ศาลให้เปลี่ยนผู้กำกับดูแล-เงินประกัน ก่อนให้ประกัน “แซม – แม็ก – มิกกี้บัง” วงเงินคนละ 1 แสน พร้อมให้ติด EM และอีก 4 เงื่อนไข  

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 เวลา 10.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำสั่งประกันตัวของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 3 ราย ซึ่งถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ได้แก่ “แซม” พรชัย ยวนยี, “แม็ก” สินบุรี แสนกล้า และ “มิกกี้บัง” (สงวนชื่อสกุลจริง) ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวทุกราย ด้วยวงเงินประกันคนละ 100,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข 5 ประการ  โดยวันนี้ทั้งสามคนถูกนำตัวมาฟังคำสั่งที่ศาลด้วย

การนัดฟังคำสั่งประกันตัวในวันนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2565 ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังทั้ง 3 รายต่อศาลอาญา จากนั้นศาลได้นัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 10 พ.ย. 2565 และดำเนินการไต่สวนพยานที่เกี่ยวข้องรวม 6 ปากจนเสร็จสิ้น ได้แก่ ผู้ต้องขังทั้ง 3 ราย และผู้ที่เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยแต่ละราย พร้อมกับให้นายประกันแถลงต่อศาลด้วย ก่อนจะนัดฟังคำสั่งเป็นวันนี้ ซึ่งใช้เวลา 12 นับจากการไต่สวน

ย้อนอ่านบันทึกการไต่สวน: ไต่สวนขอประกัน 3 ทะลุฟ้า “แซม-แม็ก-มิกกี้บัง” เสร็จ ศาลนัดฟังคำสั่ง 22 พ.ย. นี้ หรืออีกเกือบ 2 สัปดาห์!  

สำหรับ “แซม” และ “มิกกี้บัง” ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี โดยถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม ระหว่างการชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 โดยถูกดำเนินคดีด้วยกันทั้งหมด 5 ข้อกล่าวหา มีข้อหาหลักตามมาตรา 112

ส่วน “แม็ก” ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเช่นกัน โดยถูกกล่าวหาว่าเผาป้อมจราจร ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 เช่นเดียวกัน โดยแม็กถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาเหมือนแซมและมิกกี้บัง ยกเว้นข้อหาตามมาตรา 112

ศาลสั่งไม่ให้ประกัน ชี้นายประกัน-เงินประกันไม่เกี่ยวข้องกับผู้กำกับดูแล ก่อนยื่นประกันอีกครั้งทันที

เวลา 10.00 น. ที่ ศาลอาญา ห้องส่วนงานปล่อยตัวชั่วคราว เจ้าหน้าที่ศาลได้อ่านคำสั่งให้ประกันของศาล ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสามราย โดยมีรายละเอียดคำสั่ง ดังนี้

“พิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้อง และจำเลยทั้งสามแล้ว จำเลยทั้งสามถูกควบคุมตัวมาเป็นระยะเวลานานพอสมควร ประกอบกับผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยทั้งสามรับรองว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลจำเลยทั้งสามอย่างใกล้ชิด กรณีมีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสาม ให้ตีราคาหลักประกันคนละ 100,000 บาท กำหนดเงื่อนไข ดังนี้ 

  1. ให้ใส่กำไล EM 
  2. ห้ามให้ออกนอกเคหสถานหลังเวลา 20.00 น. ไปจนถึง 06.00 น. ของวันใหม่ 
  3. ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหา
  4. ห้ามใช้ความรุนแรงต่อเจ้าพนักงานของรัฐและทรัพย์สินของทางราชการ
  5. ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ศาลระบุอีกว่า “เห็นสมควรกำหนดให้ผู้กำกับดูแลทั้งสามร่วมกันรับผิดชอบในกรณีที่จำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งกระทำผิดเงื่อนไข จะต้องถือว่าผู้กำกับดูแลของจำเลยคนดังกล่าวผิดสัญญาปล่อยชั่วคราว แต่ปรากฏว่าผู้ร้องขอปล่อยชั่วคราวไม่มีความเกี่ยวพันกับจำเลยทั้งสามแต่อย่างใด ผู้ร้องเพียงอ้างว่าเป็นคนรู้จัก ประกอบกับเงินที่ใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราวก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับผู้กำกับดูแล ในชั้นนี้จึงให้ยกคำร้อง

“หากผู้กำกับดูแลประสงค์ขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งสาม ให้ผู้กำกับดูแลทำหนังสือรับรองว่า หากจำเลยทั้งสามทำผิดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน ยินยอมให้ยึดหลักประกันได้ทันที และการนำหลักประกันมายื่นต่อศาลจะต้องเป็นหลักประกันของผู้กำกับดูแล เพื่อเป็นมาตรการที่บังคับผู้กำกับดูแลให้ควบคุมจำเลยทั้งสามอย่างใกล้ชิด”

หลังยื่นประกันอีกครั้ง ศาลให้ประกันคนละ 1 แสน ให้ติด EM – ห้ามออกเคหสถาน 20.00-06.00 น. และอีก 3 เงื่อนไข

หลังฟังคำสั่งเสร็จ ทนายความจึงได้ติดต่อผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยแต่ละรายเดินทางมาศาลเพื่อยื่นขอประกันตัวผู้ต้องขังทั้งสามอีกครั้งทันที ครั้งนี้ได้ให้ผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยแต่ละรายทำสัญญาประกันเป็นนายประกันของจำเลยรายนั้นด้วย และได้ใช้เงินส่วนตัวของผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลเองในการยื่นขอประกันตัว เป็นจำนวนเงินคนละ 100,000 บาท แทนการใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งผู้เสนอตัวเป็นกำกับดูแลของจำเลยแต่ละรายได้ทำหนังสือรับรองว่า หากจำเลยผิดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวให้ถือว่าผิดสัญญาประกัน ยินยอมให้ยึดหลักประกันได้ทันทีประกอบด้วย   

ต่อมา เวลา 16.00 น. ศาลอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสามและกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว 5 ประการตามข้างต้น ได้แก่ ให้ใส่กำไล EM, ห้ามให้ออกนอกเคหสถานหลังเวลา 20.00 น. ไปจนถึง 06.00 น. ของวันใหม่, ห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหา, ห้ามใช้ความรุนแรงต่อเจ้าพนักงานของรัฐและทรัพย์สินของทางราชการ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

หากผิดสัญญาให้ปรับ 100,000 บาท และให้ตั้งผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยแต่ละคนเป็นผู้กำกับดูแลของจำเลยคนดังกล่าว นอกจากนี้เห็นสมควรกำหนดให้ผู้กำกับดูแลทั้งสามร่วมกันรับผิดในกรณีที่จำเลยทั้งสามคนใดคนหนึ่งกระทำผิดเงื่อนไข จะต้องถือว่าผู้กำกับจำเลยดังกล่าวผิดสัญญาปล่อยชั่วคราว

หลังจากศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว เจ้าหน้าที่ศาลจึงได้นำตัวผู้ต้องขังทั้งสามรายทยอยไปติดกำไล EM ยังใต้ถุนศาลอาญา จากนั้นทั้งสามถูกนำตัวกลับเรือนจำเพื่อรอการปล่อยตัวเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป ภายในค่ำวันนี้

จากการที่ศาลมีคำสั่งให้ประกันในครั้งนี้ ทำให้ทั้งสามรายได้รับอิสรภาพหลังถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลานาน โดยแซมถูกคุมขังเป็นเวลา 139 วัน แม็กถูกคุมขังเป็นเวลา 107 วัน และมิกกี้บังถูกคุมขังเป็นเวลา 50 วัน นอกจากนี้ยังทำให้ตัวเลขของผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคงเหลือ 9 ราย ได้แก่ คงเพชร, คทาธร, พรพจน์, สมบัติ, จตุพล, ณัฐพล, พลพล, วัชรพล และทัตพงศ์ 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองตั้งแต่มีนาคม 2565

X