วันที่ 2 ก.ย. 2565 เวลา 10.30 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดไต่สวนคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 6 “แซม — พรชัย ยวนยี” นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุฟ้า ในคดีมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 และถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังตามคำขอของพนักงานสอบสวนมาแล้ว 5 ครั้ง ล่าสุดในครั้งนี้ศาลก็ได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนต่อเป็นครั้งที่ 6 และยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 6 เช่นเดิม
ย้อนอ่านบันทึกการไต่สวนคัดค้านฝากขัง ครั้งที่ 6 >>> ศาลให้ฝากขัง “แซม ทะลุฟ้า” ต่ออีก แต่ให้ตร.เร่งสอบพยานบุคคลที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ และไม่อนุญาตให้ประกันตัว ครั้งที่ 5
ทั้งนี้ ทนายความได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังแซม ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565 ก่อนที่เวลา 16.20 น. ศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนพนักงานสอบสวน ในวันที่ 2 ก.ย. โดยให้เบิกตัวผู้ต้องหาเข้าร่วมการไต่สวนผ่านการวีดิโอคอนเฟอเรนซ์มาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
.
ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ‘แซม’ ต่อเป็นผัดที่ 6 แม้ครั้งก่อนจะเคยกำชับระยะเวลาการทำสำนวนคดีของพนักงานสอบสวนแล้ว
เวลา 10.30 น. ก่อนเริ่มไต่สวน ทนายความเปิดเผยว่าในวันนี้ พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ที่เดินทางมาเบิกความ ไม่ใช่ พ.ต.ท. สำเนียง โสธร สารวัตรสอบสวนผู้ยื่นคำร้อง แต่เป็นพนักงานสอบสวนในคณะทำงานเท่านั้น
ศาลจึงถามพนักงานสอบสวนคนดังกล่าวว่าเหตุใด พ.ต.ท. สำเนียง ในฐานะผู้ร้องขอฝากขังถึงไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมการไต่สวนในวันนี้ได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ตอบว่า พ.ต.ท.สำเนียง ติดภาระกิจต้องเดินทางไปที่ศาลอื่น จึงมอบหมายให้ตนมาแทน
อย่างไรก็ตาม ศาลได้พิเคราะห์ถึงเหตุความจำเป็นของพนักงานสอบสวนผู้ร้อง โดยมีคำสั่งให้เลื่อนนัดไต่สวนคำร้องขอฝากขังในวันนี้ออกไปเป็นเวลา 14.00 น. และให้ พ.ต.ท. สำเนียง โสธร เดินทางมาเข้าร่วมการไต่สวนในครั้งนี้ด้วยตนเอง
เป็นเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงต่อมา ผู้ต้องหาถูกเบิกตัวเข้าร่วมการพิจารณาคดีผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ และศาลออกพิจารณาคดี โดยพนักงานสอบสวนผู้ร้องได้แถลงถึงเหตุผลในการขอฝากขังแซมเป็นครั้งที่ 6 ระบุว่า เนื่องจากการสอบสวนคดียังไม่เสร็จสิ้นและอยู่ในระหว่างการเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับชั้น
ต่อมา ทนายผู้ต้องหาถามค้าน โดยย้อนถามผู้ร้องถึงนัดไต่สวนฝากขัง ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 ว่าพนักงานสอบสวนได้รับปากกับศาลว่าจะดำเนินการสอบปากคำพยานบุคคลที่เหลืออยู่เพียง 1 ปาก ซึ่งขอใช้เวลา 2 วัน และดำเนินการเสนอสำนวนคดีต่อผู้บังคับบัญชาให้ทราบอีกเป็นจำนวน 2 วัน รวมเป็นระยะเวลา 4 วันในผัดดังกล่าว
ซึ่งในวันที่ 4 ก.ย. 2565 จะเป็นการครบฝากขังผู้ต้องหาในผัดที่ 5 แล้ว ครั้งก่อนผู้ร้องได้แจ้งต่อศาลชัดเจนว่าต้องเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาเพียง 2 ชั้นเท่านั้น เหตุใดผู้ร้องถึงได้ยื่นเรื่องการเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาเป็นเหตุในการขอฝากขังผู้ต้องหาต่ออีก และไม่สามารถดำเนินการตามที่เบิกความไว้ได้
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.สำเนียง ได้ชี้แจงต่อทนายว่าในการเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชามีทั้งหมด 3 ชั้น ซึ่งทำให้ใช้ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 5 วัน และยังไม่สามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นในผัดที่ผ่านมา
ทนายจึงถามต่อว่า ในคดีนี้ ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ตลอดจนมีครอบครัวและลูกที่ยังเล็กอยู่ ซึ่งไม่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีได้ ซึ่งผู้ร้องได้ตอบว่า ทราบตามที่แจ้งในประวัติ แต่ไม่ได้ทราบว่าแซมได้พักอาศัยอยู่ตามที่แจ้งจริงหรือไม่ และยังตอบทนายว่า ส่วนเรื่องที่เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีนั้น ตนเองก็ไม่รู้หรอกว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีจริงไหม
ทั้งนี้ ทนายความได้ถามพนักงานสอบสวนผู้ร้องอีกว่า ในขั้นตอนการดำเนินการส่งสำนวนคดีให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณานั้น เป็นการดำเนินการภายในขององค์กรตำรวจเอง ซึ่งหากศาลไม่ฝากขังต่อหรืออนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ต้องหาสามารถเข้าไปยุ่งเหยิงในกระบวนการดังกล่าวได้ใช่หรือไม่ ซึ่งผู้ร้องก็ได้ตอบว่าใช่
จากนั้นศาลได้ให้แซมที่เข้าร่วมการไต่สวนผ่านวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ได้เบิกความ ซึ่งแซมได้แถลงต่อศาลว่า
เมื่อผู้ต้องหาได้แถลงต่อศาลเสร็จสิ้นแล้ว ศาลได้อ่านรายงานกระบวนพิจารณา โดยมีคำสั่งระบุว่า เห็นว่าการเสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามลำดับเป็นชั้นสุดท้าย เป็นเหตุจำเป็น อนุญาตฝากขัง 10 วัน นับแต่วันที่ 5 ก.ย. 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งนี้ ไม่ได้ปรากฏว่าศาลได้บันทึกถ้อยคำในการแถลงของแซมลงไปในรายงานกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด
ต่อมาในเวลา 15.00 น. ทนายได้ยื่นประกันแซมเป็นครั้งที่ 6 ก่อนศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า พิเคราะห์แล้วศาลเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ยกคำร้อง
ทั้งนี้ ขณะให้นายประกันอ่านคำสั่งไม่ให้ประกัน เจ้าหน้าที่ศาลได้ใช้กระดาษปิดชื่อผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำสั่งดังกล่าว