2563 ช่วงปีที่เป็นสารตั้งต้นของทั้งการลุกขึ้นสู้ ความหวัง และเป็นสารตั้งต้นของคดีความสิทธิเสรีภาพตลอดเกือบ 4 ที่ผ่านมาเช่นกัน ปีนั้นการชุมนุมเกิดขึ้นท้องถนน ในรั้วมหาวิทยาลัย และอีกหลายหนนับครั้งไม่ถ้วนก็เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและแก้ไขโครงสร้างสังคมให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หลายคนตื่นตัวทางการเมืองขึ้นก็ในช่วงขวบปีนี้
หนึ่งในนั้น คือ เยาวชนอายุ 17 ปี ที่มีชื่อว่า “บีม” ณัฐกรณ์ ผู้สนใจสังเกตการณ์ม็อบการเมือง และอยากไปม็อบแค่เพื่อนั่งฟังปราศรัยในเรื่องที่ไม่เคยรู้ไม่เคยเข้าใจมาก่อน แต่เมื่อการชุมนุมของประชาชนผู้อยากเปลี่ยนแปลงถูกกดปราบด้วยความรุนแรงสารพัด ณัฐกรณ์ในวัยที่ยังไม่ถึง 18 ปี ตัดสินใจขออาสาเป็นการ์ดผู้ชุมนุมอยู่นานเกือบปี ก่อนตัดสินใจเป็นนักกิจกรรมอิสระ ซึ่งต่อมาทำให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึง 2 คดี หนึ่งในนั้นเป็นคดีที่เกิดขึ้นขณะยังเป็นเยาวชนอยู่ จากต้นเหตุเพียงสวมใส่ ‘เสื้อครอปท็อป’ ไปร่วมกิจกรรมที่สยามพารากอน เมื่อปี 2563
ปัจจุบัน ณัฐกรณ์อายุเกือบจะ 21 ปีแล้ว แต่คดีความมาตรา 112 ทั้งสองคดียังอยู่ในชั้นศาล โดยคดีที่ศาลเยาวชนกำลังจะมีคำพิพากษาในวันที่ 5 มิ.ย. นี้แล้ว ส่วนอีกคดีหนึ่งจากการทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังสืบพยานไม่แล้วเสร็จ
โอกาสนี้เราขอชวนรู้จักชีวิตของเยาวชนคนหนึ่งที่ตั้งใจเพียงอยากจะมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากขึ้น ว่าเป็นไปเป็นมาอย่างไร เขาจึงกลายเป็นจำเลยในคดีที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐในวัยแค่เพียง 17 ปี
เกาะติดการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ตอนไหน?
ช่วงปี 2563 มีม็อบเกิดขึ้นเยอะมาก จริง ๆ แล้วผมอยากออกไปกับเขาตั้งแต่ #ม็อบ19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ออกมา เพราะคิดกับตัวเองว่าขอเวลาศึกษาเรื่องการเมืองไปก่อน ม็อบช่วงแรก ๆ เลยยังสังเกตการณ์อยู่แค่ห่าง ๆ
ตอนนั้นตกผลึกได้ว่า ‘คนเราควรมีสิทธิ์ มีเสียง ควรทำอะไรที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่านี้ แต่กลับถูกผู้มีอำนาจควบคุมไว้ไม่ให้ทำ แต่เขากลับทำในสิ่งที่คิดว่าถูกแล้ว แต่จริง ๆ มันไม่ใช่’
แล้วพออีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา มี #ม็อบ14ตุลา63 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย – เดินไปทำเนียบรัฐบาล ผมเลยไปสังเกตการณ์ในฐานะประชาชน เพราะอยากรู้ อยากไปฟังปราศรัยของพี่ ๆ แกนนำ พอเราไปนั่งฟังแล้ว เราแบบเฮ้ย! เรื่องนี้เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย เรื่องนี้มันจริงเหรอวะ เรายังไม่เชื่อเลย แต่เราเอาไปศึกษาไปค้นอ่านดูต่อ
เรื่องหลัก ๆ ที่เอากลับมาคิดต่อเลย คือ เรื่องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่เนอะ จนมารู้เกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ประชาชนที่อยากจะพูด อยากจะถกเถียงแลกเปลี่ยนกันก็ทำไม่ได้เพราะมาตรานี้ มาตรา 112 ปิดปากประชาชนอยู่ ทำให้คนพูดอะไรไม่ได้มาก สร้างความหวาดกลัวให้ประชาชน
จาก ‘ผู้สังเกตการณ์’ สู่ ‘การ์ดผู้ชุมนุม’
หลังจาก #ม็อบ14ตุลา63 ไม่นาน ก็มีม็อบที่แยกปทุมวัน (#16ตุลาไปแยกปทุมวัน) มีการสลายการชุมนุมครั้งแรกด้วยรถฉีดน้ำจีโน่ ภาพที่ผมเห็นวันนั้น ทุกคนแตกตื่น ทุกคนวิ่งเพื่อจะเอาชีวิตรอด รถจีโน่ฉีดน้ำอัดไปที่ผู้ชุมนุมทั้ง ๆ ที่พวกเขาออกมาใช้สิทธิใช้เสียง เหตุการณ์นี้ทำให้ผมตัดสินใจสมัครเป็น ‘การ์ดผู้ชุมนุม’ กับกลุ่ม ลุ่ม We Volunteer (WeVo) เพราะคิดว่าตัวเองมีแรง สามารถทำหน้าที่ตรงนั้นได้ หลังจากนั้นก็โดน ‘แก๊สน้ำตา’ ไปน่วมเลย
หน้าที่ของผมตอนนั้น คือการคอยดูแลความสะดวกเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุมให้กับทุกคนที่มา ผมจำไม่ได้ว่าไปเป็นการ์ดครั้งแรกให้ม็อบครั้งไหน แต่ที่จำได้แม่นเลยก็คือโดนแก๊สน้ำตาครั้งแรกในม็อบครั้งไหน
ม็อบนั้น (#ม็อบ17พฤศจิกา63) เกิดขึ้นที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย ตอนปี 2563 วันนั้นผมโดนแก๊สน้ำตาเป็น ‘ครั้งแรก’ แล้วก็ยังได้ช่วยประชาชนด้วยการเอาน้ำเกลือไปล้างตาให้พวกเขาด้วย มือสองข้างของผมจะถือขวดน้ำเกลือ กวาดตาไปทั่วมองถ้าเห็นใครที่แสบตา ผมก็จะวิ่งไปล้างหน้าให้ แล้วก็เอาผ้าเย็นไปเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ด้วย จากนั้นก็จะคอยบอกจุดปลอดภัยให้ไปหลบก่อน
ตอนนั้นผมรู้สึกอยู่ 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรกคือเราได้ช่วยคนนะ อย่างที่สองคือสิ่งที่เราเจออยู่ เราสมควรโดนแล้วจริง ๆ เหรอ ทั้งที่พวกเราไปเรียกร้องสิ่งที่ดีตามสิทธิตามเสียง แต่สิ่งที่รัฐให้กลับมา คือ แก๊สน้ำตา รถจีโน่ กระสุนยาง
วันนั้นมีประชาชนบาดเจ็บหลายคนมาก รถพยาบาลวิ่งเข้า – ออกแถวนั้นเยอะมาก เราไม่คิดว่ารัฐจะใช้ไม้แข็ง รุนแรงขนาดนี้ ประชาชนไม่มีอะไรเลย มีแค่ร่ม มือเปล่า ผ้ากันฝน
แก๊สน้ำตามันแสบตาจนเราลืมตาไม่ขึ้น น้ำตาก็ไหล น้ำมูกก็ไหลหมดเลย แล้วก็แสบร้อนไปทั้งตัวเลยครับ ตอนนั้นเราไม่มีอุปกรณ์ป้องกันอะไรเลย เราใส่แค่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบปกติเลย มันทรมานจริง ๆ
โดนแล้วแสบตาอยู่ประมาณ 3 นาที ล้างด้วยน้ำแล้วอาการถึงจะดีขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่วันผมหายใจไม่ออก แล้วก็เจ็บหน้าอก ไม่แน่ใจจริง ๆ ว่าเป็นเพราะแก๊สน้ำตาไหม แต่ระหว่างนั้นก็ไม่ได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเลย เลยสงสัยว่าน่าจะเป็นเพราะแก๊สน้ำตาหรือเปล่า เพราะวันนั้นโดนเยอะมาก ม็อบวันนั้นควันโขมง เยอะมาก มองอะไรไม่เห็นเลยตอนนั้น มีแต่ควัน ตอนนั้นวิ่งหนีแล้ว แต่ก็ยังโดน เพราะละอองของแก๊สน้ำตามันจะถูกพัดมาตามลม หนียังไงก็หนีไม่ได้ รัศมีมันไกลมาก
หลังจากนั้น เราได้ตกผลึกว่ารัฐไทยมันโหดร้ายนะ แล้วไม่ได้โหดร้ายแบบธรรมดาด้วย โหดร้ายมาก ๆ โหดเหี้ยม! เป็นการ์ดอยู่ประมาณปีหนึ่ง ไปม็อบ 10 กว่าม็อบ แล้วถึงออกมาเคลื่อนไหวเป็นนักกิจกรรมอิสระ
(ณัฐกรณ์ (ซ้ายมือสุด) ขณะเข้าร่วมกิจกรรม ใคร ๆ ก็ใส่เสื้อครอปท็อป)
(ณัฐกรณ์ (ซ้ายมือสุด) ขณะเข้าร่วมกิจกรรม ใคร ๆ ก็ใส่เสื้อครอปท็อป)
(ณัฐกรณ์ (ขวามือสุด) ขณะเข้าร่วมกิจกรรม ใคร ๆ ก็ใส่เสื้อครอปท็อป)
#ใครๆก็ใส่เสื้อครอปท็อป ยืนยันสิทธิแต่งกายที่ทำได้ และต้องไม่ถูกดำเนินคดี
ก่อนหน้านั้นมี ‘สายน้ำ’ ซึ่งตอนนั้นเป็นเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีเรื่องใส่เสื้อครอปท็อปก่อน (จากการเดินแฟชั่นโชว์และเขียนข้อความบนร่างกาย ในการชุมนุม #ภาษีกู 29 ต.ค. 2563 ที่วัดแขก สีลม) เรื่องนี้ทำให้ผมมีคำถาม ทำไมแค่ครอปท็อปถึงจะใส่ไม่ได้? คนทั่วไปก็ใส่ได้ คนออกกำลังกายก็ใส่กันเยอะแยะไป ทำไมถึงต้องห้ามคนอื่นไม่ให้ใส่ด้วย
ผมเลยไปร่วมกิจกรรม #ใครๆก็ใส่เสื้อครอปท็อป เดินพารากอน วันนั้นแต่งชุดจากบ้านแล้วไปตัวคนเดียวเลย เสื้อที่ใส่คือเสื้อกล้ามสีดำแล้วม้วนขึ้นเองให้เหมือนเอวลอย ผมใส่ไปเดินเฉย ๆ เลย แล้วอยู่ ๆ ก็โดนคดี 112 วันที่ไปพารากอนยังไม่ได้รู้จักใครมาก ไม่รู้เป็นการส่วนตัวกับรุ้ง กับเพนกวิน หรือกับใคร มาได้ทำความรู้จักกันจริง ๆ คือตอนไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีนี้ที่ สน.ปทุมวัน แล้ว
จำได้ว่าหมายเรียกไปที่บ้าน แล้วแม่เป็นคนรับไว้ แม่เลยรู้คนแรก แม่ตกใจนะ ผมก็รู้สึกตกใจ แล้วก็ทำตัวไม่ถูก ถึงหมายมันจะไม่ได้บอกว่าโดนคดีเพราะเรื่องอะไร แต่ผมก็พอจะเดาได้ว่ามาจากเรื่องที่ไปใส่เสื้อครอปท็อปมาแน่นอน เพราะเป็นกิจกรรมแรกเลยที่แสดงออกและตีความว่าเกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ได้
ตั้งแต่ปี 2563 จนปี 2564 มีเยาวชนโดนคดี 112 ประมาณ 3 คนมั้งนะ ผมเป็นคนที่ 3 (ต่อจากสายน้ำ และเพชร ธนกร)
จริง ๆ ผมไปแค่แป๊ปเดียว คิดว่าคงไม่โดนอะไร สุดท้ายก็โดนด้วย ผมคิดว่าเขาคงให้คดีเฉพาะคนที่แต่งชุดครอปท็อป ถึงจะพูดหรือไม่พูด ก็ให้คดีไว้ก่อน คดีนี้คือคดีแรกของผม มันทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของคนที่เขาพูด เขาวิจารณ์สถาบันฯ แล้วโดนคดีว่าพวกเขารู้สึกยังไง
ทั้ง ๆ ที่พวกเราไม่ได้ทำผิดอะไร เราแค่ต้องการสื่อให้ทุกคนเห็นว่าชุดนี้เป็นของคนทั่วไปจริง ๆ ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง จัสติน บีเบอร์ ก็ใส่ แล้วสมมติว่ามีคน Cover เป็นจัสตินแล้วเขาโดนคดี มันก็ไม่ใช่ไง มันไม่ถูกต้อง
หลังถูกดำเนินคดี ต้องถูกตำรวจติดตาม – คุกคามอย่างหนัก
ช่วงที่มีคดีนี้ (ปี 2564-65) มีคนตามติดชีวิตเกือบทุกวัน (หัวเราะ) เป็นนอกเครื่องแบบมาตามเราทุกวันเลยเวลาจะไปไหน ช่วงนั้นผมเริ่มทำงานที่ร้านกาแฟ นอกเครื่องแบบตามไปเฝ้าผมถึงที่ร้านกาแฟเลย จำได้ว่าวันนั้นเป็นวันปิยมหาราช เขาก็มาเฝ้าผม พอผมออกจากบ้าน เขาก็จะคอยถามคนที่บ้านว่าผมอยู่บ้านมั้ย, ไปไหน, ไปทำอะไร …
ที่แย่ที่สุดคือเขาไปถาม ‘เพื่อนร่วมงาน’ ว่าผมเป็นคนยังไง นิสัยเป็นยังไง พยายามเค้นว่าผมทำงานอยู่ที่ร้านกาแฟนั่นจริง ๆ หรือเปล่า แล้วช่วงวันสำคัญจะโดนตามบ่อยมาก
ช่วงนั้นตำรวจชอบโทรไปหาแม่บ่อยมาก ถี่มาก จนครั้งหนึ่งผมเอาเบอร์จากแม่โทรกลับไปหาเขา เพราะหงุดหงิดไม่ไหวแล้ว โทรไปบอกเขาว่ามีอะไรให้ถามผมเลย ไม่ต้องโทรหาแม่แล้ว
สู้คดีไม่ง่าย เสียเงิน – เสียเวลาทำงาน
ช่วงที่ต้องไปสืบพยานที่ศาล ผมต้องไปเกือบทุกวัน อาทิตย์ละ 2-3 วัน บางทีก็หาค่าเดินทางไม่ทัน เพราะงานที่ทำอยู่มันไม่ได้เงินวันต่อวัน ใช้เงินก็เยอะ ถามว่าจ่ายใช้จ่ายเบิกกับกองทุนได้ไหม ช่วงแรก ๆ ผมก็เบิกอยู่นะ แต่พอช่วงหลังไม่ได้เบิกกับเขาแล้ว เพราะรู้สึกว่ามันเยอะเกิน มันบ่อยเกิน
การต้องลาที่ทำงานไปศาลบ่อย ๆ ทำให้ผมต้องเปลี่ยนงานบ่อย ๆ เพราะร้านเขาก็ต้องการคนที่ว่างทำงานให้เขาตลอด แต่ช่วงที่มีนัดกับศาลเราต้องลาบ่อยมาก เขาก็ไม่มีคนทำแทน เขาก็ต้องให้เราออก
สังคมไทยที่อยากเห็น
อยากเห็นความเหลื่อมล้ำน้อยลง, ไม่ใช่สิครับ! อยากให้ไม่มีเลย เพราะพวกเราคือคน เป็นคนเหมือนกัน แล้วก็อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง เศรษฐกิจก็เรื่องหนึ่งในนั้น อยากให้ศาลยุติธรรมกว่านี้ อยากให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิมีเสียงมากกว่านี้
เปลี่ยนรัฐบาลแล้วก็เหมือนไม่ได้เปลี่ยนอะไร ทุกอย่างยังดูเหมือนเดิม เสรีภาพก็ยังไม่มีเหมือนเดิม เพื่อนเราก็ยังถูกขังเหมือนเดิม ผมไม่อยากเห็นอะไรแบบนี้อีกแล้ว