ยกฟ้อง ม.112 “สมพล” คดีปาสีใส่รูป ร.10 หน้าโลตัสรังสิต ชี้ไม่ได้ความว่าจำเลยเจตนาดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย แต่ ม.360 จำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่น ก่อนให้รอลงอาญา

วันที่ 29 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “สมพล” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 29 ปี ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขารังสิต ในช่วงเวลากลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 13 ก.พ. 2565

ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหาตามป.อ. มาตรา 112 แต่เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามป.อ. มาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 360 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี

.

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ได้สั่งฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 จากการปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 หน้าโลตัส สาขารังสิต จังหวัดปทุมธานี

คดีนี้มีการสืบพยานในวันที่ 31 พ.ค. 2566 โดยจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาตามมาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนในข้อหาหลักตามมาตรา 112 จำเลยจะต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112

เวลา 09.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 2 สมพลเดินทางมาฟังคำพิพากษาด้วยรถจักรยานยนต์เพียงคนเดียว ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี  ก่อนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปดังนี้  

พิเคราะห์แล้ว พฤติการณ์ของจำเลยเป็นเพียงการปาสีใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยได้พูด เขียน หรือแสดงอากัปกิริยาใดๆ ที่ทำให้เห็นว่าจำเลยเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112

เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้แค่เพียงว่า การกระทำของจำเลยเป็นการทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 ประกอบมาตรา 360 เท่านั้น เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุด คือ มาตรา 360 

ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพจึงมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท และให้รอลงอาญา 2 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นของจำเลย ศาลเห็นว่าคดีนี้มีการรอการลงอาญาแล้ว จึงไม่มีเหตุให้นับโทษต่อ ให้ยกคำร้องส่วนนี้ ส่วนข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 พิพากษายกฟ้อง

.

ทั้งนี้ สมพลถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แยกไปตามท้องที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบที่เกิดเหตุ ทำให้เขาถูกดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 6 คดี โดยเป็นคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานี 2 คดี, ศาลจังหวัดธัญบุรี 2 คดี, ศาลจังหวัดนนทบุรี 1 คดี และยังมีคดีที่ศาลอาญาอีก 1 คดี  

ในจำนวนนี้เป็นพฤติการณ์เกี่ยวกับการปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในจุดต่างๆ จำนวน 5 คดี และพฤติการณ์เกี่ยวกับการพ่นสีสเปรย์ 1 คดี

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ศาลจังหวัดปทุมธานีได้มีคำพิพากษาแล้วทั้ง 2 คดี โดยให้ยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เช่นเดียวกัน เพราะเห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 360 โดยคดีแรกลงโทษจำคุก 6 เดือน และคดีที่สองจำคุก 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่สมพลยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรีก็ได้มีคำพิพากษาแล้ว 1 คดี กรณีพ่นสีสเปรย์สีน้ำเงินที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์  โดยสมพลให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลจึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษตามมาตรา 112 จำคุก 4 ปี และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำคุก 2 ปี ปรับ 8 หมื่นบาท รวมจำคุก 6 ปี ปรับ 8 หมื่นบาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 4 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 4 ปี

ขณะที่คดีที่ศาลอาญา ยังอยู่ระหว่างรอการนัดตรวจพยานหลักฐาน และคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรี มีนัดสืบพยานในช่วงเดือนมกราคม 2567

.

.

ย้อนอ่านเรื่องราวของสมพล

“เราต้องชนะในสักวัน เพราะผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมเวลาได้” : คุยกับ “สมพล” ผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 จากการแสดงออกทางความคิดบนพระบรมฉายาลักษณ์

X