25 ก.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลแขวงนครศรีธรรมราชนัดฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราช ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 คดีนี้มีจำเลยสองคน ได้แก่ ชญานิน คงสง พ่อค้าในตลาดสด และ พนธกร พานทอง ช่างไฟฟ้า ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการจัดชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ทั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่เห็นว่าเฉพาะจำเลยที่ 1 คือชญานิน มีความผิดข้อหาใช้เครื่อขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษปรับ 200 บาท
ประเด็นคำพิพากษาโดยสรุป ศาลเห็นว่า 1. ในความผิดข้อหาร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มทางสังคมที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 30 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองจำเป็นผู้ก่อตั้ง หรือผู้จัดการดูแล (แอดมิน) เพจเฟซบุ๊ก “คนคอนจะไม่ทน” ในวันและเวลาที่เกิดเหตุคดีนี้ หรือมีบทบาทในการกำกับดูแลหรือสั่งการในการจัดกิจกรรมครั้งนี้
ทั้งยังปรากฏว่านอกจากจำเลยทั้งสองแล้ว ยังมีบุคคลอื่นขึ้นพูดปราศรัยเกี่ยวกับปัญหาการบริหารงานของรัฐบาลด้วย ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมและเป็นผู้ขึ้นพูดวิจารณ์การปฏิบัติงานของรัฐบาลในกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้เท่านั้น
พยานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 หรือไม่ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดกิจกรรมชุมนุมตามฟ้อง จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครศรีธรรมราช
2. ข้อหาร่วมกันชุมนุม หรือจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดและพื้นที่ควบคุมสูงสุด
ศาลเห็นว่า ช่วงเวลาดังกล่าวผู้ชุมนุมทุกคนต่างสวมหน้ากากอนามัย ทั้งสถานที่จัดกิจกรรมเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่ได้จัดในสถานที่แออัด มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
พฤติการณ์แห่งคดีแสดงให้เห็นว่า ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ร่วมการแสดงออกทางการเมืองภายใต้สิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนพึงมีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิดอยู่ด้วย
ในช่วงเวลาเกิดเหตุคดีนี้ ประชาชนอาจได้รับเชื้อโควิดจากสาเหตุอื่นได้ มิใช่เกิดจากกรณีการชุมนุมคาร์ม็อบตามที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมาไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
3. สำหรับข้อหาโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยเครื่องกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น
ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างรถยนต์ซึ่งติดตั้งเครื่องขยายเสียง และเป็นผู้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง โดยมิได้ยื่นขออนุญาตทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงจากเทศบาลนครศรีธรรมมราช จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดข้อหาดังกล่าว ลงโทษปรับ 200 บาท
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่ามีส่วนร่วมในข้อหาดังกล่าวอย่างไร จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำผิดในข้อหาดังกล่าวกับจำเลยที่ 1
คดีนี้นับเป็นคดีคาร์ม็อบในจังหวัดนครศรีธรรมราชคดีที่ 2 ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดีจากคาร์ม็อบเหตุวันที่ 7 ส.ค. 2564 ในลักษณะเดียวกันนี้ไปแล้วหนึ่งคดี และคดีนี้ยังเป็นคดีคาร์ม็อบจากกิจกรรมช่วงปี 2564 ในพื้นที่ภาคใต้คดีสุดท้าย ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาออกมา
.
ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน
ฟังปากคำ 2 จำเลยคดีคาร์ม็อบนครฯ 2
———————-
* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”