ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษคดีละเมิดอำนาจศาลของ ‘ณัฐชนน’ เป็นจำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาท รอลงอาญา 2 ปี เหตุชุมนุมหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 2564

4 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีละเมิดอำนาจศาลของ ณัฐชนน ไพโรจน์ นักกิจกรรมและบัณฑิตจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 24 ปี เหตุจากการร่วมชุมนุมและปราศรัยหน้าศาลอาญา ระหว่างการยื่นขอประกันตัว 7 ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังอยู่ในขณะนั้น อาทิ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564

สำหรับเหตุการณ์ในวันดังกล่าว มีการจัดกิจกรรมยื่นหนังสือ “ราชอยุติธรรม” ต่ออธิบดีผู้พิพากษาอาญา ทว่า ไม่มีผู้พิพากษาคนใดลงมารับจดหมาย จึงมีการโปรยหนังสือพร้อมกับรายชื่อประชาชนกว่า 12,000 ราย ที่ลงนามต่อท้ายหนังสือดังกล่าว ที่บันไดหน้าศาลอาญา ก่อนที่ต่อมา ศาลจะอ่านคำสั่งไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง 7 ราย ในเย็นวันนั้น

ภาพกิจกรรมเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 

ต่อมา ศาลอาญาได้ออกหมายเรียกนัดไต่สวนในคดีละเมิดอำนาจศาลต่อนักกิจกรรม 6 คน แต่ละคนถูกดำเนินคดีแยกกัน โดยมี ชวิลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา นอกจากนี้ทั้ง 6 คน ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน แจ้งข้อกล่าวหาหาฐาน “ดูหมิ่นศาล” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 พร้อมกับข้อหาอื่น ๆ รวม 6 ข้อหา แยกไปอีกคดีหนึ่ง 

ชในส่วนของณัฐชนน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 ศาลชั้นต้นพิพากษาเห็นว่าการแสดงออกของณัฐชนนมีลักษณะเข้าร่วมกับมวลชนกดดันศาลให้ใช้ดุลพินิจไปตามความต้องการของตนกับพวก ไม่มีความเคารพความเห็นต่างของผู้อื่นดังเช่นผู้มีอารยะทางความคิดในแนวเสรีประชาธิปไตยพึงกระทำ และการกระทำดังกล่าวยังกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี จึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน 


ต่อมาวันที่ 17 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นตามศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าการลงโทษจำคุก 4 เดือนนั้นเป็นโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ จึงให้ลดโทษเหลือจำคุก 1 เดือน และให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นกักขัง 1 เดือนแทน โดยณัฐชนนยังได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกา หลังจากนั้นทนายความได้ยื่นฎีกาไปเมื่อวันที่ 14 ก.ค.​2566 โดยมีใจความสำคัญว่า

ประเด็นที่ 1 ในวันดังกล่าวพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาทำไปเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องความเป็นทำให้ปล่อยเพื่อนนักศึกษา อันเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกความเห็น และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ได้พกพาหรือใช้อาวุธใด ๆ หรือไม่ได้ใช้กำลังทำร้ายวัตถุใด ๆ ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิต เสรีภาพ หรือทรัพย์สินของศาลหรือบุคคลใด และพฤติการณ์ในคดีนี้ก็เป็นถ้อยคำเพียงว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” ซึ่งไม่ได้บังคับขู่เข็ญให้ศาลต้องวินิจฉัยมีคำสั่งเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง 
อีกทั้งในวันดังกล่าวศาลก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวพริษฐ์และปนัสยา เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้ฟังคำสั่งไม่ให้ประกันตัวก็แยกย้ายกันเดินทางกลับทันที โดยมิได้ก่อเหตุร้ายใด ๆ พฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และมิได้มีลักษณะกระทบต่อความเป็นอิสระในการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการตามรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ.2560 มาตรา 188 วรรคสอง ดังที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 2 เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริง การกระทำ และมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้เข้าไปในตัวอาคารศาลหรือห้องพิจารณาคดี หรือขัดขวางการพิจารณาคดี มิได้พกพาหรือใช้อาวุธ หรือใช้กำลังทำร้ายสร้างความเสียหายต่อศาลหรือบุคคลใด อันมิใช่พฤติการณ์ร้ายแรงหรือเป็นอาชญากรร้ายแรง การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก 1 เดือน เป็นการใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ไม่ชอบด้วยหลักความได้สัดส่วนพอสมเหตุสมผลตามพฤติการณ์แห่งคดีแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกกล่าวหาได้ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำพูดและกิจกรรมตามคำกล่าวหา ย่อมถือได้ว่าได้ให้การอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีของศาล จึงถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกโดยมิได้ลดโทษให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การถูกลงโทษจำคุกโดยไม่รอการลงโทษย่อมทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีประวัติอาชญากรรมทำให้เสียโอกาสในการสมัครเข้าทำงานหรือประกอบอาชีพในอนาคตได้
อีกทั้งณัฐชนนประสบอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายแก่กาย จนทำให้ขาทางด้านขวาขาด หากต้องถูกพิพากษาลงโทษจำคุก การใช้ชีวิตในเรือนจำย่อมจะทำให้ได้รับความเดือดร้อน

วันนี้ (4 มิ.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 608 ณัฐชนนเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับทนายความ โดยมีเพื่อนนักกิจกรรม ประชาชน สื่อพลเมือง และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์ในการฟังคำพิพากษาในวันนี้ด้วย แต่เนื่องจากวันนี้ห้องพิจารณาคดีมีนัดหมายฟังคำพิพากษาในคดีอื่นก่อนหลายคดี และเป็นห้องพิจารณาคดีขนาดเล็ก บุคคลผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจณัฐชนนจึงไม่สามารถเข้าไปฟังคำพิพากษาในห้องพิจาณาคดีได้ครบทุกคน และรออยู่หน้าห้องพิจารณาคดี

ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาคดีนี้ในเวลา 09.57 น. โดยอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเพียงสั้น ๆ สามารถสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า

ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ส่งเสียงโห่ร้องว่า ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ เป็นการกดดัน ไม่ใช่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ใช่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกความเห็น แต่เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น

คดีจึงมีข้อวินิจฉัยว่าสมควรลงโทษสถานเบาและรอลงอาญาให้กับผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ เห็นว่าการพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำคุก 1 เดือนนั้นเหมาะสมแล้ว แต่เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ชุมนุมบริเวณหน้าบันได ไม่ได้เข้าไปในบริเวณศาล การรอลงโทษและคุมความประพฤติน่าจะเป็นผลดีมากกว่า แต่เพื่อให้หลาบจำเห็นควรให้ลงโทษปรับด้วยอีกสถานหนึ่ง 

ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาจากศาลอุทธรณ์จากกักขัง 1 เดือน เป็นจำคุก 1 เดือน และปรับเงิน 500 บาท แต่ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี คุมความประพฤติ 1 ปี พร้อมให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้งตามที่กำหนด และให้ทำกิจกรรมบริการสาธารณะ 24 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร 

.

หลังจากศาลอ่านคำสั่ง ณัฐชนนไปชำระค่าปรับด้วยตนเองเป็นเงิน 500 บาท และเดินทางกลับบ้านตามปกติ และคดีนี้เป็นอันถึงที่สุด และในขณะเดียวกันในคดีของผู้ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาละเมิดอำนาจศาลในเหตุการณ์วันที่ 29 เม.ย. 2564 ทั้ง 6 คนที่ถูกแยกดำเนินคดีก็ถึงที่สุดทั้งหมดแล้วเช่นเดียวกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ในวันมะรืนนี้ (6 มิ.ย. 2567) ณัฐชนนจะต้องเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีละเมิดอำนาจศาลในอีกคดีหนึ่ง เหตุจากการชุมนุมหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 และถ้าหากผลคำพิพากษาของศาลฎีกาเป็นเช่นเดียวกันกับศาลอุทธรณ์ จะทำให้ณัฐชนนถูกกักขังที่สถานกักขังจังหวัดปทุมธานีเป็นเวลา 15 วัน

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

จับตา ฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีละเมิดอำนาจศาลของ “ณัฐชนน ไพโรจน์” 2 คดี

อ่านเรื่องราวของณัฐชนน

“เราไม่ได้เป็นอาชญากร เราแค่คิดไม่เหมือนรัฐ” คุยกับ ‘ณัฐชนน’ ก่อนพิพากษาคดี ‘112’ เหตุจากหนังสือ ‘ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า’

X