ศาลย้อนไต่สวนคัดค้านฝากขัง “แซม ทะลุฟ้า” แม้ถูกคุมขังไปแล้ว ก่อนไม่ให้ประกันตัว คดี 112 หลังยื่นครั้งที่ 4

11 ส.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคัดค้านการฝากขัง  “แซม — พรชัย ยวนยี”  นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ในคดีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 และถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 ก่อนศาลเห็นว่าการฝากขังครั้งที่ผ่านมานั้นชอบแล้ว รวมทั้งยังไม่ให้ประกันตัวในการยื่นประกันครั้งที่ 4 ด้วย 

ย้อนอ่านข้อกล่าวหา >>> จับกุม “แซม” พรชัย นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ตามหมายจับค้างเก่า ม.112 กรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ 19 ก.ย. 64 ศาลไม่ให้ประกันตัวเพิ่มผู้ถูกคุมขังเป็น 23 คน 

น่าสังเกตว่าคำร้องคัดค้านการฝากขังของ แซม พรชัย นั้น ยื่นไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ก่อนหน้าการขอฝากขังครั้งที่ 3 ของพนักงานสอบสวน แต่ศาลไม่ได้นัดไต่สวนในวันที่พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังต่อแต่อย่างใด หากนัดไต่สวนมาเป็นวันที่ 11 ส.ค. 2565 ซึ่งในวันถัดไป (12 ส.ค. 2565) จะเป็นวันครบฝากขังครั้งที่ 3 แล้ว เท่ากับว่าพรชัยถูกคุมขังในผัดนี้ไปก่อนล่วงหน้า และพนักงานสอบสวนได้มายื่นขอฝากขังในครั้งที่ 4 ต่อไปแล้ว

เวลา 09.40 น. บรรยากาศก่อนเริ่มการพิจารณาคดี ทนายและครอบครัวของผู้ต้องหาเดินทางมาถึงห้อง หลังจากนั้นแซมจึงได้ถูกนำตัวเข้ามายังห้องพิจารณา พร้อมกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อีกจำนวน 3 นาย 

ต่อมา 10.05 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยสรุปคำร้องคัดค้านฝากขังที่ทนายความยื่นเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ระบุเหตุว่า พนักงานสอบสวนไม่มีเหตุผลและความจำเป็นที่จะยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหารายนี้อีก เนื่องจากการคุมขังแซมไว้ เป็นการขังที่เกินความจำเป็นของพฤติการณ์ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดให้การควบคุมผู้ต้องหาให้กระทำได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และผู้ต้องหารายนี้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง พนักงานสอบสวนสามารถติดตามตัวมาพบได้

อีกทั้ง ผู้ต้องหามีความยินยอมจะไปพบพนักงานสอบสวนตามที่เรียกโดยไม่มีเจตนาที่จะหลบหนี ตลอดจนพนักงานสอบสวนยังสามารถสอบพยานเพิ่มเติมในคดีนี้ รวมถึงรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือและประวัติต้องโทษของผู้ต้องหามาประกอบได้โดยที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหารายนี้เอาไว้

.

พนักงานสอบสวนยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการประกันตัว ก่อนศาลเข้าปรึกษากับรองอธิบดีฯ ระบุเป็นระเบียบของศาล

เวลา 10.10 น. พ.ต.ท.สำเนียง โสธร สารวัตรสอบสวน สน.นางเลิ้ง ได้ขึ้นเบิกความต่อศาลว่า พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นที่จะต้องสอบปากคำพยานอีกจำนวน 4 ปาก ในคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 ส่วนในคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 4 วันนี้ (11 ส.ค. 2565) ผู้ร้องก็ได้ยื่นต่อศาลเรียบร้อยแล้ว

เมื่อทนายถามว่า ตามที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือนั้น เป็นกระบวนการภายในของตำรวจฝ่ายเดียวใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ ทนายจึงถามต่อไปว่า การไม่คุมขังผู้ต้องหารายนี้ไว้ ก็ไม่ได้เป็นผลให้กระบวนการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ พนักงานสอบสวนได้ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าถึงแม้แซมจะได้รับการประกันตัว ก็ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับกระบวนการใดๆ ของตำรวจได้

ทนายความยังถามถึงพยานบุคคลที่พนักงานสอบสวนต้องการสอบปากคำเพิ่มเติมว่าเป็นใครบ้าง ศาลก็ได้ท้วงติงคำถามของทนายว่าไม่ควรถามเช่นนี้กับผู้ร้อง ศาลจึงถามแทนทนายว่า ในการสอบปากคำพยานบุคคลนั้น มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาในคดีนี้อย่างไร ผู้ร้องแถลงว่าเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไป 1 ปาก และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอีก 1 ปาก

ทนายถามจึงถามต่อว่า ในการสอบปากคำพยานดังกล่าว ก็สามารถทำได้ แม้ผู้ต้องหาในคดีนี้จะไม่ได้ถูกคุมขัง  พ.ต.ท.สำเนียง รับว่าใช่

ในคดีนี้ แซมได้เดินทางไปติดต่อราชการที่ สน.สำราญราษฎร์ ก่อนจะทราบว่าตนมีหมายจับจาก สน.นางเลิ้ง อยู่ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานกัน จนทำให้แซมถูกจับกุมในที่สุด ทนายจึงได้ถามว่าในกรณีนี้ที่ผู้ต้องหาเข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงาน ก็ไม่ได้ปรากฏพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และจนถึงการยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 4  ผู้ร้องก็ไม่ได้ขอคัดค้านการประกันตัวด้วยใช่หรือไม่ พนักงานสอบสวนตอบว่าใช่ 

ศาลบอกต่อจากทนายว่า ในการฝากขังและประกันตัวนั้นคนละส่วนกัน ขอให้แยกแยะด้วย ถึงแม้ว่าจะมีความเชื่อมโยงกัน ศาลไม่ได้ใช้ดุลยพินิจจากกฎหมายเพียงข้อเดียวในการพิจารณา ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้สิทธิและเสรีภาพต่อประชาชน แต่ก็มีหน้าที่พลเมืองกำหนดไว้ด้วย ตลอดจนได้บอกต่อทนายความและผู้ต้องหาว่า ศาลเคารพในการแสดงออกทางการเมืองตลอด

อย่างไรก็ตาม ศาลได้ยกตัวอย่างกรณีการไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวกับแซมว่า เนื่องจากในคดีอาญาหลายคดีที่ผ่านมา ผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี หรือเข้ายุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือกลับไปรวมกลุ่มชุมนุมอีก จึงเป็นเรื่องที่ควรระวังไว้ก่อน

อีกทั้งการทำงานของตำรวจก็มีความล่าช้าแบบนี้เพราะมีคดีจำนวนมาก ไม่ใช่คดีนี้เพียงคดีเดียว และในการขอฝากขังเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ มีตัวแปรและปัจจัยเยอะมากในกระบวนการนี้ เพื่อที่จะให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำพยานบุคคลอื่นเพิ่มเติมได้

ต่อมาเวลา 10.20 น. ศาลได้แจ้งว่าจะนำประเด็นการคัดค้านฝากขังในครั้งที่ 3 เข้าปรึกษากับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลก่อน ส่วนการฝากขังครั้งที่ 4 ศาลได้ถามความยืนยันต่อทนายว่าจะก็จะยื่นคำร้องคัดค้านใช่หรือไม่ ทนายก็ได้ตอบว่าใช่ และได้แถลงเพิ่มเติมในส่วนคดีอื่นของผู้ต้องหารายนี้ว่าได้รับประกันตัวแล้วในศาลอื่น และได้อ้างเหตุการขอประกันตัวแบบเดียวกันกับที่ยื่นต่อศาลในวันนี้ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งในห้องพิจารณาเลยได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ศาลได้ชี้แจงว่า การเข้าปรึกษาคดี เป็นระเบียบของศาลที่ต้องเข้าปรึกษากับรองอธิบดี และขอให้รอฟังคำสั่งต่อไป

ในเวลา 11.54 น. เป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ก่อนศาลจะกลับเข้ามาในห้องพิจารณาคดี อ่านคำสั่งระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าตามคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 3 มีระบุเหตุผลและความจำเป็นว่าต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวน 4 ปาก รอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และประวัติการต้องโทษของผู้ต้องหา ซึ่งนับว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องกระทำการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดีอาญา 

“ในคำร้องฝากขัง ครั้งที่ 3 จึงชอบด้วยการขอหมายขังระหว่างสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 และส่วนในเรื่องอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหา เมื่อศาลอนุญาตให้หมายขังตามคำร้องขอฝากขังแล้ว เป็นดุลยพินิจของศาลที่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา108/1 ซึ่งผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว หรือยื่นอุทธรณ์คำสั่งได้ตามกฎหมายต่อไป

“ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะสามารถดำเนินการสอบสวนต่อไป หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้วด้วยเหตุผลว่า การปล่อยชั่วคราวจะไม่เป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 (5) ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าว ยังกำหนดให้ศาลใช้ดุลยพินิจตามมาตรา 108/1 (1), (2),(3) และ (4) ได้อยู่

“จึงมีคำสั่งว่า คำร้องขอหมายขังของผู้ร้อง ตามคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 3 ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 กำชับให้พนักงานสอบสวนให้เสร็จโดยเร็ว”

ลงนามคำสั่งโดย นภาวรรณ ขุนอักษร

จากนั้น ทนายความยังได้ยื่นขอประกันตัวแซมในคดีนี้ เป็นครั้งที่ 4  ต่อมาในเวลา 17.08 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต ระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว ศาลเคยมีสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้วกรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

ทำให้ในวันนี้ “แซม” พรชัย ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป รวมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. 2565 เป็นเวลา 35 วันแล้ว

.

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยมแซม “เขาคงไม่อยากให้ผมไป อยากให้สู้กับเผด็จการต่อ”: บันทึกเยี่ยม “แซม ทะลุฟ้า” ผู้ถูกคุมขังคดีการเมืองครั้งที่ 2

X