ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ จำคุก “สมพล” 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา คดี ม.112 ปาสีใส่รูป ร.10 หน้าโลตัสรังสิต ก่อนได้ประกันในชั้นฎีกา

วันที่ 25 มิ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีของ “สมพล” (สงวนนามสกุล) อดีตพนักงานบริษัทวัย 30 ปี ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขารังสิต ในช่วงเวลากลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 13 ก.พ. 2565  

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เห็นว่าจำเลยปาสีใส่รูป ร.10 อีกหลายท้องที่ ชี้เป็นการกระทำที่มิบังควรและหมิ่นพระเกียรติ มีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา และศาลให้ประกันระหว่างฎีกา

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ชี้การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสียทรัพย์ ไม่มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ได้สั่งฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 จากการปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 หน้าโลตัส สาขารังสิต จังหวัดปทุมธานี

คดีมีการสืบพยานในวันที่ 31 พ.ค. 2566 โดยจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาตามมาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนในข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำเลยต่อสู้ว่าไม่เป็นความผิดในข้อหาดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 29 ส.ค. 2566  ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษา เห็นว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นเพียงการปาสีใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยได้พูด เขียน หรือแสดงอากัปกิริยาใด ๆ ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112

พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้แค่เพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 ประกอบมาตรา 360 เท่านั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 360 

ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 พิพากษายกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ เห็นว่าจำเลยปาสีใส่รูป ร.10 อีกหลายท้องที่ ชี้เป็นการกระทำที่มิบังควรและหมิ่นพระเกียรติ – ไม่เห็นควรให้รอการลงโทษ 

วันนี้ (25 มิ.ย. 2567) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 2 สมพลเดินทางมาศาล ก่อนในเวลา 09.48 น. ศาลออกพิจารณาคดี และเริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า

คดีนี้ศาลชั้นต้นได้รอการลงโทษไว้ ต่อมาอัยการได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาล ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุมีคนร้ายปาถุงสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ทำให้เปื้อนสีแดงบริเวณใบหน้าและฉลองพระองค์ และพระบรมฉายาลักษณ์เป็นของราชการส่วนท้องถิ่นได้รับความเสียหาย ต่อมาทราบว่าจำเลยคือ “คนร้าย” จึงได้ออกหมายจับและจับกุม แจ้งข้อหาตามมาตรา 112, มาตรา 360 และข้อหากระทำด้วยประการใด ๆ ต่อราชการท้องถิ่นให้เกิดความเสียหาย

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทำผิดตาม ม.112 หรือไม่ 

ศาลเห็นว่ามีพยานโจทก์เบิกความว่าในวันเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยนอกจากคดีนี้ ยังมีการปาสีใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์อีกหลายท้องที่ พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งประสงค์ที่จะกระทำต่อรูปรัชกาลที่ 10 เป็นการเฉพาะ โดยไม่ได้คำนึงว่าจะอยู่ในท้องที่ใด 

และการปาของเหลวสีแดงใส่รูปรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์ของไทย นอกจากจะทำให้รูปเปรอะเปื้อนด้วยคราบสีแดง ด้อยความสง่างามแล้ว ยังทำให้เสียหายและเสื่อมค่าลง เป็นการกระทำที่มิบังควร และด้อยค่า หมิ่นพระเกียรติองค์พระมหากษัตริย์ว่าไม่ได้อยู่ในสถานะที่เป็นที่เคารพสักการะ ทั้งที่เป็นประมุขของชาติ การกระทำจึงเป็นลักษณะการดูหมิ่นตามมาตรา 112 

ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมานั้น ศาลอุทธรณ์ถาค 1 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น 

ประเด็นที่ต้องวินิฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ คือสมควรลงโทษโดยไม่รอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่าจำเลยกระทำผิดในลักษณะเดียวกันต่อรูปรัชกาลที่ 10 อีกหลายภาพและหลายท้องที่ มีการเตรียมอุปกรณ์วางแผนล่วงหน้า และเผยแพร่ผลงานของตน พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย 

ทั้งนี้ ระหว่างการณ์พิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 บังคับใช้ ให้เปลี่ยนโทษอาญาที่มีการปรับสถานเดียวเป็นความผิดตามพินัย ดังนั้นความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จึงเป็นความผิดทางพินัย และเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานอื่น เมื่อศาลพิพากษาลงโทษความผิดอาญาแล้ว ความผิดทางพินัยจึงเป็นอันยุติ

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 สถานหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ และให้นับโทษในคดีนี้ต่อจากคดีอื่น และให้จำหน่ายข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ สมพลถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาล ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอประกันตัวในระหว่างฎีกา

ต่อมาในเวลาประมาณ 14.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นจำนวนเงิน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สมพลถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แยกไปตามท้องที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบที่เกิดเหตุ ทำให้เขาถูกดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 6 คดี โดยเป็นคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานี 2 คดี, ศาลจังหวัดธัญบุรี 2 คดี, ศาลจังหวัดนนทบุรี 1 คดี และคดีที่ศาลอาญาอีก 1 คดี ในจำนวนนี้เป็นพฤติการณ์เกี่ยวกับการปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในจุดต่างๆ จำนวน 5 คดี และพฤติการณ์เกี่ยวกับการพ่นสีสเปรย์ 1 คดี

ในคดีทั้งหมด ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาทั้งหมด 5 คดีแล้ว โดยในส่วนคดีเกี่ยวกับการปาสีนั้น ศาลชั้นต้นมีแนวทางยกฟ้องข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด แต่ลงโทษจำคุกในข้อหาเกี่ยวกับการทำให้เสียทรัพย์ โดยมีทั้งคดีที่รอและไม่รอลงอาญา สมพลยังได้รับการประกันตัวในคดีทั้งหมด ขณะคดีที่ศาลอาญา มีกำหนดสืบพยานในช่วงเดือนกันยายน 2567

ย้อนอ่านเรื่องราวของสมพล 

“เราต้องชนะในสักวัน เพราะผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมเวลาได้”: คุยกับ “สมพล” ผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 จากการแสดงออกทางความคิดบนพระบรมฉายาลักษณ์

X