เปิดคำพิพากษายืนคดี  “ทิวากร” ม.116 โพสต์ชวนทำประชามติคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้รอการลงโทษจำคุกไว้

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 ศาลจังหวัดลำปางอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ ทิวากร วิถีตน เกษตรกรจากจังหวัดขอนแก่นวัย 46 ปี ผู้สวมใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาในสถาบันกษัตริย์แล้ว” ที่ถูกฟ้องในข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) 

สืบเนื่องด้วยทิวากร ถูกนายทวี อินทะ เครือข่ายเฝ้าระวังปกป้องและพิทักษ์สถาบันฯ ในจังหวัดลำปาง แจ้งความกล่าวหาเหตุเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้ามาลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org ล่ารายชื่อคนที่ต้องการทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ว่า “เปิดแล้ว ! ล่ารายชื่อคนที่ต้องการให้ทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์” พร้อมมีข้อความบนลายพื้นในหน้าแคมเปญว่า “เราฝันถึงระบอบสาธารณรัฐ/สหพันธรัฐที่ไม่ต้องมีกษัตริย์” 

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2565 ศาลจังหวัดลำปางมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ลงโทษจำคุก 3 ปี โดยรอการลงโทษไว้ มีกำหนด 3 ปี ก่อนทิวากรตัดสินใจอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว และศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืน

.

จำเลยยื่นอุทธรณ์ ยืนยันการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบ ม.116 เป็นเพียงการตั้งคำถามว่าประชาชนต้องการทำประชามติหรือไม่ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ทิวากรได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยสรุปว่า การโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นว่าควรมีการทำประชามติว่า “จะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์” หรือไม่นั้น เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และการดำเนินคดีกับจำเลยเป็นการมุ่งปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

การตั้งคำถามของจำเลยไม่ได้มีความหมายและไม่สามารถอ่านตีความให้เป็นการชักชวนเพื่อให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์ ซึ่งหากมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นก็เพียงแต่เห็นด้วยกับการทำประชามติตามประเด็นคำถามดังกล่าว ไม่ควรเป็นความผิดตามกฎหมายใด

นอกจากนี้จำเลยไม่เคยโพสต์ข้อความว่า “ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ แต่โพสต์คำว่า “ระบอบกษัตริย์” ซึ่งไม่ใช่ระบอบการปกครองปัจจุบันของไทย ดังนั้นจำเลยจึงไม่ได้มีเจตนาชักชวนให้ประชาชนล่วงละเมิดต่อกฎหมายใด และหากมีการทำประชามติขึ้นที่อาจเป็นการฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญ ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะต้องรับผิดตามกฎหมาย

การบรรยายฟ้องของโจทก์ย่อมคลาดเคลื่อนเกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดี โดยเว็บไซต์ Change.org ก็ไม่ใช่เว็บไซต์สำหรับการทำประชามติที่มีผลทางกฎหมาย และจำเลยก็ไม่ได้มีแผนการหรือตระเตรียมการลงมือปฏิบัติใดๆ เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านการทำประชามติ

ดังนี้ แม้การทำประชามติดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงในประเทศไทยก็ยังอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารหรือรัฐสภา ซึ่งจำเลยไม่สามารถทำให้เกิดประชามติด้วยตนเองได้ โดยจำเลยทำเพียงการสอบถามรายชื่อผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยให้มีการทำประชามติในฐานะประชาชน จึงอยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญและเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

.

.

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เห็นว่าจำเลยโพสต์ชวนทำประชามติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง อาจขัดต่อรธน. ก่อให้เกิดความแตกแยก

เวลา 9.30 น. ทิวากรเดินทางจากจังหวัดขอนแก่นมาฟังคำพิพากษาที่จังหวัดลำปาง ศาลจังหวัดลำปางได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยืนตามศาลชั้นต้น

โดยสรุปคำพิพากษา ข้อความทั้งหมดที่จำเลยโพสต์เป็นการชักชวนให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมทำประชามติในหัวข้อที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 1, 2, 50 โดยข้อความชักชวนให้เลือกว่าจะคงไว้หรือให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยปรารถนาให้เปลี่ยนแปลงเป็นการปกครองแบบสาธารณรัฐหรือสหพันธรัฐที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ย่อมทำให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้งในทางความคิดและอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังในสังคม และมิใช่เป็นการกระทำในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นซึ่งจำเลยเชื่อโดยสุจริต

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเพียงแสดงความคิดเห็นซึ่งเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ในทำนองว่าไม่มีเจตนากระทำความผิดและมิได้มีมูลเหตุจูงใจเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินนั้น  เห็นว่า เจตนาเป็นเรื่องภายในจิตใจของจำเลยซึ่งเป็นเรื่องยากจะวินิจฉัยจึงต้องดูการกระทำของจำเลยเป็นสำคัญ เพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา และจำเลยจะมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินหรือไม่นั้น มิใช่ถือเอาตามความเข้าใจของจำเลย อีกทั้งการที่จำเลยโพสต์ข้อความแล้ว กลับมาแก้ว่าไม่มีเจตนาตามข้อความที่โพสต์ย่อมยากจะรับฟัง 

การที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวในเฟซบุ๊กโดยเปิดสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งเป็นข้อความชักชวนให้ประชาชนมาร่วมกันทำประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ โดยหัวข้อที่ชักชวนให้ทำประชามติอาจก่อให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้ง หรือเกลียดชังของประชาชนในสังคมและมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ

ดังนี้การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) เมื่อความผิดตามมาตรานี้อยู่ในหมวด 2 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรค 1 (3) 

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย 

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงนามโดย นางสุภาวรรณ มหัตเดชกุล, นางอลิศรา มานะจิตต์ และนางกริตติกา ทองธรรม

.

ดาวน์โหลดคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฉบับเต็ม

.

ทิวากรโพสต์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา เตรียมฎีกาคำพิพากษาต่อ

ภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ทิวากรและทนายจำเลยหารือที่จะเตรียมฎีกาคำพิพากษาต่อไป เขายังได้โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นต่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ มีเนื้อหาบางส่วนว่า

“ผมไม่อาจที่จะยอมรับคำตัดสินของศาลที่ตัดสินด้วยการมโนและคิดเองเออเองว่า ผมมีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบปัจจุบันที่มีกษัตริย์ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐหรือสหพันธรัฐที่ไม่มีกษัตริย์ได้ เพราะผมไม่ได้มีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบปัจจุบันที่มีกษัตริย์ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐหรือสหพันธรัฐที่ไม่มีกษัตริย์ เจตนาที่แท้จริงของผมคือแค่ต้องการที่จะทราบว่ามีใครต้องการให้ทำประชามตินี้และมีจำนวนเท่าใดเท่านั้น เจตนาของผมมีเพียงเท่านี้จริงๆ

“ถ้าผมมีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจริงๆ ผมไปทำวิธีอื่นไม่ดีกว่าเหรอ แทนที่จะมาล่ารายชื่อคนที่อยากให้ทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ ซึ่งมันมีให้เลือกว่าต้องการให้คงสถาบันกษัตริย์ไว้ด้วย

“แล้วต่อให้มีคนมาลงชื่อว่าอยากให้ทำประชามติเป็นจำนวนมาก ประชาชนคนธรรมดาตัวคนเดียวอย่างผมก็ไม่มีอำนาจที่จะจัดให้ทำประชามติได้อยู่แล้ว คนที่มีอำนาจที่จะทำให้ประชามติเกิดขึ้นได้ คือสภาผู้แทนราษฎรที่มีหน้าที่ในการร่างกฎหมายต่างหากล่ะ

“แล้วถึงแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะมีการออกกฎหมายเปิดให้มีการทำประชามติ สภาผู้แทนราษฎรก็เป็นคนกำหนดว่าจะทำประชามติแบบไหน และจะดำเนินการตามผลประชามติหรือไม่/อย่างไร ดีไม่ดีสภาผู้แทนราษฎรอาจจะแค่ทำประชามติโดยไม่มีการยกเลิกสถาบันกษัตริย์จริงๆก็ได้

“ดังนั้นคำตัดสินของศาลที่ศาลอ้างว่าการกระทำของผมว่าเป็นการกระทำที่เจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงเป็นคำตัดสินที่ผิดไปจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง”

.

ย้อนอ่านเกี่ยวกับคดีนี้

“ล่ารายชื่อถามควรมีประชามติคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์” ไม่ใช่อาชญากรรม: ปากคำพยานคดี ม.116 ‘ทิวากร’ ที่ลำปาง

การเสนอให้ทำประชามติเป็นหนึ่งในวิถีทางประชาธิปไตย: บนถนนหนทางสู้คดี ม.116 ของ “ทิวากร” จากขอนแก่นสู่ลำปาง

ดูตารางสถิติคดีมาตรา 116 หลังเยาวชนปลดแอก

X