31 ก.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ศาลแขวงดุสิตนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ชมพู” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 21 ปี (ขณะเกิดเหตุอายุ 18 ปี) ผู้ถูกจับกุมหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ในกิจกรรม Car Mob x Car Park แสดงพลังขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 และถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในเรื่องการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว
ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ปรับ 10,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับ 5,000 บาท
ถูก คฝ. จับกุมหลังเวลาเคอร์ฟิว และถูกแจ้งข้อหาไปร่วมชุมนุม แม้ยืนยันปฏิเสธ
คดีนี้ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ได้มีการจัดกิจกรรม #ม็อบ15สิงหา Car Mob x Car Park แสดงพลังขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หลังยุติกิจกรรมในเวลา 18.00 น. ได้เกิดเหตุเผชิญหน้าระหว่างประชาชนและชุดควบคุมฝูงชนของตำรวจบริเวณแยกดินแดงนอกพื้นที่กิจกรรม ไปจนถึงหลัง 22.00 น.
ในเวลาประมาณ 21.10 น. ชมพูถูกจับกุมพร้อมกับ “อ้น” (นามสมมติ) ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นเยาวชน อายุ 17 ปี บริเวณปากซอยบุญอยู่ ถ.ดินแดง ขณะกำลังขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยทั้งสองระบุว่า อ้นเพิ่งเลิกงานที่ร้านอาหารแล้วไปรับชมพูซึ่งเพิ่งเสร็จจากช่วยงานขายของที่บ้าน เพื่อจะไปที่พักของรุ่นพี่ที่แฟลตดินแดง ทั้งสองขับขี่รถเข้าไปในซอยเพื่อจะไปยังแฟลต แต่กลับถูกตำรวจควบคุมฝูงชนดักจับกุม โดยไม่ได้ไปร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวทั้งสองไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และได้แจ้งข้อหาต่อทั้งสองคน รวม 2 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม และร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม (21.00 – 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น) อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนอ้น ยังถูกตั้งข้อหา พกอาวุธ (มีด) ติดตัวไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร เพิ่มอีกข้อหาหนึ่ง แต่เขาถูกดำเนินคดีแยกในฐานะเยาวชน
ในชั้นสอบสวน ชมพูให้การปฏิเสธ และตำรวจได้ยื่นขอฝากขังชมพูต่อศาลแขวงดุสิตในวันรุ่งขึ้น ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างสอบสวน โดยให้วางหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
อัยการฟ้องเฉพาะข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว หลังคดีผ่านไปเกือบ 3 ปี
หลังเวลาผ่านไปเกือบ 3 ปี และขาดผัดฟ้องไปแล้ว อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายพิจารณาแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ฟ้องชมพู เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 โดย ศศิกานต์ จิวาลักษณ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ผู้เรียงฟ้อง ได้ยื่นฟ้องชมพูต่อศาลแขวงดุสิต ในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เฉพาะในเรื่องการออกนอกเคหสถานในเวลาห้าม (หรือฝ่าฝืนเคอร์ฟิว) ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่มีหลักประกัน และกำหนดวันนัดพร้อมในวันที่ 17 มิ.ย. 2567
ต่อมา ในวันนัดพร้อมและสอบคำให้การ ชมพูแถลงขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ เนื่องจากอยากให้คดีสิ้นสุดลงโดยเร็ว ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 31 ก.ค. 2567
ศาลลงโทษปรับ 1 หมื่น รับสารภาพ ลดเหลือ 5 พันบาท
วันนี้ (31 ก.ค.) ที่ศาลแขวงดุสิต ชมพูพร้อมกับทนายความ เดินทางมายังห้องพิจารณาคดีที่ 407 เพื่อรอฟังคำพิพากษา ก่อนในเวลาประมาณ 10.00 น. ศาลออกพิจารณาคดี และเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 21.10 น. ซึ่งอยู่ภายในห้วงระยะเวลาที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยและพวกได้บังอาจร่วมกันออกนอกเคหสถานในช่วงเวลาห้ามตามข้อกำหนดฉบับดังกล่าว โดยร่วมกันขับขี่รถจักรยานยนต์ไปที่บริเวณปากซอยบุญอยู่ ถ.ดินแดง ซึ่งอยู่ภายในเขตพื้นที่สถานการณ์กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด ประกาศ หรือคำสั่งที่ออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548
จำเลยให้การรับสารภาพ พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (1), 18 ประกอบข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) ข้อ 4 ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 30) ข้อ 1 และ ข้อ 2 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ปรับ 10,000 บาท
จำเลยรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 5,000 บาท
ผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดี ได้แก่ สมศักดิ์ ฏาราณุท
อนึ่ง นอกจากชมพูกับอ้นแล้ว ในวันดังกล่าว ยังมีผู้ถูกจับกุมอีก 2 ราย ได้แก่ อิฐ (นามสมมติ) ขณะเกิดเหตุเป็นเยาวชน อายุ 16 ปี และนิด (นามสมมติ) อายุ 41 ปี ซึ่งถูกนำตัวไปที่ บช.ปส. ภายในสโมสรตำรวจเช่นกัน โดยอิฐระบุว่า ตนถูก คฝ.ที่อยู่บนรถกระบะยิงด้วยกระสุนยางหลายนัด ขณะที่กำลังหาทางกลับบ้านซึ่งอยู่ในซอยแถวนั้น ก่อนนิดขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านมาและรับขึ้นรถ และถูกจับกุมทั้งคู่
ทั้งนี้ จากปฏิบัติการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงในวันดังกล่าว มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางอย่างน้อย 5 ราย และยังไม่ยืนยันสาเหตุอีก 1 ราย กรณีถูกกระสุนยางเป็นวัยรุ่นชาย 3 ราย นักข่าว 1 ราย และเป็นประชาชนบนแฟลตดินแดง 1 ราย ถูกยิงเข้าที่โหนกแก้มขณะใช้โทรศัพท์ถ่ายวิดีโอ และตะโกนบอกตำรวจว่า “อย่ายิงแก๊ส รู้ไหมว่าเขามีเด็ก” ก่อให้เกิดคำถามต่อมาตรการสลายการชุมนุมของชุดควบคุมฝูงโดยไม่เลือกเป้าหมาย และไม่เป็นไปตามหลักสากล
อ่านประมวลเหตุการณ์ชุมนุมและสลายการชุมนุมในวันดังกล่าว >> Car Mob x Car Park แสดงพลังขับไล่ประยุทธ์ทั่ว กทม.-ดินแดงระอุก่อนกิจกรรมยุติ และ คฝ. ลุยดินแดง