเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2566 และศาลให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี

สำหรับคำฟ้องในทั้งสามคดี พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 บรรยายฟ้องเช่นเดียวกัน มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันดังนี้

1. จำเลยกับพวกได้เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ส’ ซึ่งเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่โรค ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อันเป็นการรวมกลุ่มกันมากกว่า 25 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต

2. พรชัย, มิกกี้บัง, จิตริน ได้ร่วมกันขว้างปาระเบิดเพลิงขึ้นไปบนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และราดน้ำมัน จุดไฟเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ทำให้ซุ้มดังกล่าวบริเวณตรงกลางถูกไฟไหม้เป็นรอยดำ 2 แห่ง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,000 บาท โดยจำเลยมีเจตนากระทำการอันไม่สมควรและเป็นการล่วงละเมิด อันไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม แต่เป็นการแสดงออกถึงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และพระราชินี และมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์

3. พรชัย, สินบุรี, มิกกี้บัง, จิตริน กับพวกยังได้ร่วมกันวางเพลิงเผาตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร บริเวณแยกนางเลิ้ง ทำให้ตู้ควบคุมสัญญาณจราจรได้รับความเสียหาย และยังลุกลามไหม้เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.ต.ต.อัครพล ไชยขันธ์ จนได้รับความเสียหาย คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 15,000 บาท

.

ภาพรวมการสืบพยาน

ก่อนเริ่มพิจารณาคดี อัยการได้ขอให้ศาลรวมการพิจารณาคดีทั้งสามเข้าด้วยกัน ต่อมา ในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก พรชัย (จำเลยที่ 1) ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีในส่วนของพรชัย ก่อนจะสืบพยานโจทก์ทั้งสิ้น 4 นัด ในระหว่างวันที่ 19-21 มี.ค. และ 2 เม.ย. 2567

โจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 10 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี ผู้กล่าวหาที่ 1, ชานนท์ นันทวงศ์ ผู้กล่าวหาที่ 2, ร.ต.อ.อัครพล ไชยขันท์ ผู้กล่าวหาที่ 3, ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ผู้กล่าวหาที่ 4, คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112, พ.ต.ท.จักรพงษ์​ กิ่งแก้ว รองผู้กำกับสืบสวนสอบสวน กองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล 1, พ.ต.ท.สำเนียง โสธร พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี, พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย พนักงานสอบสวน, ส.ต.อ.เอกลักษณ์ มาลีหวล ผู้บังคับหมู่สืบสวนลงพื้นที่ และ ร.ต.ท.หญิง อัญญารัตน์ ไพศาลพิสุทธิสิน เจ้าหน้าที่ตรวจพิสูจน์สถานที่เกิดเหตุ และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงพยานโจทก์ 1 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม สารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง

ส่วนฝ่ายจำเลยไม่ติดใจสืบพยานจำเลย แต่ได้นำส่งแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาล ก่อนที่ศาลจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 30 พ.ค. 2567

.

ในข้อหามาตรา 112 – วางเพลิงเผาทรัพย์ฯ – ทำให้เสียทรัพย์

  • วันเกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยทั้งสามไม่ได้ไปร่วมชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกับกลุ่มทะลุแก๊สตามฟ้อง บุคคลที่ปรากฏในวัตถุพยานโจทก์ทั้งหมด ได้แก่ ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวตามรายงานการสืบสวน, ภาพถ่ายเปรียบเทียบการแต่งกายของผู้ต้องหา และบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิด ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้

ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

  • จำเลยไม่ใช่ผู้โพสต์ชักชวนไปชุมนุมในที่เกิดเหตุ พื้นที่บริเวณแยกนางเลิ้งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่แออัด อีกทั้งจำเลยทั้งสามคนก็ไม่ได้ไปร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ

.

บันทึกการสืบพยานโจทก์

พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวน สน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหาที่ 1 

พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 พยานไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีกับ “มิกกี้บัง” กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ และร่วมกันจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ซึ่งขณะที่ไปร้องทุกข์ยังไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด จึงยังไม่ได้ระบุตัว

สืบเนื่องจากวันที่ 19 ก.ย. 2564 มีกลุ่มผู้ชุมนุม “ทะลุแก๊ส” ได้โพสต์บนเพจทะลุแก๊สเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้ง มีข้อความว่า “คฝ.จัดม็อบแยกดินแดง เราไปจัดที่ทำเนียบดีไหม ถ้าดีก็ตาม” ผู้บังคับบัญชาจึงมอบหมายให้พยานควบคุมพื้นที่ในเขต สน.นางเลิ้ง ส่วนตำรวจนายอื่นให้ควบควบคุมดูแลการเคลื่อนไหวผู้ชุมนุม

เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มมวลชนเริ่มทยอยเข้าพื้นที่แยกนางเลิ้ง โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแนวกั้นบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ต่อมาเวลาประมาณ 17.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มขว้างปาสิ่งของ ยิงหนังสติ๊ก ยิงระเบิดเพลิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และยิงระเบิดเพลิงไปยังซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม จนเกิดเป็นเพลิงลุกไหม้ หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เผาตู้จราจรซึ่งตั้งอยู่ใกล้กันเกิดเพลิงลุกไหม้จนได้รับความเสียหาย

ต่อมา พ.ต.ท.จักรพงษ์ กิ่งแก้ว ได้สืบสวนหาตัวคนร้ายที่ร่วมก่อเหตุและทำรายงานการสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น โดยทราบตัวผู้กระทำผิดคือ “มิกกี้บัง” แต่พยานไม่ทราบว่าเป็นคนใด และต่อมาได้มีการสืบสวนหาตัวผู้ร่วมกระทำผิดเพิ่มเติมอีก 3 คน คือ พรชัย, สินบุรี และจิตริน

พยานจึงเดินทางไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีพรชัย, มิกกี้บัง และจิตริน ในข้อหามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ฯ อีกทั้งร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีสินบุรี ในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้น วันที่ 7 ก.ค. 2565 พยานกับพวกจับกุมพรชัยได้ตามหมายจับ นำส่งพนักงานสอบสวน

พ.ต.ท.จงศักดิ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไปร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.สำเนียง โสธร เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 โดยนำรายงานการสืบสวนไปให้พนักงานสอบสวนด้วย โดยมีผู้จัดทำและลงลายมือชื่อคือ พ.ต.ท.จักรพงษ์ ส่วนพยานไม่ใช่ผู้จัดทำเอกสารและไม่ได้ลงลายมือชื่อ แต่เมื่อทนายจำเลยให้ดูว่า รายงานการสืบสวนจัดทำเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2564 พ.ต.ท.จงศักดิ์ เบิกความใหม่ว่า ไม่ได้นำรายงานการสืบสวนไปมอบให้พนักงานสอบสวน

ในขณะที่พยานไปร้องทุกข์ยังไม่ทราบตัวผู้กระทำผิด และไม่มีภาพที่เห็นหน้าชัดเจน ต่อมาไม่ทราบว่าวันใด แต่น่าจะในเดือน ต.ค. 2564 พ.ต.ท.จักรพงษ์ได้แจ้งพยานด้วยวาจาถึงผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ พยานจึงไปให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวน โดยไม่ได้นำรายงานการสืบสวนไปมอบให้ เนื่องจาก พ.ต.ท.จักรพงษ์ จัดทำแล้วจะเสนอผู้บังคับบัญชาและผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง จากนั้นผู้กำกับฯ จะมอบเอกสารดังกล่าวให้พนักงานสอบสวน

เจ้าพนักงานตำรวจที่สืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและจัดทำรายงานการสืบสวนในคดีนี้นอกจาก พ.ต.ท.จักรพงษ์ ยังมีเจ้าหน้าที่คนอื่นของฝ่ายสืบสวน กองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 1 และพยานทราบตัวผู้ร่วมกระทำความผิดจากเจ้าพนักงานคนอื่นด้วยคือ ส.ต.อ.เอกลักษณ์ มาลีหวล และ พ.ต.ท.บุญโปรด แสงทับทิม

พยานลงลายมือชื่อในรายงานสืบสวนกรณีกลุ่มทะลุแก๊สในวันเกิดเหตุไว้ แต่ไม่ใช่ผู้จัดทำ ผู้ที่จัดทำคือ ส.ต.อ.เอกลักษณ์ ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะถูกต้องตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ พยานไม่ยืนยัน ทั้งนี้ กลุ่มทะลุแก๊สและกลุ่มทะลุฟ้าเป็นคนละกลุ่มกัน จำเลยทั้งสี่คนอยู่ในกลุ่มทะลุฟ้า และไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้โพสต์ข้อความชักชวนให้มาร่วมชุมนุมในคดีนี้ 

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ พยานไม่ได้อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ แต่ที่พยานร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสี่ เพราะได้รับข้อมูลตามรายงานสืบสวน ซึ่งพยานไม่ทราบว่าข้อมูลตามเอกสารดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

ที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และตามภาพถ่ายในรายงานการสืบสวน (เพิ่มเติม) ไม่สามารถมองเห็นชัดเจนว่าผู้ร่วมชุมนุมเป็นใครบ้าง เป็นจำเลยทั้งสี่คนในคดีนี้หรือไม่ 

ตามรายงานการสืบสวน เมื่อพยานดูภาพถ่ายที่ระบุว่าเป็นจิตรินก็ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด และไม่ทราบว่านาฬิกาที่บุคคลดังกล่าวสวมใส่เป็นยี่ห้อใด เข้าใจว่าหาซื้อได้ทั่วไป นอกจากนี้ ตามภาพถ่ายกลุ่มผู้ชุมนุม เห็นได้ว่ามีการปิดจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ และภาพที่ปรากฏในคดีนี้เป็นเพียงภาพที่มาจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไว้ในจุดเกิดเหตุ ไม่มีภาพถ่ายจากบุคคลอื่นหรือตำรวจสายสืบ

ในวันเกิดเหตุไม่สามารถจับตัวผู้ร่วมกระทำความผิดได้ และหลังจากจับกุมจำเลยทั้งสี่คนก็ไม่มีการยึดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ที่อ้างว่าจำเลยใช้ในวันเกิดเหตุ

พ.ต.ท.จงศักดิ์ ตอบอัยการถามติงว่า สาเหตุที่ไม่ได้จับกุมตัวจำเลยในวันเกิดเหตุ เนื่องจากหากเข้าไปจับกุมขณะเกิดเหตุ เกรงว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะได้รับอันตราย

พยานไม่ทราบว่า พ.ต.ท.จักรพงษ์ มีวิธีการตรวจพิสูจน์เพื่อค้นหาตัวผู้กระทำผิดอย่างไร  จะมีวิธีพิสูจน์ทราบผู้กระทำความผิดด้วยวิธีอื่นนอกจากการสวมใส่นาฬิกาหรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ

พยานทราบว่ากลุ่มทะลุแก๊สและกลุ่มทะลุฟ้ามีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่ไม่ทราบว่าสมาชิกทั้งสองกลุ่มจะเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกันหรือไม่ แต่ทั้งสองกลุ่มสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้

เหตุที่พยานมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสี่คน เนื่องจาก พ.ต.ท.จักรพงษ์ ได้ทำรายงานสืบสวนเสนอต่อผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง จากนั้นผู้กำกับฯ มอบหมายให้พยานไปร้องทุกข์

.

ชานนท์ นันทวงศ์ ขณะเกิดเหตุรับราชการที่สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ตำแหน่งนายช่างศิลป์ชำนาญงาน ผู้กล่าวหาที่ 2 

ชานนท์เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายจาก พินิจ ค่ายสงคราม ผู้อำนวยการสำนักงานออกแบบ สำนักการโยธา กรุงเทพฯ ให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ทำลายทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร คือซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์และราชินี

ในวันเกิดเหตุมีผู้มาชุมนุมที่บริเวณแยกนางเลิ้ง จนกระทั่งเวลา 18.30 น. พยานทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งติดตั้งไว้บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติบนสะพานลอยใกล้กับโรงเรียนราชวินิตมัธยม

เช้าวันรุ่งขึ้นพยานจึงไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบรอยดำ มีเขม่าเป็นรอยไหม้บริเวณด้านหลังพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งมีลักษณะเป็น 2 แผ่น ติดกัน มีรอยไหม้ดำ 2 จุด ไม่ต่อเนื่องกัน ค่อนมาตรงกลาง พยานจึงซ่อมแซม ความเสียหายมีมูลค่าประมาณ 1,000 บาท และเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 พยานได้มาร้องทุกข์และมอบภาพถ่ายให้พนักงานสอบสวน และพยานได้ทราบจากพนักงานสอบสวนว่าผู้ก่อเหตุคือ มิกกี้บังกับพวก

พยานเชื่อว่าสาเหตุที่พระบรมฉายาลักษณ์ไม่เกิดเพลิงลุกไหม้ เนื่องจากวันที่เกิดเหตุมีฝนตกหนัก ประกอบกับด้านหลังเป็นโครงเหล็ก

ชานนท์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันที่พยานไปร้องทุกข์ ได้นำภาพถ่ายขณะเกิดเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ได้มาจากสำนักข่าว พร้อมกับหนังสือของสำนักการโยธาไปมอบให้พนักงานสอบสวน ขณะนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

พยานไม่ได้รับมอบอำนาจจากพินิจ ค่ายสงคราม เพียงแต่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานและให้ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ต่อพนักงานสอบสวน และพยานไม่ทราบว่า พนักงานสอบสวนจะมีหมายเรียกพินิจ หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ไปสอบปากคำหรือไม่ 

พยานไปร้องทุกข์วันที่ 30 ก.ย. 2564 แต่บัญชีทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้ลงวันที่ 21 ก.ย. 2564 ซึ่งมีพยานลงลายมือชื่อด้วย โดยพยานไม่ได้สังเกตว่าเอกสารดังกล่าวลงวันที่เท่าใด 

ในการซ่อมแซมซุ้มเฉลิมพระเกียรติ มีการขัดสีเดิมออก จากนั้นจึงใช้สีพลาสติกรองพื้นและสีขาวทาทับอีกชั้นหนึ่ง บริเวณที่ซ่อมแซมเป็นด้านหลัง ส่วนพระบรมฉายาลักษณ์ด้านหน้าไม่ต้องซ่อมแซม เนื่องจากไม่ได้รับความเสียหาย

.

ร.ต.ท.อัครพล ไชยขันท์ ขณะเกิดเหตุเป็นรองสารวัตรจราจร สน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหาที่ 3 

ร.ต.ท.อัครพล เบิกความว่า เมื่อประมาณปลายปี 2564 พยานไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เนื่องจากเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นซึ่งอยู่ในป้อมจราจรแยกนางเลิ้งเสียหายจากเพลิงไหม้

พยานจำได้ว่า ปลายปี 2564 มีกลุ่มทะลุแก๊สมาชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้ง ในขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ในคดีนี้ พยานได้ถอนกำลังออกมาแล้วเมื่อเวลา 18.30 น. จึงไม่เห็นเหตุการณ์ หลังจากนั้นประมาณ 20 นาที พยานได้รับแข้งทางวิทยุสื่อสารว่า “ป้อมนางเลิ้งเรียบร้อยแล้ว” ขณะนั้นพยานเข้าใจว่าป้อมจราจรน่าจะถูกทุบทำลาย แต่เมื่อชะโงกไปมองจากแยกยมราชก็เห็นเปลวไฟบริเวณป้อมจราจรนางเลิ้ง

ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. พยานกับพนักงานสอบสวนและพวกได้เข้าไปตรวจที่เกิดเหตุ พบป้อมจราจรถูกทุบทำลายและถูกเพลิงไหม้ กระจกทุกบานแตก เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นซึ่งเป็นของส่วนตัวของพยานถูกเพลิงไหม้ และตรวจพบกองไฟในป้อมจราจรด้วย มีค่าเสียหายคือ ค่าเครื่องปรับอากาศราคา 12,000 บาท และตู้เย็นราคา 3,000 บาท รวมความเสียหายเป็นเงิน 15,000 บาท จึงไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าผู้ก่อเหตุเป็นใคร ต่อมาพนักงานสอบสวนแจ้งว่าจับกุมผู้กระทำความผิดได้แล้ว และสอบถามพยานเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เสียหาย

ร.ต.ท.อัครพล ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุมีข้อความว่า จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นจากพนักงานสอบสวนได้ความว่าในเดือน ส.ค. 2564 ป้อมจราจรที่เกิดเหตุเคยถูกกลุ่มคนร้ายทุบทำลายจนบานกระจกของประตูและหน้าต่างแตกเสียหายทั้งหมด ในวันเกิดเหตุยังไม่ได้ซ่อมแซม ใช้กระดาษและพลาสติกปิดไว้ก่อน 

ส่วนเครื่องปรับอากาศ พยานใช้งานมาประมาณ 5-6 ปี และตู้เย็นใช้งานมาประมาณ 8-9 ปี

.

ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ผู้กล่าวหาที่ 4 

ระพีพงษ์เบิกความว่า ก่อนวันเกิดเหตุในคดีนี้ พยานทราบว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุม “ทะลุแก๊ส” จะมาชุมนุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เนื่องจากเห็นการชักชวนให้เข้าร่วมชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กและสื่อออนไลน์ต่าง ๆ

ในวันเกิดเหตุ พยานไม่ได้ไปร่วมชุมนุมหรือสังเกตการณ์ในที่ชุมนุม แต่ดูจากการถ่ายทอดสดของสำนักข่าว The Reporters โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. จนเมื่อ 19.20 น. มีนักข่าววิ่งขึ้นไปบนสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม และรายงานข่าวว่ามีการเผาซุ้มเฉลิม และเห็นบุคคลไม่ทราบว่าเป็นหญิงหรือชาย เนื่องจากสวมหมวกนิรภัยแบบเต็มใบ สวมเสื้อยืดแขนสั้นไม่ทราบสี สวมกางเกงน่าจะเป็นกางเกงยีนส์ขายาวไม่ทราบสี สะพายกระเป๋าไม่ทราบสี ฉีดของเหลวเข้าไปบริเวณกองไฟหลังซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ทำให้เพลิงลุกท่วมขึ้น โดยพยานได้บันทึกภาพเหตุการณ์จากหน้าจอโทรศัพท์ไว้ 

พยานและบุคคลทั่วไปทราบดีว่า พระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์และราชินีเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวไทย การกระทำดังกล่าวพยานมีความเห็นว่า เป็นการล่วงละเมิดต่อทั้งสองพระองค์ตามมาตรา 112 ทั้งยังเป็นการทำลายทรัพย์สินของทางราชการและวางเพลิงเผาทรัพย์ 

ต่อมาในวันที่ 20 ก.ย. 2564 พยานเดินทางไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ โดยนำภาพที่ได้จากการบันทึกหน้าจอโทรศัพท์และ QR Code ซึ่งหากสแกนเข้าไปแล้วจะเป็นคลิปเหตุการณ์ของสำนักข่าว The Reporters ไปมอบให้กับพนักงานสอบสวน

ต่อมาในเดือน ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวนมีหมายเรียกให้พยานไปให้การเพิ่มเติม วันดังกล่าวพนักงานสอบสวนแจ้งพยานว่า จากการสืบสวนทราบว่ามีคนร้าย 4 คน ร่วมกันกระทำผิด และจากการสอบปากคำผู้ทำรายงานการสืบสวน คือ พ.ต.ท.จักรพงษ์ กิ่งแก้ว ทราบว่า จากการตรวจกล้องวงจรปิดและรายงานการสืบสวนของเจ้าหน้าที่สืบสวน สน.นางเลิ้ง พบชายที่เป็นคนขับรถจักรยานยนต์มีคนร้ายซ้อนท้ายได้ปาระเบิดปิงปองขึ้นไปบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยชายที่ปรากฏในภาพถ่ายคือ จิตริน 

กลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มอื่น ๆ ระบุว่าต่อต้านรัฐบาล แต่พยานเข้าใจว่าสาเหตุที่แท้จริงคือการต่อต้านสถาบันกษัตริย์

ระพีพงษ์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบชื่อพนักงานสอบสวนที่แจ้งให้พยานทราบว่าคนร้ายคือ จิตริน พนักงานสอบสวนคนดังกล่าวยังได้นำคำให้การของ พ.ต.ท.จักรพงษ์ มาให้พยานอ่านด้วย โดยพยานอ่านเฉพาะชื่อคนร้าย ไม่ได้อ่านในรายละเอียด และพยานไม่ได้ให้การไว้ว่า ได้อ่านคำให้การของ พ.ต.ท.จักรพงษ์

ทนายถามพยานว่า ข้อความที่ระบุว่าคนร้ายวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติคือจิตรินนั้น อยู่บริเวณหน้าซ้ายหรือหน้าขวา มีอักษรเข้มหรือจาง แต่พยานไม่ขอตอบ

ระพีพงษ์ตอบทนายจำเลยอีกว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้พยานชี้ภาพคนร้าย นอกจากนี้ภาพที่พยานบันทึกจากหน้าจอโทรศัพท์ไว้และมอบให้พนักงานสอบสวน พยานไม่ได้ระบุว่าบุคคลในภาพคือผู้ใด

ชายที่วางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ พยานไม่แน่ใจว่าสวมเสื้อกั๊กหรือไม่ แต่สวมเสื้อยืดสีขาว 

ที่พยานเบิกความว่า เชื่อว่าวัตถุประสงค์ในการชุมนุมครั้งนี้เพื่อล้มล้างสถาบันฯ นั้น พยานไม่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวน 

ระพีพงษ์รับว่า ก่อนหน้านี้พยานเคยจะทำร้ายกลุ่มที่ประท้วงบริเวณหน้าศาลอาญา เนื่องจากมีคนปีนพระบรมฉายาลักษณ์ และพยานเข้าใจว่าบุคคลดังกล่าวเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบัน แต่ก็ไม่ได้ทำร้าย นอกจากนี้ พยานเคยไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมหลายคดี และเคยไปเบิกความต่อศาลหลายคดี โดยพยานร้องทุกข์ในนามของศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมาก ทั่วประเทศ

.

พ.ต.ท.จักรพงษ์ กิ่งแก้ว ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้กำกับสืบสวนสอบสวน กองบังคับการสืบสวนนครบาล 1 

พ.ต.ท.จักรพงษ์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ได้เกิดเหตุกลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันก่อความไม่สงบโดยยิงหนังสติ๊ก จุดไฟเผาพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์และพระราชินี และป้อมจราจรบริเวณแยกนางเลิ้ง ผู้บังคับบัญชาจึงออกคําสั่งให้พยานเป็นผู้หาตัวผู้กระทําความผิด 

จากการสืบสวน โดยตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดบริเวณแยกนางเลิ้ง สามารถพิสูจน์ทราบตัวบุคคลผู้กระทําความผิดได้ 4 คน คือ

  • มิกกี้บัง (จำเลยที่ 3) เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์พาคนร้ายที่จุดระเบิดและปาขึ้นไปบนสะพานลอยหลบหนี และมีส่วนร่วมในการวางเพลิงป้อมไฟจราจร 
  • พรชัย (จําเลยที่ 1) เป็นผู้สั่งการกลุ่มคนร้ายให้วางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์และเผาป้อมจราจร 
  • จิตริน (จําเลยที่ 4) มีส่วนร่วมในการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ และมีส่วนรู้เห็นกับจําเลยที่ 1 ในการสั่งการให้กลุ่มคนร้ายเผาป้อมจราจร 
  • สินบุรี (จําเลยที่ 2) เป็นผู้จุดไฟเผาป้อมจราจร

และจากการตรวจสอบคลิปจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ พบชายคนร้ายจุดไฟและโยนขึ้นไปบนสะพานลอยด้านหลังซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยชายคนดังกล่าวสวมเสื้อสีขาว มีหมวกปิดบังใบหน้า สวมกางเกงขายาวสีเข้ม ไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด หลังเกิดเหตุพรชัยและจิตรินวิ่งไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของคนร้ายซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใคร โดยจิตรินนั่งตรงกลาง พรชัยซ้อนท้ายหลังสุด ไปรวมกลุ่มกับผู้ชุมนุมอื่นบริเวณแยกนางเลิ้ง ส่วนซุ้มเฉลิมพระเกียรติไม่ถูกเพลิงไหม้ เนื่องจากในวันดังกล่าวมีฝนตกหนัก

พยานยังตรวจสอบวีดีโอเหตุการณ์การจากสํานักข่าว The Reporters เห็นคนร้าย 2 คน สาดน้ํามันเข้าไปบริเวณกองเพลิง โดยไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด และปรากฏภาพชายซึ่งสวมหน้ากากอนามัยสีขาว สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นสีดํา คือจิตริน ยืนอยู่ด้วย แต่เห็นไม่ชัดเจนว่าสาดน้ํามันเข้าไปในกองเพลิงหรือไม่ ทั้งนี้ กล้องวงจรปิดบนสะพานลอยถูกทําลายทั้งหมด จึงได้ภาพมาจากสํานักข่าว The Reporters เท่านั้น 

กรณีเผาป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง พยานได้ตรวจสอบคลิปเหตุการณ์ชุมนุม ปรากฏภาพสินบุรียืนสะพายกระเป๋าสีดําใกล้ป้อมจราจร และยื่นส่งสิ่งของให้ชายซึ่งยืนอยู่บริเวณซ้ายมือ โดยมีมิกกี้บังสวมเสื้อสีขาวยืนอยู่ใกล้ ๆ จากนั้นสินบุรีจึงเริ่มจุดไฟบริเวณป้อมจราจร และเดินกลับไปที่รถจักรยานยนต์ โดยมีพรชัยมานั่งซ้อนท้าย แล้วขับรถมุ่งหน้าไปแยกยมราช ส่วนมิกกี้บังเดินไปคร่อมรถจักรยานยนต์ จากนั้นก็มีคนร้ายซึ่งปาระเบิดเพลิงขึ้นไปบนสะพานลอยมานั่งซ้อนท้าย ก่อนขับมุ่งหน้าแยกยมราช 

ในวิดีโอเหตุการณ์ชุมนุมปรากฏภาพจิตรินยืนอยู่ใกล้กับพรชัย เมื่อจิตรินวางเพลิงบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติแล้วและลงมาด้านล่าง จิตรินได้ถอดเสื้อและสวมเสื้อกลับด้าน ไปยืนรวมกลุ่มกับพรชัย และกลุ่มที่เผาป้อมจราจร โดยจิตรินสวมเสื้อสีเข้มและสวมหน้ากากอนามัยสีขาว โดยปรากฏภาพพรชัยและจิตรินยืนอยู่ด้วยกันตลอด และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นคนขับออกไปจากจุดเกิดเหตุ 

พยานพิสูจน์ทราบตัวผู้กระทำผิด โดยนําภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดมาเปรียบเทียบกับภาพในเฟซบุ๊กของจำเลย หรือภาพในการชุมนุมครั้งอื่น ๆ รวมถึงตรวจสอบรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะในวันก่อเหตุ ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงจำเลย จากนั้นพยานจึงทำรายงานการสืบสวนสรุปการกระทําความผิดของจำเลยทั้งสี่เสนอผู้บังคับบัญชาและส่งมอบให้พนักงานสอบสวน 

ในส่วนของพรชัยพบว่ามีลักษณะเป็นผู้นํากลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มผู้ก่อเหตุทุกคนจะเดินเข้ามาหา จึงน่าเชื่อว่าผู้สั่งการให้กระทําความผิดคือพรชัย

นอกจากพยานจะได้รับมอบหมายให้สืบสวนคดีนี้แล้ว ในคดีอื่นกรณีที่มีการชุมนุม พยานจะลงพื้นที่ในเขตรับผิดชอบของกองบังคับการตํารวจนครบาล 1 คือ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล แยกดินแดง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นต้น จําเลยทั้งสี่คนในคดีนี้เคยเข้าร่วมชุมนุมในคดีอื่นด้วย ซึ่งพยานเคยติดตามมาตลอด จึงสามารถจดจําได้ 

พ.ต.ท.จักรพงษ์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า หลักฐานที่พยานใช้ในการติดตามตัวคนร้ายในคดีนี้ คือกล้องวงจรปิดและคลิปวิดีโอซึ่งถ่ายไว้ในวันเกิดเหตุ โดยพยานไม่ได้เข้าไปบริเวณจุดชุมนุม

พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนไว้ว่า เคยติดตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ในการชุมนุมครั้งอื่น ๆ มาแล้ว แต่พยานไม่ได้มอบหลักฐานในการติดตาม รวมทั้งภาพจําเลยทั้งสี่ที่ร่วมชุมนุมครั้งอื่น ๆ ให้แก่พนักงานสอบสวน 

ส่วนภาพรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่บริเวณด้านข้างร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งพยานใช้เปรียบเทียบกับภาพรถจักรยานยนต์ในวันเกิดเหตุ แล้วระบุว่าเป็นของสินบุรีนั้น พยานถ่ายไว้เฉพาะด้านหลัง และไม่ได้ถ่ายภาพในขณะที่สินบุรีขับรถคันดังกล่าว รวมทั้งไม่ได้นำหลักฐานที่แสดงว่า วันที่ถ่ายภาพคือวันที่ 9 ต.ค. 2564 นั้น สินบุรีได้ไปร่วมชุมนุม

พยานเป็นผู้ตรวจดูกล้องวงจรปิดแต่เพียงผู้เดียว ส่วนการตรวจสอบภาพถ่ายของผู้ก่อเหตุก่อนและหลังเกิดเหตุและในการชุมนุมครั้งอื่น ๆ เพื่อนํามาเปรียบเทียบกับผู้กระทําความผิดนั้นมีทีมงานหลายคน ส่วนการจัดทํารายงานการสืบสวนเป็นการรวบรวมมาจากกล้องวงจรปิดและภาพจากสํานักข่าวต่าง ๆ 

สําหรับคลิปวิดีโอจากสํานักข่าว The Reporters และ Friends Talk จะไม่ระบุวันที่ เวลา และสถานที่ในการถ่ายคลิปวิดีโอไว้ การจะทราบว่าเป็นวันเวลาใด ต้องเปรียบเทียบกับกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ

ตามรายงานการสืบสวน ปรากฏเฉพาะภาพถ่ายที่มิกกี้บังเข้าร่วมการชุมนุมในคดีนี้ ไม่ได้ระบุพฤติการณ์ในการเข้าร่วมการชุมนุมในครั้งอื่นไว้ ซึ่งภาพชายที่ระบุว่าเป็นมิกกี้บัง ก็เห็นเพียงด้านข้างและด้านหลัง และไม่ใช่ภาพขณะกระทําความผิด ส่วนภาพที่นํามาเปรียบเทียบเป็นภาพจากเฟซบุ๊กจุดที่นํามาเชื่อมโยงกันคือ นาฬิกาสายเหล็ก ซึ่งพยานรับว่า เป็นที่นิยมของบุคคลทั่วไป และรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นพีซีเอ็กซ์ ก็เป็นรถจักรยานยนต์ที่ใช้กันโดยทั่วไป อีกทั้งตามภาพในรายงานการสืบสวนก็ไม่สามารถระบุยี่ห้อ สี และรุ่นของรถได้ 

พยานทราบว่าแกนนํากลุ่มทะลุแก๊สคือใคร ซึ่งพยานเคยพูดคุยและติดตามมาตลอด สําหรับเหตุการณ์ในคดีนี้ พยานไม่เคยสอบถามจากแกนนำกลุ่มทะลุแก๊สว่า บุคคลตามภาพถ่ายหรือคลิปวิดีโอเป็นผู้ใด 

พยานทราบว่า สํานักข่าว The Reporters มีฐปณีย์ เอียดศรีไชย ดูแลและเป็นนักข่าวภาคสนามด้วย แต่ไม่เคยสอบถามฐปณีย์ว่า บุคคลที่ก่อเหตุที่ปรากฏในคลิปวิดีโอเป็นผู้ใด และไม่เคยสอบถามจากตํารวจสายสืบที่ไปแฝงตัวในการชุมนุม อีกทั้งไม่เคยให้ญาติหรือผู้ที่มีความสนิทสนมกับจําเลยทั้งสี่คนชี้ภาพที่ปรากฏตามคลิปวิดีโอและภาพถ่ายในคดีนี้ 

เหตุที่พยานไม่สามารถตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งติดตั้งไว้บริเวณถนนเพื่อให้เห็นเส้นทางการเดินทางมาและกลับหลังจากการชุมนุม เนื่องจากกล้องวงจรปิดบริเวณนั้นถูกทําลายหรือผลักกล้องให้ขึ้นไปด้านบน แต่กล้องวงจรปิดที่ปรากฏในคดีนี้ เป็นกล้องที่ติดตั้งไว้สูง จึงไม่ถูกทําลาย แต่พยานไม่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนเรื่องกล้องวงจรปิดถูกทําลาย นอกจากนี้พยานไม่ได้ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดจากบ้านพักของจําเลยทั้งสี่ด้วย 

พยานไม่แน่ใจว่ากล้องวงจรปิดบริเวณแยกยมราชจะติดตั้งไว้จุดใด แต่บริเวณถนนราชดําเนินนอก ส่วนใหญ่จะติดตั้งไว้ริมถนนรวมกับเสาไฟฟ้า พยานไม่เคยทําหนังสือสอบถามไปยังกรุงเทพมหานครว่า บริเวณใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุมีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่บริเวณใด และกล้องเสียหรือไม่

ช่วงเวลากลางวันของวันเกิดเหตุไม่ปรากฏภาพของจําเลยทั้งสี่ในคาร์ม็อบ แต่มีภาพปรากฏที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยสินบุรีปีนขึ้นไปบนอนุสาวรีย์และนําถุงผ้าสีดําไปคลุมไว้ 

พยานไม่ได้ตรวจสอบจากสัญญาณโทรศัพท์ว่าจําเลยทั้งสี่อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่ปรากฏรถที่มีชื่อจิตรินครอบครอง 

พยานรับว่า หน้ากากอนามัยสีขาวสามารถหาซื้อได้ทั่วไป และบุคคลทั่วไปก็มักจะใช้ ในที่เกิดเหตุไม่พบเสื้อผ้า นาฬิกา รองเท้าของผู้ก่อเหตุตกอยู่ ในบริเวณราวสะพานลอยและป้อมจราจรที่ถูกเผาไม่ได้มีการตรวจสอบพบลายนิ้วมือหรือ DNA ของผู้ก่อเหตุ และพยานไม่ได้ตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือที่แฮนด์รถจักรยานยนต์ที่จําเลยใช้ในวันเกิดเหตุ 

คลิปวิดีโอเหตุการณ์ชุมนุมที่จําเลยทั้งสี่ยืนรวมกลุ่มกัน เป็นภาพที่มีความละเอียดชัดเจนที่สุดที่พอจะมองเห็นได้ว่ามีการสั่งการกัน แต่ไม่มีเสียงและไม่มีพยานอื่นมาให้การว่ามีการพูดคุยกันอย่างไร 

กรณีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรอบที่ 2 ซึ่งมีผู้ก่อเหตุขึ้นไปบริเวณสะพานลอยและจิตรินยืนอยู่ด้วย พยานไม่ได้สอบถามนักข่าวที่ถ่ายวิดีโอและภาพนิ่งว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร  และไม่ได้สอบถามไปยังสำนักข่าว The Reporters ว่า นักข่าวคนใดเป็นคนถ่ายเหตุการณ์ นอกจากนี้ การถ่ายวิดีโอในเวลากลางคืนอาจไม่มีความละเอียดเพียงพอ แต่หากเป็นภาพนิ่งสามารถซูมระยะใกล้และไกลได้จะทําให้ได้ภาพที่ชัดเจนกว่า 

ภาพที่พยานมีความเห็นว่าเป็นจิตริน ซึ่งยืนอยู่ด้านหลังชายคนที่ใช้น้ํามันสาดเข้าไปในกองเพลิงบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรตินั้น เป็นภาพที่ความละเอียดชัดเจนที่สุดแล้วเท่าที่พยานจะหาได้ ส่วนคลิปวิดีโอขณะจิตรินจะขึ้นไปบนสะพานลอย มีลักษณะเป็นภาพเงา ๆ ไม่ชัดเจน ส่วนภาพจิตรินในการชุมนุมครั้งอื่น ๆ พยานไม่ได้อ้างส่งในคดีนี้ 

คลิปเหตุการณ์ที่พยานเบิกความว่า พรชัยสั่งการให้จําเลยคนอื่น ๆ เผาป้อมจราจรนั้นไม่มีเสียงพูด และไม่มีพยานบุคคลที่อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวมาให้การ รวมทั้งไม่สามารถอ่านปากของผู้พูดได้ พยานได้ดูภาพจากคลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบริเวณแยกนางเลิ้งหลังจากเกิดเหตุคดีนี้ประมาณ 1 วัน 

พยานไม่ได้สอบถามข้อเท็จจริงจาก พ.ต.ท.จงลักษณ์, พ.ต.ท.บุญโปรด, พ.ต.ท.สําเนียง, พ.ต.ท.อธิชย์, ส.ต.อ.เอกลักษณ์ และ ร.ต.ท.หญิง อัญญารัตน์

ที่เกิดเหตุในคดีนี้เป็นที่โล่งแจ้ง แยกนางเลิ้งอากาศถ่ายเทสะดวก ส่วนบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐมีตึกและอาคารด้านข้าง ทําให้อากาศไม่ค่อยถ่ายเท แต่ผู้เข้าร่วมชุมนุมยังสามารถเดินสัญจรไปมาได้ ไม่แออัด และไม่มีข้อมูลว่าจําเลยทั้งสี่เป็นผู้ประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม

.

ส.ต.อ.เอกลักษณ์ มาลีหวล  ขณะเกิดเหตุเป็นผู้บังคับหมู่สืบสวน สน.นางเลิ้ง  

ส.ต.อ.เอกลักษณ์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ขณะนั้นพยานเข้าเวรอยู่ที่ สน.นางเลิ้ง และมีกลุ่ม “ทะลุแก๊ส” มาชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้ง ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานแฝงตัวเข้าไปรวมกลุ่มอยู่กับผู้ชุมนุมเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริง วันดังกล่าวพยานอยู่บริเวณแยกนางเลิ้ง แต่ไม่ได้เข้าไปด้านใน 

ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตํารวจควบคุมฝูงชนได้ตั้งแถวอยู่บริเวณแยกพาณิชยการพระนคร ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล ผู้เข้าร่วมการชุมนุมบางคนส่วนหน้ากากอนามัย บางคนไม่สวม ไม่มีการตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ และไม่มีแอลกอฮอล์ล้างมือ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีการแพร่ระบาดโควิด-19 และรัฐบาลประกาศให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยและต้องมีจุดคัดกรอง ผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 100-200 คน ทําให้มีความแออัด 

จุดที่พยานสังเกตการณ์อยู่ห่างจากกลุ่มผู้ก่อเหตุประมาณ 50 เมตร มีการปาประทัดเสียงดัง และเห็นว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ใช้ขวดปาเข้าไปในป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง และเหตุเกิดเพลิงไหม้ จากนั้นมวลชนจึงแยกย้ายกัน หลังจากเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตํารวจพิสูจน์หลักฐานเข้ามาตรวจสอบบริเวณป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง พยานไม่ได้ร่วมด้วย แต่ยังคงยืนสังเกตการณ์อยู่ที่เดิม จนกระทั่งเวลาเที่ยงคืนพยานจึงเข้าไปบริเวณป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง 

หลังจากเกิดเหตุ พยานได้ทํารายงานการสืบสวนซึ่งเป็นการลําดับเหตุการณ์ในการก่อเหตุของคนร้าย พร้อมแนบภาพถ่ายประกอบที่ได้มาจากสายลับ 

ส.ต.อ.เอกลักษณ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 18.30 น. พยานเห็นโพสต์จากเพจกลุ่มทะลุแก๊สชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งพยานได้ข้อมูลมาจากสายลับ 

รายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำในวันเกิดเหตุ เป็นรายงานการสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุแก๊ส ตามรายงานพยานระบุว่า ‘ไม่มีผู้สนับสนุนกิจกรรม’ คำว่า ผู้สนับสนุน หมายถึง ผู้สนับสนุนยานพาหนะและสิ่งของให้ผู้ชุมนุม รวมทั้งระบุว่า กลุ่มที่ก่อเหตุเผาป้อมจราจรและเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติคือ กลุ่มทะลุแก๊ส

พยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์เผาซุ้มฯ ด้วยตนเอง แต่ทราบจากสายลับ ส่วนเหตุการณ์เผาป้อมจราจรแยกนางเลิ้งนั้น พยานเห็นอยู่ห่าง ๆ จำผู้ก่อเหตุไม่ได้ เนื่องจากมีผู้คนจำนวนมาก

ตามรายงานการสืบสวนพยานระบุว่า มีผู้ร่วมชุมนุมจำนวน 100 คน แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าไม่มีจุดตรวจโควิด และไม่ได้ระบุจำนวนคนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัย นอกจากนี้ จากภาพเหตุการณ์ชุมนุมที่ทนายจำเลยให้ดู พยานเห็นว่า ไม่แออัด 

ที่เกิดเหตุมีแสงไฟส่องสว่าง แต่ตามภาพเหตุการณ์ชุมนุม พยานไม่สามารถแยกออกได้ว่าเป็นบุคคลใด หรือรถยนต์ยี่ห้อใด พยานไม่ทราบว่าการชุมนุมในคดีนี้จะมีแกนนำหรือไม่ 

เกี่ยวกับสายลับที่เบิกความไปนั้นมีทั้งตำรวจและพลเรือน แต่งกายนอกเครื่องแบบ ไม่ได้ปิดบังใบหน้า เดินปะปนกับผู้ชุมนุม มีหน้าที่ถ่ายภาพและสังเกตการณ์ว่ามีผู้ใดกระทำผิดบ้างและให้ข้อมูลต่อตำรวจ พยานไม่ทราบว่า สายลับทั้งหมดมีจำนวนเท่าใด แต่ที่ขึ้นตรงต่อพยานมี 6 คน เป็นตำรวจทั้งหมด

ไม่มีสายลับคนใดมาแจ้งพยานว่า เห็นเหตุการณ์ขณะคนร้ายเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ปาระเบิดเพลิงขึ้นไปบนสะพานลอย และเผาป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง รวมทั้งไม่มีใครถ่ายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวและผู้ต้องสงสัยมาให้พยาน ตลอดจนไม่ได้แจ้งพยานว่า มีจำเลยทั้งสี่คนอยู่ในที่เกิดเหตุ พยานเองก็ไม่ได้สอบถามสายลับว่ามีผู้ใดเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่

พยานไม่เคยไปให้การกับพนักงานสอบสวน

.

ร.ต.อ.หญิง อัญญารัตน์ ไพศาลพิสุทธิสิน ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์สัญญาบัตร 1 กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ มีหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุตามที่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน

ร.ต.อ.หญิง อัญญารัตน์ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.​2564 เวลาประมาณ ​20.21 น. พยานได้รับแจ้งจาก ร.ต.อ.อุทัย วังทัน ว่ามีเหตุเพลิงไหม้ที่ป้อมจราจรแยกนางเลิ้งและสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม ซึ่งติดตั้งซุ้มเฉลิมพระเกียรติไว้

เวลา 20.55 น.​ พยานกับพวกได้เดินทางไปตรวจบริเวณป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง พบสภาพความเสียหายคือโครงสร้างภายนอกได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้เล็กน้อย ส่วนภายในเสียหายค่อนข้างมาก เช่น กรอบหน้าต่างและประตู ตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร แผงไฟจราจร เครื่องรับโทรศัพท์ ตู้เย็น ตู้กดน้ำดื่ม และเครื่องปรับอากาศ

จากการตรวจสอบพบว่า มีต้นเพลิง 5 จุด เชื้อเพลิงเป็นวัตถุที่สามารถติดไฟได้ง่าย โดยต้นเพลิงจะมาจากพลาสติกใส หมอน เก้าอี้พลาสติก เสื้อจราจร ซึ่งการเกิดเพลิงไหม้จะต้องมีเชื้อเพลิง แหล่งความร้อน และออกซิเจน พยานมีความเห็นว่า แหล่งความร้อนเกิดจากการกระทำของบุคคล จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่พบว่ามีกลิ่นน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งพยานได้จัดทำผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุไว้

จากนั้นพยานเดินทางไปตรวจบริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม พบรอยเผาไหม้เป็นสีดำบริเวณด้านหน้าและด้านหลังซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติจะมีทั้งสองฝั่งของสะพานลอย ด้านหน้าจะเป็นฝั่งที่ติดกับแยกนางเลิ้ง  โดยพบรอยไหม้ด้านหน้า 2 จุด ไม่ต่อเนื่องกัน พยานเห็นว่า จุดต้นเพลิงไม่ต่อเนื่องกัน ส่วนด้านหลังทั้งแผ่นบนและแผ่นล่างพบรอยถูกเพลิงไหม้ 1 จุด

จากการตรวจสอบพยานเชื่อว่า ต้นเพลิงเกิดจากไฟเบอร์กลาสหรือน้ำมันเชื้อเพลิง และสาเหตุเพลิงไหม้เกิดจากแหล่งความร้อน เกิดจากการกระทำของบุคคล เนื่องจากแต่ละจุดไม่มีแหล่งความร้อน พยานจัดทำบันทึกการแจ้งผลตรวจสถานที่เกิดเหตุ จากนั้นได้นำส่งให้แก่พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง

ร.ต.อ.หญิง อัญญารัตน์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไปตรวจที่เกิดเหตุทั้งสองจุดเพียงครั้งเดียวในวันเกิดเหตุ และไม่ทราบว่าก่อนเกิดเหตุมีสภาพอย่างไร แต่ทราบว่าก่อนหน้านี้ป้อมจราจรดังกล่าวเคยถูกทุบทำลายมาก่อนแล้ว ไม่ใช่เพลิงไหม้ ซึ่งพยานไม่ได้เป็นผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุเมื่อเดือน ส.ค. 2564

สำหรับรอยทุบทำลาย ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นรอยเก่าหรือใหม่ แต่การเกิดเพลิงไหม้นั้น พยานมั่นใจว่าเป็นการเกิดใหม่เนื่องจากยังมีเพลิงลุกไหม้อยู่ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเพลิงไหม้จะเกิดก่อนที่พยานเข้าไปตรวจสอบนานเท่าใด และพยานไม่ได้ระบุในรายงานว่า ขณะที่เข้าตรวจพิสูจน์ยังมีวัตถุบางอย่างที่ยังเกิดเพลิงไหม้อยู่ 

สำหรับวัตถุที่ถูกเพลิงไหม้ แม้บางส่วนจะไม่ถูกเพลิงไหม้ แต่เมื่อมีความร้อนที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถตรวจลายนิ้วมือหรือ DNA ได้ เนื่องจากความร้อนจะทำให้ลายนิ้วมือและ DNA เสื่อมสภาพ จึงไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ก่อเหตุ และพยานไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการตรวจ DNA อีกทั้งไม่ทราบว่าในคดีนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจ DNA หรือไม่

ผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่ระบุว่า บริเวณเพลิงไหม้ขึ้นก่อน ได้แก่ ภายในตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรจำนวน 5 แห่ง ไม่ต่อเนื่องกัน ตามปกติการเกิดเพลิงไหม้ตามธรรมชาติจะมีต้นเพลิงเพียง 1 แห่ง แล้วลามไปยังจุดอื่น กรณีนี้พยานจึงมีความเห็นว่าเป็นการวางเพลิงอย่างชัดเจน 

ตามรายงานการตรวจสถานที่เกิดเหตุที่ระบุว่า เชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดการลุกไหม้บริเวณจุดต้นเพลิง ได้แก่ วัตถุติดไฟได้อย่างง่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง นั้น เป็นกรณีที่พยานยกตัวอย่างเชื้อเพลิง เพราะไฟเบอร์กลาสไม่ใช่เชื้อเพลิงที่ดี เมื่อเกิดเพลิงไหม้เป็นรอยดำ เข้าใจว่ามีเชื้อเพลิงอย่างอื่นมาติดบริเวณไฟเบอร์กลาสและดับเอง ส่วนเพลิงไหม้ป้อมจราจร บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ เช่น หมอน เสื้อจราจร ซึ่งเป็นวัตถุไวไฟ เมื่อถูกกับวัตถุไวไฟก็สามารถลุกไหม้ได้ง่าย ประกอบกับไม่ได้กลิ่นน้ำมัน จึงไม่ได้ระบุมีเชื้อเพลิงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

ในที่เกิดเหตุพยานไม่พบวัตถุที่คนร้ายใช้เป็นเครื่องมือก่อเหตุคดีนี้ เช่น ไฟแช็ค คบเพลิง หรือแกลลอนน้ำมัน รวมทั้งไม่พบก้นบุหรี่ด้วย

.

คมสัน โพธิ์คง นักวิชาการอิสระเกี่ยวกับกฎหมาย 

คมสันเบิกความว่า ประกอบอาชีพด้านกฎหมายมาประมาณ 30 ปี จบการศึกษาชั้นปริญญาตรี และปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน และเป็นอาจารย์สอนกฎหมายอาญาที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชประมาณ 10 ปี

เกี่ยวกับคดีนี้ จำวันเดือนปีไม่ได้ มีพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง จำชื่อไม่ได้ โทรติดต่อ และเดินทางมาพบพยานด้วยตนเองที่อาคารพญาไทพลาซ่า เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยว่าเป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ เกี่ยวกับกรณีมีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงและราชินีที่แยกนางเลิ้ง พยานได้ให้ความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมและหลายบท กรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ และเป็นความผิดตามมาตรา 112

สาเหตุที่พยานมีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากหากกรณีปกติธรรมดาแล้ว บุคคลที่มีความโกรธแค้นกันมักจะใช้วิธีเผาพริกเผาเกลือ หรือเผาภาพ ซึ่งลักษณะการกระทำเช่นนี้เป็นการสาปแช่ง และพยานมีความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และพระราชินี

คมสันตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่เคยทราบมาก่อนว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง กรณีที่มีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ อีกทั้งพยานไม่เคยค้นคำพิพาษาศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา 

.

พ.ต.ท.สำเนียง โสธร ขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง 

พ.ต.ท.สำเนียง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ประมาณ 20.00 น. พยานได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนว่ากลุ่มทะลุแก๊ส จัดชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้ง มีการขว้างปาสิ่งของและเผาป้อมจราจรแยกนางเลิ้ง และเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ซึ่งติดตั้งอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม

เมื่อได้รับแจ้งเหตุดังกล่าว พยานไปตรวจที่เกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.นางเลิ้ง ได้แก่ ร.ต.อ.อุทัย วางพันธุ์ และพนักงานสอบสวนอีกคนหนึ่ง จำชื่อสกุลไม่ได้ เข้าร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบซุ้มเฉลิมพระเกียรติเสียหาย มีร่องรอยถูกเผา และป้อมจราจรแยกนางเลิ้งมีร่องรอยถูกเผาและทรัพย์สินภายในถูกทุบทำลายเสียหาย

พยานได้ทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ โดยระบุความเสียหายบริเวณสะพานลอยพบรอยไหม้ และป้อมจราจรเกิดเพลงไหม้และมีทรัพย์สินภายในนั้นเสียหาย พยานสันนิษฐานเบื้องต้นว่ากลุ่มผู้ต้องหาได้ใช้วัตถุไวไฟไปถูกกับซุ้มเฉลิมพระเกียรติและป้อมจราจรทำให้ไหม้และเสียหาย จากนั้นเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้แจ้งผลการตรวจพิสูจน์สถานที่เกิดเหตุ 

ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย ให้ดำเนินคดีต่อผู้ก่อเหตุ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด พ.ต.ท.อธิชย์ได้รับคดีไว้สอบสวน และมอบหมายให้พยานเป็นพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี

พยานเป็นผู้สอบปากคำผู้กล่าวหา คือ พ.ต.ท.จงศักดิ์ ซึ่งในครั้งแรกยังไม่สามารถระบุตัวผู้ก่อเหตุได้ ต่อมา พ.ต.ท.จงศักดิ์ ได้มาร้องทุกข์กล่าวหาเพิ่มเติมว่าสามารถตรวจพิสูจน์ผู้ก่อเหตุได้ โดยได้รับแจ้งจาก พ.ต.ท.จักรพงษ์ กิ่งแก้ว ว่ามีผู้ร่วมกระทำผิด 4 คน คือ มิกกี้บัง, พรชัย ยวนยี, จิตริน พลาก้านตง และ สินบุรี แสนกล้า จึงร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับทั้งสี่คน

นอกจากนั้นพยานได้สอบปากคำ ชานนท์ นันทวงศ์ เจ้าหน้าที่สังกัดสำนักงานโยธา กรุงเทพฯ ที่ได้มาให้การเกี่ยวกับรายละเอียดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับซุ้มเฉลิมพระเกียรติเป็นมูลค่า 1,000 บาท และมีการซ่อมแซมแล้ว 

สำหรับป้อมจราจร ได้มี ร.ต.อ.อัครพล ไชยขันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมาร้องทุกข์ว่า เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นที่อยู่ในป้อมจราจรเป็นของตน ได้รับความเสียหายรวมเป็นเงิน 15,000 บาท 

อีกทั้งยังมีระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุในคดีนี้ แต่ขณะนั้นยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด โดยระพีพงษ์ได้นำภาพถ่าย และลิงก์ภาพเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมามอบให้พยาน 

จากการรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่า พรชัย, มิกกี้บัง และจิตริน ทำความผิดตามมาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนสินบุรีมีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พ.ต.ท.สำเนียง ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 32) ข้อ 2 ระบุว่า ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค แต่ที่ชุมนุมในคดีนี้เป็นที่โล่ง ผู้ชุมนุมไม่แออัด  

ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ฉบับที่ 10 ระบุว่า ห้ามมิให้มีการชุมนุมเว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ พยานไม่ทราบว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายถึงผู้ใด  จึงไม่ได้สอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง

พยานจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ ไม่เคยได้รับการอบรมเกี่ยวกับโรคระบาด อีกทั้งพยานไม่ได้มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุขว่า การชุมนุมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือไม่ และหลังจากการชุมนุมในคดีนี้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นหรือไม่

รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง แล้ว เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 แต่แม้จะยกเลิกแล้ว พยานเห็นว่า จำเลยทั้งสี่คนกระทำความผิดก่อนที่จะมีประกาศยกเลิกดังกล่าว

พยานยืนยันว่า ในการดำเนินคดีนี้ ใช้รายงานการสืบสวนและวัตถุพยานที่อ้างส่งต่อศาลเป็นพยานหลักฐาน ส่วนฐปนีย์ เอียดศรีไชย หรือนักข่าวคนอื่นจะอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุหรือไม่ พยานไม่ทราบ และพยานไม่ได้ประสานไปยังสำนักข่าว The Reporters และไม่ได้สอบปากคำนักข่าวภาคสนามที่เห็นเหตุการณ์ในคดีนี้

พยานสอบปากคำระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ แต่ไม่ได้สอบรายละเอียดเกี่ยวกับทัศนคติทางการเมือง ส่วน QR Code ที่ระพีพงษ์มอบให้ พยานก็ไม่เคยเข้าไปดูว่ามีรายละเอียดอย่างไร

พยานไม่ได้สอบปากคำผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครว่า ได้อนุญาตให้จัดกิจกรรมชุมนุมแล้วหรือไม่ และไม่ได้สอบผู้ว่าฯ ว่า เป็นเจ้าของซุ้มเฉลิมพระเกียรติหรือไม่ และไม่ได้สอบว่า หากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานคร ผู้ใดจะเป็นผู้ที่มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษ ในการสอบปากคำชานนท์ นันทวงศ์ ก็ไม่ได้มีการมอบหลักฐานการจัดซื้อจัดจ้างการทำซุ้มเฉลิมพระเกียรติให้พยาน อีกทั้ง ร.ต.อ.อัครพล ไชยขันท์ ก็ไม่ได้นำหลักฐานการเป็นเจ้าของเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมามอบให้

พยานไม่ได้ตรวจกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุว่า มีความเสียหายหรือไม่ รวมทั้งกล้องวงจรปิดในที่อื่น ๆ ด้วย และไม่ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดตามเส้นทางที่กลุ่มคนร้ายหลบหนี รวมถึงบริเวณใกล้เคียงกับภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสี่คนว่า ช่วงเวลาหลังเกิดเหตุได้เดินทางกลับมาที่บ้านหรือไม่ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน แต่ก็ไม่ได้สอบเจ้าหน้าที่สืบสวนว่ามีกล้องวงจรปิดตัวใดเสียบ้าง

พยานไม่ได้ตรวจสอบสัญญาณโทรศัพท์ของจำเลยทั้งสี่ว่าในช่วงเวลาเกิดเหตุอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ และเมื่อจับกุมจำเลยทั้งสี่คนแล้ว ก็ไม่ได้ตรวจยึดโทรศัพท์มาตรวจสอบว่า มีการพูดคุยที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีนี้หรือไม่ อีกทั้งพยานไม่ได้ตรวจสอบลายนิ้วมือหรือ DNA ในที่เกิดเหตุว่า ตรงกับจำเลยทั้งสี่หรือไม่ และหลังจากเกิดเหตุ พยานไม่ได้ยึดเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย หรือรองเท้าของจำเลยทั้งสี่มาตรวจสอบ

.

พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย ขณะเกิดเหตุเป็นรอง ผกก. (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง 

พ.ต.ท.อธิชย์ เบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2564 พ.ต.ท.จงศักดิ์ ชาญศรี รอง ผกก. สืบสวน สน.นางเลิ้ง ได้มาแจ้งความร้องทุกข์กลุ่มคนที่วางเพลิงเผาทรัพย์ในหลวงและราชินี บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิต และวางเพลิงป้อมจราจรบริเวณสามแยกนางเลิ้งจนทำให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 พยานรับแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้ จากนั้นได้ส่งมอบให้กับ พ.ต.ท.สำเนียง โสธร พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี ซึ่งในวันดังกล่าว พ.ต.ท.จงศักดิ์ ผู้แจ้งความ ยังไม่ได้ระบุตัวผู้ก่อเหตุ

ต่อมาพยานได้ร่วมสอบสวนกับ พ.ต.ท.สำเนียง ในการสอบปากคำ พ.ต.ท.จักรพงษ์ กิ่งแก้ว ตำรวจกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ซึ่งมีหน้าที่สืบสวนหาตัวผู้ร้ายในคดีนี้ พ.ต.ท.จักรพงษ์ ได้มอบรายงานการสืบสวนและยืนยันตัวผู้ก่อเหตุ 4 คน ได้แก่ มิกกี้บัง, จิตริน พลาก้านตง, สินบุรี แสนกล้า และพรชัย ยวนยี

นอกจากนี้พยานได้สอบปากคำนักวิชาการคือ คมสัน โพธิ์คง โดยพยานติดต่อประสานให้คมสันมาให้ความเห็นว่าการที่จำเลยทั้งสี่คนเผารูป ร.10 และราชินี เป็นความผิดตามมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งคมสันให้การว่าลักษณะการเผาเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์และราชินีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนั้นยังมีความผิดตามมาตรา 217 และมาตรา 358

พ.ต.ท.อธิชย์ ตอบทนายจำเลยถามค้าน ว่า บุคคลที่วงไว้ในภาพที่ทนายจำเลยให้ดู น่าจะมีผิวดำแดง แต่ไม่รู้ว่าถ่ายจากสถานที่ใด เนื่องจากมัวและมองไม่ชัดเจน ส่วนภาพถ่ายรถจักรยานยนต์ พยานมองเห็นเป็นสีดำ แต่ไม่ทราบว่าเป็นรถของใคร และชายที่ยืนอยู่ใกล้รถคันดังกล่าวก็เห็นว่าสวมเสื้อสีขาว แต่ดูไม่ออกว่าเป็นผู้ใด 

นอกจากนี้ พยานดูภาพถ่ายแล้วไม่สามารถระบุได้ว่า จำเลยทั้งสี่คือบุคคลใด เนื่องจากไม่เคยเห็นจำเลยทั้ง 4 คนมาก่อน

ทนายถามตามรายงานการสืบสวนกลุ่มผู้ก่อเหตุร่วมกันชุมนุมก่อความไม่สงบ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 บริเวณแยกนางเลิ้ง และ จ.10 ไม่ปรากฏภาพของจำเลยทั้งสามคนร่วมชุมนุมในการชุมนุมครั้งอื่น ๆ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าขอยืนยันตามเอกสาร

พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า ไม่รู้จักคมสัน โพธิ์คง เป็นการส่วนตัว และไม่เคยอ่านผลงานทางวิชาการของคมสัน ส่วนที่ระบุว่าเป็นนักวิชาการ คมสันเป็นผู้บอกเอง แต่จำไม่ได้ว่าคมสันได้มอบผลงานทางวิชาการให้พนักงานสอบสวนด้วยหรือไม่ และพยานไม่ได้สอบปากคำคมสันถึงทัศนคติทางการเมือง และไม่ได้สอบค้นตรวจสอบชื่อของคมสันใน Google ว่ามีความเชี่ยวชาญในเรื่องใด และมีทัศนคติอย่างไร

พ.ต.ท.อธิชย์ ตอบอัยการโจทก์ถามติงว่า หน้าที่ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดคือตำรวจฝ่ายสืบสวน ซึ่งพยานไม่ทราบว่า พ.ต.ท.จักรพงษ์ จะมีวิธีการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดอย่างไร และพยานไม่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด 

เหตุพยานรู้จักคมสัน เพราะคณะทำงานสอบสวนแนะนำและมอบหมายให้ไปสอบปากคำคนนี้ 

.

หลังจากการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้น ทนายจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยานจำเลย แต่ขอยื่นแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาล และเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ทนายความได้ยื่นแถลงการณ์โดยมีใจความสำคัญว่า

วันที่ 19 ก.ย. 2564 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยทั้งสามไม่ได้ไปร่วมชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกับกลุ่มทะลุแก๊สตามฟ้อง บุคคลที่ปรากฏในวัตถุพยานโจทก์ทั้งหมด ได้แก่ ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวตามรายงานการสืบสวน, ภาพถ่ายเปรียบเทียบการแต่งกายของผู้ต้องหา และบันทึกภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิด ไม่ใช่จำเลยในคดีนี้

อีกทั้งจำเลยทั้งสามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุแก๊ส รวมถึงการโพสต์ข้อความเชิญชวนบนเพจเฟซบุ๊กทะลุแก๊สในวันเกิดเหตุ ทั้งนี้ รายงานการสืบสวนกรณีกลุ่มทะลุแก๊สทำกิจกรรมบริเวณแยกนางเลิ้ง ระบุว่าเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. กลุ่มทะลุแก๊สได้โพสต์ข้อความชักชวนผ่านเฟซบุ๊ก “คฝ.จัดม็อบแยกดินแดง เราไปจัดที่ ทำเนียบ ดีไหม ถ้าดีก็ตาม” และมีสมาชิกประมาณ 100 คน รวมตัวที่บริเวณแยกนางเลิ้ง ซึ่งจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความชักชวนดังกล่าว และไม่รู้จักหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกลุ่มทะลุแก๊สทั้งสิ้น

ดังนั้น จำเลยทั้งสามจึงไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ขอศาลพิพากษายกฟ้อง และปล่อยตัวจำเลยทั้งสามพ้นข้อหาไป

ฐานข้อมูลคดีนี้

คดี 112 “แซม-บัง-คาริม” กลุ่ม “ทะลุฟ้า” ถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องเหตุเผาซุ้มฯ ใน #ม็อบ19กันยา64

X