27 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงดุสิต นัดฟังคำพิพากษาคดีของนักกิจกรรม จำนวน 16 ราย ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีร่วมกิจกรรมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา #ม็อบ20กุมภา ที่หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสิบหกเป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง ตำรวจเสียอีกที่นำแผงเหล็กมากั้นและผลักดันผู้ชุมนุม จนเกิดความเบียดเสียดแออัด ประกอบกับยังไม่ได้ความว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่ก่อความไม่สงบ หรือใช้ถ้อยคำยุยงปลุกปั่น หรือให้เกิดความรุนแรงอันเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
คดีนี้ เมื่อวันที่ 9 – 10 และ 15 มิ.ย. 2564 นักกิจกรรมและประชาชน รวม 16 ราย ได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.บางโพ โดยนักกิจกรรมหลายคนทยอยได้รับหมายเรียกจาก สน.บางโพ ลงวันที่ 25 พ.ค. 2564 ในคดีที่ระบุว่ามี พ.ต.ท.บำเพ็ญ นามฉวี เป็นผู้กล่าวหา
ก่อนทราบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 16 ราย ได้แก่ “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี, เซีย จำปาทอง, ธนชัย เอื้อฤาชา, สหรัฐ สุขคำหล้า, สุวรรณา ตาลเหล็ก, นันทพงศ์ ปานมาศ, ทวีชัย มีมุ่งธรรม, ซูกริฟฟี่ ลาเตะ, เบนจา อะปัญ, ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ และศุภณัฐ กิ่งแก้ว
ต่อมา ในวันที่ 5 และ 17 ก.ค. 2564 นักกิจกรรมทั้ง 16 คน ได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติม โดยมี พ.ต.ท. ชาญชาตรี สีดาคำ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.บางโพ เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา โดยบรรยายพฤติการณ์ว่าเป็นการกระทำความผิดในข้อหา “ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในเขตพื้นที่สถานที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย การชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค”
ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาครั้งก่อน เจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2563 แต่ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนมาระบุว่า เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในฉบับที่ 18 ลงวันที่ 29 ม.ค. 2564 จึงต้องเรียกให้ผู้ต้องหาในคดีนี้มารับทราบข้อกล่าวหาใหม่อีกครั้ง
ต่อมา วันที่ 31 ต.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวงดุสิต 3 ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงดุสิต และอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทุกคนโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์
คดีนี้มีการสืบพยานต่อสู้คดีไปในช่วงเดือนมีนาคม 2567 โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในเวลาต่อมา
เดิมนั้น ศาลนัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 แต่หนึ่งในจำเลยประสบอุบัติเหตุในวันดังกล่าว ศาลจึงเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันที่ 27 มิ.ย. 2567
วันนี้ (27 มิ.ย. 2567) จำเลยทั้งสิบหกคนทยอยเดินทางมารอฟังคำพิพากษาที่ห้องพิจารณาคดีที่ 409 พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมและประชาชนที่มาให้กำลังใจในคดีนี้ด้วย ต่อมาเวลาประมาณ 11.00 น. ศาลให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นช่วงบ่ายแทน เนื่องจากมีจำเลยบางคนที่เดินทางมาต่างจังหวัด และยังเดินทางมาไม่ถึงศาล
ก่อนในเวลาประมาณ 14:10 น. ศาลออกพิจารณาคดี และเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสิบหกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
พยานโจทก์เบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 จำเลยทั้งสิบหกได้จัดกิจกรรมการชุมนุมบริเวณหน้าอาคารรัฐสภา โดยก่อนเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งว่า กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมได้มีการโพสต์เชิญชวนในสื่อโซเชียลให้ประชาชนมาชุมนุมกันในวันดังกล่าว
ต่อมาเวลาประมาณ 16.00 น. ได้เริ่มมีประชาชนเข้ามาบริเวณพื้นที่ชุมนุม จำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สามถึงสิบหก ได้ผลัดกันปราศรัยบนรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง บนถนนสามเสน หน้าอาคารรัฐสภา (เกียกกาย) ตั้งแต่เวลา 16.00 – 21.00 น. จึงยุติกิจกรรม ส่วนจำเลยที่สองได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อด้านหน้าอาคารรัฐสภาว่า การชุมนุมเป็นไปโดยเปิดเผย ไม่มีความรุนแรง และจะยุติการชุมนุมในเวลา 21.00 น.
การปราศรัยของจำเลยทั้งสิบหกมีวัตถุประสงค์ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมือง 3 ประเด็น ข้อแรก ต้องการให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่ง ข้อสอง ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพื่อล้มล้างผลของการรัฐประหาร และข้อที่สาม ต้องการให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสิบหกไม่ได้มีการปราศรัยยั่วยุให้เกิดความไม่สงบ หรือยุยงให้ประชาชนเข้าไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ รวมทั้งไม่มีกรณีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ผู้ชุมนุมมีการชุมนุมโดยไม่เว้นระยะห่าง ทั้งไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ไม่มีการแจกเจลแอลกอฮอล์ และผู้ชุมนุมมีทั้งคนที่ใส่และไม่ใส่หน้ากากอนามัย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการใช้แผงกั้นผลักดันประชาชนในบริเวณดังกล่าว
เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยทั้งสิบหกเป็นผู้จัดหรือมีส่วนร่วมเป็นผู้จัดการชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ทางนำสืบไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสิบหกร่วมกันจัดกิจกรรมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมอย่างไร หรือเป็นผู้ระดมคนมาในการชุมนุมอย่างไร
ทางนำสืบของโจทก์เพียงรับฟังได้ว่า จำเลยที่หนึ่งและจำเลยที่สามถึงสิบหกร่วมกันกล่าวปราศรัยโจมตีรัฐบาลและใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมือง ประกอบกับจำเลยที่สองได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า การชุมนุมเป็นไปโดยเปิดเผยและมีวัตถุประสงค์ต้องการใช้สิทธิเรียกร้องใน 3 ประเด็นดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสิบหก เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมหาได้ไม่
เมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสิบหกเป็นผู้จัดกิจกรรมการชุมนุมหรือไม่อย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสิบหกเป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง ฉะนั้น จำเลยทั้งสิบหกย่อมไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีมาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19
นอกจากนี้ ทางนำสืบยังโจทก์ยังปรากฏว่า จำเลยปราศรัยให้ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมฟังข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ โดยเป็นการปราศรัยในพื้นที่เปิดโล่ง และยังมีพื้นที่ว่างอยู่บริเวณดังกล่าว ไม่ได้คับแคบ หรือเกิดการเบียดเสียดและแออัดกันระหว่างผู้ชุมนุม แต่ทางนำสืบของโจทก์กลับพบว่า เป็นฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียเองที่นำแผงเหล็กมากั้นและผลักดันประชาชนที่มาชุมนุมตั้งแต่บริเวณแยกเกียกกาย ไปจนถึงด้านหน้าอาคารบุญรอด บริวเวอรี่
ข้อเท็จจริงจึงไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสิบหกจัดให้มีกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ในลักษณะกีดขวางทางจราจร และไม่จัดมีมาตรการในการป้องกันโรคโควิด-19 ตามที่ราชการกำหนด และไม่จำต้องวินิจฉัยว่าในการจัดกิจกรรมชุมนุมดังกล่าวมีการปฏิบัติตามมาตรการหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีในประเด็นปัญหานี้เปลี่ยนแปลงไป
ประกอบกับทางนำสืบของโจทก์ยังไม่ได้ความว่าจำเลยทั้งสิบหกมีพฤติการณ์ที่ก่อความไม่สงบ หรือใช้ถ้อยคำยุยงปลุกปั่นให้มีการทำผิดกฎหมาย หรือให้เกิดความรุนแรงอันเป็นการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองอย่างไร และโจทก์เองไม่ได้นำสืบเลยว่า การร่วมกันทำกิจกรรมปราศรัยของจำเลยทั้งสิบหกเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องทางการเมืองในเรื่องดังกล่าวทั้งสามข้อเป็นการมั่วสุมหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยบริเวณอาคารรัฐสภาหรือก่อให้เกิดความไม่สงบอย่างไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ให้ความมหายคำว่า “มั่วสุม” ว่า “ชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี เช่น มั่วสุมเล่นการพนัน” เมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบหกรวมตัวกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดีแก่บ้านเมือง การรวมตัวกันดังกล่าวจึงไม่ใช่การมั่วสุม หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย การกระทำของจำเลยทั้งสิบหกตามที่บรรยายในฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานมั่วสุม หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ข้อ 1
จำเลยทั้งสิบหกจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานและข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสิบหกต่อไปอีก พิพากษายกฟ้อง
สำหรับกิจกรรม #ม็อบ20กุมภา ที่หน้ารัฐสภาเกียกกายนั้น มีการปราศรัยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐสภาที่ด้านนอกรัฐสภา โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยก่อนยุติกิจกรรม ยังมีการอ่านจดหมาย “หมุดหมายการต่อสู้ครั้งต่อไปของพวกเรา” เพื่อชี้ว่าประชาชนไม่สามารถให้ความหวังกับการเมืองในระบอบรัฐสภา พร้อมกับขอให้ยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะราษฎร และโปรย “ตั๋วช้าง” ด้านหน้ารัฐสภา