ศาลให้ฝากขัง “แซม ทะลุฟ้า” ต่ออีก แต่ให้ตร.เร่งสอบพยานบุคคลที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ และไม่อนุญาตให้ประกันตัว ครั้งที่ 5

วันที่ 23 ส.ค. 2565 เวลา 14.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคัดค้านฝากขัง “แซม — พรชัย ยวนยี” นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ในคดีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 และถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอของพนักงานสอบสวนมาแล้ว 4 ครั้ง และในวันนี้ก็ได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนต่อเป็นครั้งที่ 5 แม้ทนายยื่นคัดค้าน และไม่อนุญาตให้ประกันเป็นครั้งที่ 5 เช่นเดียวกัน

ย้อนอ่านบันทึกไต่สวนคัดค้านฝากขัง ครั้งที่ 3 ศาลย้อนไต่สวนคัดค้านฝากขัง “แซม ทะลุฟ้า” แม้ถูกคุมขังไปแล้ว ก่อนไม่ให้ประกันตัว คดี 112 หลังยื่นครั้งที่ 4 

หลังจากทนายความได้ยื่นคัดค้านการฝากขังต่อครั้งที่ 5 ในช่วงเช้า และศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนการขอฝากขัง

เวลา 14.10 น. การไต่สวนคัดค้านฝากขังแซม เกิดขึ้นบริเวณห้องงานฝากขัง โดยศาลแจ้งว่าการไต่สวนในครั้งนี้ เนื่องจากทนายได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามา และเพื่อความสะดวก รวดเร็วจึงขอให้พิจารณาคดีในห้องงานฝากขัง และเมื่อพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจะให้ทนายเข้าพูดคุยกับจำเลยผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในภายหลัง

ศาลได้สรุปคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ซึ่งต้องการขอฝากขังผู้ต้องหาในครั้งที่ 5 อีก 12 วัน เนื่องจากยังมีพยานบุคคลที่ไม่ได้สอบปากคำจำนวน 1 ปาก อีกทั้งยังต้องทำสำนวนคดีเสนอต่อผู้บังคับบัญชา

ต่อมา ศาลได้อ่านสรุปคำร้องขอคัดค้านฝากขังที่ทนายความยื่น ระบุเหตุว่า พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะยื่นคำร้องขอฝากขังต่อผู้ต้องหารายนี้อีก เนื่องจากการคุมขังจำเลยไว้ เป็นการคุมขังเกินความจำเป็นของพฤติการณ์ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้การควบคุมผู้ต้องหาให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และผู้ต้องหารายนี้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง พนักงานสอบสวนสามารถติดตามตัวมาพบได้

อีกทั้ง ผู้ต้องหามีความยินยอมจะไปพบพนักงานสอบสวนตามที่เรียกโดยไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี ตลอดจนพนักงานสอบสวนยังสามารถสอบพยานเพิ่มเติม รวมถึงรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติต้องโทษของผู้ต้องหามาประกอบได้ โดยที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหาเอาไว้

พนักงานสอบสวนต้องการสอบพยานบุคคลทั่วไปซึ่งไม่ได้เห็นเหตุการณ์ เพื่อมาบรรยายความรู้สึกในเหตุการณ์ของคดีนี้ ก่อนศาลอนุญาตให้ฝากขังต่อในครั้งที่ 5 

ศาลได้ถามต่อพนักงานสอบสวนผู้ร้องว่า พยานบุคคลที่ยังไม่ได้สอบปากคำนั้น มีความเกี่ยวข้องในคดีนี้อย่างไร และสามารถนำตัวมาสอบสวนภายในอาทิตย์นี้ได้หรือไม่

ผู้ร้องได้ตอบว่า พยานบุคคลดังกล่าวเป็นพยานที่จะมาพูดถึงความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ในคดีนี้ ไม่ได้เป็นพยานผู้เห็นเหตุการณ์แต่อย่างใด และไม่สามารถยืนยันกับศาลได้ว่าจะสามารถนำตัวพยานบุคคลดังกล่าวมาสอบปากคำให้แล้วเสร็จภายในอาทิตย์นี้ได้หรือไม่ 

นอกจากนี้ ในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 5 ได้ระบุเหตุว่า พนักงานสอบสวนต้องใช้เวลาทำสำนวนคดีและเสนอต่อผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ได้ระบุระยะเวลาว่าจะสามารถดำเนินกระบวนการดังกล่าวแล้วเสร็จเมื่อใด

ศาลได้แจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ในคดีนี้เป็นคดีสำคัญ การขังผู้ต้องหาไว้นั้นเกินความจำเป็นแล้ว และขอให้ผู้ร้องระบุระยะเวลาในการทำสำนวนคดีให้แล้วเสร็จต่อศาลอย่างชัดเจนได้หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้ตอบศาลว่า ในส่วนของการสอบปากคำพยานบุคคลดังกล่าว พนักงานสอบสวนต้องใช้เวลา 2 วัน และในการนำเสนอสำนวนคดีต่อผู้บังคับบัญชาให้ทราบอีกเป็นจำนวน 2 วัน รวมเป็นระยะเวลา 4 วันในผัดนี้ และไม่สามารถที่จะดำเนินการกระบวนการทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในอาทิตย์นี้ได้

ศาลได้อนุญาตให้ทนายความถามค้าน ซึ่งทนายได้ถามว่า พยานบุคคลดังกล่าวเป็นพยานที่ผู้ร้องจะนำตัวมาสอบสวน เพื่อถามความรู้สึกต่อเหตุการณ์เท่านั้นใช่หรือไม่ โดยผู้ร้องได้ตอบว่าใช่ และอธิบายเพิ่มเติมว่าจะเป็นการถามความรู้สึกถึงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ถูกเผา

ทนายถามต่อผู้ร้องว่า ในการถามพยานเพื่ออธิบายความรู้สึก อันที่จริงแล้วสามารถเป็นใครก็ได้ และถามต่อผู้ร้องว่า ในการหาพยานปากนี้ พนักงานสอบสวนไปสืบเสาะมาได้อย่างไร  ผู้ร้องแถลงว่า พยานปากนี้เป็นบุคคลที่เคยเข้ามาติดต่อราชการกับ สน.นางเลิ้ง และมีที่พักอาศัยอยู่ในบริเวณที่เกิเหตุ

ทนายความได้ตั้งข้อสังเกตในการยื่นคำร้องขอฝากขังในครั้งที่ 5 ระบุประเด็นสำคัญเพียงว่าต้องการสอบพยานบุคคลทั่วไป เพื่อให้มาบรรยายความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับผู้ต้องหาในคดีนี้เลย ซึ่งไม่ควรนำมาเป็นเหตุผลในการขอฝากขังต่อแต่อย่างใด

เมื่อทนายถามต่อผู้ร้องว่า หากแซมไม่ได้ถูกคุมขังไว้ พนักงานสอบสวนก็สามารถสอบพยานบุคคลดังกล่าวได้ใช่หรือไม่ ผู้ร้องได้ตอบว่าใช่ และเมื่อทนายถามต่อว่า หากในวันนี้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ต้องหา ผู้ร้องก็ไม่คัดค้านการขอประกันใช่หรือไม่ ผู้ร้องก็ได้ยืนยันว่าจะไม่มีการทำเรื่องคัดค้านแต่อย่างใด

ต่อมาในเวลา 15.10 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังแซม พรชัย ต่อเป็นครั้งที่ 5 มีใจความสำคัญระบุว่า พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นที่จะต้องสืบพยานบุคคลทั่วไปดังกล่าว และต้องทำสำนวนเสนอต่อผู้บังคับบัญชา จึงเห็นชอบให้มีการฝากขังต่ออีก 12 วัน กำชับให้พนักงานสอบสวนเร่งทำสำนวนให้เสร็จโดยเร็ว

ทั้งนี้ เมื่ออ่านคำสั่งเสร็จแล้ว ศาลได้แจ้งผลการไต่สวนคัดค้านฝากขังในวันนี้ ต่อผู้ต้องหาผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในบริเวณห้องงานฝากขังของศาล

จากนั้น ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาทันที หลังศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง 

ต่อมาในเวลา 17.00 น. ศาลยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว แซม พรชัย ระบุเหตุ “พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา โดยระบุเหตผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”

ทำให้ในวันนี้ “แซม” พรชัย ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป รวมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2565 เป็นเวลา 48 วันแล้ว

X