26 มิ.ย. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดชุมพรนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “โอ๊ต” วรพล อนันตศักดิ์ อายุ 28 ปี อดีตไรเดอร์และอดีตผู้สมัคร สส. จังหวัดชุมพร ซึ่งถูกฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีอัปเดตภาพโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 โดยศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง จำคุก 4 ปี รับสารภาพ ลดเหลือ 2 ปี และโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 5 ปี
สำหรับคดีนี้มี พ.ต.ท.ธานี นาคหกวิค ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดชุมพร เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สภ.เมืองชุมพร วรพลเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 โดยถูกกล่าวหาจากการเปลี่ยนรูปภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊ก พร้อมกับมีข้อความคำราชาศัพท์ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าไม่เป็นความจริง และเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีให้กับอัยการเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ก่อนพนักงานอัยการจะนัดหมายฟังคำสั่งในแต่ละเดือนมารวมทั้งหมด 5 ครั้ง ก่อนมีฟังคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2566 และศาลอนุญาตให้ประกันตัว
ในนัดก่อนเริ่มสืบพยานเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 จำเลยได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการสืบพยาน ให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์จำเลยเพิ่มเติม ก่อนกำหนดนัดฟังคำพิพากษาต่อมา
วันนี้ วรพล พร้อมทนายความเดินทางไปศาล ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นกฏหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี
ศาลพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและรายงานการสืบสวนและพินิจแล้วเห็นว่า แม้การกระทำความผิดของจำเลยต่อพระมหากษัตริย์จะเป็นเรื่องร้ายแรงก็ตาม แต่จำเลยไม่ได้กระทำการอย่างอื่นนอกเหนือไปจากการโพสต์รูปภาพและข้อความตามฟ้องซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ลักษณะการกระทำโดยสภาพไม่อาจส่งผลให้ประชาชนเสื่อมความศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพรักของประชาชนชาวไทยได้ แต่ในทางกลับกัน การกระทำดังกล่าวย่อมส่งผลสะท้อนกลับเป็นผลร้ายตัวต่อจำเลยเสียเอง ว่าเป็นผู้กระทำไม่สมควรอย่างยิ่งในสายตาของประชาชนทั่วไปที่ศรัทธาและเคารพในพระมหากษัตริย์
ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในลักษณะเดียวกันอีก จึงน่าเชื่อว่าจำเลยสำนึกในการกระทำความผิดของตนเองและเกิดความหลาบจำ จนไม่กล้าหวนกลับไปกระทำความผิดทำนองเดียวกันอีก
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำผิดและไม่เคยได้รับโทษมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีอีกครั้ง เพื่อให้ได้มีโอกาสเยียวยาแก้ไขตนเองตลอดจนปรับปรุงทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 5 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 3 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 9 ครั้ง ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร เป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง ภายในกำหนดดังกล่าว และให้จำเลยละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก และให้เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
สำหรับวรพล เคยเป็นอดีตไรเดอร์รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร และเป็นเลขาธิการเครือข่ายปกป้องสิทธิและเสรีภาพ นักเรียน-นักศึกษา (NASP) ก่อนเข้าร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ และตัดสินใจลงสมัคร สส. ในช่วงการเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ของจังหวัดชุมพร เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 โดยได้คะแนนมาเป็นอันดับที่สาม แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ลงสมัครอีก
น่าสังเกตว่าการดำเนินคดีเกิดขึ้นภายหลังเขาลงรับสมัครเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีภายหลังการโพสต์โปรไฟล์เฟซบุ๊กดังกล่าวเมื่อปี 2564 และเท่าที่ทราบข้อมูล เป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่เกิดขึ้นที่จังหวัดชุมพร
.
ย้อนอ่านเรื่องของวรพล
จาก “เพื่อน” ถึง “วรพล” อีกผู้เผชิญข้อหา 112: เมื่อกฎหมายถูกหยิบใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง?