ศาลเยาวชนฯ นัดสืบพยานคดี 112 “ธนกร-ณัฐ” ร่วมกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เดินพารากอน เริ่ม มิ.ย. 66

21 มิ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีนัดตรวจพยานหลักฐานคดีของนักกิจกรรมเยาวชน 2 ราย ได้แก่ ณัฐกรณ์ หรือ “บีม” อายุ 18 ปี และ ธนกร หรือ “เพชร” อายุ 18 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุเข้าร่วมกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 

>>ฟ้อง 112 ‘ธนกร-ณัฐ’ ร่วมกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เดินพารากอน เป็นคดีเยาวชนแสดงออกทางการเมืองคดีที่ 9

ก่อนหน้านี้ การตรวจพยานหลักฐานได้ถูกเลื่อนมาจากเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2565 เนื่องจากอัยการได้ยื่นส่งพยานหลักฐานเป็นจำนวนมาก ที่ปรึกษาทางกฎหมายจึงจะขอให้ศาลเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไป เพื่อขอเวลาตรวจสอบเอกสารโจทก์ และใช้เวลาในการปรึกษาแนวทางคดี

ที่ห้องพิจารณา 2 เวลา 11.25 น. ศาลออกพิจารณาคดี เพชร, บีม ผู้ปกครอง และที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) มาศาลตามนัดหมาย โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถานทูตลักเซมเบิร์ก และผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ขอเข้าร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ โดยก่อนหน้านี้ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อศาลไว้ล่วงหน้าแล้ว

อย่างไรก็ตาม ศาลไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สถานทูตลักเซมเบิร์กและเจ้าหน้าที่ผู้แทนสหภาพยุโรปเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยแจ้งเหตุผลสั้น ๆ ว่า ตามข้อกำหนดของศาลเยาวชนฯ ใครก็ตามที่ไม่ใช่คู่ความของจำเลย ไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาได้ นอกจากนี้ศาลยังไม่เห็นประโยชน์อะไรที่จะให้คนนอกเข้าฟังการพิจารณา เพราะจะไม่เกิดผลดีและเป็นประโยชน์กับเยาวชนแต่อย่างใด พร้อมทั้งระบุว่า อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ จะทำหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้เข้าร่วมสังเกตการณ์โดยละเอียดในภายหลัง 

จากนั้นที่ปรึกษากฎหมายและจำเลยทั้งสองได้ตรวจดูพยานหลักฐานและบัญชีพยานที่จะนำสืบอยู่ครู่หนึ่ง อัยการโจทก์แถลงว่า จะนำพยานบุคคลเข้าสืบทั้งหมด 34 ปาก อาทิ ผู้กล่าวหา, ตำรวจชุดสืบสวน และพนักงานสอบสวนในคดีนี้ รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสยามพารากอน ด้านที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยแถลงขอนำสืบพยานจำเลยจำนวน 10 ปาก ประกอบด้วย จำเลยทั้งสอง, นักวิชาการด้านกฎหมาย และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

ศาลชี้แจงโจทก์และจำเลยว่า ศาลจะดูแค่ประจักษ์พยานและข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยศาลอนุญาตให้ฝ่ายจำเลยนำสืบพยานความเห็นได้ แต่ศาลจะไม่รับฟังมาประกอบดุลยพินิจแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละบุคคลเท่านั้น ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมุมมอง ไม่สามารถทำให้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาเปลี่ยนแปลงได้ 

ในนัดนี้ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอจำหน่ายคดีชั่วคราวด้วย ระบุว่า เนื่องจากพยานบุคคล พยานเอกสาร รวมถึงวัตถุพยานของทั้งจำเลยทั้งสองในคดีนี้ เป็นพยานชุดเดียวกันกับจำเลยทั้งห้า ในคดี 112 สวมครอบท็อปเดินสยามพารากอน ซึ่งอัยการยื่นฟ้องที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ฝ่ายจำเลยทั้งสองจึงต้องรอเอกสารดังกล่าวก่อน จึงขอให้ศาลจำหน่ายคดีออกไปชั่วคราว จนกว่าจะทำการสืบพยานคดีที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เสร็จสิ้น

นอกจากนี้ หลังปรึกษากันอยู่ครู่หนึ่ง โจทก์และที่ปรึกษาทางกฎหมายได้แถลงร่วมกันว่า มีความประสงค์จะขอรวมการพิจารณาคดีนี้กับคดีจากเหตุเดียวกันนี้ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งจะดำเนินการขอรวมการพิจารณาต่อไป 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนที่จำเลยทั้งสองขอจำหน่ายคดีชั่วคราวนั้น เนื่องจากคดีนี้โจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารเป็นจำนวนมาก การจำหน่ายคดีชั่วคราวอาจทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล่าช้า แต่หากที่ปรึกษาทางกฎหมายกับโจทก์มีวันว่างไม่ตรงกัน อาจขอกำหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ว่างตรงกันได้ ซึ่งอาจทำให้จำเลยทั้งสองได้พยานหลักฐานต่าง ๆ ครบถ้วนก่อนวันนัด ในชั้นนี้จึงเห็นควรยังไม่จำหน่ายคดีชั่วคราว

ที่สำคัญศาลได้กำชับคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า ให้เตรียมพยานหลักฐานมาให้พร้อมในวันสืบพยาน หากเป็นพยานหมายขอให้เตรียมดำเนินการแต่เนิ่น ๆ เพราะศาลจะพิจารณาต่อเนื่องกันไปโดยไม่เลื่อนคดี และเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ศาลจะทำการสืบพยานอีกฝ่ายหนึ่งโดยทันที

หลังเสร็จสิ้นการตรวจพยานหลักฐาน ศาลจึงได้กำหนดวันนัดสืบพยานรวมทั้งหมด 11 นัด เป็นนัดสืบพยานโจทก์ 9 นัด และพยานจำเลย 2 นัด โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 8-9, 14-16, 21-23 และ 28 มิ.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 29-30 มิ.ย. 2566 

อนึ่ง เกี่ยวกับคดีนี้สืบเนื่องมาจาก กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้จัดกิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป หรือ #แต่งครอปท็อปเดินห้างสยามพารากอน เพื่อรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 โดยนักกิจกรรมได้ร่วมกันใส่เสื้อครอปท็อปเดินบริเวณห้างสยามพารากอน เพื่อยืนยันว่าการสวมชุดครอปท็อปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย หลังเกิดกรณีของสายน้ำ เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะใส่ชุดครอปท็อปและเขียนข้อความบนร่างกาย 

ในกรณีนี้ ต่อมามีการดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมรวมทั้งหมด 7 ราย โดยอีก 5 ราย ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, เบนจา อะปัญ และภวัต หิรัณย์ภณ ทั้งหมดถูกฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ขณะที่คดีของเยาวชน 2 รายถูกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2564 โดยในวันเกิดเหตุบีมเพียงแต่ใส่ชุดครอปท็อปไปร่วมกิจกรรม และร่วมชู 3 นิ้ว ถ่ายรูป ขณะที่เพชรชูป้ายกระดาษมีข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” และ “ยกเลิก ม.116, ม.112” รวมทั้งร่วมชู 3 นิ้วเท่านั้น 

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563-65
รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.116

คดี 112 กิจกรรม #ใครๆก็ใส่ครอปท็อป เดินพารากอน 20 ธันวา

X