เรียกมาแจ้งใหม่! นักกิจกรรม 8 ราย อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา #ม็อบ20กุมภา เข้ารับทราบข้อหาอีกรอบ หลังตร.แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ผิดฉบับ

วานนี้ (5 ก.ค. 64) ที่ สน.บางโพ นักกิจกรรม จำนวน 8 ราย ในคดีชุมนุม #ม็อบ20กุมภา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเป็นครั้งที่สอง หลังพนักงานสอบสวนระบุว่าได้แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผิดฉบับ ทำให้ต้องมีการเรียกมาแจ้งใหม่ 

ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ต้องหาจำนวน 16 ราย ได้ทยอยเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในช่วงกลางเดือนมิถุนายน จากกรณีร่วมกิจกรรมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา #ม็อบ20กุมภา ที่หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 64 ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม 

>>> นักกิจกรรม-ปชช. 13 ราย รับทราบข้อหา “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ม.215” เหตุร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา #ม็อบ20กุมภา

ผู้ต้องหาที่เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมวานนี้ มีจำนวน 8 ราย ได้แก่ “ตี้-พะเยา” วรรณวลี ธรรมสัตยา, ชนินทร์ วงษ์ศรี, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, เซีย จำปาทอง, ซูกริฟฟี่ ลาเตะ, สามเณรสหรัฐ สุขคำหล้า, ฉัตรรพี อาจสมบูรณ์ และ ศุภณัฐ กิ่งแก้ว

ด้านผู้ต้องหาที่เหลืออีก 8 ราย ได้ทำหนังสือขอเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาใหม่ไปในวันที่ 17 ก.ค. 64 เวลา 13.00 น.

เรียกมาแจ้งใหม่ เหตุ ตร.แจ้งข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผิดฉบับ 

พ.ต.ท. ชาญชาตรี สีดาคำ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.บางโพ เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาทั้ง 8 โดยระบุว่าเป็นฉบับ “แก้ไข”  

ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมได้บรรยายพฤติการณ์คดีเช่นเดิมว่า วันที่ 20 ก.พ. 64 ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดกิจกรรม “อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกสภา” โดยการชุมนุมมีลักษณะเกี่ยวกับการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ในบริเวณพื้นที่หน้าที่ทําการรัฐสภาแห่งใหม่ (เกียกกาย) ในเวลาประมาณ 15.00 – 22.15 น. ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมชุมนุมเป็นจํานวนมาก และอยู่อย่างแออัดในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรน่า-19 (โควิด-19) ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง 

จากพฤติการณ์และการกระทําดังกล่าว จึงเป็นการกระทําความผิดในข้อหา “ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในเขตพื้นที่สถานที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย การชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค” ซึ่งเป็นข้อหาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาครั้งก่อน เจ้าหน้าที่ได้ลงบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 ธ.ค. 63 

ในครั้งนี้ได้เปลี่ยนมาระบุว่า เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในฉบับที่ 18 ลงวันที่ 29 ม.ค. 64 จึงต้องเรียกให้ผู้ต้องหาในคดีนี้มารับทราบข้อกล่าวหาใหม่อีกครั้ง

ผู้ต้องหาทั้ง 8 รายได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดิม และจะขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมภายใน 15 วัน ด้านพนักงานสอบสวนได้นัดส่งตัวให้พนักงานอัยการคดีศาลแขวงดุสิตในวันที่ 20 ก.ค. 64 เวลา 10.00 น.

ด้านเกียรติชัยปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา แต่เขียนข้อความว่า “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” แทน

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการ พนักงานสอบสวนได้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมด เนื่องจากมาปรากฎตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ไม่มีเหตุให้ควบคุมตัวไว้

ที่มาของคดีนี้ เกิดจากการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่หน้ารัฐสภาเกียกกาย เป็นการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐสภา ที่ด้านนอกรัฐสภา โดยมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมทั้งมีการเขียนข้อความไม่ไว้วางใจลงบนฟิวเจอร์บอร์ดส่งให้ ส.ส. และรัฐมนตรีในรัฐสภา 

รวมไปถึงการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก่อนยุติกิจกรรม ยังมีการอ่านจดหมาย “หมุดหมายการต่อสู้ครั้งต่อไปของพวกเรา” เพื่อชี้ว่าประชาชนไม่สามารถให้ความหวังกับการเมืองในระบอบรัฐสภา พร้อมกับยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคณะราษฎร และโปรย “ตั๋วช้าง” ด้านหน้ารัฐสภา

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกข้อกำหนดเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด มีการเปลี่ยนแปลงไปตามอย่างรวดเร็ว ทำให้มีประกาศและข้อกำหนดจำนวนมาก และแม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนก็สามารถระบุข้อกำหนดอันเป็นฉบับที่ถูกบังคับใช้ในช่วงที่มีการชุมนุมนั้นๆ ผิดฉบับ

X