ฟังปากคำ 2 จำเลย “คดีคาร์ม็อบนครฯ 2” ก่อนศาลพิพากษาคดีสุดท้ายของภาคใต้

วันที่ 25 ก.ค. 2566 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลแขวงนครศรีธรรมราชนัดฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราช ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 คดีนี้มีจำเลยสองคน ได้แก่ ชญานิน คงสง และ พนธกร พานทอง ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องการจัดชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช และ ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

จำเลยทั้งสองคนยังถูกฟ้องในคดีจากคาร์ม็อบวันที่ 7 ส.ค. 2564 ในลักษณะเดียวกัน โดยคดีนี้ศาลแขวงนครศรีธรรมราชได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 วินิจฉัยว่าการชุมนุมเกิดขึ้นในพื้นที่โล่งโปร่ง ผู้เข้าร่วมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย ดำเนินไปโดยสงบปราศจากอาวุธ และเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น มิได้ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด รวมทั้งมิได้กระทบสิทธิเสรีภาพต่อสังคมส่วนรวม ศาลจึงเห็นว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44

จากคำพิพากษาในคดีแรก จึงต้องจับตาคำพิพากษาในคดีที่สองว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ อย่างไร

.

คดีคาร์ม็อบคดีสุดท้ายในพื้นที่ภาคใต้ ที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษา

สำหรับคดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราชคดีที่ 2 นี้ จำเลยทั้งสองคนได้ต่อสู้คดีเช่นกัน แต่มีการเลื่อนสืบพยานโจทก์ออกมาจากช่วงเดือนตุลาคม 2565 ต่อมาในนัดเมื่อต้นปี 2566 จำเลยรายหนึ่งติดเชื้อโควิด ทำให้การสืบพยานเลื่อนออกมาอีก จนมาเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 

คดีนี้นับเป็นคดีคาร์ม็อบขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงปี 2564 คดีสุดท้ายในพื้นที่ทางภาคใต้ ที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาออกมา จากคดีที่เกิดขึ้นในทั้งหมด 9 จังหวัด (คดีในบางจังหวัด อัยการโจทก์หรือฝ่ายจำเลยมีการอุทธรณ์ต่อมา จึงยังไม่สิ้นสุดลง)

ข้อกล่าวหาในคดีนี้ ระบุว่าชญานิน จำเลยที่ 1 เป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊กชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาล ต่อมาเพจเฟซบุ๊ก “คนคอนจะไม่ทน” ก็ได้โพสต์ชักชวนให้มาร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่บริเวณสี่แยกหัวถนน อ.เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัด โดยผู้กล่าวหาอ้างว่า พนธกร จำเลยที่ 2 เป็นแอดมินดูแลเพจดังกล่าว

ต่อมาในวันเกิดเหตุ 1 ส.ค. 2564 ได้มีการย้ายจุดรวมรถมาที่บริเวณหน้าบ้านนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้ต้องหาทั้งสองคนได้ขับรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง มาถึงสถานที่ดังกล่าว จากนั้นได้มีผู้เข้าร่วมทยอยมารวมตัวกัน นับรถยนต์ได้ประมาณ 30 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 30 คัน ทั้งสองคนได้พูดผ่านไมโครโฟน ผ่านรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียง กล่าวปราศรัยโจมตีรัฐบาล ไปถึงหน้าศาลากลาง

เมื่อขบวนรถหยุด มวลชนส่วนหนึ่งได้ลงจากรถมายืนฟังการปราศรัยของชญานินและพนธกร โดยมีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก นับจำนวนผู้ฟังได้เกินกว่า 30 คน นอกจากพูดปราศรัย ยังได้ให้มวลชนส่งเสียงโห่ร้อง ทำสัญลักษณ์ชูสามนิ้วเป็นระยะ จนเวลา 16.00 น. มวลชนได้กดสัญญาณแตรพร้อมกันให้เสียงดัง ก่อนแยกย้ายกันกลับ

.

.

จำเลยที่ 1 คนขายหมู ได้รับผลกระทบจากการปิดตลาด ยืนยันร่วมกิจกรรมไม่เสี่ยงโรค ไม่มีผู้ติดเชื้อ

ในการสืบพยานนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566  จำเลยทั้งสองคนได้ขึ้นเบิกความ โดยต่อสู้ว่ากิจกรรมคาร์ม็อบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เหตุเกิดในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท ผู้เข้าร่วมก็สวมหน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือ ไม่ได้ใกล้ชิดกัน ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อหลังกิจกรรม และไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆ

ชญานิน คงสง จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพค้าขายเนื้อสุกรในตลาดสดใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เบิกความถึงอาชีพของตนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์การสั่งปิดตลาดในระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเปิดร้านได้ และในช่วงนั้นยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19

สำหรับที่มาของกิจกรรม ชญานินเบิกความว่าได้เห็นประชาสัมพันธ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “คนคอนจะไม่ทน” ซึ่งจะจัดในวันที่ 1 ส.ค. 2564  โดยประกาศข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่ การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่มีคุณภาพและทั่วถึง, แก้ไขราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ, เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากการร่วมรัฐบาล และ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากการเป็นนายกฯ เนื่องจากบริหารประเทศผิดพลาด

ชญานินเห็นว่าข้อเรียกร้องดังกล่าว เป็นสิ่งที่ตนได้รับผลกระทบ และต้องการร่วมแสดงออกด้วย จึงตัดสินใจไปร่วมคาร์ม็อบ โดยเดินทางไปกับเพื่อนจากอำเภอชะอวดประมาณ 3-4 คน ด้วยรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ระหว่างทางเจอคนรวมตัวและชูป้ายข้อเรียกร้องเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด และเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำบริเวณหน้าบ้านเทพไท เสนพงศ์ 

หลังจากพูดคุย ทราบถึงข้อเรียกร้องเรื่องวัคซีนที่ไม่มีสิทธิเลือกและเรื่องราคาสินค้าเกษตร ซึ่งตรงกับสิ่งที่ตนต้องการเรียกร้อง และเห็นว่าป้ายที่ชูนั้นไม่ได้ผิดกฎหมาย จึงเข้าร่วมแสดงออก

ต่อมา ผู้ทำกิจกรรมได้ย้ายขบวนไปบริเวณหน้าบ้าน รศ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ (ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในขณะนั้น) ใช้เวลาชุมนุมแต่ละที่ไม่เกิน 20 นาที ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังศาลากลางนครศรีธรรมราช พบว่าได้มีเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ทราบว่ามาจากหน่วยงานใด ได้แนะนำให้เขียนหนังสือระบุความต้องการใส่กระดาษและยื่นให้กับผู้ว่าฯ

ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ร่วมกันเขียนข้อเรียกร้อง ทั้ง 4 ข้อข้างต้น นำไปยื่นร่วมกัน ซึ่งตัวของชญานินนั้นไม่ได้เป็นคนเขียน ไม่รู้จักว่าใครเขียน แต่ได้เป็นตัวแทนยื่นหนังสือผ่านทางเลขาผู้ว่าฯ เมื่อยื่นข้อเรียกร้องแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับ

ชญานิน เบิกความถึงสถานการณ์ในวันเกิดเหตุ ว่า  1. สถานที่มีอากาศค่อนข้างถ่ายเท ไม่แออัด โล่งเปิด ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย และพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จากการติดตามข่าวสารภายหลังจากที่พยานและบุคคลอื่นที่เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ ยังไม่พบว่ามีผู้ใดติดโควิด-19 

2. การจราจรไม่ติดขัด ทรัพย์สินทั่วไปของชาวบ้านและราชการไม่ได้รับความเสียหาย ไม่มีประชาชนคนอื่นมาโห่ร้องไล่ มีแต่คนมาเชียร์ มีจัดบริการน้ำดื่มและจุดต้อนรับจากตัวแทนของบ้าน รศ ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ ด้วย

พยานยังระบุว่า ตนไม่ได้เป็นแอดมินของเพจ “คนคอนจะไม่ทน” แต่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ถูกชวนให้ร่วมเป็นแอดมินภายหลังกิจกรรมคาร์ม็อบไปแล้ว  

ชญานิน ยังได้ยื่นเอกสารความเห็นทางกฎหมายของ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน เกี่ยวกับสิทธิในการชุมนุมและแสดงออก ซึ่งเคยให้การในคดีคาร์ม็อบอื่นๆ และเอกสารรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

จำเลยยังเบิกความถึงคดีคาร์ม็อบหาดใหญ่ และคดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราชกรณีเหตุวันที่ 7 ส.ค. 2564 ที่ถูกฟ้องในข้อหาคล้ายคลึงกัน ซึ่งศาลล้วนมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีคาร์ม็อบบางคดีที่อัยการไม่สั่งฟ้องตั้งแต่แรก 

ในการตอบคำถามค้านของอัยการโจทก์ ที่พยายามสอบถามเรื่องจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม ชญานินเบิกความว่าเขาเห็นว่าส่วนมากที่ไปร่วม เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบด้วยซ้ำ

ส่วนเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือเรื่องรถเครื่องเสียงผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ชญานินรับว่าได้โพสต์จริง เพื่อหารถมาช่วยดำเนินกิจกรรม แต่ไม่สามารถหาได้ ก่อนมีผู้มาช่วยในวันจัดกิจกรรมนั้น โดยไม่ได้มีการแจ้งไว้ล่วงหน้า ส่วนที่ตนได้ขึ้นปราศรัยนั้น ก็มีผู้อื่นได้พูดอยู่ก่อนแล้ว และก็มีผู้ปราศรัยตามมาอีก ไม่ได้สะท้อนว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม

.

จำเลยที่ 2 ได้รับผลเศรษฐกิจช่วงโควิด เป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค 

พนธกร พานทอง จำเลยที่ 2 ขึ้นเบิกความว่า เดิมตนทำอาชีพรับเหมาเป็นช่างไฟฟ้าทั่วไป บริการแก่โรงแรม ทำให้ต้องเดินทางบ่อย ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีก ตอนนั้นตนและลูกน้องรับเหมางานที่เกาะในจังหวัดภูเก็ต

พนธกรระบุว่า ตนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดและคำสั่งที่มีการปิดเมือง แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนได้ทันท่วงที ทำให้ตนและลูกน้องไม่สามารถเดินทางออกจากเกาะได้ และต้องรับผิดชอบดูแลลูกน้องประมาณ 10 กว่าชีวิต จำเป็นต้องขายรถไป 1 คัน เพื่อนำเงินมาดูแลลูกน้องที่ติดเกาะด้วยกัน เมื่อเดินทางกลับบ้านที่อำเภอชะอวด พบว่าราคาผลไม้ตกต่ำเยอะมาก มังคุดกิโลกรัมละ 5-8 บาท โดยไร้การเหลียวแลจากภาครัฐ

ต่อมาได้เห็นข้อความเชิญชวนร่วมคาร์ม็อบจากเพจ “คนคอนจะไม่ทน” เห็นว่าข้อเรียกร้องของกิจกรรมเป็นสิ่งที่ตนต้องการ การประชาสัมพันธ์ยังแจ้งถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ในการเข้าร่วมคาร์ม็อบ เช่น ให้เว้นระยะห่าง  ใส่หน้ากากตลอดการชุมนุม และให้พกสเปรย์แอลกอฮอล์

ในวันเกิดเหตุ พยานได้เดินทางจากอำเภอชะอวดมาร่วมกิจกรรม โดยได้พบกับจำเลยที่ 1 ถือป้ายไล่ประยุทธ์อยู่ จึงเข้าไปสอบถามว่าจะมาร่วมกิจกรรมที่หัวถนนใช่ไหม จึงขอติดรถมาด้วย ทั้งสองไม่ได้รู้จักกันมาก่อน โดยขณะนั้น พยานเป็นแค่ผู้เข้าร่วมชุมนุม ยังไม่ได้เป็นแอดมินเพจ “คนคอนจะไม่ทน” 

พนธกรไล่ลำดับเหตุการณ์คาร์ม็อบที่เกิดขึ้น ซึ่งเดินทางไปทั้งหมด 3 จุด โดยสถานที่ทั้งหมดมีความโล่งโปร่ง อากาศถ่ายเท รวมตัวกันในระยะเวลาสั้นๆ ไม่กิน 10 นาที โดยในจุดบ้านของ ดร.รงค์ นั้นมีการเปิดบ้านต้อนรับ วางจุดบริการน้ำดื่มให้ประชาชนที่มาด้วย ผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบก็ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด โดยทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง และการจราจรก็ไม่มีปัญหาติดขัด 

พยานเบิกความว่า ตนไม่ทราบว่าการชุมนุมนี้ใครเป็นผู้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง และเท่าที่ทราบ หลังคาร์ม็อบ ก็ไม่ได้มีรายงานว่ามีผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ รวมทั้งตัวเองติดเชื้อโควิด 

ในประเด็นที่ตำรวจกล่าวหาว่าพนธกรเป็นแอดมินเพจ “คนคอนไม่ทน” เขายืนยันว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเพจก็หลังจากเข้าร่วมคาร์ม็อบไปแล้ว เนื่องมาจากมีผู้ร่วมชุมนุมชวนให้ตนไปเป็นแอดมินเพจ เนื่องจากคุยกันแล้ว มีความคิดและอุดมการณ์เดียวกัน

ในการตอบคำถามค้านของอัยการโจทก์ พนธกรระบุว่า ระหว่างกิจกรรมวันเกิดเหตุ ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่มาห้ามไม่ให้จัด แต่ทราบว่ามีการมาอ่านข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค  

ส่วนเรื่องการเป็นแอดมินเพจ ตนเข้าไปเป็นประมาณสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 และปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว เนื่องจากไม่ได้ทำกิจกรรม และเบื่อกับภาระในการถูกดำเนินคดีที่เกิดขึ้น 

.

———————-

* บันทึกการสังเกตการณ์โดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)

X