ตรวจพยานหลักฐานคดี ม.112 เผาซุ้มฯ “แซม – แม็ก – มิกกี้บัง” ศาลนัดสืบพยานอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัว 10 พ.ย. 65

วันที่ 31 ต.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา มีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของ แซม — พรชัย ยวนยี, แม็ก — สินบุรี แสนกล้า และ มิกกี้บัง จากกลุ่มทะลุฟ้า หลังถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติและตู้ควบคุมสัญญาณจราจร ที่บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม ในระหว่างการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 โดยแซมและมิกกี้บัง ถูกฟ้องร่วมกันในข้อหาตามมาตรา 112 เป็นข้อหาหลัก ส่วนแม็ก อัยการโจทก์ได้ฟ้องในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเหตุวันเดียวกันนี้ 

เวลา 09.20 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 711 จำเลยทั้งสามคนถูกเบิกตัวมาร่วมการพิจารณาคดี โดยมีญาติและครอบครัว พร้อมทั้งประชาชนที่ติดตามกลุ่มทะลุฟ้าได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์คดีนี้เป็นจำนวนมาก

ต่อมาเวลา 09.30 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยให้จำเลยทั้ง 3 คน แสดงตัวต่อหน้าศาล ก่อนจะอ่านคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ให้จำเลยทั้ง 3 คนทราบ จำเลยทั้งหมดได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้สอบถามจำเลยที่ 1 หรือ แซม ว่ายอมรับหรือไม่ว่าเป็นบุคคลเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาอื่นที่อัยการโจทก์ขอให้นับโทษต่อ แซมได้รับว่าตนเป็นบุคคลเดียวกัน

อัยการโจทก์แถลงต่อศาลว่ามีเอกสารอ้างส่งจำนวน 20 ฉบับ และมีวัตถุพยานจำนวน 2 แผ่น ทั้งนี้ศาลได้เปิดพยานหลักฐานที่เป็นคลิปวิดีโอต่อหน้าทนายความและจำเลย รวมถึงประชาชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยปรากฏคลิปวีดิโอราว 5 คลิป เป็นเหตุการณ์ที่บริเวณซุ้มเฉลิมพระเกียรติของรัชกาลที่ 10 และราชินีสุทิดา ถูกเผาที่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม และอีกจำนวนหนึ่งเป็นภาพและคลิปที่มีเหตุการณ์ของป้อมตำรวจที่ถูกเผา

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนพยานหลักฐานทั้งหมดที่อัยการโจทก์อ้างส่งจากที่ผู้สังเกตการณ์การได้เห็น ยังไม่ปรากฏภาพหรือลักษณะที่ระบุตัวตนของบุคคลที่กระทำการเผาในเหตุการณ์ดังกล่าวหาได้ และไม่ปรากฏภาพของจำเลยทั้งสามคนที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้อย่างชัดเจน

สำหรับวัตถุพยานที่เป็นคลิปวิดีโอทั้งหมด โจทก์ได้อ้างส่งเป็นจำนวน 8 คลิป และมีพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายจำนวน 58 ภาพ รวมถึงไฟล์ Microsoft Word จำนวน 1 ไฟล์ และประสงค์สืบพยานโจทก์รวม 11 ปาก ประกอบไปด้วย ผู้กล่าวหา, ผู้กล่าวโทษโดยให้ความเห็นทางกฎหมาย, พนักงานสอบสวนที่จัดทำรายงาน, พนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุม และผู้ตรวจสถานที่เกิดเหตุ เป็นต้น โดยขอใช้เวลาสืบพยานโจทก์ 3 นัด

ส่วนทนายความและจำเลยทั้ง 3 คน แถลงแนวทางต่อสู้คดีร่วมกัน โดยจะยื่นข้อทางกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ 2548 ที่ได้ถูกยกเลิกและไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2565 และประสงค์สืบพยานจำเลย 5 ปาก ประกอบไปด้วย จำเลยที่ 1 – 3, ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดกับจำเลยทั้งสาม และผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบภาพและวิดีโอกล้องวงจรปิด โดยขอใช้เวลาสืบพยานจำเลย 1 นัด

คู่ความตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานในคดีนี้ โดยสืบพยานโจทก์ วันที่ 19 – 21 มี.ค. 2567 และ สืบพยานจำเลย วันที่ 22 มี.ค. 2567 

ในช่วงบ่าย หลังจากนัดตรวจพยานหลักฐานแล้ว ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวทั้งสามคนทันที โดยจำเลยทั้งหมดประสงค์ยินยอมรับทุกเงื่อนไขหากศาลจะกำหนด และพร้อมขอให้ตั้งผู้กำกับดูแลที่ไว้วางใจให้คอยควบคุมพฤติกรรมระหว่างการประกันตัว

ก่อนในเวลา 15.50 น. ศาลได้มีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้งสามคน ในวันที่ 10 พ.ย. 2565 เวลา 10.00 น.  ลงนามคำสั่งโดย พริษฐ์ ปิยะนราธร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา 

สำหรับจำเลยทั้งสามคนในวันนี้จะยังคงถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป โดยจะถูกเบิกตัวเข้าร่วมการไต่สวนการประกันตัวในวันดังกล่าว ขณะเดียวกันหากยังไม่ได้สิทธิในการประกันตัว จะทำให้ทั้งสามคนต้องถูกคุมขังรอการสืบพยานไปอีกเกือบ 1 ปีครึ่ง 

X