ฟ้องแล้ว! “แซม – แม็ก” นักกิจกรรมทะลุฟ้า อ้างไม่ได้ใช้สิทธิตามปกตินิยม ก่อนศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองคน

วันที่ 23 ก.ย. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ พนักงานอัยการ จากสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องคดีของ “แซม — พรชัย ยวนยี” และ “แม็ก — สินบุรี แสนกล้า” นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ต่อศาลอาญา จากกรณีถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติและป้อมจราจร ที่บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม ในระหว่างการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 

ก่อนหน้าที่จะถูกจับกุมในคดีนี้ แซมได้เดินทางไปศาลทหารเพื่อดำเนินการขอเพิกถอนหมายจับของศาลทหาร ในคดี 14 นักศึกษา NDM เมื่อปี 2558 ซึ่งเขาถูกจับกุมแล้วเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2558 โดยศาลทหารได้บอกให้แซมเดินทางไปยัง สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็น สน. เจ้าของคดี 

อย่างไรก็ตาม เมื่อแซมเดินทางไปถึง สน.สำราญราษฎร์ ตำรวจได้แจ้งว่าตนมีหมายจับค้างในคดี ม.112 ของ สน.นางเลิ้ง อยู่ด้วย และในวันเดียวกันนั้นเอง พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้นำตัวแซมไปขอฝากขังต่อศาลอาญา ก่อนที่ในช่วงเย็น ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา จนครบ 8 ผัด รวมระยะเวลา 84 วันตามที่กฎหมาย

ย้อนอ่านบันทึกการไต่สวนคัดค้านฝากขัง ครั้งที่ 8 >>> ศาลให้ฝากขัง “แซม ทะลุฟ้า”เป็นครั้งที่ 8 ชี้อัยการต้องรอคณะกรรมการของอัยการสูงสุดสั่งพิจารณาฟ้องคดีก่อน

ในส่วนของแม็ก เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565 ได้เข้ามอบตัวหลังทราบว่ามีหมายจับในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเหตุวันเดียวกันนี้ แต่ถูกกล่าวหาเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการเผาป้อมจราจร  จึงได้เข้ามอบตัวที่ สน.นางเลิ้ง ก่อนที่ตำรวจจะทำการขอฝากขังต่อศาลอาญา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมาจนปัจจุบัน

สำหรับคดีนี้ อัยการได้ฟ้องจำเลยทั้งสองคน ในขณะที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยฟ้องแซม ในฐานะจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนแม็ก ในฐานะจำเลยที่ 2 อัยการฟ้องในข้อหา ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ทั้งนี้ คดีนี้ยังมี “บัง” นักศึกษาสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าอีกรายหนึ่ง ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับพรชัย หลังเขาเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกเมื่อเดือนตุลาคม 2564 พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวไป โดยไม่เคยถูกยื่นขอฝากขัง ล่าสุดอัยการก็มีคำสั่งฟ้องเป็นคดีเดียวกับทั้งสองคน แต่บังติดภารกิจ จึงได้ขอเลื่อนการฟังคำสั่งฟ้องคดีออกไปก่อน

.

อัยการบรรยายฟ้อง “แซม ทะลุฟ้า” ในฐานะจำเลยที่ 1 ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ได้ใช้สิทธิตามปกตินิยม เป็นการละเมิดกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ใครจะละเมิดไม่ได้

ในคำฟ้องของพนักงานอัยการ ได้มีใจความสำคัญระบุไว้ว่า จำเลยทั้งสอง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ในวันที่ 19 ก.ย. 2564 ที่มีการชุมนุมของกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ส’ และจำเลยทั้งสองกับพวกได้เข้าร่วมกลุ่มชุมนุมดังกล่าว ในสถานที่ ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ในเขตพื้นที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับความมั่นคง อันเป็นการรวมกลุ่มกันมากกว่า 25 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต

ในขณะเกิดเหตุนี้ ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 ในมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ระบุว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องกษัตริย์ไม่ได้

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 พรชัยและพวก ได้ทำการหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และองค์ราชินี โดยการขว้างปาระเบิดเพลิง ราดน้ำมัน วางเพลิงเผาทรัพย์ด้วยการจุดไฟเผาขึ้นไปบนสะพานลอยบริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และราชินีสุทิดา หน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม จนทำให้ซุ้มดังกล่าวเกิดความเสียหาย คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,000 บาท

สำหรับซุ้มเฉลิมพระเกียรติดังกล่าว หน่วยงานของกรุงเทพฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนรัชกาลที่ 10 และราชินีสุทิดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย จึงถือว่าการกระทำของพรชัย ในฐานะจำเลยที่ 1 กับพวก มีเจตนาล่วงละเมิดด้วยการแสดงออกถึงอันตรายต่อร่างกายและทรัพย์สิน สิทธิและเสรีภาพของชื่อเสียง

นอกจากนี้อัยการยังได้มีความเห็น บรรยายฟ้องว่า ในการกระทำของจำเลยที่ 1 และพวกไม่ได้เป็นการใช้สิทธิตามปกตินิยม การกระทำของจำเลยเป็นการสร้างความเสื่อมเสียพระเกียรติและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ที่ซึ่งเป็นที่เคารพของปวงชนชาวไทย ซึ่งอยู่ในฐานะที่ใครจะละเมิดไม่ได้

คดีนี้ อัยการได้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 โดยให้นับโทษเรียงต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาอื่นอีกจำนวน 2 คดีด้วย

.

ในส่วนของ “แม็ก ทะลุฟ้า” อัยการฟ้องฐานวางเพลิงทำให้ห้องควบคุมไฟจราจร ตลอดจนทำให้เครื่องปรับอากาศกับตู้เย็นของตำรวจเสียหาย

ในคำบรรยายฟ้องของจำเลยที่ 2 มีใจความสำคัญระบุว่า “ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และพวกได้ร่วมกันวางเพลิงเผาตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร บริเวณแยกนางเลิ้ง ทำให้ไฟลุกลามไหม้ตู้ควบคุมสัญญาณจราจร และลุกลามไหม้เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ซึ่งมีกรรมสิทธิ์เป็นของ ร.ต.ต.อัครพล ไชยขันธ์ ที่ได้นำมาติดตั้งไว้ใช้งานในตู้ควบคุมสัญญาณไฟดังกล่าว คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 15,000 บาท”

ในช่วงบ่าย ทนายได้เข้ายื่นประกันตัวจำเลยทั้งสองรายทันที โดยวางหลักทรัพย์ในการประกันจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

ก่อนที่ในเวลา 17.04 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวแซม พรชัย โดยระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”

ส่วนแม็ก หรือจำเลยที่ 2 ศาลได้แจ้งว่าจะยังไม่มีคำสั่งประกันตัวออกมาภายในวันนี้ จึงขอให้รอฟังคำสั่งในเช้าวันถัดไปแทน อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งออกมาในวันที่ 26 ก.ย. 2565 เวลา 14.18 น. โดยระบุว่าไม่อนุญาตให้ประกันตัวเช่นเดียวกันแซม 

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 ก.ย. 2565 ทนายความได้เข้ายื่นขอประกันตัวแซม พรชัย เป็นครั้งที่ 9 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวหลังอัยการฟ้องคดี โดยระบุว่า “ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุจำเป็นต้องไต่สวนและไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง แจ้งคำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยทราบ และผู้ยื่นคำร้องทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

ขณะเดียวกัน ทั้งสองคนยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีเป็นวันที่ 31 ต.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

จำเลยทั้งสองจะยังคงถูกคุมขังต่อไปในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างพิจารณาคดี โดยแซมถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลา 82 วัน ส่วนแม็กถูกคุมขังมาเข้าวันที่ 50 แล้ว

.

X