แจ้งข้อหา ม.112 “วรพล” อดีตผู้สมัคร ส.ส. ชุมพร เหตุอัปเดตโปรไฟล์เฟซบุ๊กในวันเฉลิมฯ ปี 64

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ที่ สภ.เมืองชุมพร “โอ๊ต” วรพล อนันตศักดิ์ อายุ 26 ปี อดีตผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดชุมพรจากพรรคก้าวไกล เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ในคดีที่มี พ.ต.ท.ธานี นาคหกวิค ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดชุมพร เป็นผู้กล่าวหาไว้

ก่อนหน้านี้ วรพล ได้รับหมายเรียกออกโดย พ.ต.ท.ปนินทร โชติ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.เมืองชุมพร ลงวันที่ 25 ต.ค. 2565 ให้มารับทราบข้อกล่าวหา ในวันที่ 3 พ.ย. 2565  แต่เนื่องจากวรพลไม่สามารถหยุดงานในวันดังกล่าวได้ ประกอบกับทนายความมีนัดหมายสืบพยานในคดีอื่นอยู่ก่อน จึงมีการขอเลื่อนนัดออกมา และตำรวจกำหนดนัดใหม่เป็นวันนี้

เวลา 09.00 น. วรพล พร้อมทนายความ และผู้ไว้วางใจ ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.จิโรจน์ สาธุการ ผู้กำกับ (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวนภูธรจังหวัดชุมพร และ พ.ต.ท.ปนินทร โชติ โดยทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนผู้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์กับวรพล

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยบรรยายพฤติการณ์ในคดีเกี่ยวกับเหตุเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2564 เวลา 01.45 น. ที่ผู้กล่าวหาได้พบผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีชื่อคล้ายคลึงกับวรพล โพสต์รูปภาพโปรไฟล์เฟซบุ๊กของตนเป็นสาธารณะ พร้อมกับมีข้อความคำราชาศัพท์ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าไม่เป็นความจริง และเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

หลังทราบข้อกล่าวหา วรพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยจะขอให้การในชั้นศาล

จนเวลา 11.22 น. หลังการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้วรพลไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อเก็บบันทึกประวัติ ต่อมาทาง พ.ต.อ.จิโรจน์ สาธุการ ได้แจ้งให้วรพลนำโทรศัพท์ออกมาให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการแต่งตั้ง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งมารออยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ได้ปรินท์ประกาศแต่งตั้งที่ระบุชื่อของตน พร้อมทั้งแสดงบัตรที่ทางราชการออกให้ที่มีชื่อของตน ให้ดูว่าตรงกัน โดยให้วรพลส่งมอบโทรศัพท์มาเพื่อตรวจสอบพร้อมกัน

แต่วรพลแจ้งว่าไม่ได้พกพาโทรศัพท์มือถือมาด้วย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการชาร์จแบตไม่เข้า อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่มีหมายศาลในการขอตรวจค้นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงแจ้งว่าจะไปขอหมายศาลทันที โดยขอให้วรพลรออยู่ภายในห้องสอบสวนของ สภ.เมืองชุมพร ยังไม่ให้ไปไหน อ้างว่าเกรงจะไปยุ่งกับพยานหลักฐาน โดยเจ้าหน้าที่จะจัดหาอาหารมาให้ระหว่างรอคอย

.

.

จนเวลา 15.12 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นออกโดยศาลจังหวัดชุมพร ขอเข้าตรวจค้นบ้านพักของวรพลมาแสดง ก่อนมีการนำกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบรวมกันประมาณ 10 นาย จากทั้ง สภ.เมืองชุมพร, ตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร และยังมี เจ้าหน้าที่ กอ.รมน. จังหวัดชุมพร เดินทางไปยังบ้านพักของวรพลด้วย โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าหน่วยงานอย่าง กอ.รมน. เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้อย่างไร

หลังไปถึงบ้านพักของวรพล ตำรวจจำนวน 3 นาย ได้เข้าไปตรวจค้นในบ้าน นำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการแต่งตั้ง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่แสดงตัวไปก่อนหน้านี้ ก่อนมีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือเป็นของกลางจำนวน 4 เครื่อง พร้อมคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 1 เครื่อง และร่วมกันจัดทำบันทึกการตรวจยึด

เจ้าหน้าที่ยังได้นัดหมายว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ได้ตรวจยึดไว้ ขอให้ผู้ต้องหามาตรวจสอบข้อมูลพร้อมกับเจ้าพนักงาน ในวันที่ 16 ธ.ค. 2565 เวลา 13.00 น.  และนัดหมายเบื้องต้นไปส่งสำนวนให้กับพนักงานอัยการ ในวันที่ 20 ม.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ก่อนปล่อยตัววรพลเดินทางกลับไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าในกระบวนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาทั้งหมด เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบได้ติดตามถ่ายภาพทั้งตัวผู้ต้องหา ทนายความ และผู้ไว้วางใจที่เดินทางไปยังสถานีตำรวจ แทบตลอดเวลาอีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่หลังการนำมาตรา 112 กลับมาบังคับใช้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงกลางเดือนธันวาคม 2565 มีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คือรวมแล้วไม่น้อยกว่า 224 คน ใน 242 คดี โดยเป็นคดีในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้อย่างน้อย 21 คน ใน 19 คดีแล้ว โดยคดีของวรพลนับเป็นคดีแรกที่ทราบว่าเกิดขึ้นในจังหวัดชุมพร

สำหรับวรพล เคยเป็นอดีตไรเดอร์รถจักรยานยนต์ส่งอาหาร และเป็นเลขาธิการเครือข่ายปกป้องสิทธิและเสรีภาพ นักเรียน-นักศึกษา (NASP) ก่อนเข้าร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ และตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคก้าวไกลในช่วงการเลือกตั้งซ่อมเขต 1 ของจังหวัดชุมพร เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 โดยได้คะแนนมาเป็นอันดับที่สาม

.

——————

* สังเกตการณ์การรับทราบข้อกล่าวหาโดยทีมงาน กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X