กรกฎาคม 2566: จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองยอดรวม 1,918 คน ใน 1,230 คดี

ท่ามกลางปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลที่เป็นไปอย่างร้อนแรง เกิดการชุมนุมของประชาชนเพื่อเรียกร้องวุฒิสภา พรรคการเมือง และกลไกองค์กรอิสระต่างๆ ให้เคารพเสียงประชาชน ซึ่งยังต้องจับตาสถานการณ์การใช้กฎหมายที่เกิดขึ้นภายหลังกิจกรรม เดือนกรกฎาคมที่ผ่านไป ปรากฏกรณีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ เพิ่มขึ้นอีก 2 คดี โดยเป็นคดีจากการชุมนุมตั้งแต่ช่วงการประชุมเอเปค ขณะที่มีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 2 คดีเช่นกัน จากกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2564-65

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,918 คน ในจำนวน 1,230 คดี

ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี 

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 4 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) 

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,878 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 253 คน ในจำนวน 273 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 162 คน ในจำนวน 82 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 181 คน ในจำนวน 199 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,230 คดีดังกล่าว มีจำนวน 385 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 845 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

.

.
แนวโน้มการดำเนินคดีในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา มีสถานการณ์สำคัญ ดังต่อไปนี้

ผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 เพิ่มขึ้น 2 คดี มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณา 5 รายแล้ว

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูล เพิ่มขึ้นในเดือนที่ผ่านมาอย่างน้อย 1 คน ใน 2 คดี ได้แก่ คดีของจิรัชยา สกุลทอง หรือ “จินนี่” ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหานี้เป็นคดีแรก โดยเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 เธอถูกตำรวจเข้าจับกุมตัว ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อหาที่ บก.ปอท. เหตุจากการไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กในขณะที่กำลังเดินทางไปเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ25กรกฎา แห่เทียนไล่นายกฯ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565

อีกคดีหนึ่ง เป็นคดีที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ออกหมายเรียกสองนักศึกษาธรรมศาสตร์ไปแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม จากกรณีการชุมนุม #ม็อบ3กันยา2564 อ้างว่ามีเนื้อหาการปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ โดย “บิ๊ก” เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ได้เข้ารับทราบข้อหาไปเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2566 แล้ว ตำรวจยังระบุว่ามีการออกหมายเรียกเบนจา อะปัญ อีกหนึ่งราย แต่ยังไม่ได้รับหมายแต่อย่างใด 

น่าสังเกตว่าทั้งสองคดีนี้มี ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ สมาชิกของกลุ่ม ศปปส. เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้

.

.

ในเดือนที่ผ่านมา ยังมีการแจ้งข้อหาเพิ่มเติม อาทิ กรณีของ “สินธุ” หนุ่มขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่ต้องเดินทางจากจังหวัดจันทบุรีไปพบตำรวจที่ สภ.ตะโหมด จังหวัดพัทลุง อีกครั้ง เมื่อตำรวจเรียกไปแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้แจ้งแต่ข้อหามาตรา 112 โดยคดีนี้มีสมาชิกของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหาเอาไว้ 

นอกจากนั้น ยังมีกรณีของ “ปุ้ย” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 40 ปี ที่ได้รับหมายเรียกคดีมาตรา 112 ช่วงก่อนหน้านี้แล้ว แต่เพิ่งเดินทางเข้ารับทราบข้อหาที่ บก.ปอท. เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยถูกกล่าวหาจากกรณีคอมเมนต์ในโพสต์เชิญให้ไปรับเสด็จรัชกาลที่ 10 ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” 

.

.

ขณะที่คดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ในชั้นศาล ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ศาลชั้นต้นทยอยมีคำพิพากษาออกมาอีกอย่างน้อย 4 คดี แยกเป็นคดีที่ต่อสู้คดี 2 คดี คือ คดีของสองเยาวชน “เบลล์” และ “สายน้ำ” รายแรกต่อสู้คดีที่ศาลเยาวชนจังหวัดพัทลุง รายหลังต่อสู้คดีที่ศาลเยาวชนในกรุงเทพฯ โดยศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ทั้งคู่ ในกรณีของสายน้ำ ศาลให้รอการลงโทษไว้ แต่กรณีของเบลล์ ให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 2 ปี แต่เขายังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ในคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ พบว่ามีคำพิพากษาออกมาจำนวน 2 คดี ในสองศาล ได้แก่ ศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษ “อนุชา” ผู้ชูแผ่นป้ายไวนิลใน #ม็อบตำรวจล้มช้าง ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ แต่ให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ 

ขณะที่ศาลอาญาพิพากษาลงโทษ “วัฒน์” กรณีโพสต์ชื่นชมการทรงงานของรัชกาลที่ 9 แต่วิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ 10 ด้วยอัตราโทษจำคุกเท่ากัน แต่กลับส่งให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเรื่องการประกันตัว และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัวมาจนถึงปัจจุบัน ความไม่แน่นอนชัดเจนและลักลั่นของการสั่งประกันตัว จึงยังเป็นปัญหาสำคัญหนึ่งในคดีมาตรา 112

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม มีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ระหว่างพิจารณาเท่าที่ทราบข้อมูลอย่างน้อย 5 ราย ได้แก่ วุฒิ (ขังระหว่างต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น), เวหา-ทีปกร-วารุณี และวัฒน์ (ขังระหว่างอุทธรณ์)

.

.

ขณะที่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ยังปรากฏคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในชั้นศาลอุทธรณ์อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของอิศเรศที่จังหวัดนครพนม ซึ่งโพสต์ถึงกรณีการยังไม่แต่งตั้งกษัตริย์ใหม่ หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือให้ยกฟ้องคดี โดยเห็นว่าแม้จําเลยใช้ถ้อยคําไม่สุภาพและรุนแรง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่น อีกทั้งเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

.

ตำรวจย้อนออกหมายเรียกเหตุชุมนุมช่วงเอเปค 2 คดีรวด ขณะคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องอีก 4 คดีรวด

ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นักกิจกรรมหลายคนทยอยได้รับหมายเรียกของ สน.พลับพลาไชย 2 ในข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยพบว่ามีการออกหมายเรียกถึง 2 คดี ผู้ถูกกล่าวหารวมถึง 19 ราย (มี 1 ราย ถูกกล่าวหาในทั้งสองคดี) 

ทั้งสองคดีมีจากเหตุจากกิจกรรมในช่วงการประชุม APEC2022 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 แม้เหตุจะผ่านมากว่า 8 เดือนแล้วก็ตาม แต่ตำรวจเพิ่งมีการออกหมายเรียก คดีแรก คือกรณีกิจกรรมเรียกร้อง #ดวงตาพายุดาวดิน ที่บริเวณเยาวราช มีผู้ถูกดำเนินคดี 8 คน บางส่วนได้เข้ารับทราบข้อหาแล้ว คดีที่สอง คือกรณีกิจกรรมคัดค้านการประชุมเอเปค ช่วงวันที่ 15 พ.ย. 2565 มีผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 12 คน โดยตำรวจกำหนดให้เข้ารับทราบข้อหาในวันที่ 9 ส.ค. 2566 นี้

ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมของประชาชนต่อปัญหาการจัดตั้งรัฐบาลในปัจจุบัน ทำให้ยังต้องจับตาการบังคับใช้กฎหมายการชุมนุมสาธารณะนี้ต่อไป

.

.

ส่วนคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 พบว่าเดือนที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องออกมาอีก 4 คดี ทั้งคดีคาร์ม็อบที่นครศรีธรรมราช, คดีคาร์ม็อบที่อุตรดิตถ์ (ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น), คดีสาดสีและแสดงออกหน้าพรรคภูมิใจไทย และคดีเยาวชนที่ถูกจับกุมบริเวณห้างเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนชุมนุม #ม็อบ6มีนา2564 โดยหลายคดี ศาลมีคำพิพากษาในทำนองว่ากิจกรรมยังเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ในทางตรงกันข้าม ก็มีคดีชุมนุมที่ถูกฟ้องตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลเห็นว่ามีความผิดในเดือนที่ผ่านมาอีก 3 คดี โดยมีสองคดีที่ศาลลงโทษปรับ และมีคดีของ “เอีย” เด็กอายุน้อยที่สุดเท่าที่ทราบว่าถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม ศาลเห็นว่ามีความผิดในการไปร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง แต่เห็นว่าขณะเกิดเหตุ มีอายุ 12 ปีเศษ จึงไม่ต้องรับโทษ ให้ว่ากล่าวตักเตือนและปล่อยตัวไป

แนวโน้มคำวินิจฉัยในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของศาลต่างๆ จึงยังแยกเป็นสองขั้วอย่างชัดเจน

.

ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำคดีอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก 2 คน ขณะมี 2 คำพิพากษาน่าสนใจในรอบเดือน

นอกจาก “วัฒน์” ที่ไม่ได้ประกันตัวในคดีมาตรา 112 แล้ว เดือนที่ผ่านมายังมีผู้ต้องขังคดีเกี่ยวข้องกับการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน ต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง หลังศาลฎีกามีคำพิพากษายืน ให้จำคุก 1 ปี ในคดีที่เขาถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) กรณีโพสต์เล่าเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ โดยศาลเห็นว่าเป็นข้อความที่ไม่สุภาพ เข้าข่ายลามกอนาจาร และมีลักษณะยั่วยุกามารมณ์ ทำให้คดีนี้ของเอกชัยถึงที่สุด แม้เขาพยายามท้วงติงเรื่องวิธีการนับโทษของศาลที่กลายเป็นผลเสียต่อจำเลยก็ตาม

ขณะที่ยังมีกรณีของผู้ชุมนุมทะลุแก๊ส ได้แก่ “บาส ประวิตร” หนุ่มวัย 20 ปี ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 6 ปี 4 เดือน กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกันวางเพลิงป้อมตำรวจจราจร บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลังการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา2564 โดยศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เขาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา

ในเดือนกรกฎาคม “ต๊ะ คทาธร” ผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีครอบครองวัตถุระเบิด ที่ต้องขังและรับโทษจนครบกำหนดเวลา 1 ปี 3 เดือน 15 วัน ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำแล้ว

.

.

นอกจากสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมือง เดือนที่ผ่านไป ยังมีคดีจากการแสดงออกที่ศาลมีคำพิพากษาที่น่าสนใจอีก 2 คดี ได้แก่ คดีของทิวากร วิถีตน ที่ถูกกล่าวหาในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้ลงชื่อใน Change.org ในประเด็นการทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ แม้ทิวากรจะพยายามโต้แย้งในการอุทธรณ์คดี ว่าการกระทำของเขาไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 116 เป็นเพียงการตั้งคำถามว่าประชาชนต้องการทำประชามติหรือไม่ ไม่ได้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยทิวากรเตรียมจะฎีกาคำพิพากษาคดีนี้ต่อไป 

ส่วนอีกคดีหนึ่ง เป็นกรณีของประชาชน 7 ราย จากหลายจังหวัด ที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาที่ศาลจังหวัดอุดรธานี จากกรณีการแชร์โพสต์เชิญชวนตรวจสอบการทุจริตของเพจ “ข้าราชการปลดแอก” เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2564 ทำให้ถูกข้าราชการในจังหวัดอุดรฯ ไปกล่าวหา

หลังการต่อสู้คดี ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าการแชร์โพสต์ของจำเลย มีเจตนาเพื่อติดตามให้มีการตรวจสอบ รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อโจทก์ จึงยังเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชน

.

.

X