ศาลให้ฝากขัง “แซม ทะลุฟ้า”เป็นครั้งที่ 8 ชี้อัยการต้องรอคณะกรรมการของอัยการสูงสุดสั่งพิจารณาฟ้องคดีก่อน

วันที่ 20 ก.ย. 2565 เวลา 14.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา นัดไต่สวนคัดค้านฝากขัง “แซม — พรชัย ยวนยี” นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิตมัธยม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 และถูกจับกุมตามหมายจับค้างเก่าเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 แต่ศาลเลื่อนอ่านคำสั่ง โดยศาลเคยอนุญาตให้ฝากขังแซมตามคำขอของพนักงานสอบสวนมาแล้ว 7 ครั้ง และในวันนี้ก็มีการยื่นคำร้องขอฝากขังเป็นครั้งที่ 8 โดยพนักงานอัยการ

เวลา 14.03 น. พนักงานอัยการเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 708 โดยในวันนี้ แซมได้ถูกเบิกตัวเข้าพิจารณาคดีผ่านการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก่อนที่ศาลจะขึ้นพิจารณาคดี ทนายความได้สอบถามถึงกระบวนการพิจารณาคดีของอัยการว่าจะมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ได้เมื่อไหร่ อัยการระบุว่าภายในวันที่ 23 ก.ย. 2565 ก็จะสามารถทำการสั่งฟ้องได้แล้ว 

ต่อมาเวลา 14.10 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยให้พนักงานอัยการผู้ร้องขึ้นเบิกความ ทราบชื่อ ร.ต.อ.ทองสุข ภิธรรม อายุ 65 ปี รับราชการอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด สำหรับคำร้องฝากขังครั้งที่ 8 ศาลได้แถลงต่อผู้ต้องหาและทนายความว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาในระหว่างวันที่ 20 – 28 ก.ย. 2565 เนื่องจากขณะนี้สำนวนคดีได้อยู่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว

ในขั้นตอนดังกล่าว อัยการผู้ร้องได้แถลงว่าการพิจารณาในคดีนี้เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด เนื่องจากเป็นคดีที่มีความสำคัญ โทษร้ายแรงและผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาคดีสั่งฟ้องอย่างถี่ถ้วน

ทั้งนี้ อัยการได้แถลงว่าหลังจากที่ได้รับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง มาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ก็ได้รีบส่งให้คณะกรรมการพิจารณาโดยทันที 

ทนายขึ้นสอบถามอัยการผู้ร้อง โดยถามว่าพยานหลักฐานในคดีนี้ที่ได้รับเป็นภาพถ่ายและเอกสาร ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ส่งมอบให้ทั้งหมดแล้วใช่หรือไม่ ผู้ร้องได้ตอบว่าสำนวนคดีนี้พนักงานสอบสวนได้ส่งบันทึกถ้อยคำพยาน และได้ส่งต่อให้คณะกรรมการแล้ว

ทนายความต่อว่า ในคณะกรรมการดังกล่าวเป็นกลุ่มข้าราชการระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดใช่หรือไม่ ซึ่งอัยการผู้ร้องได้ตอบว่า ใช่

ทั้งนี้ ทนายได้ตั้งคำถามต่ออัยการผู้ร้องว่าคณะทำงานชุดดังกล่าวได้เปิดเผยรายชื่อให้ทราบหรือไม่ ผู้ร้องได้ตอบว่าไม่รู้ และเมื่อทนายถามต่อว่า พยานก็ไม่ได้รู้ว่าเป็นใครบ้างที่ตัดสินใจพิจารณาคดีนี้ รู้เพียงแต่ว่าเป็นคณะกรรมการเท่านั้น พยานได้ตอบว่าใช่ ไม่ทราบ

เมื่อทนายถามว่าถ้าคณะทำงานดังกล่าวพิจารณาสำนวนคดีแล้วเสร็จ อัยการจะสามารถสั่งฟ้องได้ภายในหนึ่งวันหรือไม่ ผู้ร้องก็ได้ตอบว่าถ้าคณะทำงานมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว ก็จะสามารถทำได้ภายในหนึ่งวัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายถามต่ออัยการผู้ร้องว่า ในคดีนี้หากปล่อยผู้ต้องหาไปก็ไม่ได้มีเหตุให้การพิจารณาคดีของคณะกรรมการดังกล่าวติดขัด หรือในระหว่างที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่นี้ ก็ไม่ได้มีใครใช้อิทธิพลไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานในคดีใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องได้ตอบว่าใช่ แต่ก็เกรงว่าถ้าได้รับการปล่อยตัว ผู้ต้องหาจะหลบหนี

ศาลได้ถามต่อว่าในคดีนี้ อัยการจะสามารถสั่งฟ้องได้ในวันไหน ซึ่งพยานผู้ร้องได้มีท่าทีไม่แน่ใจ แต่ก็ตอบว่าภายในวันศุกร์นี้ (23 ก.ย. 2565) น่าจะได้ 

14.30 น. ศาลออกจากห้องพิจารณาคดี และขอให้รอฟังคำสั่งต่อไป

เวลา 14.45 น. ศาลกลับเข้าห้องพิจารณาคดี โดยมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังแซมต่อเป็นครั้งที่ 8 มีใจความสำคัญระบุว่า “กรณีมีเหตุจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหาไว้จนกว่ากระบวนการพิจารณาของผู้ร้องจะเสร็จสิ้นลง จึงอนุญาตให้ฝากขังต่อได้อีก 8 วัน ถึงวันที่ 28 ก.ย. 2565 ตามที่ผู้ร้องขอ แต่ให้อัยการแถลงผลการดำเนินกระบวนการพิจารณาของคณะทำงานคดีภายในวันที่ 23 ก.ย. 2565 ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป กำชับให้ผู้ร้องเร่งรัดให้การดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ไม่ตัดสิทธิของผู้ต้องหาในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว” 

ทั้งนี้ ในการฝากขังแซมต่ออีก 8 วันทำให้เขาถูกคุมขังจนครบ 8 ผัด รวมระยะเวลา 84 วันตามกฎหมายที่จะทำได้ และแซมยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป รวมวันนี้เป็นระยะเวลา 77 วันแล้ว

.

X