เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2565 เวลา 10.00 น. ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) “ตั้ม” (สงวนชื่อสกุล) นักวาดการ์ตูน วัย 45 ปี พร้อมทนายความ เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) และ (3) โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “คนกลมคนเหลี่ยม” เพจการ์ตูนล้อเลียนและเสียดสีการเมือง และถูกกล่าวหาว่าวาดภาพเสียดสีสถาบันกษัตริย์และการเมือง จำนวน 4 โพสต์
คดีนี้ ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ไว้กับพนักงานสอบสวนที่ บก.ปอท. เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 เพื่อดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊กชื่อ “คนกลมเหลี่ยม” จากการโพสต์ข้อความและรูปภาพที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จำนวน 4 โพสต์
ร.ต.อ.หญิงณัฐชยา วงศ์รุจิไพโรจน์ พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้แจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ มีรายละเอียดโดยสรุปว่า หลังได้รับการร้องทุกข์จากระพีพงษ์ให้ดำเนินคดีกับเพจเฟซบุ๊ก เจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบสวนจนเชื่อว่าเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวมีตั๊มเป็นผู้ดูแล (Admin) โดยพบว่าบัญชีดังกล่าวเปิดมาตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. 2562 และได้ทำการโพสต์ข้อความและภาพตามที่ถูกกล่าวหา จำนวน 4 โพสต์ ดังนี้
1. การ์ตูนล้อคล้ายว่าเป็น ‘ธุรกิจครอบครัว’ เหมือนตระกูลชินวัตร
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 เวลาประมาณ 17.18 น. ได้โพสต์ข้อความว่า “ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนเพจด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 2 ช่อง ลักษณะแนวตั้ง จำนวน 1 ภาพ
ในช่องแรกเป็นตัวการ์ตูน 5 ตัว ตัวแรก (จากซ้ายมือ) มีใบหน้าคล้ายทักษิณ ชินวัตร, “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีการ์ตูนผู้หญิง 2 คนสวมใส่เสื้อเหลือง มีกล่องข้อความลักษณะเป็นคำพูดมีข้อความว่า “๕๕๕ ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ธุรกิจครอบครัว”
ช่องที่ 2 เป็นภาพตัวการ์ตูนคล้ายพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-10 และตัวการ์ตูนเพศหญิง 2 คนทำท่าทางหมอบกราบอยู่ด้านข้าง
ผู้กล่าวหาเห็นว่า โพสต์ดังกล่าวเป็นการพูดและแสดงท่าทางเยาะเย้ยว่าพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-10 เป็นธุรกิจครอบครัวส่งต่อกันเป็นทอดๆ เป็นการเปรียบเทียบและสื่อถึงการเมืองว่าคล้ายครอบครัวชินวัตร
ผู้กล่าวหาระบุว่า ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นการสืบราชสันตติวงศ์ (สืบราชสมบัติ) ที่ถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาล ทำให้เข้าใจได้ว่าการสืบราชสมบัติเป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกันมาเป็นรุ่นสู่รุ่นเพื่อหาประโยชน์ของประเทศชาติให้แก่พวกพ้องของตนเอง เป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าการสืบราชสมบัติเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ของคนในครอบครัว โดยมุ่งหวังกำไรจากประเทศชาติและประชาชน เป็นการดูหมิ่นพระเกียรติและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติและถูกดูหมิ่น เจตนาทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ
2. การ์ตูนล้อคล้าย ร.9 ถก ร.8
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 เวลา 09.48 น. โพสต์ข้อความว่า “ไม่มีใครร้ายเท่าน้องเล็ก ตัวการ์ตูนเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อแสดงความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปภาพวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 3 ช่อง จำนวน 1 ภาพ
ในช่องแรก เป็นตัวการ์ตูนมีใบหน้าคล้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ช่องที่ 2 เป็นตัวการ์ตูนมีใบหน้าคล้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
และช่องที่ 3 เป็นตัวการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 9 สวมเสื้อขาว ท่าทางยิงอาวุธปืน
ผู้กล่าวหาเห็นว่า เป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการบิดเบือนความจริง
3. การ์ตูนล้อคล้ายสื่อ ร.9 ในกรณีสวรรคต ร.8
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 เวลา 14.37 น. โพสต์ข้อความว่า “เล็กยิ่งพี่ทำมายยยยย ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อแสดงความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 5 ช่อง จำนวน 1 ภาพ
ผู้กล่าวหาเห็นว่า ผู้โพสต์ต้องการสื่อถึงการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 8 สนทนากับการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้ายรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นการสร้างข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ถูกต้อง เพื่อให้บุคคลที่พบเห็นเข้าใจว่าเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 เกิดจากรัชกาลที่ 9
รวมทั้งในภาพช่องสุดท้ายมีการ์ตูนที่มีใบหน้าคล้าย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งเป็นบุคคลที่มักจะพูดถึงหรือกล่าวอ้างเรื่องราวเกี่ยวกับการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ซึ่งการโพสต์ดังกล่าวเป็นการใส่ร้ายดูหมิ่นพระเกียรติของรัชกาลที่ 9 รวมทั้งเป็นการบิดเบือนความจริง
4. การ์ตูนล้อคล้ายเสียดสี ร.10
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 เวลา 07.08 น. โพสต์ข้อความว่า “เฝ้าไปนร้าาา ตัวการ์ตูนและเหตุการณ์ในเพจเป็นเพียงการสมมุติขึ้นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น (ฝากสมัครเป็นผู้สนับสนุนเพจด้วยนะครับ)” พร้อมลงรูปวาดการ์ตูนที่แบ่งเป็น 4 ช่อง จำนวน 1 ภาพ
ผู้กล่าวหาเห็นว่าผู้โพสต์ต้องการสื่อให้บุคคลที่พบเห็นเข้าใจว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่มีความห่วงใยประชาชน ไม่มีความสนใจในกิจการบ้านเมืองใดๆ แต่กลับเที่ยวเล่น ณ ต่างประเทศเป็นการเสียดสี ต้องการด้อยค่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติสักการะ
พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาแตกต่างกันในแต่ละโพสต์
โพสต์ที่ 1 และ 4 ถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา”
ส่วนโพสต์ที่ 2 และ 3 ถูกแจ้งเฉพาะข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
หลังรับทราบข้อกล่าวหา ตั้มให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะให้การเป็นหนังสือภายใน 30 วัน อีกทั้งไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาอีกด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2565 เวลาประมาณ 06.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประมาณ 10 นาย เดินทางไปยังที่พักอาศัยของตั้ม เพื่อตรวจค้นและยึดโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง และแท็บเล็ต 1 เครื่อง พร้อมทั้งเอกสารสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีธนาคาร และกระดาษโน้ตสรุปเวลาอ่านหนังสือ
หลังจากตำรวจตรวจยึดสิ่งของแล้ว ตำรวจยังได้ควบคุมตัวตั้มไป บก.ปอท. โดยอ้างว่าเป็นการเชิญตัวไปเพื่อพูดคุยและเจรจา โดยไม่มีหมายจับแต่อย่างใด เมื่อไปถึง บก.ปอท. ตำรวจให้ตั้มถ่ายภาพคู่อุปกรณ์ไอแพดและมือถือที่ตำรวจยึดมาจากบ้าน พร้อมทั้งให้เจ้าตัวเซ็นเอกสารยืนยันสิ่งของเหล่านั้น ก่อนกลับออกจาก บก.ปอท. ตำรวจได้คืนซิมโทรศัพท์ให้
จากนั้น ตำรวจพาตั้มกลับถึงบ้าน เวลาประมาณ 16.30 น. และมีการยื่นหมายเรียกในคดีนี้ให้ที่หน้าบ้าน พร้อมกับถ่ายรูปขณะที่เซ็นรับอีกด้วย โดยวันนั้นตั้มถูกคุมตัวอยู่ที่ ปอท. ราว 5-6 ชั่วโมง
อ่านรายละเอียดการตรวจค้นและเชิญตัวตั้มไป ปอท. >> ตร.ปอท.เข้าค้นยึดมือถือ-ไอแพด นักวาดการ์ตูนเสียดสีการเมือง พาตัวไป ปอท. อ้างเชิญไปคุย ไม่ต้องพาทนายไป
คดีนี้ถือเป็นคดีจากการแสดงออกและแสดงความเห็นทางการเมืองคดีที่ 2 ของตั้ม โดยเมื่อปี 2559 เขาเคยถูกดำเนินคดีจากกรณีร่วมในเหตุการณ์ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ที่หน่วยออกเสียงประชามติเขตบางนา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาจำคุกเขาและจำเลยอีก 2 รายในคดีนี้ คนละ 6 เดือน พร้อมทั้งปรับคนละ 6,000 บาท แต่ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 4 เดือนปรับ 4,000 บาท เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ โดยให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 206 คน ใน 221 คดี
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65