4 ต.ค. 2565 เวลา 9.00 น. เป็นอีกวันที่ ‘ทิวากร วิถีตน’ เกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 46 ปี จะต้องเดินทางมายังจังหวัดลำปาง เพื่อฟังคำพิพากษาตามนัดของศาลจังหวัดลำปาง หลังจากการสืบพยานอย่างเข้มข้นถึง 4 วันเสร็จสิ้นไป เมื่อวันที่ 23-26 ส.ค. ที่ผ่านมา
คดีนี้ทิวากร ถูกนายทวี อินทะ เครือข่ายเฝ้าระวังปกป้องและพิทักษ์สถาบันฯ ในจังหวัดลำปาง กล่าวหาในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดต่อความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุเนื่องจากการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้ามาลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org ล่ารายชื่อคนที่ต้องการทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์
ที่ผ่านมาทิวากรได้ต่อสู้คดีที่ยาวนานกว่า 1 ปี สิ่งที่ลำบากสำหรับเขาคือการต้องเดินทางมาจากขอนแก่น – ลำปาง รวม 5 ครั้ง ตั้งแต่รับทราบข้อกล่าวหา ในช่วงที่ไม่มีรถประจำทางเนื่องจากสถานการณ์โรคติดต่อโควิด-19 ทำให้เขาต้องขี่รถจักรยานยนต์ส่วนตัวเดินทางมา
ต่อจากนั้นเมื่อ 3 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการได้พิจารณาสำนวนมีความเห็นสั่งฟ้องทิวากรต่อศาลจังหวัดลำปาง โดยสรุประบุว่า
- เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เฟซบุ๊กของ ‘ทิวากร วิถีตน’ ได้โพสต์ข้อความว่า “เปิดแล้ว ! ล่ารายชื่อคนที่ต้องการให้ทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์” และข้อความบนลายพื้นว่า “เราฝันถึงระบอบสาธารณรัฐ/สหพันธรัฐที่ไม่ต้องมีกษัตริย์” และมีข้อความถัดลงมาด้านล่างอีกว่า “change.org เริ่มปฏิบัติการ: ล่ารายชื่อคนที่ต้องการทำประชามติให้เลือกว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
- อัยการกล่าวหาว่าข้อความที่จำเลยโพสต์ มิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต และมิได้กระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นการยุยง ปลุกปั่น ปลุกเร้า และชักชวนประชาชนเพื่อให้คล้อยตามและหลงผิดรวมตัวกัน เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนทั่วไปที่อ่านข้อความ เพื่อที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร โดยร่วมมือกับจำเลยและเข้าลงชื่อในเว็บไซต์ change.org ที่จำเลยเปิดให้ลงประชามติ เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของจำเลยที่ต้องการยกเลิกระบอบกษัตริย์และเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทิวากรยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน จนกระทั่งการสืบพยานในชั้นศาล โดยการต่อสู้คดีของเขาได้ยอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง แต่ยืนยันว่าการโพสต์ข้อความไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐาน ”กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตามมาตรา 116 ตามที่โจทก์ฟ้อง และเมื่อไม่เป็นความผิดฐานความมั่นคง ก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฯ มาตรา 14 (3)
นอกจากนี้ทิวากรยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การโพสต์ดังกล่าวของเขาก็เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในฐานะพลเมืองไทยที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตยในทางที่ดีขึ้นเท่านั้น ไม่ได้เป็นการ ‘ล้มล้างการปกครอง’ อย่างที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด
อ่านบทสัมภาษณ์ทิวากร การเสนอให้ทำประชามติเป็นหนึ่งในวิถีทางประชาธิปไตย: บนถนนหนทางสู้คดี ม.116 ของ “ทิวากร” จากขอนแก่นสู่ลำปาง
.
สืบพยานด้วยการบันทึกวิดีโอ ฝ่ายจำเลยยันการโพสต์สอบถามว่าควรมีประชามติหรือไม่ เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย
ศาลจังหวัดลำปางนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย เป็นเวลายาว 4 วัน โดยเพื่อความสะดวกต่อการพิจารณาคดี ศาลได้นำระบบบันทึกคำพยานด้วยภาพและเสียงในห้องพิจารณาคดี (e-Hearing System) มาใช้ในการบันทึกคำเบิกความพยาน ทำให้การสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ฝ่ายพนักงานอัยการโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบทั้งหมดจำนวน 9 ปาก ได้แก่ นายทวี อินทะ ผู้กล่าวหา, ร.ต.อ.ศิระศักดิ์ สรณ์สิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองลำปาง, นายสง่า เจียรรัตนสวัสดิ์ ทนายความ, นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง, นางจันทร์สม เสียงดี ข้าราชการครูบำนาญ, พ.ต.ท.วิเชียร ใจสันกลาง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำปาง, นายสัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัล และ นายจินดา วงศ์สวัสดิ์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย จังหวัดลำปาง
ส่วนฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าสืบทั้งหมด 4 ปาก ได้แก่ จำเลย, กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร, อานนท์ ชวาลาวัณย์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (ilaw)
พยานโจทก์เกือบทุกปาก เบิกความไปในทำนองเดียวกันว่าการกระทำของจำเลยไม่ใช่การกระทำภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญไทย ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเมื่อบุคคลทั่วไปพบเห็นข้อความอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม
แต่อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ตอบทนายความถามค้านในทำนองเดียวกันว่า เมื่ออ่านข้อความที่ทิวากรโพสต์แล้วก็เห็นว่าเป็นถ้อยคำสุภาพ ไม่มีคำหยาบคาย ไม่มีข้อความให้ไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือให้ใช้อาวุธ ให้ไปทำร้ายร่างกายคนอื่น หรือยุยงให้เกิดความรุนแรงขึ้นในบ้านเมือง หลังจากมีการแจ้งความดำเนินคดีบ้านเมืองก็ปกติดีไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่ ทั้งพยานโจทก์ที่เป็นพยานความคิดเห็นสามปาก พบว่าคำให้การในชั้นสอบสวน มีข้อความคล้ายคลึงกันในลักษณะคัดลอกกันมา
ขณะที่พยานจำเลยเบิกความไปในทางเดียวกันว่า การโพสต์ล่ารายชื่อสอบถามว่าควรให้มีประชามติว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ของจำเลยนั้น เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และเป็นเสรีภาพสิทธิพลเมือง ทั้งการกระทำดังกล่าวก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 แต่อย่างใด
.
.
ข้อกล่าวหาพยานโจทก์ 9 ปาก
พยานผู้กล่าวหา: เข้าใจว่าการโพสต์ของทิวากร เป็นการล้มล้างสถาบันฯ – หนังสือแจ้งความมีบุคคลอื่นในกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ช่วยกันจัดทำ
นายทวี อินทะ สมาชิกเครือข่ายเฝ้าระวังปกป้องและพิทักษ์สถาบันฯ ในจังหวัดลำปาง เบิกความว่าตนเปิดเฟซบุ๊กในวันที่ 28 มิ.ย. 2564 พบว่านายทิวากรได้โพสต์ล่ารายชื่อทำประชามติคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตรย์ และมีข้อความ “เราฝันถึงสหพันธรัฐโดยไม่มีพระมหากษัตริย์” จึงได้ไปแจ้งความที่ สภ.ห้างฉัตร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของ สภ.เมืองลำปาง จึงได้ไปแจ้งความที่สถานีดังกล่าว โดยการแจ้งความได้ยื่นเป็นหนังสือและเอกสารหน้าเฟซบุ๊กของทิวากร
ทวีตอบทนายความถามค้านรับว่า หนังสือร้องทุกข์ที่นำมายื่นต่อพนักงานสอบสวน ตนไม่ได้จัดทำขึ้นเอง แต่มีกลุ่มเครือข่ายปกป้องสถาบันฯ ที่ทวีไม่รู้จัก ช่วยปรึกษากันจัดทำขึ้นมาให้ไปยื่น ทวีเบิกความว่าจำไม่ได้ว่าใช้เฟซบุ๊กอะไรเข้าไปดู แต่พบและแคปข้อความที่กล่าวหาในวันที่ 28 มิ.ย. 2565 โดยจำไม่ได้ว่าทิวากรโพสต์วันที่เท่าไร และเข้าไปพบข้อความเวลาอะไร
นอกจากนี้ ทวียังเบิกความรับว่าข้อความที่กล่าวหานั้น ไม่มีข้อความหยาบคาย ไม่มีการบอกให้ไปใช้กำลังประทุษร้าย ไปก่อความวุ่นวาย หรือก่อความรุนแรงในบ้านเมืองให้เกิดความไม่สงบสุข ทวีทราบว่าข้อหาที่มาแจ้งความทิวากร คือ “ล้มล้างการปกครอง” โดยเป็นความคิดของตนเอง ส่วนการกระทำจะเข้าองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ทวีก็ไม่ทราบ
ทนายความพยายามถามถึงความเข้าใจคำว่า “ระบอบกษัตริย์” และ “ระบอบสหพันธรัฐ” ของทวีอยู่นานว่ามีความเข้าใจว่าอย่างไรบ้าง แต่ทวีตอบว่าเขาเข้าใจ แต่ไม่ขอตอบคำถามดังกล่าว
นอกจากนี้หลังจากที่พบว่าทิวากรโพสต์ข้อความดังกล่าวแล้ว ทวีรับว่าบ้านเมืองก็ปกติดี และระบอบกษัตริย์ก็ยังอยู่เหมือนเดิม
.
พยานตำรวจ 2 ปาก: ตำรวจตั้งคณะทำงานฯ พิจารณาเห็นว่าผิด ม.116 – กำหนดพยานบุคคล 4 ด้าน
ร.ต.อ.ศิระศักดิ์ สรณ์สิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองลำปาง และ พ.ต.ท.วิเชียร ใจสันกลาง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำปาง เบิกความไปในทางเดียวกันว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ทวี อินทะ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เข้ามาแจ้งความที่ สภ.ห้างฉัตร แต่เห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจ สภ.เมืองลำปาง จึงให้ผู้กล่าวหาไปแจ้งความที่ สภ.เมืองลำปาง เนื้อหาว่ามีบุคคลชักชวนให้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาเป็นสหพันธรัฐ
หลังจากรับแจ้งความแล้ว มีการตั้งคณะทำงานของพนักงานสอบสวน และเรียกผู้กล่าวหามาสอบปากคำเพิ่มเติม
ส่วนตำรวจฝ่ายสืบสวนได้ดำเนินการสืบสวนจากเฟซบุ๊กของทิวากร หาทะเบียนราษฎร์ หาความเชื่อมโยงของจำเลยในคดีนี้ โดยสืบหาญาติพี่น้องและแชทในเฟซบุ๊ก สืบทราบว่าเป็นตัวจำเลยในคดีนี้จริง โดยมีการโพสต์ในเฟซบุ๊กในเรื่องอื่น ๆ เช่น การโพสต์ว่าถูกกลั่นแกล้งอุ้มเข้าโรงพยาบาลจิตเวช หรือ โพสต์หมายนัดของศาลจังหวัดขอนแก่นที่เลื่อนนัดคดี ม.112 ที่ทิวากรเป็นจำเลยอีกคดีหนึ่ง รวมทั้งมีการโพสต์ภาพคนในครอบครัว จึงเชื่อว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นของทิวากรจริง จึงได้ส่งให้พนักงานสอบสวนรวบรวมเสนอผู้บังคับบัญชา
ร.ต.อ.ศิระศักดิ์ เห็นว่าโพสต์ของทิวากรเป็นโพสต์ชักชวนให้บุคคลทั่วไปมาลงชื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสหพันธรัฐที่ไม่มีกษัตริย์เป็นประมุข เป็นการชักชวนปลุกปั่นให้ประชาชนหลงเชื่อและคล้อยตาม จึงได้จัดทำรายงานสืบสวนตามลำดับขั้นตอนไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกทิวากรมารับทราบข้อกล่าวหา
ส่วน พ.ต.ท.วิเชียร เมื่อรับแจ้งความแล้วพิจารณาเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการชักชวน ยุยง เร่งเร้า ให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้เปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยไปเป็นสหพันธรัฐ เป็นการชักชวนให้คนทั่วไปล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน มาตรา 116 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 อันไม่ใช่การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.ศิระศักดิ์ ตอบทนายความถามค้านเรื่องเอกสารที่นำมาฟ้องจำเลยว่าเป็นภาพที่แคปจากมือถือ ซึ่งไม่มี URL และลิงก์ที่มาในเอกสาร ทั้งพยานเองก็ไม่ได้เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางไอทีที่จะตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ส่วน พ.ต.ท.วิเชียร ตอบทนายว่า ไม่ได้สอบสวนผู้กล่าวหาว่าใช้บัญชีเฟซบุ๊กอะไรเข้าไปพบเห็นข้อความของทิวากร
ทั้งนี้ สำหรับการเลือกพยานบุคคลที่มาให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อความ ในการตั้งคณะกรรมการของพนักงานสอบสวนได้มีการประชุมคดี และกำหนดให้รวบรวมพยานบุคคลผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา ความรู้ทางกฎหมาย นักการเมือง และอาจารย์กฎหมาย โดยที่ประชุมไม่ได้ระบุว่าจะให้สอบบุคคลใด พ.ต.ท.วิเชียร เป็นผู้เลือกพยานมาสอบสวน ยืนยันว่าไม่ได้เจาะจงนำพยานฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยมาเป็นพยานเพียงฝ่ายเดียว
พ.ต.ท.วิเชียร เบิกความรับว่าการสอบปากคำพยานความคิดเห็นในชั้นสอบสวน 4 ปาก ได้แก่ นายสง่า เจียรรัตนสวัสดิ์ ทนายความ (ด้านความรู้กฎหมาย), นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง (อาจารย์กฎหมาย), นางจันทร์สม เสียงดี ข้าราชการครูบำนาญ (ด้านการศึกษา) และ นายจินดา วงศ์สวัสดิ์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย (นักการเมือง) บางปากได้สอบปากคำที่บ้าน หรือร้านกาแฟ โดยข้อความในคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานทั้ง 3 ปาก ยกเว้นอาจารย์กฎหมาย มีข้อความคล้ายคลึงไปในทางเดียวกัน
ทนายความสังเกตว่าข้อความแทบจะเหมือนกันเกือบทุกตัวอักษร แต่ พ.ต.ท.วิเชียร ยืนยันว่าไม่เหมือนกัน เหตุที่ใกล้เคียง มีสาระสำคัญคล้ายกันอย่างมาก เพราะตนต้องฟังและเปลี่ยนจากภาษาเหนือเป็นภาษากลาง และจะต้องสรุปประเด็นตามความเข้าใจของตนเอง
ทั้งนี้พยานความเห็นฝ่ายโจทก์ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ ก็ให้ความเห็นว่าการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 116 แต่เป็นการใช้สิทธิที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ไว้
พ.ต.ท.วิเชียร เบิกความต่อไปว่าที่ประชุมคณะกรรมการฯ เป็นผู้พิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 116 ส่วนตัวพนักงานสอบสวนเข้าใจองค์ประกอบมาตรานี้เพียงบางส่วน
พ.ต.ท.วิเชียร รับว่าข้อความตามฟ้องไม่มีการใช้ให้ไปใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลอื่น ไม่มีการใช้ให้ไปทำผิดต่อกฎหมายหรือใช้ความรุนแรง ทั้งการจะพิจารณาว่าเป็นความผิดจะต้องพิจารณาความสัมพันธ์และผล การโพสต์ข้อความไม่ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง หลังจากที่จำเลยโพสต์ข้อความไปแล้วสถาบันกษัตริย์ก็ยังคงอยู่ บ้านเมืองก็ไม่มีความวุ่นวายจากการโพสต์ข้อความดังกล่าว ประชาชนที่เข้าไปดูแสดงความคิดเห็น ก็ไม่มีใครกระทำความผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.วิเชียร ก็เห็นว่าการกระทำของจำเลย เป็นการทำด้วยวิธีอื่นใดเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นระบอบที่ไม่มีกษัตริย์ แม้จะไม่มีความรุนแรงวุ่นวาย แต่หากคนหลงเชื่ออาจมีคนทำได้ เป็นการชักชวน ปลุกปั่นเร่งเร้า ให้ประชาชนไปล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง
.
.
พยานความคิดเห็น 4 ด้าน: คำให้การชั้นสอบสวนมีความเห็นคล้ายคลึงกันหมด ‘การล่ารายชื่อประชามติเพื่อคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ = ล้มล้างการปกครอง’ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
สำหรับพยานบุคคลที่ตำรวจนำมาให้ความเห็น 4 ด้าน รวม 4 ปาก ให้การในชั้นสอบสวนมีความใกล้เคียงกัน ในแนวทางเดียวกัน โดยส่วนใหญ่ก็เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการยุยงให้ไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือเพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องถึงขนาดจะก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในบ้านเมือง แต่เห็นว่าเจตนาของผู้โพสต์เป็นไปในลักษณะต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
.
ทนายความเห็นว่าจำเลยโพสต์ล่ารายชื่อ แสดงถึงการต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง หากคนเห็นคล้อยตามอาจเกิดความวุ่นวาย
นายสง่า เจียรรัตนสวัสดิ์ ทนายความประสบการณ์ 13 ปี เบิกความให้ความเห็นว่าข้อความของทิวากร เป็นการเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปแสดงความเห็นว่าต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ที่ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากคนพบเห็นข้อความแล้วคล้อยตาม อาจเกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม สง่าตอบทนายความถามค้าน ก็เห็นว่าข้อความของจำเลยไม่มีการใช้ให้ไปใช้กำลังประทุษร้าย ใช้ความรุนแรง ไม่มีข้อความให้ประชาชนไปล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
.
ข้าราชการครูบำนาญ-ประธานชมรมคนรักในหลวง เห็นว่าจำเลยต้องการล้มล้างการปกครอง หากมีคนหลงเชื่อจะทำให้เกิดความไม่สงบ
นางจันทร์สม เสียงดี ข้าราชการครูบำนาญ เบิกความว่าการกระทำของจำเลย เป็นการเชิญชวนให้ประชาชนหลงเชื่อว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีสถาบันกษัตริย์ และต้องการจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสหพันธรัฐที่ไม่มีกษัตริย์ จำเลยคงจะไม่เข้าใจว่าระบอบการปกครองในประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พยายามทำให้ผู้พบเห็นหลงเชื่อ จนอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ และแสดงว่าจำเลยไม่ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม จันทร์สมตอบทนายความถามค้าน รับว่าตนเองเป็นประธานชมรมคนรักในหลวง และได้ให้การในชั้นสอบสวนแก่ พ.ต.ท.วิเชียร ที่ร้านกาแฟข้างบ้านของตน โดยคิดว่าที่พนักงานสอบสวนขอความร่วมมือตนมาเป็นพยาน เนื่องจากเป็นประธานชมรมคนรักในหลวง เคยไปอบรมและเคยเจอรู้จักกันกับพนักงานสอบสวนมาก่อน
นอกจากนี้จันทร์สมก็รับว่าข้อความที่จำเลยโพสต์เป็นลักษณะการล่ารายชื่อ ต้องการทำให้ทำประชามติให้คงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ ถ้าคนที่เข้าไปดูเขาก็มีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะคงไว้หรือยกเลิก โดยประชาชนที่เข้าไปดูเลือกที่จะตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ทั้งรับว่าระบอบกษัตริย์ก็ไม่ใช่การปกครองของประเทศไทย
.
นักการเมืองเห็นว่ารัฐธรรมนูญห้ามเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ไม่ใช่การล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกระบอบกษัตริย์
นายจินดา วงศ์สวัสดิ์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคไทยรักไทย จังหวัดลำปาง เบิกความต่อศาลว่า ตนได้รับหมายเรียกจากตำรวจให้มาเป็นพยานความเห็น เมื่อได้รับหมาย พนักงานสอบสวนก็เข้ามาถามความเห็นที่บ้าน โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญกำหนดระบอบการปกครองว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีข้อห้ามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง การที่จำเลยโพสต์เป็นการใช้สิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญห้ามเอาไว้ เมื่อเห็นข้อความคนทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นการล่วงละเมิดทางกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่การใช้สิทธิ์โดยสุจริต
อย่างไรก็ตาม จินดาตอบทนายความถามค้านว่า ข้อความที่ทิวากรโพสต์นั้นไม่ได้มีข้อความให้ไปใช้ความรุนแรงหรือใช้อาวุธ ไม่มีข้อความให้ประชาชนไปล่วงละเมิดกฎหมาย ไม่ได้ก่อความรุนแรงในบ้านเมือง ไม่ถึงกับก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมืองจนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งการโพสต์ล่ารายชื่อประชามติว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ ไม่ใช่การล่ารายชื่อเพื่อให้ยกเลิกระบอบกษัตริย์โดยตรง และระบอบกษัตริย์ก็ไม่ใช่การปกครองที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
.
อาจารย์นิติ มธ. เห็นว่าการกระทำไม่เข้าองค์ประกอบ ม.116-112 แต่การแสดงความคิดเห็นของจำเลยไม่อยู่ในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง เบิกความรับว่าได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และมาตรา 112 แต่กิตติพงศ์ยืนยันว่าการกระทำดังกล่าว ไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการฝ่าฝืนสิทธิหน้าที่พลเมือง เนื่องจากการแสดงออกชี้ไปในทางต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ซึ่งฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญไทย
ทั้งนี้กิตติพงษ์รับว่าการจะผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ ต้องอยู่ในดุลพินิจศาล นอกจากนี้การฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จะเป็นความผิดอาญาได้ก็ต้องมีกฎหมายบัญญัติกำหนดโทษเอาไว้ด้วย
.
พยานกระทรวงดีอี: ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีเฟซบุ๊กของทิวากร เพื่อยืนยันตัวบุคคลได้
นายสัจจะ โชคบุญส่งสวัสดิ์ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เบิกความว่า คดีนี้มีกองกำกับการตำรวจ 1 ส่งหนังสือมาให้กระทรวงดิจิทัลฯ เพื่อตรวจสอบบัญชีของนายทิวากร วิถีตน เพื่อยืนยันว่าเป็นจำเลยในคดีนี้หรือไม่ แต่การตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของเฟซบุ๊กนั้น มีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในต่างประเทศ โดยปกติเฟซบุ๊กจะไม่ตอบข้อมูลเหล่านี้กลับมา หรือไม่ให้ข้อมูล เว้นแต่กรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ของเฟซบุ๊กว่ากรณีใดที่จะให้ข้อมูลได้ เช่น คดีอนาจารเด็ก จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเฟซบุ๊กตามฟ้องเป็นของนายทิวากรหรือไม่
สัจจะตอบคำถามค้านเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ว่า โดยปกติการเข้าดูข้อมูลจะเข้าดูทางคอมพิวเตอร์ เนื่องจากหน้าจอแสดงผลของโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีความแตกต่างกัน โดยรูปภาพหน้าแคปหน้าจอที่ผู้กล่าวหานำมาแจ้งความ เป็นลักษณะแคปมาจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ และวางลงในโปรแกรมไมโครซอฟเวิร์ด และพิมพ์ออกมา จึงไม่ปรากฏข้อมูล URL ที่อยู่บน Header footer ซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนทางข้อมูลได้
.
.
ข้อต่อสู้พยานจำเลย 4 ปาก
‘ล่ารายชื่อประชามติ ไม่ใช่การล้มล้าง’ ทิวากรยืนยันการล่ารายชื่อประชามติคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์เป็นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ
ทิวากร จำเลยในคดีนี้ ขึ้นเบิกความต่อศาลในฐานะพยาน โดยกล่าวคำปฏิญาณก่อนเริ่มเบิกความว่าพยานสาบานว่าจะพูดแต่ความสัตย์จริงและเป็นความจริงที่ออกมาจากใจ จากนั้นเบิกความตอบทนายว่า ตนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ปัจจุบันประกอบอาชีพเกษตรกรอยู่ที่ภูมิลำเนาจังหวัดขอนแก่น
ทิวากรทราบคำฟ้องโดยตลอดแล้ว ให้การปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากการตั้งแคมเปญล่ารายชื่อ เพื่อให้คนเข้ามาร่วมกันลงชื่อว่าควรทำประชามติว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องการยกเลิกระบบกษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ แต่ต้องการรู้ว่าประชาชนที่เข้ามาดูต้องการทำประชามติหรือไม่เท่านั้น ไม่ถึงขั้นจะไปล้มล้างสถาบันกษัตริย์
ทิวากรยืนยันว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าระบอบการปกครองของประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ถึงอย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้หยุดนิ่ง รูปแบบรัฐก็ไม่เคยหยุดนิ่ง เมื่อถึงเวลาที่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็อาจปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตตามวิถีทางของประชาธิปไตย เป็นแนวทางประชามติ ทิวากรยืนยันหนักแน่นว่าเขาไม่ได้ตั้งคำถามว่าใครต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ แต่ถามเพียงว่าใครต้องการทำประชามติบ้าง
อีกทั้งทิวากรทราบดีอยู่แล้วว่า ในปัจจุบันก็ไม่มีกฎหมายรองรับการทำประชามติโดยประชาชน แต่จะต้องทำผ่านรัฐสภา ที่แสดงความคิดเห็นเพราะเป็นหน้าที่พลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เขาพยายามนำเสนอสิ่งที่ดีต่อประเทศชาติ หากรัฐสภาเห็นสมควรก็อาจจะนำไปทำประชามติต่อ เขาไม่ได้เพิกเฉยปล่อยให้ใครอยากทำอะไรก็ทำไป ซึ่งกรณีแบบนี้ทิวากรเห็นว่าเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองมากกว่าเสียอีก
“ผมไม่ได้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ผมศรัทธาในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีกษัตริย์เป็นเชิงสัญลักษณ์ เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เช่น อังกฤษ หรือญี่ปุ่น กษัตริย์ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง มีความมั่นคง ไม่แปดเปื้อนทางการเมือง และไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง”
ทิวากรโต้แย้งพยานโจทก์ที่เบิกความมาก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าไม่เคยคิด ‘ล้มล้าง’ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในหลายร้อยประเทศที่มีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันออกไป โดยประชาชนมีสิทธิสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ว่าระบอบใดดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาดูจากคุณภาพชีวิต รายได้ต่อหัว ฯลฯ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว
ทิวากรเห็นว่าระบอบสหพันธรัฐเป็นการปกครองที่ดี เป็นระบอบการปกครองของประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ประเทศเยอรมนี สหรัฐอเมริกา ทิวากรเลยฝันว่าถ้าประเทศไทยเป็นอย่างนั้นบ้างก็คงจะดี แต่ถึงอย่างไรก็เป็นเพียงแค่ “ความฝัน” เท่านั้น ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นในระดับปัจเจกชนเท่านั้น
ทิวากรต่อไปว่า แม้เขาจะยืนยันหนักแน่นเพียงใดว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่ความผิด แต่ที่เขาถูกดำเนินคดีนี้เนื่องจากสิ่งที่เขาพูดอาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสถาบันกษัตริย์ การล่ารายชื่อดังกล่าวอาจสร้างความไม่สบายใจให้กับคนที่รักและศรัทธาสถาบันกษัตริย์ กลัวว่าจะมีใครมาล้มล้าง รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่อาจยังไม่เข้าใจว่าการทำประชามติได้ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญและในสังคมโลก
ทิวากรไม่แน่ใจว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเขาแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและถูกตอบโต้ทางการเมืองมาตลอด ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2563 ที่เขาใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ก็ตกเป็นเป้าและถูกทัวร์ลงจำนวนมาก มีคนจำนวนมากเข้ามาด่าทอ แต่ถึงอย่างไรก็ตามที่ทิวากรแสดงออกว่าตนเองหมดศรัทธาแล้ว แต่ก็ไม่เคยคิดร้ายกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสง่างาม มีคุณค่าอยู่คู่กับประชาชนชาวไทยได้ต่อไป
การถูกดำเนินคดีนี้ที่จังหวัดลำปางสร้างผลกระทบต่อชีวิตเขาอย่างมาก เพราะเขาพักอาศัยที่ภูมิลำเนาในจังหวัดขอนแก่น และถูกดำเนินคดีในช่วงสถานการณ์โรคแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา-2019 ทำให้ไม่มีรถประจำทางจากจังหวัดขอนแก่นมาลำปาง ต้องขี่มอเตอร์ไซต์มารับทราบข้อกล่าวหาเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 1,000 กิโลเมตร เมื่อขี่นานสะโพกก็เกิดอาการชา ขยับไม่ถนัด หลังจากกลับไปต้องไปหาหมอในโรงพยาบาลเอ็กซเรย์ พบว่าเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เดินไม่ค่อยได้
ก่อนหน้านี้ทิวากรใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นโรคประสาท เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 ทิวากรถูกหน่วยงานความมั่นคง กอ.รมน. นำตัวขึ้นรถตู้ไปเข้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น โดยอ้างพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฯ ถูกจับฉีดยาที่แขนทั้งสองข้างโดยที่ทิวากรไม่ยินยอม แต่เมื่อคณะกรรมการและอาจารย์ด้านจิตแพทย์ตรวจดูก็ไม่พบความผิดปกติทางจิต โดยมีหนังสือรับรองจากโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เขาพูดแสดงความคิดเห็นนั้นมีวิจารณญาน มีสติสัมปชัญญะ และเหตุผลหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์
ทิวากรไม่รู้จักกับผู้กล่าวหามาก่อน แต่การกล่าวหาครั้งนี้ ผู้กล่าวหาอาจเกิดความกังวลมากเกินไป อาจไม่เข้าใจตัวเขาและไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแนวทางประชามติเป็นแนวทางตามระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญมาก และอยากให้เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำประชามติกันได้ถึงการแก้ไขโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ
ทิวากรตอบอัยการถามค้านรับว่าเฟซบุ๊กที่ถูกฟ้องนี้เป็นเฟซบุ๊กของเขาจริง ไม่ได้ถูกแฮกหรือปลอมแปลง ข้อความที่เขาโพสต์เป็นสาธารณะ ก็ยังไม่ถูกลบออกไปยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
.
.
“ความมั่นคงของรัฐ ไมใช่ความมั่นคงทางจิตใจของคนบางกลุ่ม” – การเรียกร้องให้ทำประชามติเป็นแนวทางประชาธิปไตย อยู่ในความมุ่งหวังของ รธน.
กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการที่จำเลยเปิดช่องทางให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการเสนอให้มีการทำประชามติว่าควรคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์ โดยเห็นว่าการทำประชามตินั้นเป็นหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 258 ก. โดยมีข้อสังเกต 3 ประการ ได้แก่
1. การทำประชามตินั้นไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมในรัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนี้การเรียกร้องให้มีประชามติยังเป็นหนึ่งในแนวทางการปฏิรูปของไทย ดังนั้นการที่โจทก์ตีความว่าจำเลยแสดงออก “ไม่อยู่ในความมุ่งหวังของรัฐธรรมนูญ” จึงเป็นการตีความรัฐธรรมนูญคลาดเคลื่อนไปจากมาตรา 258
2. แนวทางการปฏิรูปประเทศไทยนั้นกำหนดไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ มาตรา 258 ว่าต้องส่งเสริม “ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งหมายความว่าความรู้ความเข้าใจในปัจจุบันมีอยู่อย่างจำกัดและยังเป็นประเด็นทางวิชาการและทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน เพราะระบอบดังกล่าวของประเทศไทยนั้นควรมีลักษณะคล้ายกับระบอบการปกครองของประเทศต่างๆ ที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อาทิ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เคยมีการเสนอให้มีการทำประชามติเกี่ยวกับการคงอยู่หรือยกเลิกสถาบันกษัตริย์มาแล้วทั้งสิ้น
ทั้งนี้หากประเทศไทยจะใช้ระบอบการปกครองที่แตกต่างจากประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว ย่อมไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยหรือกระทั่งบุคคลใดอาจตระหนักรู้และเข้าใจเนื้อหาสาระของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวได้เลย
3. ความไม่ชัดเจนของหลักการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย ย่อมทำให้จำเลยไม่อาจทราบข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และด้วยเหตุที่การทำประชามตินั้น เป็นจารีตประเพณีอันสากลของระบอบประชาธิปไตยที่นานาอารยะประเทศล้วนแต่ให้ความสำคัญ การที่จำเลยเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อตัดสินใจว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบอบกษัตริย์นั้นจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นที่สุจริต
นอกจากนี้กระทำความผิดตามมาตรา 116 จะต้องมีพฤติการณ์ 3 ลักษณะ ได้แก่
1. ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (1) วางหลักการว่า การแสดงความคิดเห็นที่เป็นการยุยงปลุกปั่นจะต้องเป็นการใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐบาล ซึ่งการนำเสนอข้อความในสื่อสังคมออนไลน์นั้น ย่อมมิใช่การใช้กำลังประทุษร้ายไม่ว่าจะทางกายหรือใจ เพราะวิญญูชนย่อมมีความอดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นทางการเมืองที่สุจริตและแตกต่างจากตน ซึ่งประเด็นดังกล่าวก็เป็นเจตจำนงของรัฐธรรมนูญในการปฏิรูปประเทศและไม่ปรากฏหลักฐานและงานวิจัยใดในนานาประเทศที่ปรากฏว่าการเสนอให้มีการทำประชามติว่าจะคงไว้หรือยกเลิกระบบกษัตริย์นั้น อาจกระทบกระเทือนจิตใจของวิญญูชนได้เลย
2. ส่วนมาตรา 116 (2) บัญญัติว่า เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบในราชอาณาจักร ทั้งนี้ การวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการสร้างความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาความสัมพันธ์ของการกระทำและผลของการกระทำ ซึ่งจำเลยเสนอให้รวบรวมรายชื่อผู้เห็นด้วยว่าจะให้มีการทำประชามติเพื่อคงไว้หรือยกเลิกระบบกษัตริย์นั้น ตามผลธรรมดาการเรียกร้องดังกล่าวคือมีการทำประชามติหรือไม่เท่านั้น และการทำประชามติเป็นกลไกตามรัฐธรรมนูญในการมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชนและจารีตประเพณีของระบอบประชาธิปไตยย่อมไม่นำไปสู่ความไม่สงบในบ้านเมืองแต่อย่างใด
ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาตรา 3 วรรค 1 กำหนดคำนิยามไว้ว่า “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ความหมายว่าการดำเนิน เพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย อันเกิดจากบุคคลกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขทำลายหรือทำความเสียหายต่อชีวิตร่างกายทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐให้กลับสู่สภาวะปกติ” แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่อาจถือว่าเป็นความมั่นคงของรัฐหรือความไม่สงบในราชอาณาจักรนั้น ไม่ใช่เพียงการทำร้ายจิตใจของบุคคลที่ไม่รู้จักยอมรับในความคิดเห็นการเมืองที่สุจริตที่แตกต่างกัน
3. มาตรา 116 (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายของแผ่นดินนั้น ไม่มีประเด็นใดต้องพิจารณาเป็นพิเศษเพราะการรวบรวมรายชื่อผู้เห็นด้วยให้มีการทำประชามติดังกล่าวนั้นมิได้เป็นความผิดในกฎหมายใด หรือหากจะมีกฎหมายดังกล่าวย่อมอยู่ในวิสัยที่อาจขัดหรือแย้งต่อแผนการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้สิทธิการทำประชามติ
กฤษณ์พชร เห็นว่าข้ออ้างของโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยไม่สามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่สมเหตุสมผลเพราะจำเลยใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อการเสนอให้มีการประชามติคงไว้หรือยกเลิกระบบกษัตริย์นั้น ผลทางกฎหมายที่อาจเป็นปฏิปักษ์กับจำเลยที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญมาตรา 49 คือประชามติดังกล่าวย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือหากเกิดขึ้นย่อมเป็นประชามติที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น โจทก์จะอ้างมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญมากำหนดความรับผิดทางอาญาแก่บุคคลไม่ได้
นอกจากนี้การแสดงความคิดเห็นของจำเลยยังสามารถอ้างเสรีภาพในการแสดงออกได้ เพราะเป็นการแสดงออกเพื่อเสนอให้มีการทำประชามติอันเป็นกลไกตามปกติของรัฐธรรมนูญและจารีตในระบอบประชาธิปไตย และไม่เข้าข้อยกเว้นใดๆ
ข้อกล่าวหาของโจทก์ยังแสดงอย่างชัดเจนต่อความสับสนและไม่เข้าใจเกี่ยวกับระบอบการปกครอง กล่าวคือ ระบอบกษัตริย์ตามสารานุกรมบริเทนนิคา หมายถึงระบอบการเมืองการปกครองที่มีพื้นฐานว่าอำนาจอธิปไตยนั้นย่อมเป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถแบ่งแยกได้ การปกครองโดยปัจเจกบุคคล ระบอบกษัตริย์ย่อมประยุกต์ใช้กับรัฐที่อำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์เพียงองค์เดียวโดยกษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐที่สืบทอดอำนาจผ่านสาแหรกภายในราชวงศ์ โดยระบอบกษัตริย์นั้น มีความหมายใกล้เคียงกับระบอบการปกครองของไทยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งหมายถึงระบอบการปกครองที่อำนาจการปกครองบ้านเมืองสถิตอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอันใดกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นระบอบการปกครองของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน
นอกจากนี้การเสนอประเด็นในเว็บไซต์ Change.org เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางสังคมต่อประเด็นสาธารณะ ไม่ว่ายอดผู้เห็นด้วยต่อการรณรงค์ดังกล่าวจะมากหรือน้อย ก็ย่อมไม่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐและกฎหมายใด ๆ ในทางปฏิบัติอีกด้วย
โดยสรุป การกระทำของจำเลยไม่มีลักษณะที่ผิดกฎหมายแต่ประการใด เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามจารีตธรรมเนียมของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ในทางสากลสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มิได้มีผลโดยตรงที่อาจกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
และข้อความที่จำเลยใช้นั้น มิได้หมายถึงพระมหากษัตริย์ สถาบันกษัตริย์ หรือแม้แต่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นและความกังวลต่อสถานการณ์บ้านเมืองที่มีแนวโน้มจะมีการใช้อำนาจรัฐและกฎหมาย เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของสถาบันกษัตริย์จนกระทบต่อสาระสำคัญ แห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
.
‘การตั้งคำถาม’ คงไว้หรือยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เป็น ‘เรื่องปกติ’ ในสังคมประชาธิปไตย การนำคดีนี้มาฟ้องขึ้นสู่ศาลถือเป็นความ ‘วิปริต’
ชัยพงษ์ สำเนียง อาจารย์ทางประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร สอนหัวข้อประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ขบวนการเคลื่อนไหว ฯลฯ เคยทำงานวิจัยหลายชิ้น ล่าสุดเกี่ยวกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองปี 2563-65
ชัยพงษ์ให้ความเห็นต่อการกระทำของจำเลยในคดีนี้ว่ารู้สึก “เฉยๆ” เพราะการตั้งคำถามที่จำเลยถูกฟ้องเป็นคดีนี้เป็นเรื่องทั่วๆ ไป ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทางประวัติศาสตร์ก็มีการตั้งคำถามแบบนี้อยู่เรื่อยมา การพูดคุยกันถึงระบอบการเมืองต่างๆ ทั้งสหพันธรัฐหรือสาธารณรัฐเป็นเรื่องปกติ มีการถกเถียงอยู่ตลอด ชัยพงษ์เน้นย้ำว่าเป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงในเครือจักรภพก็สามารถทำได้ และการแสดงความคิดเห็นนี้ ก็ไม่ได้กระทบต่อสถาบันกษัตริย์เลย
การเห็นวลีคำถามว่า “คงไว้หรือยกเลิก” นี้ไม่ถือว่าเป็นการ “ล้มล้าง” แต่ประการใด การล้มล้างหรือการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำได้หากไม่มีกองกำลังทหาร ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงครั้งเดียวเมื่อ พ.ศ. 2475 ที่เปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หรือ Absolute Monachy เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจผ่านองค์กรต่างๆ หลังจากนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีก คนทั่วไปก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนได้ เพราะถูกควบคุมโดยทหาร
การพูดถึงระบอบการปกครองเป็นวลีคำถามที่ไม่แปลก แม้แต่หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ก็เคยตั้งคำถามทำนองเดียวกันว่าจะเลือก Democracy หรือ Monarchy ในเฟซบุ๊dของตนเอง ซึ่งในความเห็นของชัยพงษ์ สิ่งที่หม่อมหลวงจุลเจิมถามไปไกลกว่าของจำเลยด้วยซ้ำ การตั้งคำถามเหล่านี้จึงเป็นวลีที่ใครๆ ก็ถามได้ในระบอบการปกครอง ไม่ใช่เรื่องใหญ่ คนที่นำคดีนี้มาฟ้อง มาแจ้งข้อกล่าวหาต่างหากที่นำพระองค์มายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ในฐานะพลเมืองเราจะต้องลดปริมาณคดีลักษณะนี้
นอกจากนี้หากการโพสต์เฟซบุ๊กจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือสร้างรัฐใหม่ได้ ประเทศไทยคงมีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว แต่ในความจริงการโพสต์เฟซบุ๊กไม่สามารถนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหรือดึงดูดผู้คนมาให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เป็นวลีคำถามที่ไม่สามารถทำให้คนเกิดความฮึกเหิม หรือเกิดความกระด้างกระเดื่องได้
ชัยพงษ์ไม่เข้าใจว่าเหตุใด ผู้ที่อ่านข้อความที่จำเลยโพสต์แล้วรู้สึกถูกกระทบกระเทือน แล้วคิดว่าจำเลยมุ่งจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ในความจริงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ หากไม่มีกำลังซ่องสุมอาวุธก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่สำหรับคนที่เกิดความไม่สบายใจ ไม่สามารถอยู่บนความรัก เกลียด โกรธ แล้วจะฟ้องร้องใครก็ได้ การเอาคดีนี้มาฟ้องถือเป็นความวิปริตอย่างหนึ่ง
ในฐานะคนที่สอนหนังสือการเมืองไทย สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการธำรงสถาบันกษัตริย์ ทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่ลงมาแปดเปื้อนทางการเมือง เช่น ประเทศญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ที่เทิดทูนกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ถ้ายังคงเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถพูดถึงได้ จะไม่ทำให้สถาบันกษัตริย์แปดเปื้อน หรือมีมลทิน
.
การฟ้องคดีตบปาก ‘SLAPP’ ผู้กล่าวหาแจ้งความในพื้นที่ห่างไกล เน้นให้จำเลยได้รับความยากลำบากเกินสมควร – การฟ้อง ม.116 เพื่อเพิ่มวงเงินประกันที่สูงขึ้น
อานนท์ ชวาลาวัณย์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ติดตามการควบคุมเสรีภาพด้านการแสดงออก และติดตามคดีต่างๆ เช่น ม.112, ม.116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยการสังเกตการณ์ติดตามคดีที่เกี่ยวกับการปิดกั้นการแสดงออก
อานนท์ได้ส่งข้อมูลของ iLaw ที่วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย เพราะตั้งแต่หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ได้มีการบังคับใช้กฎหมาย ม.116 อย่างแพร่หลาย หลายคดีเมื่อฟ้องไปศาลก็ยกฟ้อง โดยมีข้อสังเกตที่มีปัญหาหลายประการ เช่น การบังคับใช้กฎหมายข้ามจังหวัดที่ทำให้จำเลยต้องรับภาระที่หนักขึ้นในการเดินทาง การใช้มาตรา 116 มาแจ้งเพื่อเพิ่มวงเงินประกันที่สูงกว่า
นอกจากนี้ยังพบว่าประชาชนที่มีความเห็นทางการเมืองตรงข้าม คอยสอดส่องมอนิเตอร์ ตั้งกลุ่ม บันทึกหลักฐานและส่งให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ประชาชนเป็นผู้ริเริ่ม และมีลักษณะในการแจ้งความข้ามจังหวัดที่อยู่ไกลจากภูมิลำเนาจำเลย เน้นการเดินทางข้ามจังหวัด โดยที่การกระทำไม่เกี่ยวกับตัวจังหวัดโดยตรง เช่น การโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก หรือสื่อโซเชียลมีเดีย ผู้กล่าวหาก็ไม่ได้มีส่วนได้เสีย ทำให้จำเลยได้รับความยากลำบากเกินสมควร เรียกได้ว่าเป็นการฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือคดีตบปาก (“SLAPP”)
อานนท์ให้ความเห็นต่อคดีนี้ว่าโพสต์ล่ารายชื่อดังกล่าว เป็นการตั้งคำถามเท่านั้น ว่าจะทำประชามติหรือไม่ ไม่ใช่การตั้งคำถามว่าจะยกเลิกระบอบกษัตริย์โดยตรง ให้คนที่มาลงชื่อใน Change.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐอเมริกา ใช้ในการรณรงค์หรือทำแคมเปญในประเด็นต่างๆ โดยการลงชื่อออนไลน์เหล่านี้ไม่ได้มีผลทางกฎหมายในความเป็นจริง อีกทั้งการพูดถึงระบอบการปกครองแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ สามารถถกเถียงกันได้ทั่วไป
.