15 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดอ่านคำพิพากษาในคดีของ “สมพล” (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทวัย 29 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ทำให้เสียทรัพย์และทำให้ทรัพย์สาธารณะเสื่อมค่า” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และ 360, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์สีน้ำเงินที่มีข้อความเกี่ยวกับกษัตริย์ ทับป้ายบอกทางสองจุด ได้แก่ บริเวณหน้าสนามกอล์ฟเอไอที และหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 1 จ.ปทุมธานี
คดีนี้ “สมพล” ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2565 โดยตำรวจอายัดตัวสมพลหลังเพิ่งได้ประกันตัวในคดีปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ในพื้นที่ของ สภ.ปากเกร็ด และ สภ.เมืองปทุมธานี
จากนั้นในวันที่ 22 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวนจาก สภ.คลองหลวง ได้แจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่รอทนายความเข้าร่วม ต่อมาเขาถูกตำรวจนำตัวไปฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญบุรี และศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน
วันที่ 12 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ชัยวัฒน์ ด้วงสง มีความเห็นสั่งฟ้องคดีนี้ โดยสรุปพฤติการณ์ที่ถูกสั่งฟ้องระบุว่า เมื่อระหว่างวันที่ 28-30 ม.ค. 2565 จําเลยได้ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความลงบนแผ่นป้ายบอกเส้นทางที่ติดตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธินขาออก บริเวณหน้าสนามกอล์ฟ เอไอที และหน้าศาลอุทธรณ์ ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ของแขวงการทางหลวงปทุมธานี กรมทางหลวง ผู้เสียหาย
การกระทำของจําเลยดังกล่าวนั้น ย่อมทําให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 10 มีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม ซึ่งไม่เป็นความจริง และทําให้แผ่นป้ายบอกเส้นทาง 2 แผ่นดังกล่าว เสียหายใช้การไม่ได้ คิดเป็นค่าเสียหายจํานวน 30,000 บาท
ภายหลังจากเกิดเหตุ จําเลยได้ส่งภาพถ่ายแผ่นป้ายบอกเส้นทางที่ใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความแล้ว ไปยังกลุ่มไลน์ อันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
คดีนี้ก่อนการสืบพยานในวันที่ 7 มิ.ย. 2566 สมพลได้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ทำให้ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.ค. 2566
ศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี ปรับ 8 หมื่นบาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปีปรับ 4 หมื่นบาท รอลงอาญาและคุมประพฤติ 4 ปี
เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีอ่านคำพิพากษาโดยสรุป พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 4 ปี และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงเกี่ยวกับราชอาณาจักร จำคุก 2 ปี ปรับ 8 หมื่นบาท รวมจำคุก 6 ปี ปรับ 8 หมื่นบาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ปรับ 4 หมื่นบาท
พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยและคำแถลงประกอบคำรับสารภาพแล้ว เห็นว่าระหว่างพิจารณาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2566 จำเลยเดินทางไปกราบบังคมทูล ถวายขอรับพระราชทานอภัยโทษที่พระบรมมหาราชวัง โดยทำเป็นหนังสือฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ โดยจำเลยได้ผ่านการคัดกรองประวัติอาชญากรรมโดย สน.พระราชวัง ได้รับการรับรองโดยประทับตราสำนักงานตำรวจแห่งชาติยื่นผ่านทหารราชองค์รักษ์เวรที่ทำหน้าที่รับเรื่องฎีกาตามขั้นตอน กรณีถือว่าจำเลยสำนึกในการกระทำแล้ว
ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 4 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ 4 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 12 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นระยะเวลา 30 ชั่วโมง
ห้ามจำเลยกระทำการอันใดอันมีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำที่ถูกฟ้อง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากคดีอื่นๆ เนื่องจากคดีนี้ให้รอการลงโทษ จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ คำขอส่วนนี้จึงให้ยก
สำหรับโทษปรับ 4 หมื่นบาท ทนายความได้ยื่นคำร้องขอบริการสาธารณะแทนค่าปรับ โดยศาลมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลยกคำร้อง ขอบริการสาธารณะแทนค่าปรับ โดยให้เหตุผลว่าการที่จะขอบริการสาธารณะนั้นจะต้องไม่มีเงินมาชำระค่าปรับแล้ว แต่ศาลเห็นว่าเงินประกันขอคืนได้แล้วก็ยังคงมีเงินที่จะชำระค่าปรับได้ จึงยกคำร้อง แต่ให้ผ่อนผันการชำระหนี้ไปได้
โดยชำระก่อนในวันนี้เป็นเงิน 10,000 บาท และชำระเป็นงวด งวดละ 10,000 บาท จำนวน3 งวด ในวันที่22,29 สิงหาคม และ5 กันยายน 2566
ทั้งนี้ สมพลถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 รวมทั้งหมด 6 คดี โดยนอกจากคดีนี้แล้ว อีก 5 คดี เกิดจากเหตุการณ์ขับรถจักรยานยนต์ไปปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์หลายจุดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 และได้ถูกตำรวจดำเนินคดีแยกไปตามท้องที่เกิดเหตุ
ก่อนหน้านี้มี 2 คดี ที่ศาลจังหวัดปทุมธานีได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยให้ยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เพราะเห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น แต่ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 360 โดยคดีแรกลงโทษจำคุก 6 เดือน และคดีที่สองจำคุก 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่สมพลยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ขณะที่คดีปาสีแดงอีกคดีหนึ่ง ซึ่งถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดธัญบุรีนี้ ศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ส.ค. 2566 นี้
อ่านเรื่องราวของสมพล