จับตา! ศาลเยาวชนฯ นัดพิพากษา คดี ม.112 “เพชร – บีม” ร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน

วันที่ 5 มิ.ย. 2567 เวลา 9.30 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ “เพชร” ธนกร ปัจจุบันอายุ 21 ปี และ “บีม” ณัฐกรณ์ ปัจจุบันอายุ 20 ปี สองนักกิจกรรม ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมกิจกรรม #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 โดยในวันเกิดเหตุขณะนี้ทั้งสองมีอายุ 17 ปี คดีนี้จึงขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเยาวชนฯ

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป หรือ #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 โดยนักกิจกรรมได้ร่วมกันใส่เสื้อครอปท็อปเดินบริเวณห้างสยามพารากอน เพื่อยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังเกิดกรณีของ “สายน้ำ” เยาวชนอายุ 16 ปี ณ ขณะนั้น ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะใส่ชุดครอปท็อปและเขียนข้อความบนร่างกาย 

ต่อมา ว่าที่ ร.ต.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล จากกลุ่ม “ไทยภักดี” ได้เป็นผู้ไปกล่าวหาข้อหาตามมาตรา 112 ต่อนักกิจกรรม 7 คน ไว้ที่ สน.ปทุมวัน โดยแกนนำ 5 ราย ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, เบนจา อะปัญ และภวัต หิรัณย์ภณ ถูกฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ขณะที่คดีของเยาวชน 2 รายถูกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 

ในวันเกิดเหตุ บีมเพียงแต่ใส่ชุดครอปท็อปไปร่วมกิจกรรม และร่วมชู 3 นิ้ว ถ่ายรูป ขณะที่เพชรชูป้ายกระดาษมีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และ “ยกเลิก ม.116, ม.112” รวมทั้งร่วมชู 3 นิ้วเท่านั้น แต่ฝ่ายโจทก์กล่าวหาว่าทั้งสองได้แสดงออกในลักษณะเป็นพวกเดียวกันกับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ โดยแสดงตนหรือบทบาทล้อเลียนดูหมิ่นรัชกาลที่ 10, พระราชินี และสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประชาชนเสื่อมความเคารพ ความศรัทธาต่อพระมหากษัตริย์

คดีนี้มีการสืบพยานไปประมาณ 18 นัด ใช้ระยะเวลานานเกือบ 10 เดือน ตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. ปี 2566 จนถึงปลายเดือน มี.ค. ปี 2567 โดยในตอนแรก ฝ่ายโจทก์ประสงค์จะนำพยานเข้าเบิกความมากถึง 44 ปาก แต่ในสืบพยานจริงได้เข้าเบิกความ 8 ปาก เนื่องจากติดปัญหาเรื่องนัดหมาย ส่วนฝ่ายจำเลย จำเลยทั้งสองคนได้อ้างตัวเองเป็นพยานเพื่อเข้าเบิกความ โดยศาลให้ตัดพยานนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญออก

ข้อต่อสู้ของฝั่งจำเลยมี 3 ประเด็นใหญ่ด้วยกัน ดังนี้

  1. การเข้าร่วมกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป จำเลยทั้งสองไม่ได้นัดหมายกัน รวมถึงไม่ได้นัดหมายกับจำเลยอื่นที่ถูกฟ้องด้วยเหตุเดียวกันที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้งสองเดินทางไปร่วมกิจกรรมเพราะเห็นโพสต์ประชาสัมพันธ์จากเฟซบุ๊กของ “เพนกวิน” พริษฐ์ จึงเกิดความสนใจ จากนั้นจึงเดินทางไปร่วมกิจกรรมด้วยตัวเอง โดยไม่ได้ทำการนัดหมายกับใครล่วงหน้า
  2. การสวมใส่เสื้อครอปท็อปเป็นการกระทำที่สามารถทำได้ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ถูกรองรับไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศไทย 
  3. การร่วมกิจกรรมและการแสดงออกในวันดังกล่าว จำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ส่วนการเบิกความของฝั่งโจทก์นั้นมีสาระสำคัญตรงกัน กล่าวคือส่วนใหญ่เห็นว่าการสวมใส่ชุดครอปท็อปของจำเลยเพื่อไปร่วมกิจกรรมในวันเกิดเหตุนั้นมีเจตนาที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการล้อเลียน ดูหมิ่น และหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10

ตลอดการสืบพยานคดีนี้ นอกจากคู่ความแล้ว ศาลไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี โดยในการนัดสืบพยานครั้งแรกของคดีนี้เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ Amnesty Thailand ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ในฐานะหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ต่อคณะผู้พิพากษาคดีนี้ แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง

รวมทั้งในนัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูตลักเซมเบิร์กและเจ้าหน้าที่ผู้แทนสหภาพยุโรปเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยแจ้งเหตุผลสั้น ๆ ว่า ตามข้อกำหนดของศาลเยาวชนฯ อนุญาตให้คู่ความเข้าร่วมการพิจารณาเท่านั้น

หลังดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 5 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ขณะที่คดีความของจำเลยอีก 5 คนซึ่งถูกฟ้องด้วยเหตุเดียวกันที่ศาลอาญากรุงเทพใต้นั้นยังคงอยู่ระหว่างการสืบพยาน โดยมีการนัดสืบพยานเพิ่มเติมในวันที่ 2 ส.ค. 2567

เรื่องที่เกี่ยวข้อง 

ฟ้อง 112 ‘ธนกร-ณัฐ’ ร่วมกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เดินพารากอน เป็นคดีเยาวชนแสดงออกทางการเมืองคดีที่ 9

สั่งฟ้อง 5 นักกิจกรรม คดี “ม.112” จากกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เดินพารากอน ก่อนศาลให้ประกัน 2 แสน พร้อมเงื่อนไข “ห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ”

X