ฟังปากคำ 2 จำเลยคดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราช คดีที่ 1 ก่อนวันพิพากษา

ในวันที่ 14 ก.พ. 2566 เวลา 13.30 น. ศาลแขวงนครศรีธรรมราชนัดฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราช ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 คดีนี้มีจำเลยสองคน ได้แก่ ชญานิน คงสง และ พนธกร พานทอง ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการจัดชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, ข้อหาจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มทางสังคมจำนวนมากกว่า 20 คน ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ทั้งสองคนถูกตำรวจกล่าวหาว่า ได้โพสต์เชิญชวนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่หน้าหมู่บ้านเดอะซิตี้ ถนนอ้อมค่ายวชิราวุธ ต่อมาได้มีรถยนต์ประมาณ 10 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คันมาเข้าร่วม ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปยังหน้าศาลากลางจังหวัด โดยมวลชนที่ขับขี่รถบางคน ได้ลงจากรถมารวมกลุ่มในลักษณะใกล้ชิดกัน โดยมีผู้ต้องหาทั้งสองคนเดินอยู่ในกลุ่มด้วย และได้พูดปากเปล่าให้นายกรัฐมนตรีลาออกไป และโจมตีรัฐบาล โดยนับคนที่รวมตัวได้เกินกว่า 20 คน

คดีนี้ มีการนัดสืบพยานไปสองช่วง คือช่วงวันที่ 19-20 ธ.ค. 2565 ซึ่งเป็นการสืบพยานโจทก์รวม 6 ปาก ก่อนที่จะนัดสืบพยานจำเลยไปเมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยสืบพยานฝ่ายจำเลยทั้งหมด 3 ปาก จนเสร็จสิ้น

ชวนย้อนอ่านปากคำของจำเลยทั้งสองคนที่ขึ้นให้การเกี่ยวกับที่มาที่ไปที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และยืนยันถึงเสรีภาพการชุมนุมของตน ภายใต้การระมัดระวังเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่แล้ว

.

.

พ่อค้าขายหมู อดีตแกนนำม็อบสวนยางผู้กลับใจ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ชญานิน คงสง จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เบิกความเล่าถึง การประกอบอาชีพค้าขายเนื้อสุกรในตลาดสดใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งให้มีการสั่งปิดตลาดและห้ามการชุมนุม แต่ไม่สั่งปิดห้างสรรพสินค้า แม้มีลักษณะเป็นพื้นที่ปิดและมีความเสี่ยงมากกว่าตลาดด้วยซ้ำ

ชญานินเห็นว่าคำสั่งลักษณะดังกล่าวมีความย้อนแย้ง และเมื่อทราบข่าวการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบจากเพจ เฟซบุ๊กที่ชื่อว่า “คนคอนจะไม่ทน” ว่าจะมีการจัดกิจกรรมในจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมเห็นกลุ่มคณะราษฎรในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ ก็ได้เชิญชวนให้ประชาชนออกมาแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและการจัดการปัญหาโควิด-19 ของภาครัฐ โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมลักษณะคาร์ม็อบ ยังมีความเสี่ยงต่ำ ไม่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน ตนจึงได้ตัดสินใจมาเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว เพราะต้องการเรียกร้องปัญหาเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด และปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ

ชญานินยังระบุว่าในโพสต์ของเพจ “คนคอนจะไม่ทน” นั้น ได้มีการแจ้งมาตรการป้องกันโรค โดยให้ผู้เข้าร่วมสวมใส่หน้ากากอนามัย ตรวจอุณหภูมิจากบ้าน และพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือมาด้วยแล้ว

เขายืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดกิจกรรมตามที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นเพียงผู้เข้าร่วม ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม และไม่ได้เป็นผู้ชักชวนในเพจดังกล่าว เพียงแต่เห็นโพสต์ เลยกดแชร์มาเท่านั้น

ในวันเกิดเหตุ 7 ส.ค. 2564 ชญานินระบุว่า ได้เข้าร่วมการชุมนุมโดยเดินทางไปพร้อมกับญาติด้วยมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ทั้งยังได้ขนผลไม้ไปขายด้วย เพราะเห็นว่าช่วงนั้นมังคุดราคาถูก เลยอยากนำมาขายชาวบ้าน

จำเลยที่ 1 ยังให้การอีกว่าในการชุมนุมถึงแม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาพยายามขัดขวาง แต่กิจกรรมก็เป็นไปอย่างสงบและไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ ขณะนั้นจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด แต่การชุมนุมนั้นก็ได้จัดในพื้นที่โล่งและไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

อัยการโจทก์ถามค้านว่า ก่อนเข้าร่วมชุมนุม พยานเคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิดมาก่อนหรือไม่ ชญานินให้การว่าตนยังไม่ได้รับวัคซีนในขณะนั้น แต่ผู้เข้าร่วมคนอื่นคงได้รับการฉีดวัคซีนมาบ้างแล้ว โดยรับว่าในวันเกิดเหตุ ไม่ได้มีการตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ แต่กิจกรรมก็ใช้เวลาบริเวณพื้นที่หน้าศาลากลางจังหวัดไม่นาน เพียงแต่ไปยื่นหนังสือเรียกร้องต่อผู้ว่าราชการจังหวัด จากนั้นก็แยกย้ายกันกลับ

นอกจากนี้โจทก์ยังพยายามถามอีกว่าพยานเห็นผู้เข้าร่วมชุมนุมดื่มน้ำหรือแตะตัวกันหรือไม่ และทราบหรือไม่ว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้จัด พยานให้การว่าไม่เห็นผู้เข้าร่วมชุมนุมดื่มน้ำหรือแตะตัวกัน และไม่ทราบถึงการขออนุญาตการจัดการชุมนุมดังกล่าว รวมถึงไม่ทราบถึงการติดเชื้อของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่นหลังการชุมนุมอีกด้วย

.

ผู้รับเหมาติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้รับผลจากนโยบายของรัฐบาล จึงออกมาชุมนุม

ด้าน พนธกร พานทอง จำเลยที่ 2 เบิกความว่าตนประกอบธุรกิจด้านรับเหมา-รับติดตั้งเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า กล้องวงจรปิด ระบบโซล่าเซลล์ เครื่องปรับอากาศ และอื่นๆ ในพื้นที่นครศรีธรรมราช และบริเวณจังหวัดอื่นในภาคใต้ เช่น กระบี่และภูเก็ต โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรม โดยเริ่มประกอบอาชีพนี้ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน

ในช่วงสถานการณ์โควิดในปี 2563 – 2564 พนธกรระบุว่า ตนได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาล เช่น การห้ามเดินทางข้ามจังหวัด เนื่องจากการประกอบธุรกิจ พยานจำเป็นต้องมีการเดินทางข้ามจังหวัด อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนให้ประชาชนฉีด แม้ตนได้จองวัคซีนของโรงพยาบาลเอกชนให้ลูกจ้างเป็นจำนวน 20,000 บาท แต่ก็ไม่ได้มีใครได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ในช่วงที่วัคซีนถูกประวิงเวลาจากความผิดพลาดในการบริหารของรัฐบาล

ทั้งนี้ในระหว่างที่พยานได้เล่าถึงผลกระทบที่ตนได้รับนั้น ศาลได้กล่าวห้ามปรามในการเล่าปัญหาส่วนตัวเนื่องจากศาลต้องการเพียงข้อเท็จจริง

พนธกรเบิกความเกี่ยวกับการเข้าร่วมชุมนุมวันที่ 7 ส.ค. 2564 ว่าตนได้ติดตามเพจ “คนคอนจะไม่ทน” อยู่แล้ว และได้เห็นเพจประกาศเกี่ยวกับการจัดการชุมนุมเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่

1. ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

2. ให้รัฐดูแลราคาผลไม้ เนื่องจากตอนนั้นราคาผลไม้ตกต่ำมาก เพราะขณะนั้นมังคุดขายได้กิโลกรัมละ 4 บาท เงาะขายได้กิโลกรัมละ 3 บาท

3. เรื่องการจัดหาวัคซีนโควิดให้ประชาชน โดยในขณะนั้นมีเพียงข้าราชการที่ได้รับวัคซีน

4. เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากมีประเด็นเรื่องการกักตุนหน้ากากอนามัย

พนธกรเห็นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวทั้งหมดตรงกับความต้องการของตน เนื่องจากเขายังมีสวนมังคุด ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ จึงตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุม 

พนธกรเบิกความว่า ตนไม่ได้กดแชร์โพสต์ดังกล่าวและไม่ได้เป็นคนโพสต์ข้อความเชิญชวน อีกทั้งยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม และตนไม่ได้เป็นผู้กำหนดเกี่ยวกับรูปแบบในการจัดกิจกรรม ขณะเดียวกันยืนยันว่าผู้เข้าร่วมก็มีมาตรการป้องกันโควิดของตัวเองอยู่แล้ว เช่น การใส่หน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือ และเว้นระยะห่าง อีกทั้งในโพสต์ของเพจดังกล่าวก็ได้กำหนดถึงมาตรการในการเข้าร่วม ทั้งกำหนดการของเพจดังกล่าว ก็ไม่ได้มีการจัดชุมนุมอยู่ในพื้นที่เดียว แต่เป็นการเคลื่อนที่รอบเมือง เมื่อตนเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีความเสี่ยงมาก จึงเข้าร่วมด้วย

ในวันเกิดเหตุ พนธกรเริ่มเดินทางจากบ้านในอำเภอชะอวด เวลาประมาณ 12.00 น. และถึงจุดนัดพบเวลาประมาณ 14.10 น. พบว่ามีทั้งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และมีนักเรียนนักศึกษาประมาณ 4 – 5 คน รออยู่

ขณะเดียวกันเมื่อเคลื่อนขบวนรถไปทำกิจกรรมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ก็ใช้เวลาไม่นานประมาณ 15 นาที เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมารับหนังสือร้องเรียน ผู้เข้าร่วมชุมนุมก็ได้แยกย้ายกันกลับ โดยพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่โล่ง อากาศปลอดโปร่ง และในการชุมนุมตนไม่ได้ใช้เครื่องขยายเสียง การที่คนพูดบริเวณหน้าศาลากลาง ก็ไม่ใช่การปราศรัย แต่เป็นแค่เพียงการพูดถึงความเดือดร้อนของตนเองตามประสาคนพูดคุยกันปกติ โดยหลังจากการชุมนุม ตนและจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ติดโควิด

ในประเด็นเรื่องการเป็นผู้ดูแลเพจ “คนคอนจะไม่ทน” พยานเบิกความว่าเดิมที ก่อนเกิดเหตุ ไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าว เป็นเพียงผู้ที่ติดตามเพจอยู่ แต่หลังจากเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 1 และ 7 ส.ค. 2564 ทำให้ตนรู้จักน้องๆ ในกลุ่ม จึงได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมกัน จึงได้เป็นผู้ดูแลเพจหลังจากเกิดเหตุดังกล่าวแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีผู้ดูแลเพจหลายคน ไม่ทราบว่าทำไมตนจึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาอยู่คนเดียว

พนธกรยังเบิกความว่า เหตุที่ตนออกมาเรียกร้องนั้นเพราะเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ประชาชนจึงควรจะต้องวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้

.

ภาพกิจกรรมคาร์ม็อบนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 64 (ภาพจากเพจคนคอนจะไม่ทน)

.

นักวิชาการยันการออกคำสั่งจังหวัดต้องได้สัดส่วนและสมควรแก่เหตุ

นอกจากนั้น ในการสืบพยานจำเลยนั้น เดิมฝ่ายจำเลยประสงค์จะสืบพยานนายแพทย์ที่มาให้ความเห็นต่อสถานการณ์โรคโควิด-19 ในขณะนั้นประกอบด้วย แต่ในวันนัดสืบดังกล่าว พยานปากนี้ติดภารกิจ ไม่สามารถมาศาลได้ แต่ได้จัดทำเอกสารความคิดเห็นยื่นประกอบเข้ามา โดยศาลเห็นว่าความเห็นดังกล่าวไม่ได้ทำให้เกิดข้อเท็จจริง การจะพิจารณาว่าการชุมนุมนี้มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดเห็นทางการแพทย์ แต่สามารถที่จะพิจารณาได้จากพฤติการณ์และมุมมองของวิญญูชนว่ามีการเล็งเห็นผลหรือไม่

ขณะเดียวกัน ในการสืบพยานจำเลยปาก ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องนำสืบเรื่องอธิบายความเห็นทางกฎหมาย แต่ให้นำสืบแค่ข้อเท็จจริงเป็นหลัก ในประเด็นข้อกฎหมาย สามารถส่งเป็นเอกสารมาได้

พยานปากนี้ ได้เบิกความเพิ่มเติมในเรื่องการออกคำสั่งของจังหวัด โดยเห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐต้องออกคำสั่งโดยสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนและใช้อำนาจให้สมควรแก่เหตุ โดยการจะพิจารณาว่าจำเลยได้ฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของรัฐหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาทั้งลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์ของประกาศดังกล่าว ต้องดูว่าตามพฤติการณ์นั้นจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดหรือไม่ โดยพยานเห็นว่าการชุมนุมนั้นมีลักษณะโล่งแจ้งและเป็นการเคลื่อนที่ จึงไม่ต่างจากการใช้ชีวิตปกติ ถึงแม้การชุมนุมดังกล่าวจะเป็นการรวมตัวกันเกิน 20 คน แต่ก็ไม่ได้ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของประกาศดังกล่าว

ผศ.สุทธิชัย ยังยกตัวอย่างถึงคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการ และคำพิพากษายกฟ้องของศาลในคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมในจังหวัดต่างๆ อีกทั้งกล่าวถึงงานวิจัยของตนเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมของประเทศเยอรมนีในช่วงปี 2563 – 2564 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในต่างประเทศ พบว่าศาลรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีได้วินิจฉัยว่า เราไม่สามารถที่จะจำกัดการชุมนุมแบบเด็ดขาดได้ แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19

นอกจากนี้ พยานยังกล่าวถึงการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนดทั้งหมดไปแล้วในปัจจุบัน ซึ่งควรเทียบได้กับ พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ยกเลิกให้กัญชาออกจากการเป็นสารเสพติดให้โทษ ที่เมื่อยกเลิกกฎหมายแล้วความผิดก็หมดไป การยกเลิกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงควรตีความให้มีลักษณะเป็นคุณแก่จำเลยเช่นเดียวกัน

สำหรับจำเลยทั้งสองคนในคดีนี้ ยังถูกฟ้องในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในกรณีร่วมคาร์ม็อบอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีกิจกรรมเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ซึ่งคดีนี้ยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้นอยู่ที่ศาลแขวงนครศรีธรรมราชนี้เช่นกัน

.

———————–

* บันทึกสังเกตการณ์คดีโดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X