ศาลธัญบุรี ยกฟ้อง 4 นศ.มธ. คดี #ม็อบ2สิงหา64 ร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา หน้า ตชด. ศาลชี้ชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่เสี่ยงโควิด

10 ส.ค. 2565 เวลา 11.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษา คดีของ 4 นักศึกษา-นักกิจกรรมกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้แก่ ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล, ชนินทร์ วงษ์ศรี, ชลธิศ โชติสวัสดิ์, และวัชรากร ไชยแก้ว ในคดีที่สืบเนื่องมาจากการเข้าร่วมในการชุมนุมที่ด้านหน้า บก.ตชด. ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 เพื่อให้กำลังใจกลุ่มทะลุฟ้า

คดีนี้สืบเนื่องมาจากกรณีชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้าที่หน้า บก.ตชด. ภาค 1 หลังสมาชิกกลุ่มและประชาชน รวม 32 ราย ถูกจับกุมจากการรวมตัวกันทำกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรามา คืนประชาธิปไตย” ที่หน้าสโมสรตำรวจ เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2564 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 34, 35 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 จำเลยทั้ง 4 กับพวก ได้ร่วมกันชุมนุมบริเวณสะพานทางเข้า บก.ตชด. ภาค 1 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน มีการพูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้ปล่อยผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ด้านใน ในลักษณะยืนใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

ก่อนหน้านี้ ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย รวม 2 นัด ในระหว่างวันที่ 25-26 พ.ค. 2565 โดยสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 8 ปาก และสืบพยานพยานจำเลยไปได้ 4 ปาก ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้

.

ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” ชี้โจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยทั้ง 4 ผิดตามฟ้องอย่างไร ศาลย้ำจำเลยชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ

เวลา 11.00 น. ศาลออกอ่านคำพิพากษา รายละเอียดโดยสรุป ดังนี้ 

คดีนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จากการสืบพยานในคดีนี้ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายปากเบิกความไปในทิศทางเดียวกันว่า ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ไปติดตามการชุมนุม ถ่ายภาพ และบันทึกวิดีโอเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณหน้า บก.ตชด. ภาค 1 ในวันที่ 2 ส.ค. 2564 

หลังเข้าปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ พบว่า “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ทำการปราศรัยนำกลุ่มมวลชนอยู่ “ฮิวโก้” สิริชัย นาถึง ทำการพ่นสีสเปรย์ลงบนโล่กำบังของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) และพบว่ามวลชนที่ชุมนุมอยู่ในขณะนั้นได้พยายามทำการดันแนวโล่กำบังของเจ้าหน้าที่ คฝ. และเมื่อมีรถจะเคลื่อนที่ออกจาก บก.ตชด. ภาค 1 ผ่านทางสะพานด้านหน้าที่มีมวลชนรวมตัวกันอยู่ มวลชนก็กระทำการขัดขวางไม่ให้รถเคลื่อนที่ออกไปได้ 

เจ้าหน้าที่ คฝ. จึงได้ทำการกันมวลชนเพื่อเปิดทางให้รถเคลื่อนที่ จนจำเลยที่ 1 (ปัณณพัทธ์ จันทนางกูล) ล้มลง และเมื่อนำภาพเคลื่อนไหวบันทึกเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุไปตรวจพิสูจน์ตัวตน พบว่ามีจำเลยที่ 2 (ชนินทร์ วงษ์ศรี), ที่ 3 (ชลธิศ โชติสวัสดิ์) และที่ 4 (วัชรากร ไชยแก้ว) มาเข้าร่วมชุมนุมในขณะนั้นด้วย ตำรวจจึงได้ดำเนินคดีกับทั้งสามด้วยเป็นคดีนี้

การสืบพยานในคดีนี้ จำเลยทั้งสี่อ้างว่า พวกตนสามารถทำการชุมนุมได้ เนื่องจากเป็นสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ยังถือว่าเป็นไปตามสิทธิที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้รัฐบาลจะออกประกาศไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ประกาศดังกล่าวจะต้องไม่กระทบกับสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ

จากการสืบพยานได้ความว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ แนวกำลังของเจ้าหน้าที่ คฝ. ได้ใช้โล่กันมวลชนออกไปเพื่อเปิดทางให้รถเคลื่อนที่ออกไปจาก บก.ตชด. ภาค 1 จนทำให้จำเลยที่ 1 ล้มลง โดยจำเลยที่ 2, 3 และ 4 เบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ดันออกมาจนล้มลงกับพื้นถนน และยืนยันไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ชุมนุมโดยไม่สงบอย่างไร 

เช่นเดียวกับพยานโจทก์ที่เบิกความว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. ดันโล่กำบังใส่ผู้ชุมนุมจนจำเลยที่ 1 ล้มลงกับพื้นและก่อนเจ้าหน้าที่ คฝ. จะควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ไปคุมขังไว้ด้านใน บก.ตชด.ภาค 1 พยานโจทก์ยังเบิกความยืนยันอีกว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอาวุธและเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ 

ศาลเห็นว่าบริเวณด้านหน้า บก.ตชด. ภาค 1 เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่แออัด ผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้มีจำนวนมาก มีเพียง 20-30 คนเท่านั้น อีกทั้งการนำสืบของโจทก์ก็พิสูจน์ไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ชุมนุมโดยไม่สงบหรือมีอาวุธอย่างไร ศาลจึงเห็นว่า จำเลยที่ 1 เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่มีความผิดตามที่ถูกฟ้อง

ด้านจำเลยที่ 3 โจทก์อ้างภาพถ่ายที่มีจำเลยที่ 3 กำลังอยู่ท่าทางคล้ายใช้กำลังดันโล่ของเจ้าหน้าที่ คฝ. แต่เมื่อตรวจดูจากภาพเคลื่อนไหวในเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่าจริงๆ แล้วเหตุการณ์นั้น เจ้าหน้าที่ คฝ. ได้ใช้กำลังดันโล่กับผู้ชุมนุมก่อน จนผู้ชุมนุมล้มลงกับพื้น เพื่อเปิดทางให้รถได้เคลื่อนที่ออกไปบริเวณสะพานด้านหน้า บก.ตชด. ภาค 1 ซึ่งมีผู้ชุมนุมรวมกลุ่มกันอยู่ จากนั้นผู้ชุมนุมจึงได้ตอบโต้ด้วยการโยนแผงเหล็กกั้นและปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ คฝ. อันเป็นการแสดงถึงความโกรธแค้นที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงก่อน 

พยานโจทก์ยังเบิกความยืนยันอีกว่า ด้านหน้า บก.ตชด. ภาค 1 มีเส้นทางถนนใช้สัญจรยานพาหนะเข้า-ออก หลายเส้นทาง แต่เจ้าหน้าที่เลือกใช้เส้นทางที่มีผู้ชุมนุมกำลังรวมกลุ่มกันอยู่ แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. มีความจงใจยั่วยุผุ้ชุมนุมให้เกิดความไม่พอใจ เพื่อต้องการจะสลายการชุมนุม แต่หลังจากรถยนต์เคลื่อนที่ออกไป ก็ไม่ได้มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอีกต่อจากนั้น อีกทั้งโจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำผิดตามฟ้องอย่างไร ศาลจึงเห็นว่า จำเลยที่ 3 เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่มีความผิดตามที่ถูกฟ้อง

ด้านจำเลยที่ 2 และ 4 เมื่อพิจารณาตามที่โจทก์นำสืบ ไม่พบว่าจำเลยทั้งสองเข้าร่วมการชุมนุมโดยไม่สงบอย่างไร แม้จะมีภาพจำเลยที่ 2 ในลักษณะถือไมโครโฟน แต่จำเลยก็ได้ยืนเว้นระยะห่างกับผู้ชุมนุมอื่น สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดการเข้าร่วมการชุมนุม อีกทั้งโจทก์ก็นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองชุมนุมโดยไม่สงบอย่างไร ศาลจึงเห็นว่าจำเลยที่ 2 และ 4 ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่มีความผิดตามที่ถูกฟ้อง

ส่วนที่จำเลยทั้ง 4 ราย ถูกกล่าวหาในฐานความผิดว่า “ร่วมกันจัดการชุมนุมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 5 คนขึ้นไป” พยานโจทก์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมบางรายไม่สวมหน้ากากอนามัย 

ศาลเห็นว่า ผู้ชุมนุมบางรายที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัยนั้นยืนอยู่บนหลังรถกระบะ ซึ่งมีคนยืนอยู่ด้วยบนรถคันดังกล่าวอีก 2 คนเท่านั้น และยืนเว้นระยะห่างกัน เป็นจำนวนคนที่น้อยมาก ไม่น่าจะถึงขนาดกับทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค 

อีกทั้งบริเวณหน้า บก.ตชด. ภาค 1 เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง มีผู้ชุมนุมเพียง 20-30 คนเท่านั้น ไม่ได้เกิดความแออัด จึงไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งไม่ปรากฏว่าพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังการชุมนุมยุติลงแล้วแต่อย่างใด แม้พยานโจทก์จะเบิกความว่า เวลาต่อมามีผู้ชุมนุมมาสมทบอีกประมาณ 100-200 คน แต่พยานโจทก์ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าจำเลยทั้งสี่อยู่ในการชุมนุมต่อไปอีกหรือไม่ ศาลจึงเห็นสมควรให้พิพากษายกฟ้อง 

ทั้งนี้ แม้ว่าศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง แต่ทว่าผลของคดียังคงไม่เป็นที่สิ้นสุด โดยอัยการโจทก์สามารถยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกเป็นลำดับต่อไป 

สำหรับการชุมนุมหน้า บก.ตชด. ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 นอกจากคดีนี้ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ทั้งสี่แล้ว ยังมีผู้ถูกฟ้องอีก 12 คน แยกเป็น 2 คดี ได้แก่ คดีของเบนจา รุ้ง และป้าเป้า และคดีของนักกิจกรรม 9 คน ที่นำโดยเพนกวิน พริษฐ์ ที่ยังอยู่ระหว่างรอต่อสู้ในชั้นศาลทั้งสองคดี

.

อ่านคำฟ้องคดีนี้: ฟ้อง 4 นศ.แนวร่วม มธ. #ม็อบ2สิงหา ให้กำลังใจ “ทะลุฟ้า” ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเลยถูกจับใส่กุญแจมือหลาย ชม.ก่อนได้ประกัน แม้ไม่ใช่คดีร้ายแรง

และดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X