ศาลฎีกาแก้โทษคดีละเมิดอำนาจศาลของ “ณัฐชนน ไพโรจน์” กรณีชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันหน้าศาลอาญาอีกคดี ให้จำคุก 15 วัน ปรับ 500 บาท โดยให้รอลงอาญา 

วันนี้ ( 6 มิ.ย. 2567 )  เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาลของ “ณัฐชนน ไพโรจน์” นักกิจกรรมและบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีที่เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัว หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564

คดีนี้ณัฐชนนถูกตั้งเรื่องไต่สวนร่วมกับ เบนจา อะปัญ เหตุเนื่องจากในวันเกิดเหตุ ครอบครัวของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกคุมขังในขณะนั้น ได้เดินทางมายื่นคำร้องขอประกันตัว ทำให้มีกลุ่มนักกิจกรรมนัดรวมตัวกันที่หน้าศาล กรณีของณัฐชนน ได้ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมติดป้ายผ้า “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่บริเวณด้านหน้าธนาคารภายในศาล พร้อมใช้โทรโข่งกล่าวปราศรัยพร้อมเรียกร้อง “ให้ปล่อยเพื่อนเรา” “ชนาธิปออกไป” ทั้งสองคนยังถูกกล่าวหาในคดีดูหมิ่นศาล และข้อหาอื่น ๆ แยกไปอีกคดีหนึ่งด้วย

และเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยศาลสั่งลงโทษจำคุก ณัฐชนน เป็นระยะเวลา 2 เดือน และลงโทษปรับในส่วนของเบนจาเป็นเงิน 500 บาท ทำให้เฉพาะในส่วนของณัฐชนนได้ต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์

ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ไม่ได้ความรุนแรงเกิดขึ้น จึงมีเหตุสมควรให้ลงโทษสถานเบา มีคำสั่งลงโทษจำคุกเหลือ 15 วัน และแก้โทษจำคุกเป็นโทษกักขัง 15 วัน โดยให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีของณัฐชนน โดยเขายังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา

.

คำพิพากษาในชั้นฏีกาแก้โทษกักขัง ให้เป็นจำคุก 15 วัน และให้รอลงอาญา

วันที่ 6 มิ.ย. 2567 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 608 ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยสรุปเห็นว่าเหตุที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “ให้ปล่อยเพื่อนเรา”, “ชนาธิปออกไป” เป็นการพูดในลักษณะเชิงปลุกระดมใช้มวลชนกดดันผู้พิพากษาในการทำคำสั่งปล่อยตัว 

อีกทั้งในกลุ่มผู้ชุมนุมมีป้ายผ้าเขียนถ้อยคำเสียดสี หยาบคาย ถึงแม้ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 จะไม่รู้จักกับเจ้าของป้ายแต่จากพฤติการณ์ถือได้ว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้อง การกระทำดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามที่กฎหมายกำหนด

แต่เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ ศาลฏีกาเห็นว่าโทษกักขังจำนวน 15 วัน ที่ชั้นอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาไว้เป็นโทษสถานเบาแล้ว ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ยังคงเป็นนักศึกษา และในวันเกิดเหตุ เป็นการชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ บริเวณหน้าบันได ไม่ได้เข้ามาภายในอาคารศาล

ศาลฏีกาจึงเห็นควรแก้คำพิพากษาจากชั้นอุทธรณ์ เนื่องจากไม่เห็นพ้องด้วยกับการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังของศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 15 วัน ตามเดิม และจ่ายค่าปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ให้คุมประพฤติโดยผู้ถูกกล่าวหาต้องมารายงานตัวต่อศาลในระยะเวลา 1 ปี จำนวน 3 ครั้ง (ทุก ๆ 4 เดือน) และให้บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์เพื่อสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ให้ผู้ถูกกล่าวหาละเว้นการประพฤติในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก พิพากษายกในส่วนการนับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีหนึ่ง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษาในลักษณะเดียวกันในคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีของณัฐชนน จากกรณีชุมนุมหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 โดยให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และให้รอการลงโทษจำคุกไว้ ทำให้คดีของเขาสิ้นสุดลงทั้งสองคดี 

ณัฐชนนปัจจุบันอายุ 24 ปี ขณะยังเป็นนักศึกษา ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม การทำกิจกรรมทางการเมืองทำให้เขาถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกไปรวม 14 คดี จนถึงปัจจุบันสิ้นสุดไปแล้ว 4 คดี เขายังต้องต่อสู้คดีต่าง ๆ ต่อไป

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

จับตา ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีละเมิดอำนาจศาลของ “ณัฐชนน ไพโรจน์” 2 คดี

อ่านเรื่องราวของณัฐชนน

“เราไม่ได้เป็นอาชญากร เราแค่คิดไม่เหมือนรัฐ” คุยกับ ‘ณัฐชนน’ ก่อนพิพากษาคดี ‘112’ เหตุจากหนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’

X