จับตา ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีละเมิดอำนาจศาลของ “ณัฐชนน ไพโรจน์” 2 คดี

ในวันที่ 4 และ 6 มิ.ย. 2567 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีละเมิดอำนาจศาล 2 คดี ของ “ณัฐชนน ไพโรจน์” นักกิจกรรมและบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทั้งสองคดีนี้ ในศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษกักขังเป็นเวลา 1 เดือน และ 15 วัน ตามลำดับ ทำให้ต้องจับตาคำพิพากษาในชั้นศาลสุดท้ายนี้

.

คดีแรก ชุมนุมหน้าศาลอาญาวันที่ 29 เม.ย. 2564

สำหรับวันที่ 4 มิ.ย. นั้น ศาลอาญาจะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีที่ณัฐชนน ถูกตั้งเรื่องละเมิดอำนาจศาล เหตุจากการร่วมชุมนุมและปราศรัยที่ด้านหน้าของศาลอาญาเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564

ในวันดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่ออธิบดีผู้พิพากษาอาญา ทว่า ไม่มีผู้พิพากษาคนใดลงมารับจดหมาย จึงมีการโปรยหนังสือพร้อมกับรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 ราย ที่ลงนามต่อท้ายหนังสือดังกล่าว ที่บันไดหน้าศาลอาญา ก่อนที่ต่อมา ศาลจะอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง 7 ราย ในเย็นวันนั้น

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ต่อมา ศาลอาญาได้ออกหมายเรียกนัดไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลต่อนักกิจกรรม 6 คน โดยแต่ละคนถูกดำเนินคดีแยกกัน นอกจากนี้ทั้ง 6 คน ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน แจ้งข้อกล่าวหาหาฐาน “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 พร้อมกับข้อหาอื่น ๆ รวม 6 ข้อหา แยกไปอีกคดีหนึ่งด้วย

ในคดีของณัฐชนนนั้น เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ศาลชั้นต้นพิพากษาเห็นว่าการแสดงออกของณัฐชนนมีลักษณะเข้าร่วมกับมวลชนกดดันศาลให้ใช้ดุลพินิจไปตามความต้องการของตนกับพวก ไม่มีความเคารพความเห็นต่างของผู้อื่นดังเช่นผู้มีอารยะทางความคิดในแนวเสรีประชาธิปไตยพึงกระทำ และการกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 4 เดือน

ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นตามศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าการลงโทษจำคุก 4 เดือนนั้น เป็นโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ จึงให้ดดโทษเหลือจำคุก 1 เดือน และให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือนแทน โดยณัฐชนนยังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา

ในประเด็นอุทธรณ์ที่น่าสนใจหนึ่ง คือข้อโต้แย้งว่าข้อกำหนดของศาลอาญา ที่ออกโดยอาศัยอำนาจประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 นั้น ครอบคลุมเฉพาะเหตุต่อหน้าขณะออกนั่งพิจารณาคดี และให้อำนาจเฉพาะผู้พิพากษาในคดีนั้น ๆ ที่สามารถกำหนดโทษ “ละเมิดอำนาจศาล” ไม่ใช่อธิบดีของศาล ดังข้อกำหนดที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว

ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ได้อ้างถึงข้อบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 และศาลอุทธรณ์เห็นว่าตำแหน่งอธิบดีของศาลนั้นถือเป็นตุลาการและยังมีอำนาจในการพิจารณาคดีอีกด้วย พื้นที่ของศาลนั้นถือเป็นอำนาจของอธิบดีศาลในการบังคับใช้ข้อกำหนดเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ไม่ให้คู่ความเกิดความเดือดร้อน รำคาญ หรือฟุ่มเฟือยเวลาในการพิจารณาคดี ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่าไม่ใช่การที่อธิบดีของศาลใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายที่กำหนดไว้

.

คดีที่สอง ชุมนุมหน้าศาลอาญาวันที่ 30 เม.ย. 2564

ในส่วนคดีที่ศาลนัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาในวันที่ 6 มิ.ย. 2567 นั้น เป็นคดีจากการเรียกร้องชุมนุมสิทธิการประกันตัว ที่หน้าศาลอาญาเช่นกัน เกิดขึ้นต่อเนื่องจากคดีแรก คือเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564  ในระหว่างที่ครอบครัวกำลังยื่นขอประกันตัว “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ซึ่งกำลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีมาตรา 112 และอดอาหารทวงคืนสิทธิประกันตัวมาเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน

คดีนี้ณัฐชนนถูกตั้งเรื่องไต่สวนร่วมกับ เบนจา อะปัญ กรณีของณัฐชนน ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมติดป้ายผ้า “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่บริเวณด้านหน้าธนาคารภายในศาล พร้อมใช้โทรโข่งกล่าวปราศรัยพร้อมเรียกร้อง “ให้ปล่อยเพื่อนเรา” “ชนาธิปออกไป” ทั้งสองคนยังถูกกล่าวหาในคดีดูหมิ่นศาล และข้อหาอื่น ๆ แยกไปอีกคดีหนึ่งด้วย

วันที่ 2 ธ.ค. 2564 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล โดยศาลสั่งลงโทษจำคุกณัฐชนน เป็นระยะเวลา 2 เดือน และลงโทษปรับเบนจาเป็นเงิน 500 บาท ทำให้ในส่วนของณัฐชนนได้ต่อสู้คดีในชั้นศาลอุทธรณ์ต่อมา

จนวันที่ 18 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวหาและกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีอาวุธ ไม่ได้ความรุนแรงเกิดขึ้น จึงมีเหตุสมควรให้ลงโทษสถานเบา มีคำสั่งลงโทษจำคุกเหลือ 15 วัน และแก้โทษจำคุกเป็นโทษกักขัง 15 วัน โดยให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีละเมิดอำนาจศาลอีกคดีของณัฐชนน 

ณัฐชนนยังได้ประกันตัวในคดีนี้ และเขาได้ยื่นฎีกาคำพิพากษาต่อมา ทำให้ต้องจับตาคำพิพากษาในศาลสุดท้าย โดยหากศาลฎีกาพิพากษาเช่นเดียวกับศาลอุทธรณ์ทั้งสองคดี เขาจะต้องถูกนำตัวไปกักขังที่สถานกักขังจังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ ณัฐชนนปัจจุบันอายุ 24 ปี ขณะยังเป็นนักศึกษา ทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม การทำกิจกรรมทางการเมืองทำให้เขาถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกไปรวม 14 คดี จนถึงปัจจุบันสิ้นไป 2 คดี เขายังต้องต่อสู้คดีต่าง ๆ ต่อไป

.

อ่านเรื่องราวของณัฐชนน

“เราไม่ได้เป็นอาชญากร เราแค่คิดไม่เหมือนรัฐ” คุยกับ ‘ณัฐชนน’ ก่อนพิพากษาคดี ‘112’ เหตุจากหนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’

.

X