ศาลยกฟ้องคดี “สุปรียา” ชุมนุมเชียงราย ชี้ไม่เสี่ยงต่อโรค ไม่มีผู้ติดเชื้อ และกิจกรรมสงบเรียบร้อย

วันที่ 29 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ สุปรียา ใจแก้ว หรือ “แซน” อดีตนักศึกษาในจังหวัดเชียงราย ที่ถูกฟ้องด้วยข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย ที่ 1/2563 เหตุจากการเป็นพิธีกรในกิจกรรมการชุมนุม #คนเจียงฮายก่ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ ที่บริเวณหอนาฬิกาจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2563

ย้อนอ่าน ประมวลปากคำพยาน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “สุปรียา” ชุมนุม #คนเจียงฮายก่ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ ก่อนศาลพิพากษา

.

ศาลอ่านได้คำพิพากษาเฉพาะในส่วนคำวินิจฉัยโดยสรุป พิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลย เป็นผู้จัดการชุมนุมหรือไม่ เห็นว่าแม้ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “Anti Dictatorship CEI” ที่ประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะ ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ว่าจ้างรถบรรทุก 10 ล้อ ที่ใช้เป็นเวทีในการชุมนุม 

แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ไปร่วมงานชุมนุมตั้งแต่แรก เป็นผู้จัดลำดับผู้ปราศรัย ควบคุมดูแลที่ชุมนุม เมื่อรถบรรทุกมาก็ให้จอด และขึ้นไปบนเวทีเป็นคนแรก ทั้งเมื่อมีผู้ปราศรัยขึ้นไปบนเวที จำเลยก็อยู่ด้วยตลอด บ่งบอกว่าจำเลยสั่งการและกำกับการชุมนุม และตามหลักฐานแผ่นซีดีบันทึกเทปกิจกรรม จำเลยเป็นผู้กล่าวปิดงานทำนองว่าขอบคุณทุกคนและนี่คือการจัดงานเป็นครั้งแรก พฤติการณ์ของจำเลยเป็นลักษณะการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงรับฟังได้ว่าเป็นผู้ร่วมกันจัดการชุมนุมตามฟ้อง

แต่การจะเป็นความผิดตามฟ้อง จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบอื่นๆ คือ การชุมนุมจะต้องแออัด หรือเกิดความไม่สงบเรียบร้อย โดยมีการรวมตัวบุคคลกันเป็นจำนวนมากกว่า 100 คน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

ในประเด็นเรื่องความแออัดหรือไม่นั้น “สถานที่แออัด” หมายความว่ามีคนมั่วสุมกันอย่างหนาแน่น จนไม่สามารถเว้นระยะห่างกันได้ แต่สถานที่ชุมนุม คือบริเวณบนถนนหอนาฬิกา โดยรอบมีพื้นที่ว่างอยู่ จำเลยกล่าวปิดท้ายการชุมนุมว่าหากใครมีขยะให้นำมาทิ้งที่หน้าเวทีได้ จากนั้นผู้ชุมนุมก็แยกย้ายกัน โดยไม่มีการเบียดเสียดกัน การชุมนุมดังกล่าวจึงยังไม่ถึงขนาดเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด

ส่วนประเด็นว่าการชุมนุมเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่นั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในส่วนต่างๆ ต่างก็เบิกความว่าการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบ ไม่มีความรุนแรง แม้เป็นการชุมนุมโจมตีการทำงานของรัฐบาล เป็นเรื่องการเมือง แต่ก็เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีถ้อยคำปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ผู้ชุมนุมไม่มีการพกพาอาวุธ และไม่มีเหตุการณ์การปะทะกับเจ้าหน้าที่ 

จากพยานเอกสารของโจทก์ยังระบุว่า เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุมีกำหนดเวลาเริ่มและสิ้นสุดชัดเจน และผู้ชุมนุมระบุกับทางตำรวจว่าจะพยายามไม่ให้กิจกรรมกีดขวางการจราจร โดยมีการจัดกลุ่มผู้ชุมนุมมาช่วยดูแลการจราจรด้วย แสดงถึงเจตนาว่าต้องการให้การชุมนุมเป็นไปโดยเรียบร้อย 

กรณีการชูสามนิ้วในช่วงท้ายของการชุมนุม ก็คงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย กรณีไม่พอฟังว่าการจัดกิจกรรมเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ประเด็นการแพร่ระบาดโรค แม้การชุมนุมจะมีคนจำนวนมากโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรค แต่พิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ ก็ปรากฏว่าผู้ชุมนุมส่วนมากใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งสามารถลดการแพร่กระจายโรคได้ ทั้งโจทก์ไม่ได้นำสืบว่ามีการติดเชื้อมากน้อยเพียงใดในช่วงเวลาดังกล่าวหรือมีความเสี่ยงอย่างใด 

ทั้งไม่ปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม ประเด็นนี้จำเลยนำสืบต่อสู้โดยนำส่งเอกสารรายงานผู้ติดเชื้อจากสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายมาแสดงว่า หลังจากการชุมนุมสิ้นสุดลงก็ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มา 133 วันแล้ว กรณีจึงไม่พอฟังว่าการจัดกิจกรรมเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค

นอกจากนี้ กรณีจำเลยยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ที่ลงนามโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยได้กำหนดองค์ประกอบเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดที่ให้อำนาจไว้ ดังนั้นคำสั่งฉบับลงวันที่ 3 เมษายน 2563 นั้นไม่มีผลบังคับใช้ เห็นว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งแต่งตั้งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และกำหนดหน้าที่และอำนาจในการแก้ไขในส่วนที่รับผิดชอบ 

ดังนั้น ผู้บัญชาการทหารสูงสุดย่อมมีอำนาจในการออกประกาศให้ใดๆ มิได้เป็นการมีอำนาจเฉพาะที่ประกาศเฉพาะเขตท้องที่เท่านั้น และไม่มีข้อใดกำหนดว่าต้องเป็นทำนองเดียวกันกับเป็นการตั้งด่านตรวจหรือตรวจตราเท่านั้น ประกาศของผู้บัญชาการทหารสูงสุดจึงชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับใช้ได้

ส่วนประเด็นที่จำเลยต่อสู้ว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไม่มีอำนาจออกคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย ทำให้คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติโรคติดต่อ มาตรา 35 ได้กำหนดให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสั่งปิดตลาด รวมถึงมีคำสั่งอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการสั่งปิดตลาดเพื่อควบคุมโรคติดต่อเกี่ยวกับระบบอนามัยของประเทศ ดังนั้นในการที่ระบุข้อกำหนดว่าห้ามจัดกิจกรรมเกินกว่า 100 คน ก็สามารถบังคับใช้ได้

ศาลสรุปว่าพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอฟังได้ว่าการชุมนุมกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง

.

คดีนี้นับเป็นคดีที่ 23 แล้ว ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคดีจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2563 เป็นต้นมา (เท่าที่ทราบข้อมูล) ชี้ให้เห็นแนวโน้มการใช้ข้อหานี้เป็นเครื่องมือเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา (ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง)

.

X